เมืองอโยธยา เก่าแก่กว่าเมืองสุโขทัย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองอโยธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา) มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย ดังนี้

(1.) อายุเก่าแก่กว่าเมืองสุโขทัย (2.) เมืองต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา (3.) เมืองต้นกำเนิดคนไทย ภาษาไทย และประเทศไทย

เมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายจากประวัติศาสตร์ไทย จึงไม่มีใครรู้จักหรือรู้จักไม่มาก

 

ทบทวนการศึกษาค้นคว้าเมืองอโยธยา

อโยธยาเป็นเมืองโบราณ อยู่ฟากตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา บริเวณสถานีรถไฟอยุธยา เป็นที่รับรู้ของนักปราชญ์และนักวิชาการมากกว่า 116 ปีมาแล้ว จึงมีการศึกษาค้นคว้าสืบเนื่องตามหลักฐานเท่าที่พบดังนี้

ร.5 ทรงบอกเมื่อ 116 ปีมาแล้ว ว่าอโยธยาคือเมืองเก่าของอยุธยา อยู่ฝั่งตะวันออกของพระนครศรีอยุธยา มีสถูปเจดีย์วัดวาอารามสำคัญๆ ได้แก่ วัดพนัญเชิง, วัดใหญ่ชัยมงคล, วัดอโยธยา (วัดเดิม), วัดกุฎีดาว, วัดมเหยงคณ์ เป็นต้น ทรงให้ความสำคัญมากต่อเมืองอโยธยาว่าเป็นเมืองเก่าของอยุธยา จึงมีพระราชดำรัสเมื่อ พ.ศ.2450 เปิด “โบราณคดีสโมสร” กล่าวถึงเมืองอโยธยาและวัดวาอารามสำคัญในเมืองอโยธยา

[พระราชดำรัส ทรงเปิดโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450]

พระยาโบราณราชธานินทร์ [(พร เดชะคุปต์) ทำงานโบราณคดี ขุดแต่งโบราณสถานอยุธยาคนแรกของสยาม] เมื่อ 116 ปีมาแล้ว ชี้ว่าอโยธยาอยู่ทาง “สเตชั่นรถไฟกรุงเก่า” ที่วัดสมณโกฏ วัดกุฎีดาว วัดอโยธยา หรือวัดเดิม

[จากหนังสือ ตำนานกรุงเก่า ของ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) พ.ศ.2450]

ธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เมื่อ 67 ปีมาแล้ว มีความเห็นคล้อยตามพระยาโบราณราชธานินนทร์ ว่าอโยธยาอยู่ทางสถานีรถไฟกรุงเก่า

[จากหนังสือ เรื่องเมืองไตรตรึงส์ อู่ทอง และ อโยธยา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2499]

มานิต วัลลิโภดม (อดีตผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดี กรมศิลปากร) เมื่อ 61 ปีที่แล้ว เรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับอโยธยาและเครือข่าย

[จากนิตยสาร สามทหาร พ.ศ.2505]

จิตร ภูมิศักดิ์ เกือบ 60 ปีมาแล้ว (2507-2508 หลังออกจากคุก) ระบุว่าอโยธยามีแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ราว พ.ศ.1599 พบในพงศาวดารกรุงสุธรรมวดี (สะเทิม) ฉบับพิมพ์ภาษามอญที่ปากลัด (พ.ศ.2453) และพงศาวดารพม่า ฉบับหอแก้ว

[จากหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2547]

พระราชดำรัสเปิด “โบราณคดีสโมสร” มีขึ้นคราวฉลองรัชมงคล (ในภาพ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับยังรัตนสิงหาสน์ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระราชวังโบราณ กรุงเก่า และโปรดให้ข้าราชการและราษฎรมณฑลกรุงเก่าเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ร.ศ.126 (พ.ศ.2450) (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

จิตรอธิบายย้ำ (ในเชิงอรรถ บท 4) ว่าอโยธยามีระบบการศาล, ระเบียบบริหาร, จารีตราชสำนัก, ระเบียบประเพณีในสังคมที่เรียบร้อยในระดับหนึ่งมานานแล้ว โดยพบหลักฐานยืนยันในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ พ.ศ.1886 (ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา 7-8 ปี) สิ่งเหล่านี้ต้องการเวลาพัฒนา ไม่ใช่จะคิดตั้งขึ้นได้ชั่วข้ามคืน

[จากหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 9-16]

ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อ 57 ปีที่แล้ว พ.ศ.2509 (อดีตอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) เสนอบทความวิชาการว่าอโยธยาอยู่ทางตะวันออกของอยุธยา พร้อมแสดงหลักฐานภูมิประเทศและหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี

[บทความเรื่อง “กรุงอโยธยาในประวัติศาสตร์ไทย” พิมพ์ครั้งแรกในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับพิเศษ (3) ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ.2509 หน้า 58-86]

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ยอมรับว่าอโยธยามีจริงอยู่อยุธยา แต่มีความคิดต่างหลายอย่างในรายละเอียดปลีกย่อย

[บทความเรื่อง “ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกรุงอโยธยา” ของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (ปีที่ 4 ฉบับที่ 1) พ.ศ.2509 หน้า 91-120]

พเยว์ เข็มนาค (อดีตข้าราชการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร) สำรวจทำผังเมือง อโยธยา มีคูนำคันดินสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา

[เมืองอโยธยาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้จากงานวิจัยทุนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เรื่อง ระบบลำน้ำสมัยอยุธยา ของ พเยาว์ เข็มนาค (ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 75-93]

เมืองอโยธยา ผังเมืองสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามเส้นประสีแดง (ตรวจสอบและวาดลายเส้น โดย พเยาว์ เข็มนาค)

อโยธยา เมืองสี่เหลี่ยมผืนผ้า

เมืองอโยธยามีนามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” หมายถึง “เมืองแห่งชัยชนะของพระราม ผู้ยิ่งใหญ่บนสวรรค์” เป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ในมหากาพย์รามายณะ จากนามเมืองของพระราม ซึ่งเป็นอวตารพระนารายณ์มาปราบยุคเข็ญ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขอุดมสมบูรณ์ของประชาชน

ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นนักวิชาการคนแรกศึกษาค้นคว้าเมืองอโยธยาอย่างเป็นระบบ แล้วแบ่งปันสู่สาธารณะ (พ.ศ.2509) หลังจากนั้นสำรวจตรวจสอบต่อเนื่องได้ผังเมืองอโยธยาชัดเจนแจ่มแจ้ง [ในวารสาร เมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) 2560]

เมืองอโยธยา มีคูน้ำคันดินล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาด้านตะวันออก บริเวณที่ปัจจุบันมีสถานีรถไฟอยุธยาและทางรถไฟสายเหนือกับสายอีสานตัดผ่าเมืองเต็มๆ ทำแนวใต้-เหนือ หรือ เหนือ-ใต้

แต่สมัยอโยธยา แม่น้ำป่าสักไหลไปทางคลองหันตรา (แม่น้ำป่าสักเดิม) ดังนั้น พื้นที่เกาะเมืองอยุธยากับตัวเมืองอโยธยาเป็นแผ่นดินเดียวกัน โดยมีคูน้ำเป็นคูเมืองอโยธยาด้านตะวันตก ต่อมาสมัยอยุธยาแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ได้ขยายคูเมืองอโยธยาให้กว้างเรียก “คูขื่อหน้า” จากนั้นน้ำไหลทางตรงจนกลายเป็นแม่น้ำป่าสัก

ผังเมืองอโยธยา มีคูน้ำคันดินล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ตะวันออก-ตะวันตก ประมาณ 1,400 เมตร ยาว เหนือ-ใต้ ประมาณ 3,100 เมตร

แต่ขณะนี้เมืองอโยธยาสุ่มเสี่ยงสูญหายสิ้นซากจากโลก เมื่อ “ไฮสปีด เทรน” รถไฟความเร็วสูงถูกกำหนดสร้างสถานีอลังการขนาดมหึมากลางเมืองและสร้างรางรถไฟผ่าเมืองอโยธยา •