เผยแพร่ |
---|
การปล่อยบทเพลง”หนักแผ่นดิน”ของหน่วยดุริยงค์ทหารบกออกมาดำเนินไปในบรรยากาศอันเข้มข้นของการหาเสียงของบางพรรคการเมืองได้อย่างเหมาะสม
เริ่มจากคำปราศรัยของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวภาค ตามด้วยคำปราศรัยของ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี
โดยที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เน้นเนื้อหาเดิมเล่นงานกลุ่มที่เรียกว่า”ชังชาติ” พร้อมด้วยมาตรการ”ไล่ออกนอกประเทศ”ได้อารมณ์อย่างยิ่งกับสถานการณ์จากเวทีสะพานพระราม 8
เมื่อคำปราศรัยของ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เน้นให้เห็นความ เลวร้ายจากการเคลื่อนไหวของพวก”สามกีบ”และมีความจำเป็นต้องออกมาชนอย่างชนิดตาต่อตา
ยิ่งเมื่อรับฟังพร้อมกับบทเพลงปลุกใจในแบบ”หนักแผ่นดิน”ของหน่วยดุริยางค์ทหารบก ยิ่งเท่ากับเป็นการพลิกฟื้นบรรยากาศ ทางการเมืองในแบบ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมา
เป็นบรรยากาศที่”ชมรมวิทยุเสรี”ปลุกระดมให้มีการทำลายล้างพวกญวนแกวที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิท ยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
คือรากฐานก่อนเกิดรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519
หากมองจากคำปราศรัยอันเริ่มต้นจาก นายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ประสานเข้ากับคำปราศรัยด้วยความร้อนแรงในท่วงทำนองแบบ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี
สังคมมองเห็นภาพของนักการเมืองอย่าง นายสมัคร สุนทร เวช และนักวิชาการอย่าง นายอุทิศ นาคสวัสดิ์
เพียงแต่ในเดือนพฤษภาคม 2566 มาปรากฏผ่านบทบาทของพรรครวมไทยสร้างชาติอันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นนั่งร้านในการ”ไป ต่อ”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป้าหมายก็เพื่อสกัดขัดขวางต่อการเติบใหญ่อย่างคึกคักหนักแน่นของ นส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล
เท่ากับฟื้นคืนจิตวิญญาณทำลายล้างแบบ 6 ตุลาคม 2519 ประสานเข้ากับพลังมวลมหาประชาชนแห่ง”กปปส.”
ปฎิบัติการเหล่านี้ ไม่ว่าการปล่อยเพลง”หนักแผ่นดิน”ของหน่วยดุริยางค์ทหารบก ไม่ว่าการปราศรัย”ไล่คนออกนอกประเทศ”ของ พรรคพลังประชารัฐจะดำเนินไปในแบบ”ลับลวงพราง”ในทางการเมืองหรือไม่
แต่เมื่อก่อให้เกิดบรรยากาศเหมือนก่อนรัฐประหารเมื่อเดือน ตุลาคม 2519 ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และก่อน รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ทุกสายตาย่อมมองไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยความคลางแคลงและกังขา