ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
ข้อกล่าวหาไทย
“นโยบายของไทยต่อเวียดนาม” ของสุรพงษ์ ชัยนาม บันทึกสถานการณ์ช่วงนี้ว่า
“ในส่วนที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาของเวียดนามต่อการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งจากข้อความโจมตีรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องทั้งโดยทางสถานีวิทยุฮานอย หนังสือพิมพ์เหยินเซิน ของพรรค หนังสือพิมพ์ก๊วนด่อย เหยินเซิน ของกองทัพเวียดนาม ตลอดจนข่าวโทรพิมพ์ของสำนักข่าววีเอ็นเอ็น (สำนักข่าวของรัฐบาลเวียดนาม)
ดังอาทิ หนังสือพิมพ์ก๊วนด่อย เหยินเซิน ของกองทัพเวียดนาม ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2519 ได้ลงบทวิจารณ์โจมตีนายถนัด คอมันตร์ โดยกล่าวหาว่า นายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ว่าได้สบประมาทเวียดนาม ‘อย่างไม่มีมูลว่าคอมมิวนิสต์จากลาวและเวียดนามได้แทรกแซงประเทศไทยอันเป็นการกล่าวหาเพื่อให้เจ้านายอเมริกันพอใจเท่านั้น’
รายงานเดียวกันนี้ได้กล่าวหาอีกด้วยว่า ทางการไทยได้จับกุมคุมขังชาวเวียดนามไว้ประมาณ 10,000 คน และว่า ทางการไทยได้กดขี่ข่มเหงชาวเวียดนามในประเทศไทยอันเป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงในแถลงการณ์ร่วมไทย-เวียดนามฉบับวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2519 ทั้งวิจารณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยครั้งนี้เป็นแผนการของสหรัฐเพื่อเปิดโอกาสให้สหรัฐกลับเข้ามามีฐานปฏิบัติการภายในประเทศไทยอีก”
(หนังสือสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกงที่ 01/3487/2519 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2519)
การทูตสองหน้า
แต่หลังการสิ้นสุดอำนาจของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี พ.ศ.2520 ใกล้วันบุกกัมพูชา ท่าทีของเวียดนามก็กลับผ่อนคลายลง ซึ่งก็ได้รับการสนองตอบอย่างดีจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ในทางเปิด ฝ่ายเวียดนามเล่นบทบาทต้องการสันติภาพ ลดความก้าวร้าวและแสดงความต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนาม-ไทย บุคคลระดับนำของทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยียนกันหลายครั้ง ติดตามด้วยคำแถลงการณ์ที่สะท้อนท่าทีความต้องการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
แต่ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ เวียดนามและลาวกลับเดิน “การทูตใต้ดิน”โดยยื่นข้อเสนอในการส่งกำลังข้ามโขงเข้ายึดภาคอีสานของไทยต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ข้อเสนอจาก “ทหารประชาธิปไตย”
ในยุคที่สหรัฐได้ถอนกำลังทั้งสิ้นออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นโยบายทางการทูตต่ออินโดจีนของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงต้องการการอยู่ร่วมกันโดยสันติแม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันที่ดูเหมือนสมเหตุผล
ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า “กลุ่มทหารประชาธิปไตย” ซึ่งกำลังเติบโตควบคุ่กับคณะทหารหนุ่มในขณะนั้นก็รณรงค์ทางความคิดผ่านนิตยสาร “ตะวันใหม่” อย่างเปิดเผยว่า “ไทยควรวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งภายในของประเทศสังคมนิยม”
ซึ่งในขณะนั้นหมายถึงความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับกัมพูชานั่นเอง
เมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั่งเวียดนามเหนือเข้ายึดกรุงพนมเปญได้เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2522 แล้ว จะพิสูจน์ว่าเป็นความคิดที่สุ่มเสี่ยง เพราะปัจจัยทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” จะเข้ามาแทนที่ปัจจัย “อุดมการณ์” ที่เป็นความคิดหลักมาโดยตลอดระหว่างยุคสงครามอินโดจีน หรือกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมคือ ระหว่างไทยกับเวียดนาม นับแต่นี้ต่อไป กัมพูชาจะไม่มีสถานะเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างสองประเทศนี้แล้ว
กำลังของเวียดนามในกัมพูชาทำให้เวียดนามและไทยเสมือนมีพรมแดนติดกัน และพร้อมจะกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา
ไทย-เวียดนาม ถึงคราเผชิญหน้า
ด้วยเหตุปัจจัยนี้เอง สถานการณ์ไทย-เวียดนามจึงเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเวียดนามเข้าครอบครองกัมพูชาอย่างสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2522 ขณะ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การเผชิญหน้าด้วยกำลังทหาร รวมทั้งมีการปะทะกันอยู่ตลอดเวลาตามแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา และจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ
กระทั่งปรากฏข่าวที่ไม่เป็นทางการว่า เวียดนามจะบุกยึดกรุงเทพฯ ให้ได้ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ขณะที่แสนยานุภาพทางการทหารของเวียดนามซึ่งเพิ่งเอาชนะมหาอำนาจสหรัฐมาแล้วและกลายเป็นมหาอำนาจทางการทหารอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แม้แต่ไทยก็ไม่สามารถเทียบเคียงได้
การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ.2523 ขณะที่สถานการณ์เผชิญหน้าไทย-เวียดนามยิ่งเข้มข้นรุนแรงขึ้น และนำไปสู่การปรับปรุงนโยบายต่อเวียดนามและกัมพูชาครั้งใหญ่ จนส่งผลให้เวียดนามต้องถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี พ.ศ.2532
เส้นทางสู่อำนาจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงปี พ.ศ.2521 จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อมีนาคม พ.ศ.2523 แม้ยังคงมีคณะทหารหนุ่มเป็นฐานกำลัง
แต่ด้านหลักอันมีลักษณะชี้ขาดแล้วยังคงมาจาก “สถาบันผู้นำ” แห่งรัฐไทย ณ เวลานั้น
รัฐด่านหน้า
การรุกรานและยึดครองกัมพูชาโดยกองทัพเวียดนามเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2521 นำไปสู่สงครามระหว่างฝ่ายกองกำลังของกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) กับกองกำลังของเวียดนามระบอบเฮง สัมริน ที่ฝ่ายเวียดนามอุปโลกน์ขึ้น ที่รู้จักกันในวงวิชาการว่า “สงครามอินโดจีนครั้งที่ 3” นี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศไทยเป็นอันดับแรก และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นลำดับต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไทยจึงมีสถานะเป็น “รัฐด่านหน้า-Front Line State” ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักนำไปสู่การผนึกกำลังร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเหนียวแน่นของประเทศกลุ่มอาเซียนในเวลาต่อมา
ปัญหาผู้อพยพกัมพูชา
ผลกระทบต่อไทยในทันทีคือการที่ผู้อพยพชาวกัมพูชาหลั่งไหลข้ามแนวชายแดนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากมายมหาศาล และยิ่งทวีมากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด
วัตถุประสงค์ทางทหารของเวียดนามและระบอบเฮง สัมริน คือต้องการผลักดันให้กองกำลังของเขมรแดงรวมทั้งราษฎรของฝ่ายเขมรแดงหนีเข้ามาฝั่งไทยทั้งหมด เพื่อให้ฝ่ายเฮง สัมริน ไม่มีศัตรูต่อต้านซึ่งเป็นการช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในกัมพูชาทำให้ระบอบเฮง สัมริน มั่นคง
วิธีการนี้เวียดนามเคยใช้แก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายในของตนมาแล้วโดยกดดันให้ราษฎรที่มีจิตใจต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ต้องอพยพออกนอกประเทศเมื่อครั้งสามารถยึดเวียดนามใต้ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ.2518
แต่ไทยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือฝ่ายเวียดนาม จึงเริ่มผลักดันชาวเขมรอพยพระลอกใหม่ที่ข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทยหลังเวียดนามบุกกัมพูชาให้กลับเข้าไปในกัมพูชาตามเดิม อันเป็นเหตุการณ์ที่ผิดไปจากที่เวียดนามคาดหมายไว้ จึงทำให้ฝ่ายเวียดนามและระบอบเฮง สัมริน เกิดความไม่พอใจไทยเป็นอันมาก จนนำไปสู่การสู้รบระหว่างกำลังของทั้งสองฝ่ายตามแนวชายไทย-กัมพูชา อย่างต่อเนื่องยืดเยื้อมาโดยตลอด
ปัญหาผู้อพยพจึงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022