ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ
สิ่งที่คาดหวัง
ในวันที่ 14 พฤษภาคม
สิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมานานสี่ปีเต็มได้วนเวียนกลับมาให้เราได้พบได้เห็นและได้ปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง
ใช่ครับ ผมหมายถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่มีในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้
การเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้งหมายถึงโอกาสที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบเพื่อเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ
ในขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัตินี้เองก็เป็นต้นทางของฝ่ายบริหารคือการเกิดขึ้นของคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดินไปจนกว่าสภาจะครบวาระหรือมีการยุบสภาก่อนครบวาระ
กล่าวสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะ ถ้าจะพูดให้กระทบกระเทือนหัวใจใครน้อยที่สุดก็ต้องบอกว่าเป็นการต่อสู้ในทางความคิดกันระหว่างพรรคการเมืองสองฟากฝั่ง ตามที่รู้เห็นกันอยู่โดยทั่วไปก็เรียกว่าฝ่ายอนุรักษนิยมข้างหนึ่ง กับฝ่ายเสรีนิยมข้างหนึ่ง
นอกจากนั้น ยังมีพรรคที่อยู่ตรงกลาง คือบางวันก็เสรี บางวันก็อนุรักษ์ ของแบบนี้เราไม่ว่ากันอยู่แล้ว ใครชวนไปร่วมรัฐบาลจะได้ไม่ลำบากใจไงล่ะคุณ
ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏขึ้นกลางดึกคืนวันที่ 14 พฤษภาคม ย่อมส่งผลให้มีการเจรจาต่อรองกันในระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล
สำหรับเราซึ่งเป็นประชาชนต้องคอยจ้องดูตาไม่กระพริบก็แล้วกันว่าผลเป็นเช่นไร
แต่สิ่งที่ผมอยากจะชวนท่านทั้งหลายพูดคุยหรือตั้งข้อสังเกต คือบรรยากาศก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งซึ่งมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนมีการยุบสภาเสียด้วยซ้ำ ยิ่งเมื่อเกิดการยุบสภาขึ้นแล้ว และปรากฏตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละราย มีนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง มีการปราศรัยบนเวทีดีเบตต่างๆ ตลอดจนการหาเสียงในรูปแบบอื่น
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงจำนวนไม่น้อย
รวมทั้งได้อ่านข้อความที่ท่านทั้งหลายโพสต์ลงสื่อสาธารณะเช่น Facebook หรือ Twitter ซึ่งผมติดตามอ่านอยู่เป็นประจำ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ผมพบว่า การที่แต่ละคนจะตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งเลือกพรรคการเมืองใดหรือเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายใด มีตัวแปรหลายอย่างเหลือเกิน
ตัวแปรหรือปัจจัยสำคัญที่สุด คือ อุดมการณ์ทางการเมืองของเจ้าของสิทธิเลือกตั้งคนนั้น ว่าได้บ่มเพาะหรือเติบโตมาอย่างไร
เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลอย่างแท้จริง ผมไม่สามารถบอกได้ว่าใครผิดหรือใครถูก
ไม่จำเป็นเสมอไปที่ผู้สูงอายุจะต้องเป็นคนอนุรักษนิยม เช่นเดียวกันกับผู้ที่อ่อนเยาว์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเสรีนิยม
จะเรียกว่าบุญทำกรรมแต่งของแต่ละคนก็เห็นจะได้
ปัจจัยข้อที่สอง คือข้อมูลที่แต่ละบุคคลได้รับจากแหล่งต่างๆ มาตลอดชีวิต รวมทั้งข้อมูลที่ระดมเข้ามาสู่ความรับรู้ของเราในช่วงเวลาของการหาเสียงครั้งนี้ด้วย
ลองดูตัวอย่างง่ายๆ สักเรื่องหนึ่ง ถ้าเราตื่นมาตั้งแต่เช้าได้รับ LINE จากเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกัน ส่งเรื่องชนิดที่ขมวดท้ายข้อความว่าช่วยกันแชร์ออกไปด่วนมาให้อ่าน
สำนวนที่บอกว่า “ช่วยกันแชร์ออกไป ด่วน!” นี้ บอกแนวแล้วล่ะครับว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม
เพราะจากการสำรวจทางสถิติส่วนตัวของผมแล้ว พวกเสรีนิยมเขาไม่พูดอะไรทำนองนี้ ซึ่งต้องวิจัยให้ลึกซึ้งต่อไปว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
แต่เอาเถิด ผู้ที่วนเวียนได้รับข้อมูลข่าวสารจากคนกลุ่มเดียวซึ่งมีทัศนคติหรือมุมมองทางการเมืองเหมือนกัน ส่งข้อความซ้ำๆ ให้อ่านอยู่เสมอ ผลที่เกิดขึ้นก็คือความเชื่อแบบเดียวกัน เพราะความมั่นใจว่าข้อมูลทั้งปวงที่ตัวเองได้รับถูกต้องและมาจากผู้ที่เชื่อถือได้
เพื่อนเราจะมาหลอกเราทำไม
โดยลืมนึกไปว่าเพื่อนเราก็ถูกหลอกมาอีกทีหนึ่ง ฮา!
ปัจจัยข้อที่สาม คือตัวแปรเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ ที่อย่าเห็นว่าเล็กน้อยและมองข้ามไปนะครับ เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ของบางคนกลายเป็นเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนอีกจำนวนหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น คนในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพมหานครจำนวนไม่น้อย ให้ความสำคัญสำหรับการเลือกพรรคการเมืองมากกว่าการใส่ใจในตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตเลือกตั้งแต่ละเขต
เหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะคนกรุงเทพฯ ที่ว่าไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเข้าถึงบริการสาธารณะของทางราชการ
พูดแบบบ้าๆ บอๆ ก็เช่น เราไม่จำเป็นต้องฝากลูกเราเข้าโรงเรียนโดยผ่านช่องทางของ ส.ส. เพราะเรามีปัญญาฝากลูกเราในช่องทางอื่นอีกมาก ถนนหนทางบ้านเราก็ไม่ต้องวิ่งเต้นกับ ส.ส. เพราะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเอาไว้ให้ใช้งานอยู่แล้ว
พ่อแม่ของเราตาย ส.ส.จะมาฟังสวดพ่อแม่เราหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ
แต่เรื่องอย่างนี้ที่ว่ามาทั้งหมด เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย ในสายตาของเขาแล้ว เขาอาจจะนึกไปไม่ได้ไกลถึงเรื่องสมรสเท่าเทียม ปัญหาพลังงานสะอาด โลกร้อน สงครามรัสเซียกับยูเครน การปฏิรูปการศึกษาและกระบวนการยุติธรรม และอีกร้อยแปดพันเก้าที่อีกหลายคนนึกถึง เพราะอยู่ไกลตัวเขาเหลือเกิน
เขาต้องการแค่เหมืองฝาย ถนนหนทางที่สะดวกสำหรับการเดินทาง สินค้าการเกษตรสามารถขายได้ราคา หมอและพยาบาลอยู่ใกล้มือใกล้ตัว ถึงเวลาตายก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเผาศพ
ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดสามารถเป็นที่พึ่งได้ในเรื่องเหล่านี้ เขาก็กาบัตรให้คนคนนั้น โดยมิพักต้องคำนึงเลยว่าใครคนนั้นสังกัดพรรคการเมืองใด และพรรคการเมืองที่ว่ามีนโยบายในระดับชาติระดับนานาประเทศอย่างไร
เหตุผลแบบนี้ ถามว่าถูกต้องสำหรับการใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่
เราจะกล้าตอบว่าไม่ถูกหรือครับ ในเมื่อเป็น “สิทธิ” ของเขานี่นา
เหตุผลเล็กๆ น้อยๆ อีกแบบหนึ่งคือการรู้จักมักคุ้นกันเป็นการส่วนตัว ก็ในเมื่อผู้สมัครรายนี้รู้จักกันกับเรามานานปี ความเป็นมิตรระหว่างกันก็เสมอต้นเสมอปลาย เรียนโรงเรียนเดียวกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย หรือถึงแม้เพื่อนเราคนนี้ไม่ได้สมัครผู้แทน แต่พ่อหรือลุงของเขาสมัคร ทำไมเราจะไม่ลงคะแนนเลือกเขาหรือพ่อหรือลุงของเขาเล่า
ถ้าจะทำการศึกษาวิจัยว่าเหตุผลที่แต่ละคนกาบัตรเลือกตั้งด้วยความคิดอะไรอยู่ในหัวใจเป็นหลักก็คงได้คำตอบประมาณนี้ล่ะครับ
เมื่อมาถึงบรรทัดนี้ผมก็ต้องพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การใช้เวลาไม่กี่วินาทีในคูหาเลือกตั้งเพื่อกาบัตรสีต่างกันสองใบ ใบหนึ่งเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต อีกใบหนึ่งเลือกพรรคการเมืองในดวงใจ เป็นความชอบธรรมของแต่ละบุคคลที่จะตัดสินใจอย่างไรก็ได้ตามความเชื่อตามเหตุผลส่วนบุคคลของเขา
บนวิถีประชาธิปไตยเราไม่สามารถจะหวังได้ว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน
เวลาไม่กี่วินาทีขณะที่จรดปลายปากกาลงบนบัตรเลือกตั้งนั้น เป็นช่วงเวลาที่สมองได้ประมวลผลที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ จากข้อมูลที่ได้รับมาจากแหล่งต่างๆ จากความคาดหวัง จากปัญหาในมุมมองของแต่ละคน แล้วนำมารวมกันเข้า เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของพวกเราแต่ละคนในสนามเลือกตั้งครั้งนี้
ผลโดยรวมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละเขต ผลการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อพรรคใดได้มากได้น้อยต่างกัน รวมทั้งผลรวมของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ว่าพรรคใดได้คะแนนสนับสนุนอย่างไร เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจร่วมกันของคนทั้งประเทศ
แน่นอนว่ามีทั้งคนสมหวังและผิดหวัง ถ้าผิดหวังคราวหน้าก็ว่ากันใหม่
การเลือกตั้งก็เป็นเช่นนี้เสมอ
ถ้าผมจะตั้งความหวังอะไรในวันที่เขียนบทความเรื่องนี้ (ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันเลือกตั้ง) ก็หวังได้แต่เพียงว่าผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม ไม่ว่าออกหัวออกก้อยไปในทางหนึ่งทางใดก็ตาม จะนำพาประเทศไทยของเราก้าวเดินต่อไปในวันข้างหน้าได้อย่างราบรื่นตามวิถีประชาธิปไตย
เสียงข้างมากได้รับการยอมรับ ในขณะเดียวกันเสียงข้างน้อยก็ได้รับความคุ้มครองตามกติกา
โดยคนอีก 250 คนซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้ จะไม่เข้ามามีสุ้มเสียงใหญ่กว่าคน 60 กว่าล้านคนที่ได้แสดงเจตจำนงโดยชัดเจนแล้ว
ง่ายแค่นี้เอง ทำได้ไหมครับ?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022