สงครามและระเบียบโลกใหม่ : การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ตั้งแต่ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะถูกทุบทำลายแล้ว ผู้นำโซเวียตและผู้นำตะวันตกก็มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างมากว่า อะไรคือโลกยุคหลังสงครามเย็นที่พวกเขาพยายามจะสร้างขึ้น”

Paul D’Anieri (ผู้เชี่ยวชาญด้านยูเครน)

 

การสิ้นสุดของสงครามเย็นอย่างเป็นทางการในปี 1991 พร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการกำเนิดของ “รัฐรัสเซีย” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นการจัดระเบียบการเมืองและความมั่นคงใหม่ทั้งของโลกและของยุโรป

อีกทั้งผลที่เกิดในมิติด้านความมั่นคง คือการเผชิญหน้าชุดที่ใหญ่ที่สุดนับจากการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้จบลง พร้อมกับการมาของสถานการณ์ใหม่และภูมิทัศน์ใหม่ ที่ทำให้เกิดพื้นฐานความคิดและทัศนะที่แตกต่างกันอย่างมากในการอธิบายโลก

และยังมีผลอย่างสำคัญต่อการเห็นอนาคตของโลกผ่านมุมมองของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกันด้วย

 

มหาอำนาจยุคหลังสงครามเย็น

สภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจในยุคหลังสงครามเย็นนั้น อาจกล่าวได้ในอีกมุมหนึ่งว่า รัฐแต่ละฝ่ายต่างมี “โลกทัศน์” ที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขผลประโยชน์ของรัฐตน แต่โลกทัศน์เช่นนี้ค่อยๆ แยกพวกเขาออกจากกัน เมื่อการเมืองโลกมีพัฒนาการมากขึ้น รอยแยกของมุมมองเช่นนี้ก็เริ่มขยายกว้างขึ้นด้วยปัญหาการออกแบบระเบียบระหว่างประเทศในยุคหลังสงครามเย็น

ดังจะเห็นได้ว่ารัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ดำรงอยู่ในยุคหลังสงครามเย็น ย่อมมีมุมมองต่อการจัดระเบียบโลกแบบหนึ่ง เนื่องจากสหรัฐกลายเป็นประเทศเดียวที่ยังมีสถานะของความเป็นมหาอำนาจใหญ่ ในขณะที่รัสเซียซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากความล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้น สิ้นสุดสถานะความมหาอำนาจใหญ่ไปโดยสิ้นเชิง

แม้จะยังคงความเป็นรัฐมหาอำนาจยุโรปอยู่ก็ตาม ด้วยสถานะแห่งอำนาจเช่นนี้ รัฐทั้งสองย่อมต้องมีมุมมองต่อโลกที่ต่างกันออกไป

นอกจากนี้ การแบ่งในบริบทของการเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็นที่เป็นแบบ “ขั้วเดียว” (unipolar) ซึ่งในขณะที่สงครามเย็นแต่เดิมมีความเป็น “สองขั้ว” (bipolar) กลายเป็นปมปัญหาสำคัญในเวลาต่อมา

เพราะเท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองว่า โลกขั้วเดียวนี้เป็นโลกที่อยู่ภายใต้อำนาจของสหรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงของระเบียบระหว่างประเทศจากความเป็น “สองขั้ว” ไปสู่ “ขั้วเดียว” นั้น ต้องถือเป็นประเด็นสำคัญในการจัดระเบียบสำหรับยุคหลังสงครามเย็น ที่ด้านหนึ่ง ปัญหาการเมืองและความมั่นคงแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก

โดยเฉพาะความเป็น “ขั้วทางการเมือง” (political polarization) แบบเก่าในเวทีโลกได้สิ้นสุดลง ดังจะเห็นได้ว่าภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์จบลงทั้งในทางการเมืองและการทหาร พร้อมกับการมาของกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยชุดความคิดทางเศรษฐกิจการเมืองในแบบลัทธิ “เสรีนิยม” ไม่ว่าจะเป็นการเมืองแบบเสรีนิยมภายใต้กระแสประชาธิปไตย หรือเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่อยู่ภายใต้ของกระแสทุนนิยม

กระแสโลกาภิวัตน์ยังมาพร้อมกับการให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน ธรรมภิบาล (good governance) ความโปร่งใส และความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งมีนัยถึงการยอมรับสถานะที่เป็นจริงทางเพศสภาพของบุคคล ตลอดรวมถึงการให้ความสนใจในเรื่องของการปฏิรูปภาคความมั่นคง (Security Sector Reform : SSR) การบริหารจัดการและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเสมือนการจัดกรอบของ “ระเบียบโลกที่ควรจะเป็น” อันอาจขัดกับกระแสสังคมภายในของบางประเทศ

ถ้าเปรียบเทียบการยุติของสงครามเย็นเป็นเสมือนการเดินทางบนท้องถนนแล้ว การยุติในครั้งนั้นเป็นความหวังว่า รัฐมหาอำนาจจะสามารถออก “กฎบนถนน” (คือระเบียบระหว่างประเทศใหม่) เพื่อใช้เป็นข้อปฏิบัติในการป้องกันอุบัติเหตุในอนาคตร่วมกัน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำในเวทีโลกเหล่านี้ มีชุดความคิดและมุมมองต่ออนาคตของโลกที่แตกต่างกันอย่างมาก จนอาจจะต้องยอมรับความจริงว่า ความคิดและมุมมองดังกล่าวกลายเป็น “ช่องว่างใหญ่” ที่ไม่อาจปิดลงได้

หรืออีกนัยหนึ่งคือ รัฐมหาอำนาจไม่สามารถที่วางกรอบในการกำหนด “กฎบนถนน” ได้อย่างที่คาดหวัง แม้จะรู้ว่ามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มาก

กล่าวในอีกด้านได้ว่าการจัดระเบียบระหว่างประเทศของยุคหลังสงครามเย็นเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึง ความไม่ลงรอยทางความคิดของรัฐมหาอำนาจแต่ละฝ่าย เพราะรัฐเหล่านี้ไม่เพียงมีความเห็นต่างเท่านั้น หากยังมีผลประโยชน์ และความคาดหวังที่แตกต่างกันอีกด้วย

 

สองระเบียบ-สองมุมมอง

หากมองในเรื่องของการจัดระเบียบระหว่างประเทศแล้วจะเห็นชัดเจนว่า แบบแผนอนาคตโลกในมุมมองของฝ่ายตะวันตก คือการสร้างระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม เศรษฐกิจการตลาดแบบเสรีนิยม ซึ่งระเบียบโลกแบบเสรีนิยม หรือมีความหมายเป็น “ระเบียบที่มีกฎกติกา” (rule-based International order) เพื่อกำกับพฤติกรรมของรัฐในเวทีระหว่างประเทศ

โดยนัยเช่นนี้ จึงมีความหมายว่า ชุดความคิดของโลกตะวันตกตั้งอยู่บนรากฐานความคิดที่เป็น “ลัทธิเสรีนิยม” กล่าวคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ระเบียบแบบเสรีนิยม” (liberal international order) ซึ่งอาจจะแตกต่างจากชุดความคิดพื้นฐานของจีนและรัสเซีย

ในขณะเดียวกันโลกของฝ่ายตะวันออกที่ตั้งอยู่บนฐานความคิดของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” นั้น ได้พังทลายลงทั้งหมด จนไม่มีสถานะเป็น “ภัยคุกคามหลัก” ที่เป็นพลังขับเคลื่อนการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในเวทีโลกได้อีกต่อไป

แต่การสิ้นสภาวะเช่นนี้ก็มิได้เป็นคำตอบในตัวเองว่า ระเบียบใหม่ที่ถูกกำหนดด้วยกระแสเสรีนิยมและลัทธิทุนนิยมนั้น จะทำให้ความเป็น “มหาอำนาจเดี่ยว” คือการเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐ สามารถดำรงอยู่โดยปราศจากความท้าทายได้นาน

แต่ในความเป็นจริงสภาวะเช่นนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่อย่างถาวรในการเมืองโลก

 

ประวัติศาสตร์การเมืองโลกชี้ให้เห็นเสมอว่า ไม่มียุคใดสมัยใดที่การเมืองโลกจะดำรงอยู่ด้วยความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่แบบฝ่ายเดียวได้อย่างยาวนาน

ซึ่งโลกแบบขั้วเดียวนี้อาจเปรียบเทียบได้ว่า เป็นการเมืองโลกเช่นในยุคของ “สันติภาพแบบโรมัน” (Pax Romana หรือ Roman Peace) ที่จักรวรรดิโรมควบคุมทุกอย่าง

ดังนั้น จึงทำให้เกิดการเปรียบว่า การเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็นก็เป็นเช่นยุคโรม และมีสภาวะเป็น “สันติภาพแบบอเมริกัน” (Pax Americana) ซึ่งสหรัฐดำรงอยู่ในการเป็นผู้ควบคุมระเบียบระหว่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากสหภาพโซเวียตล่มสลายไป และจีนเองในช่วงต้นของยุคหลังสงครามเย็น ก็ไม่ได้มีความเข้มแข็งที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าทายกับสหรัฐได้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในโลกใหม่ของ “ยุคหลังคอมมิวนิสต์” นั้น อาจจะลดทอนอุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่การเมืองที่จะเดินไปในแนวทางแบบเสรีนิยม

แม้ฝ่ายตะวันตกจะคาดหวังอย่างมากว่า ความเป็นเสรีนิยมจะเกิดขึ้นทั้งในจีนและรัสเซีย และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

หรืออาจกล่าวแบบ “โลกสวย” ว่า ยุคหลังคอมมิวนิสต์จะเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคประชาธิปไตย ซึ่งว่าที่จริงแล้ว หลายฝ่ายตระหนักดีว่า ความหวังเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

ดังนั้น แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ดังจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งในรัสเซียนั้น สุดท้ายแล้วในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ เรากลับเห็นการกำเนิดของ “ระบอบพันทาง” หรือที่เรียกกันว่า “ระบอบไฮบริด” (Hybrid Regime) ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูป และกลับดำรงความเป็นอำนาจนิยมไว้ได้ จนรัสเซียถูกใช้เป็นตัวแบบของการศึกษาระบอบนี้อย่างชัดเจน

ฉะนั้น จุดเริ่มต้นของ “ระบอบปูติน” ก็คือ การเดินทางของการเมืองรัสเซียบนเส้นทางของการสร้างระบอบพันทาง เพื่อดำรงองคาพยพของความเป็นอำนาจนิยมไว้ให้ได้ด้วยเงื่อนไขการเลือกตั้ง

ผู้นำระบอบเช่นนี้จึงไม่มีทางที่จะยอมรับถึงการจัดระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นเสรีนิยมอย่างแน่นอน เนื่องจากเงื่อนไขพื้นฐานของตัวระบอบเองก็ขัดแย้งกับการให้คุณค่าในเวทีสากล

ทั้งตัวผู้นำเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวชี้วัดของระเบียบการเมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย ความเป็นนิติรัฐ ความโปร่งใส หรือแม้กระทั่งการยอมรับในเรื่องเพศสภาพ

(และอาจมองว่าความเป็นจริงของเพศสภาพของบางคนอาจกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายได้ เช่น LGBTQ)

 

การมาของผู้แข่งขันใหม่

ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ได้มีเหตุผลใดที่จะบอกว่า พวกเขาควรจะต้องยอมรับโลกแบบเสรีนิยม เพื่อสวมทับลงไปบนความล่มสลายของสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต

เช่นเดียวกับที่จีนพยายามประคับประคองให้ตนเองรอดพ้นจาก “วิกฤตสังคมนิยม” ที่เกิดจากการล่มสลายของการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

เพราะหากจีนล่มสลายตามไปกับการพังทลายของสหภาพโซเวียตแล้ว ภูมิทัศน์การเมืองโลกนับตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น จนถึงยุคศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

การปรับตัวเพื่อดำรงระบอบการเมืองแบบพรรคเดียว พร้อมกับการใช้ระบอบทุนนิยมภายใต้การควบคุมของรัฐ คือความสำเร็จในการดำรงระบอบอำนาจนิยมภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ดำรงอยู่ต่อไป

วิกฤตสังคมนิยมจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียต และขณะเดียวกันก็เป็นแรงกดดันให้จีนต้องปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์ใหม่ของโลกหลังสงครามเย็น ที่ด้านหนึ่งมีความหมายถึง การสิ้นพลังของค่ายคอมมิวนิสต์ในการขับเคลื่อนการเมืองโลก โดยเฉพาะการสิ้นสภาพของสหภาพโซเวียตในการเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ แต่ปรับตัวทางเศรษฐกิจการเมือง เป็นจุดให้จีนสามารถพลิกฟื้นตัวเอง และก้าวขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ จนกลายเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลกปัจจุบัน

ในสภาวะเช่นนี้ จีนกลายเป็นผู้ท้าทายใหญ่กับระเบียบโลกแบบเสรีนิยม เนื่องจากระเบียบนี้ไม่เอื้อกับการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจใหญ่ของจีน ซึ่งมุมมองจีนและรัสเซียไม่ได้แตกต่างกันที่มองว่า ระเบียบโลกถูกกำหนดด้วย “มาตรฐานและคุณค่า” แบบตะวันตก จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน

ซึ่งผลเช่นนี้ทำให้เกิดการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อการจัด “ระเบียบโลกใหม่”

การแข่งขันดังกล่าวพาโลกเข้าสู่ภาวะ “สงครามเย็นใหม่” โดยมีสหรัฐกับจีนและรัสเซียเป็นคู่แข่งขันใหญ่ บนเงื่อนไขของความเห็นต่างในการสร้าง “ระเบียบโลกของศตวรรษที่ 21”

ภาวะเช่นนี้ทำให้การแข่งขันทวีความเข้มข้นมากขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และเกิดบนพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปราะบาง อันทำให้จุดเปราะบางเหล่านี้พร้อมที่จะกลายเป็น “จุดร้อน” ในการเมืองโลกได้ไม่ยาก

การแข่งขันเช่นนี้ ทำให้เราได้เห็น “ระเบียบแบบรัสเซีย” ด้วยสงครามยูเครน ฉะนั้น จึงน่าสนใจอย่างมากว่า “ระเบียบแบบจีน” จะตามมาด้วยสงครามช่องแคบไต้หวันหรือไม่?