การมีส่วนร่วมของซาอุดีอาระเบีย กับประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

การมีส่วนร่วมของซาอุดีอาระเบีย

กับประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2)

 

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติโดยมีประชากรทั้งหมดในปี 2022 ประมาณ 32.7 ล้านคน เทียบกับ 32.6 ล้านคนในปี 2021 โดยมีอัตราการเติบโตของประชากรต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 0.2

อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่นๆ

กฎหมายชาริอะฮ์ในมาเลเซียใช้ได้กับชาวมุสลิมเท่านั้น และใช้เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิในเรื่องครอบครัว การหย่าร้าง การรับมรดก และการแต่งงาน

อิสลามเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมมาเลย์ มากเสียจนพิธีกรรมและการปฏิบัติของอิสลามหลายอย่างมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมาเลย์ เมื่อได้รับเอกราชในปี 1975 มาเลเซียต้องสร้างอัตลักษณ์ระหว่างประเทศขึ้นอย่างหลากหลาย

ปัจจุบัน กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียมีภารกิจอยู่มากทั่วโลก โดยมีภารกิจด้านการต่างประเทศอยู่ใน 85 ประเทศ (กระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย 2564) เปรียบเทียบกับซาอุดีอาระเบียที่มีประชากร 34 ล้านคน และมีภารกิจอยู่ใน 46 ประเทศ

 

อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรประมาณ 275 ล้านคน (คิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยอินโดนีเซียถูกกำหนดให้มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในอนาคตอันใกล้นี้ ในฐานะรัฐที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ต้องการระเบียบโลกแบบหลายขั้ว

รัฐนี้ยังเข้ากันได้ดีกับซาอุดีอาระเบียและสมาชิกของความร่วมมือแห่งอ่าว (Gulf Cooperation Council) อันเป็นรัฐกษัตริย์ร่ำรวยน้ำมันได้เป็นอย่างดี

บรูไน อดีตรัฐในอารักขาของอังกฤษที่อุดมไปด้วยทรัพยากรบนเกาะบอร์เนียวซึ่งมีประชากรประมาณ 400,000 คน จมดิ่งสู่ภาวะถดถอยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงและปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่ลดลง

ตั้งแต่บรูไนดารุสซาลามและซาอุดีอาระเบียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อกว่าสามทศวรรษที่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ พร้อมไปกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน “บรูไนกำลังกลายเป็นซาอุดีอาระเบียแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2019 กฎบัตรนครมักกะฮ์ได้รับการรับรองโดยนักวิชาการมุสลิมชั้นนำของโลก และบุคคลสำคัญของศาสนาอิสลามมากถึง 1,200 คนจาก 139 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรอิสลาม ได้อนุมัติให้กฎบัตรนี้ถือกำเนิดขึ้น

นับเป็นคำประกาศซึ่งได้รับการพัฒนาและรับรองภายใต้คำแนะนำและความเป็นผู้นำของซาอุดีอาระเบีย และลงนามโดยนักวิชาการมุสลิมทั่วโลก โดยคำประกาศดังกล่าวระบุว่าได้มีการ “เรียกร้องให้โลกต่อสู้กับการก่อการร้าย ความอยุติธรรม และการกดขี่ โดยหน้าที่ของทุกคนคือการปฏิเสธการแสวงประโยชน์ส่วนตนและการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันถือเป็นข้อความที่ชัดเจนในจุดยืนทางการเมืองของโลกมุสลิม”

บทบาทผู้นำของซาอุดีอาระเบียในโลกมุสลิมถูกกำหนดโดยหลักการที่มีอยู่ในนโยบายต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียหลายประการ รวมทั้งความมุ่งมั่นที่ซาอุดีอาระเบียมีต่อชาวมุสลิมทุกคนทั่วโลก, การไม่แทรกแซง, การสนับสนุนความพยายามในการเผชิญหน้ากับการใช้ความรุนแรง และการเผชิญหน้ากับกลุ่มสุดโต่ง

หลักการเหล่านี้ตั้งอยู่บนพันธกรณีที่มีต่ออิสลามในฐานะศาสนา อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์และอารยธรรม และตามพันธสัญญาที่มีอยู่ในระบบระหว่างประเทศทั้งเป็นองค์กรและสถาบันระหว่างประเทศ

 

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ของซาอุดีอาระเบีย

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กว่า 80 ปีที่ผ่านมา บทบาทของซาอุดีอาระเบียที่มีอยู่ในโลกน้ำมันได้ลดลงอย่างรวดเร็ว บริษัทสูบน้ำมันขึ้นมาเกือบ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของน้ำมันโลกทั้งหมด และจำหน่ายในตลาดต่างประเทศมากกว่า 7 ล้านบาร์เรล ทำรายได้มหาศาลให้กับราชวงศ์ ผู้ปกครองและบริษัทของรัฐอย่าง Aramco มีกำไรพุ่งทะยาน อยู่ที่ประมาณ 110 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022

เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเทศส่วนใหญ่มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อันเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในภาคพลังงาน

สำหรับซาอุดีอาระเบีย คำถามก็คือว่าซาอุดีอาระเบียจะยังคงเป็นมหาอำนาจในโลกน้ำมันต่อไปได้หรือไม่

หรือพวกเขาต้องการเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อสภาพภูมิอากาศที่ดีและก้าวไปพร้อมกับนโยบายพลังงานแบบดั้งเดิม

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจภาคส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันของซาอุดีอาระเบียก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก คาดว่าภาคการผลิต การขนส่ง การสื่อสาร บริการทางการเงิน และการก่อสร้างกำลังมีแนวโน้มสดใสนี้ จะเป็นตัวแสดงหลักของการเติบโตในอนาคตอันใกล้

ทำให้เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในฐานะของประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคและเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจชั้นนำของโลกต่อไปในอนาคต

 

ในปี 2017 กษัตริย์ซาอุดีอาระเบียได้เริ่มการเดินทางระยะยาวหนึ่งเดือนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียยังได้เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการค้าและความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองกับภูมิภาคนี้ด้วย

กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียและคณะผู้ติดตามจำนวนกว่า 1,000 คน รวมทั้งเจ้าชายและรัฐมนตรี ได้รับการต้อนรับจากเมืองหลวงของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน

การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ซาอุดีอาระเบียกำลังขวนขวายหาโอกาสการลงทุนและวิธีสร้างความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมัน Elina Noor ผู้อำนวยการสถาบันทางยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ (Institute of Strategic and International Studies Malaysia – ISIS) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองที่มีสำนักงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ระบุว่า เป้าหมายหลักของการเยือนครั้งนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ

วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อปรับปรุงการค้าและการลงทุนทวิภาคีระหว่างซาอุดีอาระเบียและประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นี่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากความต้องการเร่งด่วนของซาอุดีอาระเบียในการกระจายเศรษฐกิจของตน และความปรารถนาอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะส่งเสริมการลงทุนที่มาจากซาอุดีอาระเบียในประเทศของตน

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียและประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการส่งเสริมโดยการเยือนอันยาวนานของกษัตริย์ซัลมานในปี 2017

ซึ่งมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจในด้านต่างๆ เช่น การค้า การศึกษา สุขภาพ วัฒนธรรม การประกอบพิธีฮัจญ์ การท่องเที่ยว การแบ่งปันข้อมูล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การบินพลเรือน การประมง ความมั่นคง การป้องกัน และการต่อต้านการก่อการร้าย