อุษาวิถี (27) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (27)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

ด้วยเหตุนี้ สภาพการณ์ดังกล่าวในด้านหนึ่งจึงเท่ากับสะท้อนว่า ความคิดในเรื่อง “ความเที่ยงแห่งนาม” หรือ “เจิ้งหมิง” ของขงจื่อยังคงถูกละเลย เท่าๆ กับความคิดเรื่องรีตหรือ “หลี่” นั้นเอง

กระแสความคิดหลักจึงยังคงอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรรัฐต่างๆ จึงจะสามารถรวบรวมเป็นอาณาจักรเดียวกันได้ การมุ่งให้กระแสความคิดหลักนี้ประสบความสำเร็จได้นั้น ในด้านหนึ่งจึงสวนทางกันอย่างสิ้นเชิงกับหลักคิดของขงจื่อ

และภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้เอง ที่เป็นสิ่งที่รายล้อมขงจื่ออย่างแท้จริงในยามที่เขาได้ลาจากโลกนี้ไปในขณะที่มีอายุ 73 อันตรงกับปีที่ 16 ของหลู่อายกง กษัตริย์แห่งรัฐหลู่ หรือ ก.ค.ศ.479

 

ค.จีนวิถีหลังยุคขงจื่อ

จีนหลังจากขงจื่อจากไปไม่ได้แตกต่างไปจากช่วงที่ขงจื่อยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งในด้านหนึ่งเท่ากับว่า ความคิดของขงจื่อแม้ไม่ได้ถูกปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้

และไม่เพียงขงจื่อเท่านั้น แม้แต่หลักคิดของนักปราชญ์ในชั้นหลังต่อมาก็ไม่ได้รับการยอมรับเช่นกัน นักปราชญ์เหล่านี้มีทั้งที่สืบทอดความคิดต่อจากขงจื่อ มีทั้งที่ประยุกต์ใช้ และมีทั้งที่คิดขึ้นเป็นของตนเอง

เช่น เมิ่งจื่อ (ก.ค.ศ.372-289) หรือซุนจื่อ (ก.ค.ศ.300-237) เป็นต้น

การศึกสงครามยังคงดำเนินไปจนกระทั่งเหลือรัฐใหญ่อยู่เพียงไม่กี่รัฐ และทั้งหมดนี้ก็ทำสงครามต่อกันเรื่อยมาอีกนานนับกว่าสองร้อยปี โดยในช่วงนี้รัฐที่ทรงอำนาจมากที่สุดเหลืออยู่เพียง 7 รัฐ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

พร้อมกันไปกับสงคราม ความเจริญที่ตามคู่กันมาก็คือ ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มาพร้อมกับการค้าที่ช่วยยกสถานะของชนชั้นพ่อค้าให้มีความสำคัญมากกว่าในยุควสันตสาร์ท

เวลานั้น (ยุครัฐศึก) อุตสาหกรรมเครื่องสัมฤทธิ์และเหล็กที่มีรายละเอียดอันเอื้อต่อการประกอบพิธีกรรม การดำรงชีวิตประจำวัน และการสงครามได้เจริญขึ้นมาอย่างเต็มที่

ธนูกลายเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด เพราะสามารถทำลายฝ่ายตรงข้ามได้จากระยะไกล ส่วนม้าจากที่เคยใช้ขี่ไม่ว่าจะในชีวิตในทางเศรษฐกิจหรือในการสงคราม ก็ถูกพัฒนาให้สามารถเทียมกับรถศึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำสงครามมากขึ้น ฯลฯ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงจะเอื้อให้บรรดาพ่อค้าในเวลานั้นมั่งคั่งขึ้นมาเท่านั้น หากแม้แต่เมืองใหญ่ของรัฐต่างๆ ดังกล่าวก็เจริญรุ่งเรืองตามมาด้วยเช่นกัน

 

จากปรากฏการณ์ที่ว่านี้เองที่เป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดหลักคิดของขงจื่อหรือนักปราชญ์คนอื่นๆ จึงไม่ได้รับการยอมรับในทางปฏิบัติ เว้นเสียแต่จะมีหลักคิดที่สอดรับกับความคิดพื้นฐานของบรรดาผู้นำรัฐต่างๆ เวลานั้นเท่านั้น

และหลักคิดที่สอดรับนี้ก็ปรากฏขึ้นในช่วงปลายของยุครัฐศึก หลักคิดนี้ก็คือ นิตินิยม

นักคิดของสำนักนี้ที่โดดเด่นมีอยู่สองคน คือ หันเฟยจื่อ (มรณะ ก.ค.ศ.233) โดยได้รับอิทธิพลมาจากหลักคิดของซางยาง (มรณะ ก.ค.ศ.338) อีกชั้นหนึ่ง อีกคนหนึ่งคือ หลี่ซือ (มรณะ ก.ค.ศ.208)

อนึ่ง ซางยางเป็นผู้ดีตกอับของรัฐเหว้ย (?) มีชื่อว่า เหว้ยยาง ชื่อสกุลคือ กงซุน ผู้คนจึงเรียกเขาว่า เหว้ยยาง หรือ กงซุนยาง ตอนอยู่ที่รัฐเหว้ยไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ เขาจึงเดินทางมายังรัฐเว่ย (?) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ (ชื่อของสองรัฐนี้ออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนคนละแบบ ในที่นี้จึงเขียนทับศัพท์คนละแบบ)

จนเมื่อเขาย้ายมารัฐฉิน ผู้นำรัฐนี้ได้ให้การยอมรับความรู้ความสามารถของเขา และเขาก็ไม่ทำให้ผู้นำรัฐนี้ผิดหวัง

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักของสำนักนิตินิยมนี้ หากจะว่ากันถึงในช่วงที่ซางยางได้ริเริ่มเอาไว้แล้ว หลักคิดที่ปรากฏออกมาแม้จะให้ความสำคัญแก่รัฐที่ซื่อสัตย์ยุติธรรมก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีทัศนะไปในทางที่เหยียดหยามราษฎรชั้นล่างแต่ประการใด จะมีก็แต่เพียงให้ราษฎรเชื่อฟังรัฐ (ที่ซื่อสัตย์) เท่านั้น

ต่อเมื่อหันเฟยจื่อและหลี่ซือได้นำมาประยุกต์ใช้แล้ว ผลก็คือ มีการให้ความสำคัญกับกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ตราโดยรัฐ ว่าเป็นสิ่งที่ราษฎรพึงเชื่อและปฏิบัติตาม

ประเด็นก็คือว่า ทัศนะในชั้นหลังนี้ได้ถูกกระทำผ่านการตรากฎหมายที่เด็ดขาดและแข็งกร้าว และมากด้วยอำนาจนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้ผู้นำสูงสุดเป็นผู้ตราและใช้กฎหมายแต่เพียงผู้เดียว

หลักคิดนี้จึงสอดรับอย่างยิ่งต่อการสร้างรัฐในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือรัฐอาณาจักรที่มีรัฐใดรัฐหนึ่งปกครองรัฐอื่นๆ ที่อ่อนแอกว่า และเมื่อรัฐฉินเพิ่มความเข้มแข็งในด้านที่ว่าขึ้นมา

หลักคิดนี้จึงเอื้อต่อการเติบโตของรัฐนี้ไปในที่สุด

 

กษัตริย์ของรัฐฉินสามารถพิชิตรัฐอื่นๆ อีก 6 รัฐได้สำเร็จเด็ดขาดเมื่อ ก.ค.ศ.221

หลังจากนั้นจึงได้สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิ (หวงตี้) เพื่อให้ดูเหนือกว่าและแตกต่างไปจากกษัตริย์ (หวาง) โดยมีพระนามว่า ฉินสื่อ (จิ๋นซี) และใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาปกครองจีนเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อราชวงศ์ว่า ราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty, ก.ค.ศ.221-206)

การอ้างอิงอำนาจที่ได้รับจากสวรรค์หรือ “อาณัติแห่งสวรรค์” ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ที่สำคัญ ราชวงศ์นี้ได้รักษาเสถียรภาพของตนด้วยการใช้หลักคิดของสำนักนิตินิยมเป็นแนวทาง ด้วยเหตุนั้น การปกครองด้วยกฎหมายที่เข้มแข็งดุจกฎเหล็กจึงเกิดขึ้น การเกณฑ์แรงงานราษฎรเพื่อการต่างๆ ก็ตามมา เพื่อสนองตอบต่อความมั่นคงของรัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกณฑ์แรงงานนับแสนไปสร้างกำแพงเมืองจีน เพื่อป้องกันการรุกรานของพวกชนชาติที่มิใช่จีน

และเพื่อไม่ให้แนวทางนี้ต้องถูกเบี่ยงเบนไปโดยหลักคิดใดๆ ราชวงศ์ฉินจึงไม่มีนโยบายส่งเสริมนักปราชญ์ไม่ว่าจะมาจากสำนักใดทั้งสิ้น ยกเว้นสำนักนิตินิยม ดังนั้น นโยบาย “เผาตำรา ฆ่าบัณฑิต” จึงเกิดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อสิ่งเดียวกันนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักคิดของสำนักหญูของขงจื่อและสำนักคิดอื่นๆ จึงไร้ที่ยืนอย่างสิ้นเชิงตลอดราชวงศ์ฉิน