กางแผนพิทักษ์เลือกตั้ง 66 คู่มือลับตำรวจ-สกัดป่วน! ‘บิ๊กเด่น’ นำทัพคุมศึกชิงอำนาจ

บทความโล่เงิน

 

กางแผนพิทักษ์เลือกตั้ง 66

คู่มือลับตำรวจ-สกัดป่วน!

‘บิ๊กเด่น’ นำทัพคุมศึกชิงอำนาจ

 

สู่โค้งสุดท้ายการหาเสียงเลือกตั้ง บรรยากาศร้อนระอุเขม็งเกลียว แต่ละพรรคต่างหาเสียงแย่งชิงคะแนนให้ได้ตัวเลข ส.ส.มากที่สุด นำไปสู่การจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล

แบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่ คือ “อนุรักษนิยม” หรือฝ่ายสืบทอดอำนาจ กับ “ประชาธิปไตย”

แต่ผลเลือกตั้งออกมาบางพรรคอาจข้ามขั้วผสมพันธุ์กัน ร่วมจัดตั้งรัฐบาล เข้าสู่ “ศูนย์กลางอำนาจ” ด้วยกันได้

แต่ขณะนี้สงครามแย่งพื้นที่ดุเดือด ต่างงัดเหลี่ยมคู ออกมาขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบ เกทับบลั๊ฟฟ์แหลก ตัดคะแนนคู่ต่อสู้ เพิ่มแต้มต่อให้พรรคตัวเอง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะหน่วยงานรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ให้การสนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเลือกตั้ง ส.ส.ล่วงหน้าในวันที่ 7 พฤษภาคม และเลือกตั้งจริงวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น ซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม และอำนวยความสะดวกจราจร ได้เปิดศูนย์รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ไปเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึง 17 พฤษภาคม

มี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์

ระดมกำลังตำรวจกว่า 130,000 นาย ดูแลความปลอดภัยหน่วยเลือกตั้งกว่า 90,000 หน่วยทั่วประเทศ

เริ่มติดอาวุธทางปัญญากำลังพลสีกากี โดย “บิ๊กหลวง” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผช.ผบ.ตร. ในฐานะรอง ศลต.ตร. เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เปิดอบรมให้ความรู้กฎหมายเลือกตั้งแก่ตำรวจทั้งกว่า 110,000 นาย ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งจริง การปฏิบัติตัวต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

หลังการอบรมเสร็จ ประเมินด้วยการทดสอบทางออนไลน์ พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ตำรวจทุกนายมีความเข้าใจข้อกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติตัวเป็นอย่างดี

 

เมื่อวันที่ 1-4 พฤษภาคมที่ผ่าน ตร.ได้ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ กกต. ปฏิบัติภารกิจในการขนส่งบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ไปยังหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ศลต.ตร.ได้จัดให้มีตำรวจทางหลวงเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านการจราจร ทำหน้าที่รถนำและรถปิดท้ายขบวน ประสานงานตำรวจพื้นที่ตลอดเส้นทาง รวมถึงการจัดกำลังตำรวจตระเวนชายแดนเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจํารถขนบัตรเลือกตั้งในแต่ละคัน

โดยตำรวจตระเวนชายแดนจะนั่งประจำรถไปกับรถขนบัตรเลือกตั้งตลอดเส้นทาง จนถึงจุดเขตเลือกตั้งหลักของแต่ละจังหวัด จากนั้นชุดรักษาความปลอดภัยบัตรเลือกตั้งของตำรวจภูธรภาค 1-9 ก็จะมาทำการรักษาความปลอดภัยต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดกำหนด

ทั้งนี้ ในจุดพักรถ เติมน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดเส้นทางจะมีตำรวจภูธรในพื้นที่นั้นๆ ทำการรักษาความปลอดภัย ณ จุดที่รถจอดพัก ตลอดเส้นทางการขนส่งบัตรเลือกตั้ง

 

“บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ในฐานะแม่ทัพใหญ่ ได้ออกแผนรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้รหัสเรียกขานว่า “พิทักษ์เลือกตั้ง 66” เป็นคู่มือในการทำงาน เพื่อสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้ง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

กำหนดแผนเผชิญเหตุ 12 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างวันเลือกตั้ง พร้อมแนวทางแก้ไขให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

1. เหตุต้นไม้ล้มขวางเส้นทาง

2. ตรวจพบบุคคลวิกลจริต

3. ไฟฟ้าชอร์ต หม้อแปลงระเบิด

4. ตรวจพบโดรนต้องสงสัย

5. กลุ่มหรือบุคคลก่อเหตุก่อกวน

6. มีการนำยานพาหนะเข้ามาในพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต

7. เพลิงไหม้ หรือวางเพลิง

8. เหตุยิงอาวุธปืน

9. กรณีพบวัตถุต้องสงสัย ข่มขู่วางระเบิด

10. เกิดเหตุระเบิด

11. กรณีมีการยิงด้วยอาวุธวิถีโค้ง

และ 12. เกิดเหตุระเบิดพร้อมกันหลายจุด

 

นอกจากนี้ “แผนพิทักษ์เลือกตั้ง 66” มีแนวทางอย่าง “เข้ม” ในการปฏิบัติงาน กำหนด “การวางตัวเป็นกลาง” ของข้าราชการสีกากี

1. ให้ข้าราชการตำรวจทุกระดับ วางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด ไม่ปฏิบัติการใดๆ ทั้งในทางส่วนตัว และราชการ โดยมิชอบด้วยกฎหมายให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดโดยเด็ดขาด

2. ไม่ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ หรือพฤติการณ์ในทางส่วนตัวสนับสนุนช่วยเหลือผู้สมัครคนใดหรือพรรคการเมืองใดทั้งทางตรงและอ้อม ทั้งต้องไม่กีดกันกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดให้ได้รับความเสียหาย

3. ในการไปรักษาความปลอดภัยผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้แยกแยะหน้าที่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความเป็นญาติออกจากกัน และหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย ไม่ใช่หน้าที่ในการช่วยหาเสียง

4. ให้ความร่วมมือช่วยเหลือและสนับสนุนการเลือกตั้ง และไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

5. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสอดส่องดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาวางตัวเป็นกลางในทางการเมืองและในการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด ผู้ใดละเลยให้ถือว่ากระทำผิดวินัย

 

กรณีตำรวจวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมืองและการเลือกตั้ง มีมาตรการจัดการดังนี้

1. การดำเนินการทางปกครอง โดยสั่งให้เดินทางไปปฏิบัติราชการในหน่วยอื่น ให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือพ้นจากเขตพื้นที่เดิม, สั่งให้ประจำหรือสำรองราชการ, แต่งตั้งโยกย้ายให้พ้นจากตำแหน่งเดิม และสืบสวนข้อเท็จจริงทางวินัยฐานประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือบกพร่องในหน้าที่อันจะเป็นการเสียหายแก่ทางราชการ

2. การดำเนินการทางวินัย ให้พิจารณาลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรือตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแล้วแต่กรณี

มาตรการในการดำเนินการสำหรับข้าราชการตำรวจที่กลั่นแกล้งร้องเรียนข้าราชการตำรวจด้วยกันเองทั้งที่เป็นตัวการหรือผู้ให้การสนับสนุน โดยรอง ผบ.ตร.ในฐานะ ผอ.ศลต.ตร. สั่งการให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาโดยเฉียบขาดทุกราย การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันอาจส่งผลเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญา

 

สําหรับพื้นที่ต้องจับตาพิเศษ มีความแข่งขันกันสูง ศลต.ตร.ประเมินว่ามีในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จับตาเป็นพิเศษในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 2 อาทิ ชลบุรี “บ้านใหญ่” คุณปลื้ม ฟาดฟัน “บ้านใหม่” เสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), สระแก้ว “เทียนทอง” ชนกับผู้สมัครทีมท้องถิ่นแข็งจากภูมิใจไทย, เพื่อไทย และพลังประชารัฐ

ขณะที่ภูธรภาค 7 อาทิ เพชรบุรี เมืองคนดุ 3 เขตแข่งกันดุเด็ดเผ็ดมัน และนครปฐมวัดกันระหว่าง “บ้านใหญ่” สะสมทรัพย์ ใต้ชายคาชาติไทยพัฒนา ที่หวังแก้มือ “แก้วพิจิตร” รวมทั้งไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย โดยมีตัวสอดแทรกอย่างก้าวไกล

และภูธรภาค 1 จับตาคือ สมุทรปราการ “กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า” รอบนี้ “วัฒนา อัศวเหม” อดีตฉายาเจ้าพ่อปากน้ำ ถือธงพาลูกทีมพลังประชารัฐกลับมาได้แค่ไหน ต้านกระแสแลนด์สไลด์เพื่อไทยไหวหรือไม่

ใกล้วันหย่อนบัตร การแข่งขันดุเดือด ประเมินกันว่า “กระสุน” ยังเป็นตัวแปรสำคัญ ยิ่งรอบนี้น่าจะใช้กันมาก

เพราะฉะนั้น ตำรวจต้องคุมสถานการณ์ให้เล่นกันในกติกา ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งเป็นอีกเชื้อเพลิงช่วยเติมไฟขัดแย้งรอบใหม่