ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
การส่งกองทัพบุกข้ามพรมแดนเพื่อยึดครองยูเครนของวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ไม่เพียงก่อให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อมาจนถึงเวลานี้เท่านั้น ยังก่อแรงกระเพื่อมทำให้สถานการณ์โลกที่ปั่นป่วนตึงเครียดอยู่ก่อนแล้วเขม็งเกลียวมากยิ่งขึ้นไปอีก
สงครามเกิดขึ้นในยุโรป แต่ภาวะ “อกสั่นขวัญแขวน” ลุกลามมาจนถึงแทบทุกชาติในเอเชีย หวั่นวิตกกันว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะเลียนเยี่ยงอย่าง แล้วส่งกองทัพประชาชนจีน บุกเข้ายึดครองไต้หวัน
เนื่องจากเงื่อนไขสงครามของยูเครนกับไต้หวัน นั้นคล้ายคลึงจนแทบจะเป็นแบบอย่างอันเดียวกันด้วยซ้ำไป
ยูเครน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แยกตัวออกมาเป็นอิสระหลังโซเวียตล่มสลาย วิวัฒนาการการเมืองการปกครองของตนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก และมองว่าการเป็นส่วนหนึ่งของ “นาโต” คือเครื่องการันตีประชาธิปไตยของตนในอนาคต
รัสเซียไม่เห็นด้วยกับพัฒนาการดังกล่าว เพราะหากยินยอมให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ก็แทบไม่ต่างอะไรจากการปล่อยให้มีดแหลมคมเล่มใหญ่เข้ามาจ่ออยู่ที่คอของตัวเอง
ไต้หวันอุบัติขึ้นจากสงครามภายในของจีน กองทัพก๊กมินตั๋งที่พ่ายแพ้ ยกขบวนมาก่อร่างสร้างประเทศขึ้น พัฒนาการเมืองการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ในฐานะ “รัฐบาลพลัดถิ่น” ด้วยความหวังที่ว่า วันหนึ่งอาจกลับเข้าไปมีอำนาจบน “แผ่นดินใหญ่จีน” ได้อีกครั้ง
ไต้หวันเคยมองจีนว่าเป็น “ดินแดนใต้ปกครอง” ของตนโดยชอบธรรม จีนก็มองไต้หวันว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเช่นเดียวกัน และต้องนำกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะด้วยวิธีการใดและเมื่อใดเท่านั้นเอง
สำหรับจีนแล้ว เรื่องของไต้หวันจึงเป็นเพียงแค่ “กิจการภายใน” ของจีนที่ชาติอื่นๆ ไม่ควรแทรกแซง ทำนองเดียวกับที่รัสเซีย ต้องการปราบปราม “ผู้แข็งข้อ” ต่อตนเองในยูเครน
เมื่อรัสเซียส่งกองทัพเข้าไป “ปฏิบัติการทางทหารตามภารกิจพิเศษ” ในยูเครนได้ ทำไมจีนจะส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองไต้หวันบ้างไม่ได้
ในขณะที่ยูเครนสามารถเอนหลังพิง “นาโต” ได้ ไต้หวันเองก็มีเครื่องการันตีว่า อย่างน้อยตนก็สามารถเป็นอิสระ ไม่ถูกยึดครองได้โดยจีน ด้วยการทำสนธิสัญญาป้องกันร่วมกับสหรัฐอเมริกา
เมื่อรัสเซียบุกยูเครน สถานการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน ที่มีเพียงช่องแคบๆ คั่นกลางจึงแหลมคมเป็นพิเศษ และชวนวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งขึ้นมา
ชาติพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐอเมริกา มองปัญหาไต้หวันแตกออกเป็น 2 แนวทาง
ทางหนึ่งเห็นไปในแนวเดียวกับเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ถือว่า กรณีนี้เป็นเรื่องจำเพาะระหว่างจีน-สหรัฐ-ไต้หวัน เท่านั้น
และแสดงท่าทีดึงตัวออกห่าง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่าง 3 ฝ่ายนี้หากมีขึ้นในอนาคต และพยายามคงความสัมพันธ์กับทางการปักกิ่ง “อย่างระมัดระวัง” ต่อไป เพราะเชื่อว่า นั่นเป็นแนวทางที่ “ปลอดภัย” สำหรับตนเอง
แต่เมื่อปลายเมษายนที่ผ่านมา เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ให้ข้อสังเกตกรณีนี้ไว้ยืดยาวด้วยท่าทีที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง
เคลเวอร์ลีเรียกร้องทั้งสองฝ่ายให้งดเว้นการกระทำบุ่มบ่ามใดๆ อันจะทำให้สถานการณ์ที่เคยสงบนิ่งเปลี่ยนแปลงไป
เขาชี้ว่าจีนและไต้หวันมีนัยสำคัญสูงมากต่อระบบห่วงโซ่อุปทานของสหราชอาณาจักรและของโลก โดยเฉพาะในแง่ของเซมิคอนดักเตอร์
เขาเชื่อว่า หากจีนบุกไต้หวันและสหรัฐอเมริกาเข้าช่วยเหลือจนกลายเป็นสงครามขึ้นมา จะก่อให้เกิดการสูญเสียในระดับ “หายนะ” ครั้งใหญ่ชนิดที่การดึงตัวออกมาอยู่ห่างๆ ไม่สามารถเลี่ยงหนีพ้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เสริมด้วยว่า “เศษซาก” ที่เป็นผลลัพธ์ของสงครามทั้งที่เป็น “มนุษย์” และ “การเงินโลก” จะอยู่ในสภาพย่อยยับชนิดที่แค่คำนึงถึงก็ตัวสั่นแล้ว
การค้าโลก เศรษฐกิจโลกจะถูก “ทำลาย” จนไม่มีชาติใด “หนีรอด” จากหายนะที่เกิดขึ้นได้
“ราวครึ่งหนึ่งของเรือคอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทั้งโลก ต้องแล่นผ่านน่านน้ำแคบๆ (ช่องแคบไต้หวัน) นี้ในแต่ละปี…สงครามข้ามช่องแคบแห่งนี้ ไม่เพียงเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ แต่จะทำลายการค้ามูลค่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ของโลกตามไปด้วย
ดังนั้น สิ่งที่เคลเวอร์ลีเห็นว่าสิ่งที่สหราชอาณาจักรควรทำก็คือ การ “สานสัมพันธ์โดยตรงกับจีน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อดำรงและรังสรรค์ความสัมพันธ์แบบเปิดกว้าง, สร้างสรรค์และมีเสถียรภาพขึ้น อันเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญต่อทั้งโลกที่มีอยู่ของจีน
“เราเชื่อในความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนเชิงบวก…เราต้องการให้บริษัทอังกฤษเข้าไปทำธุรกิจในจีน เหมือนกับที่บริษัทอเมริกัน, อาเซียน, ออสเตรเลียและอียูทำอยู่
“เราต้องให้การสนับสนุนอะไรก็ตามที่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย ผลักดันให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม”
เขายอมรับว่า จีนเป็น “ตัวแทนของระบอบอำนาจนิยม” ที่การดำเนินการหลายอย่าง เช่นกรณีซินเจียง “ไม่ควรละเลยและให้การยอมรับ”
แต่ในอีกด้านหนึ่ง “เรามีพันธผูกพันต่อคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคตที่ต้องรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะล้มเหลวในหน้าที่ที่เป็นการดำรงรักษาและก่อให้เกิดระบบระเบียบระหว่างประเทศ การหลีกหนีจากความท้าทายนี้ ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง แต่เป็นสัญญาณส่อถึงความอ่อนแอ”
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันด้วยว่า สหราชอาณาจักรก็มีสิทธิในการปกป้อง “ผลประโยชน์หลักของตนเอง” ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “การส่งเสริมให้โลกเป็นโลกอย่างที่เราต้องการใช้ชีวิตอยู่ เป็นโลกที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นสากล, ได้รับการปฏิบัติต่ออย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี, ปลอดจากการถูกทารุณกรรม, ตกเป็นทาสหรือถูกคุมขังตามอำเภอใจ”
เจมส์ เคลเวอร์ลี เรียกร้องต่อจีนว่า ในฐานะที่เป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลและมีความรับผิดชอบ ต้องไม่ปล่อยให้ปูตินเหยียบย่ำทำลายหลักการที่รัฐจีนยึดถือ เขาชี้ว่า
“อำนาจอธิปไตยของยูเครน” ไม่ควรถูกลบล้างไปเพียงเพราะผู้ที่ลบล้างเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ของจีน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022