รายงานพิเศษ : เปิดตัว “รางวัลปีศาจ” หนุนทลายผูกขาดวรรณกรรม ปลดปล่อยงานเขียนเพื่อประชาชน

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

หากกล่าวถึงรางวัลทางวรรณกรรมที่เปรียบเสมือนเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นสุดยอดในงานเขียน เป็นใครก็นึกถึงรางวัลซีไรต์ ที่จัดกันทุกปี

แม้ในระยะหลัง ผู้คนเริ่มตั้งคำถามต่อสถานะความเป็นรางวัลนี้ว่ายังคงอิทธิพลอยู่หรือไม่

ยิ่งนับวันปัญหาทั้งการสนับสนุนจากภายนอก หรือแม้แต่ตัวคณะกรรมการและกระบวนการพิจารณา เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น

ทำให้นักเขียนและคนทำหนังสือจำนวนหนึ่งตัดสินใจสร้างรางวัลอีกชิ้นบนมาตรฐานวรรณกรรมในแบบของตัวเอง ที่ต้องการให้เกิดวรรณกรรมที่แตกต่างจากเดิม

ไม่ยึดติดหรือเป็นหนี้บุญคุณกลุ่มคนที่ชี้ขาดผลงานซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นมาด้วยมันสนอง สำนึกและเจตจำนง

และขนานนามรางวัลที่ชวนแสลงหูกับผู้ยึดติดเรื่องดี-ชั่ว แต่มันมีที่มาอันลึกซึ้งคือ

“รางวัลปีศาจ”‘

 

“มันเริ่มจากคนไม่กี่คน” นายกิตติพล สรัคคานนท์ หรือ โย บรรณาธิการสำนักพิมพ์พันหนึ่งราตรี กล่าวขึ้นต้น ในวันแถลงข่าวเปิดตัว “รางวัลปีศาจ” เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในร้านหนังสือเล็กๆ ย่านพระโขนง ว่าแนวโน้มด้านวัฒนธรรมของเรายังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงซึ่งมันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

เป็นรางวัลที่เกิดจากคำถามง่ายๆ ว่า

“มีรางวัลวรรณกรรมใดบ้าง ที่ผู้รับไม่ต้องหมอบราบและรู้สึกติดค้างเป็นหนี้บุญคุณผู้มอบ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ถ่ายรูป แล้วก็จากไป จะมีรางวัลใดบ้างที่ผู้มอบเป็นตัวแทนประชาชน แต่ผู้รับภาคภูมิใจและรับรู้ความจริงใจ ให้แก่เขาหรือเธอในฐานะผู้สร้างอันยอดเยี่ยม”

นายกิตติพลกล่าวต่อว่า นี่จึงทำให้นั่งคิดทบทวนอย่างจริงจังหลายครั้ง ว่าจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินรางวัลปีศาจ

นวนิยายที่สนับสนุนความสมานฉันท์ปรองดองในหมู่ผู้มีอำนาจ เทิดทูนผู้มีกำลังด้วยการอ้างประวัติศาสตร์ คุณธรรมสูงส่งที่ไม่มีใครตรวจสอบงานได้หรือไม่

หรือนวนิยายที่ตอกย้ำว่าโลกและสังคมก็เป็นแบบนี้ หรือหากคุณเกิดมาต่ำต้อยด้อยค่า คุณก็พอใจกับชีวิตเช่นนั้นหรือเปล่า อย่าไปถามหาความหมายอะไรเลย ทางที่ดีเราควร กิน นอน ขับถ่ายอย่างพอเพียงเท่าที่จำเป็นแบบนั้นหรือ

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่คำตอบ หรือสิ่งที่เราคาดหวังนับต่อจากนี้ คือเรื่องเล่าที่ให้ท้าทาย ขบคิดและจารีตต่างๆ ที่พยายามรักษาสถานะอันไม่ปกติที่เกิดขึ้นต่อหน้าโดยที่เรายินยอมได้ไม่ปริปากพูด

หลักเกณฑ์ในการมอบรางวัลปีศาจ คือการสร้างเรื่องเล่าที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง การตั้งคำถามต่อสัจจะความจริง และนั้นทำให้รางวัลที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นพื้นที่หนึ่ง ที่เปิดรับงานเขียนโดยผู้แต่งที่ไม่ใช่นักเขียนอาชีพ ผู้ที่เห็นว่าเขาหรือเธฮไม่อาจพูดความจริงได้ เรื่องเล่าจึงต้องเล่าความจริงแทน รวมถึงนวนิยายจัดประเภทไม่ได้ทั้งหลายที่เปิดรับอย่างเสมอหน้ากัน เพราะไม่ลืมหน้าก่อนที่จะเป็นที่รู้จักกันทั่วไป จนมีคนอ่านมากที่สุด ก็เคยเป็นงานจัดประเภทไม่ได้มาก่อน

และเราเชื่อรากฐานของการเขียนคือการเปลี่ยนแปลง ความหวังของเราคือการได้เห็นสังคม การเมือง แปรเปลี่ยนไป เริ่มต้นแนวทางวัฒนธรรมในชื่อ “รางวัลปีศาจ”

 

นายกิตติพลนอกจากกล่าวถึงแนวคิดของการเกิดรางวัลดังกล่าวแล้ว ยังได้เปิดตัวคณะทำงานพิจารณารางวัล โดยกรรมการคัดเลือกนั้น นอกจากคุณกิตติพลแล้ว ยังมี คงกฤช ไตรยวงค์ นักวิชาการปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาทิตย์ ศรีจันทร์ นักวิชาการภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และ แมท ช่างสุพรรณ นักแปล และมีแนวโน้มจะเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกในอนาคต

ส่วนคณะกรรมการตัดสินผลงานนั้น ก็มาจากหลากหลายสาขา ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพัฒน์ พสุธารชาติ นักวิชาการอิสระ ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ วริตตา ศรีรัตนา นักวิชาการภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โช ฟุกุโตมิ จากมหาวิทยาลัยคาโกชิม่า

และไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคณะที่ปรึกษาที่สนับสนุนการเกิดรางวัลนี้ อย่าง ศราพัส บำรุงพงศ์ บุตรสาวของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” ผู้ประพันธ์งานเขียน “ปีศาจ” และกลายเป็นชื่อรางวัลนี้ ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ชัยพร อินทุวิศาลกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์สมมติ

อีกทั้งรางวัลปีศาจ จัดในลักษณะเป็นรางวัลของประชาชน ในส่วนเงินรางวัลจึงมาจากการระดมทุน และพร้อมเชิญชวนทุกคนมีส่วนร่วมตรงนี้ได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดให้ทราบในภายหลัง โดยในช่วงแรกมีผู้สนับสนุนได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์ สำนักพิมพ์อ่าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้านเฮมล็อค บริษัทไอดีโอแกรม ครีเอทีฟและร้านหนังสือและสิ่งของ

 

ด้าน วริตตา ศรีรัตนา ได้กล่าวว่า การประเมินคุณค่ารางวัลทางวรรณกรรมในรูปแบบใด มักประสบกับคำวิพากษ์วิจารณ์ รางวัลไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ แต่ย่อมมีที่มาจากผู้มอบรางวัลซึ่งไม่มีทางเป็นวัตถุวิสัยได้และไม่มีความสัมบูรณ์อย่างที่หลายคนนำเสนอ หรือพยายามให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น

พร้อมกับยกคำพูดของนักปรัชาญาชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่กล่าวว่า “รางวัลเป็นทุนเชิงสัญลักษณ์ ที่ทำให้ผู้เขียนกลายเป็นผู้เล่นในสนามศิลปะ ที่เป็นอิสระจากสนามแห่งอำนาจ ได้รับการยอมรับจากเพื่อนนักเขียน นักอ่านว่าเป็นงานอันตราตรึงทรงคุณค่า ได้รับรางวัลวรรณกรรม ในกรณีนี้ รางวัลช่วยให้นักเขียนที่ไม่ได้เขียนตามกระแสหรือตลาด ได้รับการยอมรับ แต่ในขณะเดียวกัน รางวัลก็ทำให้นักเขียนกลายเป็นผู้เล่นในสนามแห่งอำนาจเช่นกัน เพราะเมื่อรับรางวัลจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพล งานเขียนเป็นงานตัวบทของวิชาในหลักสูตร เป็นวงจร

วริตตายังกล่าวว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ สนามเหล่านี้จะต้องไม่นิ่ง เราต้องคอยส่งบอลให้นักเขียนและคนอยากเป็นนักเขียน ตลอดจนทุกคนที่เกี่ยวข้องให้ตื่นตัว คอยส่งบอลซึ่งยังหมายถึงการสร้างเกมส์ใหม่ สร้างรางวัลใหม่ เพื่อสร้างผู้เล่นใหม่ๆ

ไม่ให้เกิดภาวะผูกขาดทางอำนาจและทางตลาด”

 

ในช่วงตอบคำถาม หนึ่งในคำถามที่เข้ามาอย่าง กรรมการตัดสินมาจากหลากหลายสาขาวิชามาก และไม่ใช่คนสายวรรณกรรมโดยตรง จะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยนายอาทิตย์ได้ตอบข้อซักถามนี้ว่า อาจารย์ที่สอนวรรณกรรมไม่ใช่มืออาชีพ แม้ส่วนตัวจะสอนวรรณกรรม แต่ยังคนอีกจำนวนมากที่อ่านหนังสือ นวนิยายด้วยมุมมองที่วิเศษและมหัศจรรย์มากและตัวเองไปไม่ถึง

การมีหลากหลายสาขามันมีข้อดีที่การแบ่งปันมุมมอง แต่ละคนที่ถูกฝึกในระบบคิดในสาขาวิชานั้นๆ พวกเขามองกันอย่างไร แล้วมาอ่านวรรณกรรมเล่มเดียวกับตน ซึ่งแน่นอนมันไม่เคยตรง และยิ่งตื่นเต้นที่ได้อ่านงานวรรณกรรมไทยที่มาจากสาขาอื่น เช่น ปรัชญา กฎหมาย ซึ่งคนเหล่านี้ได้และมีมุมมองเยี่ยมกว่าคนสายวรรณกรรม จึงไม่มีปัญหาในเรื่องความเชื่อถือใดๆ ทั้งสิ้น

และควรตั้งคำถามกลับไปด้วยว่า รางวัลวรรณกรรมก่อนหน้านี้มันถูกผูกขาดโดยคนที่เรียกตัวเองว่า “มืออาชีพทางวรรณกรรม” มาได้ยังไง

 

ทั้งนี้ คณะเปิดตัวรางวัล เห็นด้วยว่างานเขียนต้องไม่ควรถูกปิดกั้นด้วยการเซ็นเซอร์ แต่หากมีงานเขียนที่แหลมคมเกินไป ทางคณะก็ได้แนะนำว่า งานเขียนคือการบอกเล่าความจริงผ่านการใช้ตัวแทนในการเล่าเรื่อง อีกทั้งการพิจารณาจะตั้งอยู่บนความโปร่งใส โดยจะมีการเผยแพร่บทพิจารณาวรรณกรรมที่เข้ารับการคัดเลือก จนเหลือผลงานที่ผ่านการคัดเลือก 4 ชิ้น และหางานวรรณกรรมที่ชนะเลิศได้รับรางวัลปีศาจไปครอง

สำหรับผู้สนใจการเขียนวรรณกรรม เพื่อชิงรางวัลปีศาจ สามารถส่งผลงานโดยปิดรับต้นฉบับในเดือนเมษายน 2561 ประกาศชื่อผู้คัดเลือกในวันที่ 24 มิถุนายน 2561

และประกาศรับรางวัลในวันที่ 6 ตุลาคม 2561