ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
นักเรียนใหม่ทุกคนจะได้รับของใหม่อีกแล้ว คือ หมวกสีกองร้อย จะเป็นวันที่จะได้สวมหมวกสีกองร้อย เหมือนรุ่นพี่ๆ ปี 2 สวมหมวกสีเหลือง ปี 3 สวมหมวกสีม่วง ปี 4 สวมหมวกสีเขียว
แต่อยู่ๆ จะได้หมวกมาสวมใส่โก้ๆ มันง่ายไปสำหรับสามพราน
พิธีวิ่งรับหมวกจึงต้องเริ่มขึ้น เรียกว่า วิ่งรอบโรงเรียน
นับตั้งแต่ตื่นตี 5 แล้วทำธุระเสร็จสวมชุดกีฬา เสื้อคอกลมสีขาวคอแดง กางเกงขาสั้นสีดำ รองเท้าผ้าใบสีดำ ถุงเท้าสั้นสีดำ และเริ่มวิ่งจากหน้ากองร้อยที่ 1 ผ่านกองร้อยที่ 2 ซึ่งมีลานปานะดิษฐ์ คั่นกลาง แต่ละกองร้อย มีแนวต้นสนปลูกอยู่บนเนินดินเป็นบล็อกแนวยาวเสมอแนวตึก
ผ่านตึกกองร้อยที่ 2 คือ เกียรติศักดิ์ และรักษ์วินัย
ผ่านด้านหลังกองร้อยที่ 4 ซ้ายมือเป็นบึงขนาดใหญ่หรือเรียกทะเลสาบ และฝั่งตรงข้ามบึง เป็นแนวสนยาวไปตลอด จนมีเพลงประจำโรงเรียนที่ไพเราะ คือ สนสามพราน และยังมีต้นตาลโตนดสูงสลับไปด้วย
แล้วผ่านไปด้านหลังกองร้อยที่ 3 จนมาถึงร้านค้า คลังอาวุธ และสระว่ายน้ำของโรงเรียน ขนาดความยาวสระ 50 เมตร มีช่องว่าย 8 ช่อง
ผ่านสนามรักบี้ทางขวามือ และติดกับลานฝึกขนาดใหญ่ ชื่อลานฝึกศรียานนท์ ที่เห็นลานแล้วก็นึกขยาด
ถัดจากสระว่ายน้ำ ก็เป็นโรงยิมขนาดใหญ่ หรือโรงพละ ที่สามารถแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล ตะกร้อได้ แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนซ้ายมือเป็นบ้านพักข้าราชการตำรวจ และตรงไปก็จะออกจากโรงเรียนไปยังอำเภอสามพราน แต่ก่อนออกไปจะมีโรงฝึกซ้อมยูโดของนักเรียนนายร้อยตำรวจทุกชั้น แล้วเลี้ยวขวา จะเรียบสนามรักบี้ ผ่านกองแพทย์ ที่นักเรียนใหม่หลายคนมีเป้าหมายที่จะมาเป็นแหล่งที่พักกายและพักใจ
และเมื่อวิ่งต่อไป ผ่านกองร้อยที่ 5 ของนักเรียนนายร้อยตำรวจอบรม แล้ววิ่งต่อไปตามถนนหน้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขวามือจะเป็นหอประชุมขนาดใหญ่ ที่ภายในมีความอลังการน่าภาคภูมิใจ เยื้องกับหอประชุม จะเป็นสนามเทนนิส
และผ่านตึกกองบังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่ง ณ เวลานั้น พล.ต.ต.ปรีชา พรรคพิบูลย์ เป็นผู้การ
ผ่านศาลเจ้าพ่อสามพราน และอาคารตึกเรียนใหม่ ผ่านสระบัว และกองร้อยที่ 1 เป็นอันครบ 1 รอบใหญ่ แต่ยังไม่ได้วิ่งไปสนามยิงปืน ซึ่งอยู่ห่างไกลไปอีก
ในอาณาจักรสามพรานแห่งนี้ มีเนื้อที่โดยประมาณ 580 ไร่ ถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยแล้วคงไม่ใหญ่โตมากมายนัก
แต่สำหรับผม พื้นที่ทั้งหมดนี้ใช่ว่าผมจะสามารถเดินเล่นได้โดยอิสระ เพราะอาจจะถูกรุ่นพี่คาบไปซ่อมหรือลงโทษเอาได้
การวิ่งรับหมวกมันเป็นบททดสอบเบื้องต้นว่า สภาพร่างกายที่ผ่านมาของนักเรียนใหม่ มีความฟิตได้มากน้อยขนาดไหนแล้ว แค่รอบใหญ่รอบแรกจึงเป็นการ warm-up เท่านั้น จากเริ่มเมื่อเวลาตี 5 เศษๆ ขณะนี้วิ่งมาหลายรอบใหญ่จน 8 โมงเช้าแล้ว จำไม่ได้ว่าวิ่งไปกี่รอบแล้ว เหงื่อของทุกคนเปียกท่วมไปทั้งร่างเหมือนกับไปอาบน้ำมา ยังไม่มีท่าทีว่าการวิ่งจะยุติลงเมื่อใด ผู้ช่วยยังคงนำนักเรียนใหม่วิ่งต่อไป
แต่สภาพแถวยังคงมีระเบียบ ทุกคนยังวิ่งในแนวของตัวเอง แม้จะเหน็ดเหนื่อย เพื่อชีวิตที่ดีกว่าก็จะทนไป
ระหว่างวิ่ง เท้าต้องลงตามจังหวะให้พร้อมเพรียงกัน ซ้าย ขวา ซ้าย ปากทุกคนก็ต้องแหกตะโกนร้องเพลงประจำ ที่ผมยังจำได้ เพลงหนักแผ่นดิน เราสู้ เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย อยุธยารำลึก รักกันไว้เถิด สลับกับแผ่นดินไทย และเพื่อรำลึกถึงมหกรรมกีฬาในยามค่ำคืนบนโรงนอน เพลงนี้ต้องมาเลย…อยู่กันคนละโรง เหมือนดั่งพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน อย่าให้เขาเย้ยหยัน ว่าเรานั้นแตกสามัคคี อยู่ด้วยกันดีๆ ค่ำคืนนี้แรลลี่ด้วยกัน…
ความหมายคือ ตอนกลางคืน ใครกางมุ้งไม่ตึง ไม่เรียบ ก็จะถูกผู้ช่วยปลุกขึ้นมาถูโรงเช้าๆ
ตอนวิ่งก็จะมีเพลงแทรกประจำ ถ้าหากใครวิ่งเท้าไม่พร้อม ผลคือ จะถูกทำโทษให้วิ่งวนรอบแถวที่กำลังวิ่งอยู่นั้น ปกติก็เหนื่อยแทบจะขาดใจอยู่แล้ว แต่ทุกคนผ่านการฝึกมาพอสมควรแล้ว ก็ทนวิ่ง
จนสุดท้ายก็มาหยุด ณ ที่ลานปานะดิษฐ์ เมื่อเกือบ 8 โมงครึ่ง
ทุกคนเหมือนโดนสาดน้ำมาเพราะเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ เป็นอันเสร็จพิธีวิ่งรับหมวก
เมื่อได้สวมหมวกกองร้อยสีฟ้า จึงต้องฝึกท่าวันทยหัตถ์ ท่าถอดหมวก สวมหมวก ถอดหมวกเพื่อพนมมือสวดมนต์
ชุดนักเรียนใหม่ ขณะเข้าตอนเรียนยังเป็นชุดเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาวมีป้ายชื่อผ้าติดเหนือกระเป๋าอกเสื้อ กางเกงขายาวสีกากี เพิ่มหมวกสีฟ้า
สภาพนักเรียนใหม่ผ่านการฝึกมาพอสมควรแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะได้ยินจากนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ เมื่อพวกเราเดินแถวผ่าน
นักเรียนใหม่ เหม็นจังเลย อาบน้ำบ้างนะ
โอ้ย ทำไมไม่เข้ามาเรียนปี 4 เลยล่ะ เป็นทำไมนักเรียนใหม่
แต่ละเสียงที่ได้ยิน ก็มาจากปากนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นสูง ระดับตัวกลั่น อาจจะเก็บกดที่ตัวเองเคยผ่านชีวิตเช่นนี้มาก่อน
ปัญหากลิ่นตัวของนักเรียนใหม่จะส่งกลิ่นที่รุนแรงมาก ทุกรุ่นจะเป็นเช่นนี้ เนื่องจากนักเรียนใหม่จะถูกทำโทษตลอดเวลาทำให้มีเหงื่อเปียกชุ่มทั่วร่างกายเมื่อมาเข้าแถวรวมกันเป็นจำนวนร้อยคน ย่อมส่งกลิ่นตลบอบอวล และเป็นสิ่งที่อาจารย์ที่เดินทางมาจากภายนอกที่สอนแต่ละวิชา ต้องประสบพบเจอ
ยิ่งอาจารย์ฝรั่ง มิสซิส ที.ซี.รัสเซล เป็นอาจารย์แหม่มสอนภาษาอังกฤษมาอย่างยาวนาน ถ้าใครเข้าไปในห้องที่อาจารย์แหม่มสอนภาษาอังกฤษที่ตึกวัฒนธรรม จะใช้วิธีฉีดสเปรย์ แอร์รีเฟลชเชอร์ ดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ทันที
สำหรับผมเองนั้น เมื่อรวมกับพวกเพื่อนๆ พวกเราคุ้นเคยกับกลิ่นพวกเรากันดี จึงไม่รู้สึกอะไร
แต่พอเมื่อขึ้นไปเรียนชั้นปีที่ 2 แล้ว มีนักเรียนใหม่รุ่นหลังเข้ามา จึงได้รู้ว่า ช่วงที่เป็นนักเรียนใหม่ มีกลิ่นที่ทารุณจมูกเมื่อเข้าใกล้
นักเรียนใหม่ผ่านความทุกข์จากการฝึก การทำโทษในสถานการณ์ต่างๆ มามากมาย หลายคนเริ่มคิดค้นวิธีอู้ วิธีไม่ต้องเหนื่อยมาก กรณีถูกทำโทษรวม ถูกสั่งให้นำแถวทั้งหมดวิ่งรอบสระหน้ากองร้อยหลายๆ รอบ บางครั้ง 10 รอบบ้าง 15 รอบบ้าง จนถึง 30 รอบ
ในยามค่ำคืน นักเรียนใหม่บางคนเอาเปรียบเพื่อน เมื่อแถวนักเรียนใหม่วิ่งผ่านพ้นสายตาผู้ช่วยผู้บังคับหมวด จะใช้วิธีโผไปซ่อนตัวอยู่ในเครื่องบินจำลอง ซึ่งใช้ฝึกซ้อมในการกระโดดร่ม และเครื่องบินจำลองตั้งอยู่บริเวณสระที่แถวผ่าน ด้วยวิธีนี้ นักเรียนใหม่ที่คิดอุบายในการอู้ จะหลบอยู่ในเครื่องบินจำลอง และรอจนแถววิ่งใกล้ครบจำนวนรอบ จึงโผกลับเข้ามาอยู่ในแถว ครั้งนั้นก็รอดตัวไป
แต่ผู้ช่วยผู้บังคับหมวดก็รู้ทันเกม จึงมีคำสั่งดัดหลัง เมื่อสั่งทำโทษให้นักเรียนใหม่วิ่งรอบสระ 30 รอบ เมื่อนักเรียนใหม่วิ่งไปจนถึงรอบที่ 25 ผู้ช่วยผู้บังคับหมวดก็จะสั่งคนคุมแถว นำแถวเลี้ยวเข้าลานปานะดิษฐ์ทันที โดยจะไม่ผ่านเครื่องบินจำลอง แล้วสั่งแถวหยุด ตรวจยอดจำนวน
นักเรียนใหม่ที่เกเรด้วยวิธีอู้จึงถูกจับได้ และการทำโทษจึงเป็นรางวัลที่ได้รับ ส่วนจะเป็นอย่างไร สุดแท้แต่ชะตากรรมเป็นคราวๆ ไป เป็นเรื่องเฉพาะตัว
นักเรียนใหม่ที่ติดนิสัยเกเรเอาเปรียบเพื่อน มีบางคนไม่ยอมพัฒนาปรับปรุงตัวเอง จนทำให้เพื่อนๆ เดือดร้อนเป็นประจำ เพราะผู้ช่วยผู้บังคับหมวดจะถือว่า ทุกคนต้องสามัคคีกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อมีใครทำผิด ดังนั้น จึงต้องลงโทษรวมร่วมกัน
ถ้าเป็นเหตุบังเอิญที่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็ไม่มีใครติดใจ ของมันพลาดกันได้
แต่กรณีที่เป็นเจ้าประจำ จนเพื่อนๆ เข็ดขยาดเมื่อต้องอยู่ร่วมกลุ่มกับคนพวกนี้ จึงมีวิธีจัดการเพื่อนที่คอยแต่จะเอาเปรียบ
เขาเรียกกันว่า…การตีแมว
วิธีการจัดการ คือ จะมีพวกที่ไม่พอใจคนที่เกเร รวมตัวกันแล้วนัดหมายกันในช่วงเวลาดึกๆ หลังเที่ยงคืนไปแล้ว ทุกคนหลับกันสนิท กลุ่มนี้จะรวมตัวกันไปที่เตียงนอนของนักเรียนเกเรแล้วทำการปลดมุ้งทั้ง 4 ด้าน แล้วใช้หมวกเหล็กที่วางบนหลังตู้ยืน ตีไปที่ตัวนักเรียนเกเรซึ่งเวลานั้นมุ้งครอบพันตัวอยู่
แต่การตีด้วยหมวกเหล็กก็ไม่ได้รุนแรงอะไร ทำกันแค่หอมปากหอมคอ เพื่อเป็นการตักเตือนให้ปรับปรุงตัวเอง เพราะเพื่อนๆ ไม่พอใจ
ตีแมวเสร็จก็แยกย้ายกันไปทันที
นักเรียนใหม่ที่ถูกตีแมว จะไม่ทันตั้งตัว และไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง เพราะอยู่ในความมืด เห็นเพียงแสงเงาลางๆ ประกอบกับมีมุ้งพันรอบตัว กำลังหลับสนิท จึงไม่รู้ใครเป็นใคร จับมือใครดมไม่ได้ ได้แต่ส่งเสียงร้องลั่นทั่วโรงนอน
คนที่เคยถูกตีแมว ช่วงเป็นนักเรียนใหม่ ได้ยศถึงพลตำรวจเอก เพราะใช้นิสัยเอาเปรียบเพื่อนตลอดในชีวิตการทำงาน เพราะระบบการรับราชการมันเอื้อให้คนประเภทนี้ ไม่ได้มีความเป็นสุภาพบุรุษเหมือนที่สถาบันนี้พร่ำสอน และระหว่างการรับราชการก็ไม่มีพิธีตีแมว
ซึ่งถ้าหากอนุญาตให้มีได้เพื่อเป็นการตักเตือนสั่งสอน ระดับพลตำรวจเอก พลตำรวจโท พลตำรวจตรี จนกระทั่งพันตำรวจเอก หลายคนจะต้องถูกตีแมว รวมๆ กันพวกที่จะถูกตีแมว อาจจะรวมกันได้เป็นกองร้อยเลย มันมากจริงๆ
ระบบเกียรติศักดิ์ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จึงถูกจัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนยึดถือเกียรติของตนเองเป็นที่ตั้ง มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อเพื่อนร่วมรุ่น ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่โกหก นี่คือระบบเกียรติศักดิ์ ที่ทั้งผมและเพื่อนๆ ร่วมรุ่น และรุ่นพี่รุ่นน้อง พร่ำสอนกันมา
ความสำคัญของระบบเกียรติศักดิ์ แม้กระทั่งชื่อตึกโรงนอนที่นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนถือเป็นบ้านของตนเอง ก็นำคำว่าเกียรติศักดิ์ มาเป็นชื่อตึก
ซึ่งแต่เดิมโรงนอนมีแค่ 4 ตึก มีชื่อว่า เกียรติศักดิ์ รักษ์วินัย วิจัยกรณี ขันตีอุสาหะ
แต่ละตึกสำหรับนักเรียนแต่ละชั้นรวม 4 ชั้น โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะรับนักเรียนมาฝึกศึกษาอบรมแต่ละชั้น ปีละไม่เกิน 100 คน โรงนอนเพียงตึกเดียว จึงสามารถรองรับจำนวนนักเรียนนายตำรวจแต่ละชั้นได้
แต่ต่อมามีการรับจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็น 150 คน 200 คน จนรุ่นของผมเพิ่มขึ้นเป็น 240 คน รุ่นต่อๆ มา 300 คน
ตึกโรงนอนของเดิมจึงไม่เพียงพอ มีการขยายสร้างโรงนอนเพิ่มขึ้น และใช้ชื่อเหล่านี้มาเป็นชื่อกองร้อย
คือ ชั้นปีที่ 4 เรียกว่า เกียรติศักดิ์ หมายถึงการเติบโตขึ้นเป็นผู้นำพร้อมด้วยเกียรติยศของความเป็นสุภาพบุรุษ ซื่อตรงทั้งคำพูดและการกระทำ ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร พร้อมช่วยเหลือผู้อื่น
ชั้นปีที่ 3 เรียกว่า รักษ์วินัย ความหมายคือ เริ่มเติบโตขึ้นและจะต้องยึดมั่นในกฎกติการะเบียบอย่างเคร่งครัด
ชั้นปีที่ 2 ใช้คำว่า วิจัยกรณี คือ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในปีแรกไปแล้ว สามารถวิเคราะห์และพิจารณาได้ว่าสิ่งใดดีที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในภายหน้า
ของชั้นปีที่ 1 คือ ขันตีอุตสาหะ เมื่อก้าวเข้ามาเป็นนักเรียนใหม่ มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมากมายเป็นสิ่งที่ท้าทายความฝัน แต่ต้องผ่านการทดสอบด้วยความอดทนอย่างเข้มข้น จึงจะก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้
หากปราศจากความอดทนนับแต่แรก ความก้าวหน้าในวิชาชีพก็จะไม่บังเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้คือความหมายที่ลึกซึ้งที่มอบให้นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนได้ตระหนักรู้ และนำไปปฏิบัติ
หากผู้ที่ผ่านสิ่งท้าทายเหล่านี้ไป แล้วนำไปปฏิบัติขณะทำหน้าที่ ย่อมสร้างเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ศักดิ์ศรีให้กับตัวเองและสถาบันที่ได้ทุ่มเทบ่มเพาะพร่ำสอน และฝึกหนักเคี่ยวกรำนานถึง 4 ปี ก็เพื่อปลูกฝังระบบเกียรติศักดิ์เข้าไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022