“เพื่อไทย-ก้าวไกล” เห็นคะแนนตกน้ำ…หลายล้าน

มุกดา สุวรรณชาติ

ในการเลือกตั้ง ส.ส.เขตปี 2566 พรรคการเมืองที่มีกำลังขนาดใหญ่ต่างก็ส่ง ส.ส.เขตเต็มจำนวน 400 หรือเกือบเต็ม เช่น เพื่อไทยและรวมไทยสร้างชาติส่งครบ 400 คน พรรคใหญ่ๆ ก็ส่งเกือบครบ เช่น ก้าวไกลส่ง 396

แต่ระบบคัดเลือกสสเขตแบบ 1 เขต 1 คนจะมีผู้ชนะที่ 1 เพียงคนเดียวที่ได้เป็น ส.ส. ที่เหลือจะสอบตกหมด ดังนั้น ถ้าท่านเลือกลงคะแนนให้ใครก็ตาม พรรคใดก็ตามแล้วได้ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คะแนนของท่านจะตกน้ำหายไปหลังจากนับคะแนนแล้ว

แม้แต่พรรคที่คาดว่าจะได้รับการเลือกมากที่สุดเป็นร้อยๆ เขตก็จะต้องมีเขตที่พ่ายแพ้เป็นร้อยเขตเช่นกัน

คะแนนของพรรคการเมืองที่แพ้เฉลี่ยแล้วเป็นหมื่นต่อ 1 เขต ถ้าแพ้ 200 เขตก็เท่ากับคะแนนตกน้ำไป 2 ล้าน ไม่ว่าคะแนนของพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติประชาธิปัตย์ ไทยสร้างไทย ฯลฯ ก็ต้องทำคะแนนตกน้ำเป็นล้านๆ ยิ่งแพ้มากเขต คะแนนก็ยิ่งตกน้ำมาก

คะแนน ส.ส.เขตที่ตกน้ำทิ้งเปล่า ของเพื่อไทยและก้าวไกลรวมกัน คาดว่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านคะแนน

 

ทำอย่างไรไม่ให้คะแนนตกน้ำ
ทิ้งไปอย่างไร้ค่า

บางคนไม่สนใจว่าคะแนนจะตกน้ำหรือไม่ เขาถือว่าได้เลือกไปแล้วตามสิทธิ์

แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่คิดว่าคะแนนของเขามีค่าโดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ

ดังนั้น ถ้าพรรคที่ตัวเองชอบอันดับ 1 ดูแล้วจะไม่ชนะในเขตนี้พวกเขาก็จะเปลี่ยนไปเลือกพรรคที่ชอบอันดับ 2

ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผลการเลือกตั้งเพราะ หลายเขตจะแพ้ชนะกันอยู่แค่หลักร้อยหรือไม่เกิน 3,000 คะแนน

ถ้ามีคนไม่ยอมให้คะแนนตกน้ำและเปลี่ยนมาสนับสนุนพรรคที่มีโอกาสชนะ ก็จะกลายเป็นการชนะจริงขึ้นมา แต่ต้องเลือกให้ถูกต้องเหมาะสมในเขตนั้น

ส่วนบัตรสีเขียวเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ทั่วไปเราเรียกกันว่าบัตรเลือกพรรค ใบนี้ถ้าไม่กาบัตรทิ้ง ก็ต้องเอาไปรวมกันทั้งประเทศ ถ้าถึง 370,000 คะแนนก็จะได้ ส.ส. 1 คน คะแนนจากบัตรสีเขียวส่วนใหญ่จึงไม่ตกน้ำ ยกเว้นไปอยู่กับพรรคที่มีคะแนนน้อย จนได้ ส.ส.ไม่ถึง 1 คน

บัตรใบนี้เจ้าของสิทธิ์สามารถจะเลือกพรรคการเมืองที่ตัวเองนิยม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพรรค จุดยืนของพรรค ผู้นำพรรค หรือ ส.ส.ที่ท่านชอบ

ที่พรรคต่างๆ บอกว่าให้กาบัตร 2 ใบเหมือนกัน ก็ไม่จำเป็น พรรคเล็กอย่างเสรีรวมไทยก็น่าเลือก

 

ตัวอย่างโพลสวนดุสิต
มองเห็นจำนวนเขตที่แพ้ของทุกพรรค

สวนดุสิตโพล ทำตามระเบียบวิธีสำรวจวิจัย สำรวจจากประชากรที่อยู่ในเขตเลือกตั้งจำนวนกว่า 160,000 คน สำรวจละเอียดถึงโอกาสแพ้ชนะ ส.ส.แต่ละเขต แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้

ส่วนคะแนนนิยมของแต่ละพรรคมีเปอร์เซ็นต์เรียงลำดับมาดังนี้

เพื่อไทย 41.37 ก้าวไกล 19.32

ภูมิใจไทย 9.55 รวมไทยสร้างชาติ 8.48

พลังประชารัฐ 7.49 ปชป 7.3 ไทยสร้างไทย 2.41

ถ้ามองจากคะแนนตรงนี้อาจจะมีคนคิดว่าเพื่อไทยกับก้าวไกลรวมกันก็ได้ ส.ส. 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ในความเป็นจริงกระแสแบบนี้วัดได้เฉพาะปาร์ตี้ลิสต์

ส่วน ส.ส.เขตก็ไม่สามารถเอาความนิยมของคนทั่วไปทั้งประเทศไปวัดได้

แต่ประเมินได้ว่าทุกพรรคแพ้เกิน 200 เขต ยกเว้นเพื่อไทยอาจรอดหวุดหวิด

ถ้าดูตามผลโพลที่มติชนและเดลินิวส์ส์ทางออนไลน์ ยิ่งไปกันใหญ่ พบว่ามีผู้จะลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล 47.9% และเพื่อไทย 35.78% สำหรับ ส.ส.เขต รวมกันเกินกว่า 80% ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีคนเลือกรวมแล้วประมาณ 10%

แต่การสำรวจความนิยมครั้งนี้ไม่ใช่การวิจัยที่มีการจัดระเบียบวิธีวิจัยที่กำหนดกลุ่มตัวอย่างให้เป็นไปตามสัดส่วนประชากรจริง นี่เป็นเพียงการสำรวจความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย จึงอาจได้ข้อมูลจากผู้สนใจและมีความคิดการเมืองใกล้เคียงกัน

 

การต่อสู้ชิง ส.ส.เขตในพื้นที่จริง
ไม่เหมือนในโซเชียลมีเดีย

กระแสการเมืองที่ผ่านสื่อทุกชนิดในปัจจุบันบางคนก็เรียกว่าเป็น สงครามทางอากาศมีผลต่อคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แต่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีเพียงแค่ 100 คน ในขณะที่ ส.ส.เขตมีถึง 400 เขต และก็มีถึง 300 กว่าเขตที่เป็นพื้นที่ชนบท อบต. หรือเทศบาลตำบล เป็นส่วนใหญ่

ในพื้นที่เขตเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ คะแนนเสียงจริงมีโอกาสเป็นไปตามกระแสมากเพราะกระแสจะมีอิทธิพลสูงถึง 70% แต่ในพื้นที่เขตเมืองเล็กและชนบทกระแสมีส่วนกำหนดคะแนนเพียงแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกนั้นเป็นปัจจัยอื่น เช่น

1. การเดินออกไปพบปะและปรากฏตัวของผู้สมัครตามบ้านประชาชนในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งผลงานของผู้สมัครซึ่งหลายคนเคยมีตำแหน่งและมีผลงานช่วยเหลือคนในชุมชนต่างๆ ทั้งเรื่องถนนหนทาง น้ำ ไฟฟ้า

2. การผลักดันของหัวคะแนนที่เคยช่วยเหลือชาวบ้านทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งยังมีข้อเสนอที่จะช่วยเหลือในอนาคต

3. การสนับสนุนของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อสม. เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ซึ่งเขาสามารถทำได้ในขอบเขตที่ดูแล้วไม่ผิดกฎหมาย

4. การให้ผลประโยชน์จูงใจ

การแข่งขันชิง ส.ส.เขตโดยทั่วไปแล้ว ถ้ามีคู่แข่งหลักเพียง 2 คน ผู้ชนะจะต้องพยายามทำคะแนนให้ได้เกินครึ่งของผู้ที่มาลงคะแนน เช่น ผู้มีสิทธิ์ 100,000 ประเมินว่ามาลงคะแนน 75,000 คนก็ต้องตั้งเป้าหมายทำคะแนนไว้ 40,000 คะแนน

แต่ในกรณีที่มีผู้ที่แข่งขันหลัก 3 คนขึ้นไปก็จะต้องพยายามทำคะแนนให้เกิน 1 ใน 3 จึงจะมีโอกาสชนะ

นั่นหมายถึงคนชนะต้องตั้งเป้าไว้ที่ 25,000 ถึง 30,000 คะแนน

คนที่แพ้จะได้ 10,000-20,000 คะแนนตกน้ำทิ้งไป

ก้าวไกลและเพื่อไทยแข่งกับใครแน่

 

สถานการณ์ตอนนี้ หลายคนอาจจะหลงไปกับตัวเลข 300 ของเพื่อไทย หรือเกิน 100 ของก้าวไกล

แต่ในสภาพความจริง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยอาจจะได้อยู่ประมาณ 220 ก็ได้ หรืออาจสูงถึง 270 ก็ได้

ในขณะที่พรรคก้าวไกลก็เช่นกัน ประเมิน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่แค่ 18 ถึง 20 เท่านั้น ถ้าได้มากขึ้น กระแสดีอาจจะได้ 25-30 คน แต่ ส.ส.เขตไม่ปรากฏชัด

และถ้ามาแบ่งคะแนนกันเอง จำนวน ส.ส.รวมก็ไม่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่า 2 พรรคนี้รวมกันแล้วก็ต้องเกิน 250

แต่ถ้ารวมกันแล้วเกินไปเพียงเล็กน้อย เช่น 260 อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะดันทุรังตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยและใช้นโยบายให้ลิงและงูเห่ากินกล้วย จะยุ่งกันใหญ่

สถานการณ์ที่ปลอดภัยคือทั้ง 2 พรรคต้องมี ส.ส.รวมกันแล้วประมาณ 300

แต่ตอนนี้ แน่ใจแล้วหรือว่าปลอดภัย จนสามารถแข่งกันเองอยู่สองพรรค

อำนาจและการตัดสินใจเป็นของผู้ลงคะแนน จึงต้องคิดและทำแทนพรรค ว่าทำอย่างไรฝ่ายประชาธิปไตยจะได้ ส.ส.รวมมากที่สุด