ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | Multiverse |
ผู้เขียน | ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ |
เผยแพร่ |
ช่วงกลางเดือนเมษายน ค.ศ.2023 เกิดคลื่นความร้อนแผ่คลุมกินพื้นที่กว้างหลายประเทศในทวีปเอเชีย โดยหากคิดเฉพาะประเทศที่มีประชากรมหาศาลอย่างจีนและอินเดีย ก็คงทำให้นึกได้ว่าคลื่นความร้อนครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากเพียงใด
สื่อบางแห่งถึงได้เรียกคลื่นความร้อนครั้งนี้ว่า Monster Asian heat wave หรือ ‘คลื่นความร้อนเอเชียขนาดมโหฬาร’ กันเลยทีเดียว (คำว่า monster เมื่อใช้เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า มีขนาดใหญ่สุดๆ หรือมีขนาดใหญ่จนน่าประหลาดใจ)
ลองมาดูสถิติอุณหภูมิและตัวเลขสำคัญที่เกิดขึ้นกันสักหน่อยครับ
อินเดีย : เมืองในพื้นที่แถบตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 6 เมืองมีอุณหภูมิสูงถึง 44 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงนิวเดลฮี มีอุณหภูมิ 40.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 18 เมษายน โรงเรียนในรัฐเบงกอลตะวันตกถูกสั่งปิดในช่วงวันที่ 17-22 เมษายน ที่น่าเสียใจที่สุดคือมีผู้เสียชีวิตจากฮีตสโตรกถึง 13 คน และอีกราว 50-60 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
จีน : อำเภอหยวนหยางในมณฑลยูนนานมีอุณหภูมิสูงถึง 42.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 18 เมษายน และก่อนหน้านั้น 1 วันคือวันที่ 17 เมษายน สถานีตรวจสภาพอากาศจำนวน 109 แห่งมีอุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติเดิม
บังกลาเทศ : อุณหภูมิสูงสุดกว่า 40 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 15 เมษายน และพื้นผิวถนนยางมะตอยบางแห่งหลอมละลาย
ลาว : ไซยะบุรีมีอุณหภูมิสูงสุด 42.9 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 19 เมษายน (และเป็นอุณหภูมิสูงสุดที่ลาวเคยมี)
ฟิลิปปินส์ : อุณหภูมิสูงสุด 37 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 21 เมษายน
มีแง่มุมที่น่าบันทึกไว้ด้วยว่า กรณีเวียดนาม จังหวัดฮหว่าบิ่ญ มีอุณหภูมิสูงสุด 41.4 องศาเซลเซียส แต่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม (ต่างจากกรณีอื่นที่ว่ามาซึ่งเกิดในเดือนเมษายน)
ส่วนกรณีของไทย ซึ่งข้อมูลบางแห่งระบุว่าอุณหภูมิสูงสุด 45.4 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดตาก และอากาศร้อนอบอ้าวในหลายพื้นที่จนคนจำนวนมากสัมผัสได้นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้ชี้แจงว่า
“สภาพอากาศที่ร้อนจัดทะลุ 40 องศาเซลเซียสในประเทศไทย ยังเป็นผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศไทยในระดับท้องถิ่น ยังไม่ใช่คลื่นความร้อนเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย และบังกลาเทศ ซึ่งมีอุณหภูมิร้อนสูง 40 องศาเซลเซียสต่อเนื่องหลายวัน และมีการสะสมของความร้อน” (ข้อมูลจากข่าวของ Thai PBS เรื่อง ‘ใช่หรือไม่ ไทยเผชิญ “คลื่นความร้อน”‘ ที่ https://www.thaipbs.or.th/news/content/326862)
หากยึดตามคำชี้แจงของกรมอุตุนิยมวิทยาดังกล่าว ก็สรุปได้ว่าไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นความร้อนเอเชียครั้งนี้
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของเราพูดถึง ค่าดัชนีความร้อน ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่ามันคืออะไร ต่างจากอุณหภูมิของอากาศยังไง
ดัชนีความร้อน ภาษาอังกฤษคือ heat index (พหูพจน์ คือ heat indices) ไม่ใช่อุณหภูมิของอากาศครับ แต่เป็นค่าที่ได้จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์ บางครั้งจึงเรียกว่า humiture มาจากคำว่า humidity (ความชื้น) + temperature (อุณหภูมิ) นั่นเอง
พูดง่ายๆ คือ ดัชนีความร้อนจะสะท้อนว่าร่างกายของคนเรา “รู้สึก” ว่าอากาศร้อนแค่ไหน ถ้าใครใช้ App สภาพอากาศ ก็จะเห็นคำว่า “feel like” หรือ “รู้สึกเหมือน” นั่นเอง
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าร่างกายของคนระบายความร้อนด้วยเหงื่อ หมายความว่าหากความชื้นสัมพัทธ์สูง เหงื่อจะระเหยยาก ทำให้เรารู้สึก “ร้อนกว่า” อุณหภูมิจริงของอากาศ
ตัวอย่างเช่น ถ้าอากาศมีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 80% จะพบว่า ค่าดัชนีความร้อนคือ 38 องศา ภายใต้เงื่อนไขว่าเราอยู่ในที่ร่ม ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร แต่อาจมีลมพัดเบาๆ ดูตารางที่นำมาฝากได้รับ
อย่างไรก็ดี หากคุณโดนแดดจ้าโดยตรง ก็ต้องบวกเพิ่มค่าดัชนีความร้อน (ที่แสดงไว้ในตาราง) อีกราว 8-10 องศา
ขอย้อนกลับมาที่คลื่นความร้อนเอเชียกันต่อครับ คงมีคำถามว่าอะไรกันหนอที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนครั้งนี้คลุมพื้นกว้างมหาศาลขนาดนี้?
นักอุตุนิยมวิทยาของ AccuWeather ชื่อ เจสัน นิโคลส์ (Jason Nicholls) อธิบายว่าความร้อนเกิดจากแนวสัน ขนาดใหญ่ของความกดอากาศสูงซึ่งกำลังก่อตัวเพิ่มขึ้น โดยที่แนวสันที่ว่านี้พาดจากอ่าวเบงกอลไปจนสุดที่ทะเลฟิลิปปินส์
ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเล็กน้อยว่า “สัน (ridge)” คืออะไรนะครับ เพราะเป็นศัพท์วิชาการด้านอุตุนิยมวิทยาที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จัก
สมมุติว่าเราวาดภาพพื้นผิว 3 มิติ โดยให้แกนนอนทั้งสองแทนทิศทางในแนวระดับ ส่วนแกนดิ่งแทนค่าความกดอากาศ ในกรณีอุดมคติ ถ้าทุกๆ จุดมีความกดอากาศเท่ากันเปี๊ยบทั้งหมด พื้นผิวที่เราวาดก็จะราบเรียบเป็นแผ่นแบนๆ คล้ายๆ ที่ราบ
แต่ถ้าบางบริเวณมีความกดอากาศสูง พื้นผิวก็จะนูนขึ้น ความกดอากาศสูงมากก็นูนขึ้นมาก ทีนี้ถ้าบริเวณที่มีความกดอากาศสูงมีลักษณะเป็นแนว พื้นผิวก็จะสูงขึ้นเป็นแนวคล้ายเทือกเขา ตรงนี้แหละครับที่ทำให้นักอุตุนิยมวิทยาเรียกแนวที่มีความกดอากาศสูงว่า “สัน” หรือ “ridge”
ความกดอากาศสูงที่เกิดเหนือบริเวณหนึ่งๆ ทำให้อากาศมีแนวโน้มที่จมตัวลง นั่นคือ เกิดเมฆได้ยาก เมื่อไม่มีเมฆก็เกิดหยาดน้ำฟ้า (เช่น ฝน หรือหิมะ) ได้ยากตามไปด้วย พูดง่ายๆ คือ ฟ้าค่อนข้างโปร่ง
แต่ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งนั่นคือ ความกดอากาศสูงที่อยู่สูงขึ้นไปจะกดอัดอากาศที่อยู่ติดพื้น ผลก็คืออากาศที่อยู่ติดพื้นมีอุณหภูมิสูงขึ้น นั่นคือ เกิดคลื่นความร้อนขึ้นในบริเวณใกล้ผิวพื้นนั่นเอง
อีกคำถามหนึ่งซึ่งคนสนใจกันมากก็คือ คลื่นความร้อนเอเชียครั้งนี้เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือเปล่า?
คำตอบคือคงต้องรองานวิจัยอีกสักพักจึงจะตอบได้อย่างชัดเจน
แต่ในกรณีทั่วไปมีการศึกษาพบว่าภาวะโลกร้อนมีผลทำให้คลื่นความร้อนเกิดถี่ขึ้น แต่ละครั้งยาวนานขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แถมยังมีแนวโน้มครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นด้วย
ประเด็นสุดท้ายที่ผมขอฝากไว้ก่อนก็คือ ตั้งแต่ราวกลางปีนี้เป็นต้นไปมีแนวโน้มว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ซึ่งความหมายสำหรับประเทศไทยก็คือ ฝนตกน้อยกว่าปกติหรือแล้งนั่นเอง
แถมมีความเป็นไปได้ว่าเอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อาจเป็น ‘ซูเปอร์เอลนีโญ’ อีกด้วย หมายความว่าผลกระทบจะรุนแรงกว่าเอลนีโญปกติ
รายละเอียดเป็นอย่างไรผมจะหาโอกาสขยายความอีกทีนะครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022