‘เห็น’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

เทคโนโลยีในทุกวันนี้ ทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสิ่งต่างๆ รวมทั้งชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติ

เห็นรายละเอียดเล็กๆ เห็นร่างกายซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับงานที่ชีวิตทั้งหลายได้รับมอบหมายมาให้ทำ

เรามีกล้องดักถ่ายภาพ ที่พัฒนามากระทั่งมีคุณภาพที่ดี มีความสามารถมาก ทำให้ได้เห็นสัตว์หลายชนิดที่โอกาสได้พบเห็นยาก สัตว์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

มีกล้องซึ่งฉลาดเหลือล้น จับท่าทางการกิน การล่าของนกและสัตว์ได้อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ในทุกๆ วัน ทุกชั่วโมง มีรูปภาพสวยงามมากมาย

นอกจากความสวยงาม ความน่าตื่นตา ผมไม่แน่ใจนักว่า เราจะเห็นชีวิตอย่างที่ชีวิตเหล่านั้นเป็น

 

ผมเคยสงสัยว่า ทำไมบรรดานกต่างๆ ในยุคที่คนเริ่มดูนก จึงเรียกชื่อนกหลายชนิดด้วยคำขึ้นต้นว่า “อี” ทั้งนกตัวผู้และตัวเมีย และก็ไม่มีนกชนิดใดถูกเรียกว่า “ไอ้” เลย

แต่คำว่า อี ฟังสำเนียงคล้ายๆ จะเป็นการเรียกแบบเอ็นดูมากกว่า แบบญาติผู้ใหญ่เรียกลูกหลาน ไม่ได้เป็นเรียกแบบจิก หรือหยาบคายแต่อย่างใด

ในบรรดานกต่างๆ ที่ถูกเรียกว่าอี เหล่านกน้ำ หรือนกที่มีวงจรชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับน้ำ ตั้งแต่เกิด โต หาอาหาร สร้างรัง วางไข่ อยู่ในแหล่งน้ำ

สำหรับผม ดูเหมือนว่า นกอีแจว จะมีเรื่องราวให้นึกถึงบ่อยๆ มากกว่าตัวอื่น

 

หน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายในการเร่งขยายเผ่าพันธุ์ของนกอีแจวตัวเมียนั่นเอง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกมันมีคำนำหน้าด้วยอี

เพราะในช่วงฤดูกาลแห่งความรักนั้น อีแจวตัวเมียจะจับคู่ถึงสี่ครั้ง อยู่กับตัวผู้ตัวหนึ่ง วางไข่แล้วเธอจะแจวไปหาตัวผู้ตัวใหม่ ทิ้งให้ตัวผู้ทำหน้าที่ดูแล ฟูมฟักไข่จนลูกนกออกมา

นกอีแจวตัวผู้ ไม่ได้คิดว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง หรือโดนหลอกแต่อย่างใด มันทำตัวเป็นพ่อที่ดี อดทน นั่งฟักไข่อยู่กลางบึงน้ำ ท่ามกลางอากาศและแสงอาทิตย์อันร้อนแรง จนกระทั่งลูกออกจากไข่

ในระหว่างการดูแล ถ้ามีอะไรที่อาจเป็นอันตรายกับลูก เช่น เหยี่ยวมาบินวน มันจะเริ่มต้นแสดงละคร เช่น ลุกขึ้นเดินเซ เดินๆ ล้มๆ เหมือนกำลังบาดเจ็บ กระโดดขึ้นกระโดดลง ขณะทำท่าทางก็ถอยห่างจากรังไปเรื่อยๆ นั่นเป็นการแสดงเพื่อล่อหลอกผู้ล่าให้สนใจตัวเองนั่นเอง

ไม่ผิดหากจะพูดว่า มันแสดงอาการแบบยอมตายแทนลูก

ใครก็ตามที่มีโอกาสได้เฝ้าดูละครชีวิตฉากนี้ คงคิดถึงพ่อ

นกอีแจว – หลังออกจากไข่ ลูกนกจะรีบยืน เดิน โดยมีพ่อนกดูแลอย่างใกล้ชิด

เหล่านกน้ำ แตกต่างจากนกป่า ในเรื่องการเลี้ยงดูลูก นกป่าส่วนใหญ่จะหาอาหารมาป้อนลูกในรัง ส่วนนกน้ำไม่ทำเช่นนั้น พอลูกออกจากไข่จะพาลูกออกไปทิ้งรังไม่มาใช้อีก

อาจเป็นเพราะว่า รังของนกป่านั่นค่อนข้างมิดชิด ลูกๆ แอบอยู่ได้ ส่วนรังนกน้ำมักเป็นแค่กอหญ้าสุมๆ ในที่โล่ง ลูกนกน้ำจึงต้องช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่อยู่ในไข่ คือต้องพยายามเจาะเปลือกไข่ดันตัวเองออกมา

เมื่อออกมาแล้วต้องรีบลุกขึ้นยืนให้ได้โดยเร็ว เพราะหากนอนคอพับอยู่อย่างนั้น งู หรือเหยี่ยวมาเห็น ก็จะหมดโอกาสเติบโต ทำหน้าที่ของตัว

พ่อนกจะรีบคาบเปลือกไข่ไปทิ้งไกลๆ ไม่ให้กลิ่นคาวต่างๆ โชยไปถึงสัตว์ผู้ล่าง่ายๆ

ถ้าจวนตัว ขณะพ่อนกกำลังแสดงละครหลอกล่อ ตัวลูกจะลงน้ำซ่อนเงียบ โผล่แต่ปลายปากขึ้นมาเท่านั้น

 

ลูกนก ลูกสัตว์ป่า มีสัญชาตญาณที่ดี ได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้วิธีเอาตัวรอด

นกแต่ละประเภท มีวิธีการเลี้ยงลูกแตกต่างกัน นกป่าให้ลูกรอที่รัง พ่อแม่นำอาหารมาให้ เมื่อกลับมาถึงก็จะป้อนอาหารให้ลูกถึงปาก ทีละตัว ลูกจะได้รับอาหารเท่ากัน

นกประเภทเหยี่ยวไม่ทำอย่างนี้ เมื่อพ่อแม่มาถึง จะเอาอาหารโยนบนรังให้ลูกๆ แย่งชิง ตัวที่แข็งแรง เก่งกว่า จะรอดเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนตัวที่อ่อนแอก็ตายไป

วิธีการนี้ นอกจากฝึกลูกให้แกร่งพอที่จะเติบโตเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการควบคุมปริมาณเหยี่ยวซึ่งเป็นผู้ล่าไปในตัว

นกน้ำ หน้าที่ในการดูแลแหล่งน้ำนั้นเป็นงานหนัก จึงต้องพยายามให้ลูกรอดเพื่อมาช่วยทำงาน

วิธีที่นกอีแจวตัวเมียจับคู่หลายครั้งในหนึ่งฤดูกาล เป็นการเพิ่มปริมาณอีกวิธีหนึ่ง

 

หากมองอย่างผิวเผิน คงอดสงสารนกตัวผู้ไม่ได้

แต่ถ้ามองโดยเอาความรู้สึกของแม่คนหนึ่ง เราคงเห็นและเข้าใจว่า นกอีแจวตัวเมีย จะปวดร้าวเพียงใดที่ต้องทิ้งลูกไปเช่นนั้น

บางครั้งทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด ใช่ว่าจะได้รับความชื่นชม

 

เราอยู่ในวันที่เทคโนโลยีช่วยให้เห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ

แต่บังเอิญว่า สิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งที่ความฉลาดของกล้องช่วยให้เราเห็นนั้น มีชีวิต

จึงจำเป็นต้องทำความรู้จักอย่างแท้จริง

ถึงวันที่ต้องวางกล้อง ละสายตาจากช่องมองภาพ มองนกด้วยสายตาเปล่า เริ่มต้นใหม่

เพื่อที่จะได้ยอมรับ, เข้าใจ และ “เห็น” ชีวิตจริงๆ ในภาพ ที่กล้องบันทึกมา •

 

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ