ความเห็นแย้งต่อความพยายามกำหนดมาตรฐาน สถาปัตยกรรมไทย (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภายในงาน “สถาปนิก’66” มีการเปิดเวทีเสวนา “ระดมความคิดการกำหนดมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย” ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

เป็นเวทีที่จัดโดยคณะอนุกรรมการที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่จากสภาสถาปนิก เพื่อหาแนวทางในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานในวันนั้นและได้ฟังความเห็นอย่างละเอียด เรียนตามตรงว่า แม้เข้าใจในเจตนาดี แต่ไม่เห็นด้วยเกือบทั้งหมดในสิ่งที่อนุกรรมการชุดนี้ต้องการจะทำ

ผมเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านา โดย ณ ขณะนั้นผมยังไม่ทราบรายละเอียดอะไรนัก (หากสนใจ อ่านใน https://www.matichonweekly.com/column/article_648625)

แต่ตอนนี้ ผมเข้าใจชัดมากขึ้น ว่าอะไรคือสิ่งที่อนุกรรมการชุดนี้ต้องการทำ ด้วยเหตุผลอย่างไร และมีขอบเขตเนื้อหาขนาดไหน

ทั้งหมดทำให้ผมคิดว่า จำเป็นต้องเขียนถึงเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อแสดงความเห็นแย้งในสิ่งที่อนุกรรมการชุดนี้กำลังจะเริ่มทำ

และหวังว่าประเด็นนี้จะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงสถาปนิก เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยในอนาคต

 

ในวงเสวนา มีการนำเสนอปัญหามากมายในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มงานที่ผู้อภิปรายใช้คำว่า “สถาปัตยกรรมไทยประเพณี” ที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่วัด

กล่าวโดยสรุป วงเสวนานำเสนอปัญหาหลักอยู่ 3 ประการ ซึ่งนำมาสู่ความคิดที่อยากจะกำหนดมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทยขึ้น

หนึ่ง ปัญหาการก่อสร้างอาคารในพื้นที่วัด ณ ปัจจุบันที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย

สอง ปัญหาการรักษามรดกสถาปัตยกรรมไทยที่มีคุณค่าในอดีต (โบราณสถาน) ให้สามารถรักษาสภาพเดิม ทั้งรูปทรง สัดส่วน ไปจนถึงวัสดุก่อสร้างแบบโบราณ ให้คงอยู่ไปถึงคนรุ่นต่อไป

สาม ปัญหาว่าด้วยการสร้างงานสถาปัตยกรรมใหม่ในพื้นที่วัด (ทั้งพื้นที่ที่เป็นโบราณสถานและพื้นที่วัดใหม่) โดยผู้อภิปรายทั้งหลายเห็นว่าเป็นปัญหามาก เพราะส่วนใหญ่ถูกออกแบบขึ้นโดยขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และขาดความเข้าใจในเรื่อง “เอกลักษณ์และความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรม”

ผู้อภิปรายบนเวทีส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า จากปัญหาเหล่านี้ สภาสถาปนิกควรเข้ามามีบทบาทในการร่างแนวทาง กฎเกณฑ์ มาตรฐาน หรืออะไรก็ตาม (ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป) เพื่อเข้ามาจัดการกับปัญหา

 

แม้ดูเสมือนว่าจะยังไม่มีข้อสรุปออกมา แต่ในช่วงท้ายของการนำเสนอ ผู้อภิปรายบนเวทีได้พูดบางอย่างที่มีแนวโน้มในลักษณะที่เสมือนจะมีการกำหนดสิ่งที่คล้ายๆ จะเป็นใบอนุญาตในการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยในพื้นที่วัด

ถ้าจะพูดให้คนในวงการสถาปนิกเข้าใจง่ายๆ ก็อาจจะเป็นอะไรที่คล้ายๆ “ใบ กส. สถาปัตยกรรมไทย” (แยกออกมาอีกใบหนึ่งต่างหากจาก “ใบ กส. สถาปัตยกรรม” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน) สำหรับสถาปนิกที่ต้องการสร้างงานสถาปัตยกรรมในพื้นที่วัด

เพื่อความเป็นธรรม บนเวทียังไม่ได้สรุปฟันธงในลักษณะ “ใบ กส. สถาปัตยกรรมไทย” นะครับ (คำนี้เป็นคำพูดของผมเอง)

แต่จากรายละเอียดที่ถูกนำเสนอ ผลลัพธ์สุดท้ายที่จะเกิดขึ้น ก็จะต้องมีมาตรการอะไรบางอย่าง (ใบรับรองผ่านการอบรม, ประสบการณ์, ผลงานที่ผ่านมา ฯลฯ) เพื่อพิสูจน์และยืนยันว่า คนคนนี้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า “เอกลักษณ์และความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรม” ในระดับที่มากเพียงพอ

 

เมื่อได้ฟังจนจบ ผมคิดว่าข้อเสนอนี้ แม้ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก

หากผลักดันจนสำเร็จจะกลายเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งพัฒนาการในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทย มากกว่าจะเป็นการส่งเสริมงานสถาปัตยกรรมไทย

ขอย้ำอีกครั้งว่า เข้าใจในเจตนาดีของกลุ่มคนที่ต้องการผลักดัน และหลายปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายนั้น ผมเองในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงวิชาการและงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยมาพอสมควร ก็เห็นด้วยว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขจริง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหมดที่ยกขึ้นมา โดยเฉพาะปัญหาหลัก 3 ประการข้างต้นนั้น ผมมีความเห็นว่าเป็นปัญหาที่แม้จะมีความคาบเกี่ยวยึดโยงอยู่กับงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย แต่เป็นปัญหาคนละเรื่องและคนละส่วนที่เราต้องพิจารณาแยกออกจากกัน

และการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับความต้องการที่จะสร้างเกณฑ์มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย

พูดให้ชัดก็คือ ปัญหาทั้งหมดสามารถแก้ไขได้โดยวิธีการและระบบระเบียบเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมาสร้างเกณฑ์มาตรฐานใหม่แต่อย่างใด

 

ขอเริ่มจากปัญหาแรกเลยนะครับ

เราทุกคนที่อยู่ในวงการสถาปนิกที่เคยทำงานออกแบบในพื้นที่วัด ต่างรู้ดีว่าการสร้างอาคารในพื้นที่วัด จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะทั้งโดยตัวบทกฎหมายที่มีอยู่กำหนดให้ยกเว้นหรือยกเว้นกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันเองทางสังคมก็ตามที

ลักษณะเช่นนี้ นับวันจะยิ่งสร้างความสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยสาธารณะ เพราะอาคารในวัดยุคใหม่ๆ เป็นจำนวนมากล้วนมีขนาดใหญ่โต หลายหลังอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็น “อาคารขนาดใหญ่พิเศษ” ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีสถาปนิกวิชาชีพและวิศวกรวิชาชีพเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

แน่นอน วัดเหล่านี้ (โดยเฉพาะที่เป็นวัดใหญ่โตมีชื่อเสี่ยง) ย่อมมีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นสถาปนิกและวิศวกร ซึ่งหลายวัดก็ได้รับการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ ด้วยช่องโหว่ที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้างตามระบบปกติ ทำให้อาคารขนาดใหญ่ในวัดหลายแห่ง ได้รับการดูแล ออกแบบ และก่อสร้างโดยผู้รับเหมาที่ใช้เพียงความชำนาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมา ซึ่งน่ากังวลต่อมาตรฐานความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ สภาสถาปนิกสามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากกว่าโดยการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการหรือกฎหมายเพื่อกำหนดและบังคับให้การก่อสร้างอาคารในพื้นที่วัด นับจากนี้เป็นต้นไป จะต้องขออนุญาตในมาตรฐานเดียวกันกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามปกติที่มีการบังคับใช้อยู่แล้ว

หากทำสำเร็จ อาคารขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการออกแบบ หากถูกสร้างในพื้นที่วัด ก็จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสถาปนิกและวิศวกร ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยก็จะหายไป โดยที่ไม่จำเป็นอะไรเลยที่จะต้องมาสร้างกฎเกณฑ์ใหม่หรือมากำหนดมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทยขึ้นใหม่

 

ส่วนปัญหาข้อสอง ว่าด้วยความกังวลในการรักษาสถาปัตยกรรมไทยที่มีคุณค่าในอดีต (โดยเฉพาะอาคารโบราณสถาน) ให้สามารถรักษา รูปทรงสัดส่วน วัสดุ เทคนิค ตลอดจนองค์ความรู้แบบจารีตที่มีค่าเอาไว้ให้ได้จนถึงคนรุ่นต่อไปนั้น ปัญหานี้ก็แก้ไขได้ภายใต้การปรับปรุงระบบที่มีอยู่แล้วเช่นกัน

กรมศิลปากรคือหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง และโดยระบบที่เป็นอยู่ กรมศิลปากรก็มีระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีการที่จะเข้ามาดูแลรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมไทยที่ทรงคุณค่าเหล่านี้อยู่แล้ว

แน่นอน ปัญหากรมศิลปากรก็มีอยู่ไม่น้อย ที่ส่งผลทำให้การดูแลมรดกเหล่านี้ทำได้อย่างไม่ทั่วถึงและไม่ทันสถานการณ์ เรามักเห็นข่าวเศร้าของการทำลายโบราณสถานที่มีคุณค่าปรากฎอยู่เสมอๆ โดยที่กรมศิลปากรไม่สามารถช่วยอะไรได้

ซึ่งปัญหานี้ หากต้องการแก้ไขอย่างถึงรากแท้จริง สิ่งที่ควรผลักดันคือ การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบในการดูแลมรดกสถาปัตยกรรมไทยที่มีคุณค่าทั้งหลายให้แก่หน่วยงานท้องถิ่น (อบต. และ อบจ.) ให้มากขึ้น ไม่ใช่กระจุกตัวรวมศูนย์อยู่แต่ข้าราชการกรมศิลปากร ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด

พร้อมๆ ไปกับการกระจายอำนาจ รัฐก็ต้องเข้ามาสนับสนุนการผลิตช่างแบบจารีตให้มากขึ้น (ช่างไม้ ช่างรัก ช่างปูน ช่างแกะสลัก ช่างถม ฯลฯ) เพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลรักษามรดกสถาปัตยกรรมไทย

และที่สำคัญ ต้องเข้ามาช่วยในเรื่องงบประมาณในการผลักดันให้หน่วยงานท้องถิ่น ต้องกำหนดอัตราจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้โดยตรงมาทำงานในหน่วยงานของตน เพื่อให้เข้ามาดูแลมรดกที่มีคุณค่าในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องรอแต่กรมศิลปากร

หากทำได้จริง งานสถาปัตยกรรมไทยที่มีคุณค่าก็จะมีผู้เชี่ยวชาญกระจายดูแลอย่างทั่วถึง การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยก็จะเกิดขึ้นจากผู้มีความรู้

การธำรงรักษา รูปแบบ ทรวดทรง เทคนิคการก่อสร้าง ตลอดจนวัสดุดั้งเดิม ก็จะถูกรักษาและส่งทอดสู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างแท้จริง ไม่สูญหายไปไหน

หากสภาสถาปนิก มีความห่วงใยในประเด็นนี้ ก็ควรเข้าไปร่วมผลักดันแนวทางข้างต้นให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง มากกว่าการนั่งคิดเรื่องกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างตรงจุดเท่าที่ควร