วิช่วลคัลเจอร์ ประชา สุวีรานนท์ / Gutenberg Galaxy : ตัวพิมพ์กับการอ่าน (3)

Macluhan, Herbert M. The Gutenberg Galaxy. the Making of Typographic Man. New York: Mentor, 1969.

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

Gutenberg Galaxy : ตัวพิมพ์กับการอ่าน (3)

ใน “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” (ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์) ผู้เขียนคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ศึกษากำเนิดของกระฎุมพีไทย โดยผ่านการอ่านวรรณกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเมือง การค้าขายกับตะวันตกทำให้อำนาจทุนและเทคโนโลยีหลั่งไหลเข้ามา และจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหลายด้าน

ผู้เขียนเริ่มที่การเขียน และเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเขียน

เขายกให้ต้นรัตนโกสินทร์เป็นยุคที่เกิดความเสื่อมของพิธีกรรมในงานวรรณกรรม และการเปลี่ยนแปลงจากภาษาพูดมาสู่ภาษาเขียน ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่น้อยลง

และจากการเขียนแบบหลวมๆ มาสู่การเขียนแบบเคร่งครัด และเน้นความสำคัญของรูปแบบใหม่ๆ เช่น ละครและกลอน รวมทั้งวิธีเขียนบทอัศจรรย์

สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ เขียนโดยไม่ใช้เสียงที่เลียนธรรมชาติ และอ่านโดยปล่อยความหมายและรส ผ่านเข้าไปสู่จิตใจโดยไม่อาศัยเสียง

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส อาจเป็นคนแรกที่เริ่มแต่งวรรณกรรมที่อ่านด้วยตา หรือ “ฉันท์” ซึ่งเคร่งครัดเรื่องรูปของครุลหุ ทั้งๆ ที่แต่เดิม การอ่านและออกเสียงเป็นธุระของผู้สวดหรืออ่าน ไม่ใช่ผู้แต่ง จึงไม่เคยเคร่งครัด

นิธิให้ความสำคัญกับคำสอนศาสนาที่เรียบเรียงขึ้นใหม่ เช่น ไตรโลกวินิจฉัย และประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ รวมทั้งร้อยแก้วหรือภาษาความเรียง เช่น สามก๊ก ไซ่ฮั่น ซึ่งเกิดจากการพิมพ์และการแปลมาจากภาษาต่างประเทศ

สำหรับแม็กลูแฮน การอ่านในใจมีความซับซ้อนทางสายตา ทั้งวรรคตอน การแยกคำ และเครื่องหมายต่างๆ เช่น สารบัญ, ชื่อเรื่อง, เชิงอรรถ, และดรรชนี หรือ metadata ซึ่งไม่มีประโยชน์มากนักในโลกยุคก่อนการพิมพ์ แต่จะใช้การได้เต็มที่ ก็ต่อเมื่อการพิมพ์เกิดขึ้น คนเราจะหันมาอ่านด้วยตามากกว่าอ่านด้วยหู

ในยุโรปช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 14 การอ่านออกเสียงหรือสวดแบบพระ เปลี่ยนไปสู่การอ่านในใจหรืออ่านแบบนักวิชาการ

และจากนั้น ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ สิ่งนี้ก็แพร่กระจายไปสู่สังคมวงกว้างอย่างรวดเร็ว

ที่สำคัญ การพิมพ์ส่งผลด้านจิตวิทยา ทั้ง มาร์แชล แม็กลูแฮน และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่าสิ่งพิมพ์ทำให้เราแบ่งแยกการท่องจำกับการคิดออกจากกันได้ ถ้าแบ่งโลกออกเป็นส่วนตัว (private) กับสังคม (communal) “อ่านด้วยหู” หรืออ่านเพื่อการร้องและรำ หรือมีลักษณะสังคม ส่วน “อ่านด้วยตา” หรืออ่านในใจมีลักษณะส่วนตัว

พูดอีกอย่าง การอ่านในใจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโลกของปัจเจกชนขึ้นมา

จุดเริ่มของสิ่งนี้มีมาตั้งแต่การใช้อักษรเพื่อถ่ายเสียง มาร์แชล แม็กลูแฮนบอกว่า “สำนึกที่เกิดจากการใช้อักษรทำให้คนผ่านจากโลกของการใช้หู ไปสู่โลกของการใช้ตา”

เขาบอกว่า “นับแต่ประดิษฐ์อักษร ตะวันตกเริ่มแบ่งแยกสัมผัสต่างๆ ทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอย การปฏิบัติงาน อารมณ์ และการเมือง”

ข้อเสนอหลักคือ วัฒนธรรมสิ่งพิมพ์เป็นพื้นฐานของสังคมตะวันตก การอ่านแบบใหม่ซึ่งไม่ถ่ายเสียงเกิดขึ้นด้วยการพิมพ์ เขาบอกว่า : “ตาทำงานเร็วขึ้นและหูทำงานน้อยลง”

และเมื่อเกิดการผลิตตัวพิมพ์แบบเหมือนๆ กันออกมา สัมผัสสองอย่างนี้จึงเปลี่ยนไป โดยที่การมองเห็นพัฒนาไปมากกว่า

ซึ่งหมายความว่าเทคโนโลยีทำให้เราคุ้นเคยกับอายตนะบางอย่างมากกว่า

การอ่านด้วยหูคือรับสัมผัสหลายระนาบ

แต่การมองเห็นคือการเลือกรับแต่ที่ต่อเนื่องและอยู่ในระนาบเดียวกัน หรือข้อมูลแบบเส้นตรง (linear)

แม็กลูแฮนเห็นว่า “มุมมองหรือ poin of view ที่คงที่ทำให้เกิดสิ่งพิมพ์” ความขัดแย้งกับการถกเถียงหรือ dialogue และส่งเสริมความเป็นปัจเจก

ปัจเจกภาพถูกเร่งด้วยหนังสือ การกระตุ้นสัมผัสใหม่ ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ และระหว่างถ้อยคำกับดนตรี และช่องว่างที่ว่านี้ ก่อให้เกิดการแยกสังคมเป็นกลุ่มและช่วงชั้นต่างๆ

ตามมาด้วยชาตินิยม ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางของข้อมูลชุดเดียวกัน และการเฟื่องฟูของภาษาท้องถิ่นต่างๆ เมื่อชาติเติบโต การพิมพ์ก็ยิ่งเน้นความเป็นชาติมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะตัวพิมพ์ทำให้ภาษาแห่งชาติมีมาตรฐานเดียวกัน เพราะช่วยสร้างเอกภาพได้นั่นเอง

นอกจากนั้น ยังบอกว่าการค้าขายกับการพิมพ์นั้นเกี่ยวกัน เพราะก่อนหน้านั้น คนเรายังไม่เข้าใจการผลิตแบบอุตสาหกรรม กว่าจะเข้าใจก็ต้องมีการพิมพ์ เขาบอกว่า “สิ่งพิมพ์เป็นสินค้าแบบแรก” เพราะมีลักษณะเหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือมีเอกรูปและทำซ้ำได้ ซึ่งไม่มีในยุคลายมือ

ในบทความเรื่อง “อ่านหนังสือ” (มติชนสุดสัปดาห์ 9-25 กรกฎาคม 2556) นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ยกหนังสือ The Gutenberg Galaxy มาอ้าง และพูดถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ของจีน ซึ่งเกิดก่อนยุโรปหลายร้อยปี

แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือและการอ่านของจีนพัฒนาไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คือวัฒนธรรมจีน อันได้แก่ ระบบการปกครอง, สิ่งที่ถือว่าคนฉลาดและคนดีต้องรู้, สิ่งที่ถือว่าเป็นความรู้, คำมั่นสัญญา, กฎหมาย ฯลฯ ซึ่งวางอยู่บนรากฐานของตัวหนังสือทั้งสิ้น

จีนจึงเป็นสังคม “อ่านออกเขียนได้” มาแต่โบราณกาล ในขณะที่ไทยก็มีตัวหนังสือใช้มานาน อาจจะไม่ใช่สังคมแบบนั้น

การพิมพ์อาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในโลกอื่น

แต่อาจจะไม่ได้ทำอย่างเดียวกันในสยาม