โลกหมุนเร็ว/รักอยุธยา

โลกหมุนเร็ว

เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

รักอยุธยา

ไปอยุธยาคราวนี้ รู้จักและเข้าถึงอยุธยามากกว่าเคย

เพราะไปกับทัวร์ของมติชนอคาเดมีที่มี อาจารย์ ดร.นนทพร อยู่มั่งมี เป็นวิทยากร เป็นทัวร์ตามรอย “พระเมรุมาศ” ที่มีเนื้อหาว่าด้วยต้นแบบความเป็นมาของพระเมรุมาศตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

อาจารย์พาไปชมวังหลวงและวัดหลายวัด เริ่มที่วังหลวง ที่บัดนี้เหลือแต่ซากปรักหักพัง เหลือไว้แต่จินตนาการถึงกรุงศรีอยุธยาอันรุ่งเรือง และถึงกาลสิ้นสุดลงด้วยการพ่ายแพ้แก่พม่า

ครั้งก่อนๆ ที่มาอยุธยา ได้แต่ขับรถวนรอบๆ หรือไม่ก็ลงไปเดินแค่ขอบๆ เพราะไม่มีความรู้ว่าตรงไหนคืออะไร

แต่คราวนี้ได้ความรู้ว่าภายในมีพระที่นั่งที่สำคัญ 3 พระที่นั่ง มีทางขี้นจากน้ำที่นำพระศพกรมหลวงโยธาเทพ อัครมเหสีฝ่ายขวาของพระเพทราชา ขึ้นมาประดิษฐานที่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์

และมีบริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็น “ท้องพระเมรุ” ซึ่งเป็นต้นทางของสนามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

จากนั้นพาไปชมวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดราชบูรณะ วัดวรเชษฐาราม และวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งแต่ละวัดก็จะมีความเกี่ยวข้องกับการถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์อยุธยาหลายองค์ด้วยกัน

เราอาจจะคิดว่าอ้าว ทำไมสถานที่ถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์อยุธยาจึงมีหลายแห่งต่างกัน ไม่ใช่แห่งเดียวกันเหมือนราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ก็ได้เข้าใจตอนนี้ว่าเพราะกษัตริย์อยุธยามีหลายราชวงศ์ พูดภาษาชาวบ้านคือมีหลายก๊กหลายเหล่า นอกจากอาจารย์นันทพรจะเล่าเรื่องการถวายพระเพลิงแล้วก็ยังเล่าเรื่องการเมืองอยุธยาสอดแทรกอยู่ด้วย

จากวัดหนึ่งไปอีกวัดหนึ่ง จากเรื่องราวอันเข้มข้นและให้ความรู้ที่อาจารย์นันทพรเล่าทำให้รู้สึกว่าเริ่มจะ “มาถึง” อยุธยาบ้างแล้ว หลังจากที่มาทีไรก็เหมือนเฉียดๆ อยู่แต่รอบนอก

อยุธยาเป็นอดีตราชธานีที่มีคุณค่าต่อจิตใจและต่อความรู้สึกต่อเนื่อง คลี่คลาย ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย การพยายามสืบทอดประเพณีจากกรุงศรีอยุธยามายังกรุงรัตนโกสินทร์คือการบอกถึงความต่อเนื่องดังกล่าว โดยเฉพาะประเพณีพระบรมศพที่เกี่ยวข้องกับคนทุกระดับชั้น

อาจารย์บอกว่างานถวายพระเพลิงนั้นไม่ใช่งานเศร้าอย่างเดียว แต่มีงานมหรสพต่างๆ ให้ประชาชนได้มาเพลิดเพลิน ในขณะที่ด้านในก็ดำเนินพิธีศพกันไป ด้านนอกประชาชนก็มีการละเล่นต่างๆ

จบจากงานถวายพระเพลิงที่ท้องสนามหลวงก็สมควรแล้วที่ได้ย้อนอดีตกลับไปรับรู้เรื่องราวความเป็นมาเรื่องงานพระบรมศพที่อยุธยา

อยุธยามีคุณค่าต่อจิตใจ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

แต่จิตวิญญาณของอยุธยาคงกำลังร้องไห้ ด้วยขยะมูลฝอย ความไม่เป็นระเบียบ น้ำท่วม และการบริหารจัดการเมืองที่ไม่สมกับคุณค่าของอยุธยา

ผู้เขียนเห็นแต่ฝรั่งมาเที่ยวดูวังหลวงและวัดที่สำคัญในอยุธยา เงี่ยหูฟังเขาพูดกันจับสำเนียงได้เป็นภาษาฝรั่งเศสส่วนใหญ่ มากันทั้งครอบครัว เขาคงมาเพราะถูกปลูกฝังให้สนใจประวัติศาสตร์

ผู้เขียนมีความฝันอยากเห็นอยุธยาเป็นเมืองเก่าที่มีผู้คนทั่วโลกมาเยี่ยมชมเมื่อมาประเทศไทย ถัดจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต

อยากเห็นอยุธยาเป็นอดีตราชธานีที่สมศักดิ์ศรี สง่างามแบบเดียวกับเกียวโต มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดสะอ้าน มีที่พักที่ดี มีร้านกาแฟชนิดที่เหมาะสมกับรสนิยมและระดับของผู้มาเยือน

ฝันเห็นร้านกาแฟและร้านอาหารติดแอร์ ตกแต่งขรึมขลังด้วยรสนิยม อยู่ตรงข้ามวัดไชยวัฒนาราม ให้ผู้มาเยือนได้นั่งชมความยิ่งใหญ่งดงามของวัดไชยวัฒนารามที่มีพระอาทิตย์ตกอยู่เบื้องหลัง

สิ่งที่ได้เห็นกลับเป็นขยะตามมุมเมือง บนถนน ในคูคลอง เพิงขายน้ำแบบชาวบ้านหน้าวัดไชยฯ ประหนึ่งว่าที่นี่ไม่เคยเป็นราชธานีที่โอ่อ่า

ต้องยอมรับว่าหนึ่งในองค์ประกอบของการเที่ยวชมวัฒนธรรมที่สำคัญคือสิ่งอำนวยความสะดวกที่นักเดินทางในยุคปัจจุบันต้องการ

อยุธยาเมืองเดียวมีอะไรให้ศึกษาชื่นชม มากเกินกว่า 1 วัน แต่ในเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่อำนวย จึงกลายเป็นว่าทุกคนมาแบบเช้าไปเย็นกลับ เศรษฐกิจที่เกิดจากวัฒนธรรมไม่เฟื่องฟูเท่าที่ควร

อยุธยายังมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตที่ทำให้คนอยุธยาไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีพลังจะลุกขึ้นมาขัดสีฉวีวรรณอัญมณีที่มีอยู่และนำมันขึ้นวางบนที่ที่สมควรค่า

ผู้เขียนเคยพูดว่าอยุธยานั้นเปรียบดังอัญมณีเลอค่าที่ถูกทิ้งเปื้อนฝุ่นอยู่ตามถนน ไปกี่ครั้งก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่

อยุธยาปัจจุบันรายล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ดูเหมือนว่าภาษีอากรที่เก็บได้จะมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่จากการท่องเที่ยว มองในเชิงเศรษฐกิจคือการเสียโอกาสของการไม่ได้นำสิ่งที่มีอยู่มาสร้างรายได้ให้กับชาวอยุธยา ผิดกันไกลกับเชียงใหม่ที่มีรายงานข่าวว่าจะทำรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหมื่นล้านในช่วงพฤศจิกายนปีนี้ถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า

แล้วใครเล่าคือผู้ที่รับผิดชอบอยุธยา

สําหรับเกียวโต ซึ่งเคยติดอันดับเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดในโลก ผู้ที่รับผิดชอบคือนายกเทศมนตรี ในยุคต้นศตวรรษที่ 21 นายคาโดกาวะ นายกเทศมนตรีขณะนั้นบอกว่า เกียวโตไม่ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบธรรมชาติแต่ได้บูรณาการนโยบายด้าน พัฒนาภูมิสถาปัตย์ การออกแบบเมือง รวมทั้งการศึกษาและการจ้างงาน เข้าด้วยกัน

และที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่น

คงไม่แปลกที่อยุธยาจะศึกษาต้นแบบเกียวโตและดำเนินรอยตามนี้ แต่ใครเล่าจะเดินถือธงนำ ส่วนราชการท้องถิ่นหรือไรที่ต้องเป็นเจ้าภาพ

ซ่อมแซม เชิดชู อัญมณีของชาติให้แวววาวสมศักดิ์ศรี อย่างยั่งยืน