เผยแพร่ |
---|
การก่อเหตุในภาคใต้นับวันจะรุนแรงขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะพยายามกลบเกลื่อนอย่างไรก็ตาม วิธีการที่ดูจะเป็นระบบมากกว่าคือการศึกษาแนวทางการต่อสู้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ข้อมูลนี้มีให้ศึกษาและคนฉลาดจะหาหนทางออกได้เองจากบทความนี้
การขัดกันด้วยอาวุธ (armed conflict) มีสองแบบคือเป็นเรื่องระหว่างประเทศหรือรัฐต่อรัฐ กับมิใช่ระหว่างประเทศหรือการขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ การขับเคลื่อนใช้ความรุนแรงภาคใต้ดำเนินอยู่โดยใช้หลักการของสหประชาชาตินี้โดยมีลักษณะผสมทั้ง ๒ แบบ ดังนั้นมาทำความเข้าใจเท่าที่เนื้อที่จำกัด
การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศหลักการคือ มีระดับความรุนแรง มิใช่เพียงความไม่สงบ หรือความตึงเครียดซึ่งมีลักษณะเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่เป็นความรุนแรงที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง และเกิดในประเทศที่เป็นภาคี(ของอนุสัญญาเจนีวา ๑๙๔๙ พิธีสาร ๑๙๗๗ ฉบับ ๑ และ ๒ ศาลอาญาระหว่างประเทศกรณีอดีตยูโกสลาเวีย และธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศ) โดยเป็นการใช้อาวุธระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธหรือกลุ่มติดอาวุธด้วยกันเอง จนถึงระดับที่รัฐบาลไม่สามารถใช้ลำพังกำลังตำรวจได้ต้องใช้ทหาร เรื่องนี้ นานาชาติใช้สิ่งที่เป็นจริงเป็นการพิสูจน์ ไม่ใช่การบิดเบือนด้วยภาษา เช่นทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน แต่ทำงานจริงออกหน้า ถ้าเข้าหลักข้างต้นก็ถือว่าเป็นการขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศโดยมีรูปแบบคือ สงครามกลางเมือง สงครามปฏิวัติและสงครามแบ่งแยกดินแดน ภาคใต้ของเราบางส่วนอยู่ในระดับนี้ บางส่วนยกระดับเป็นรัฐต่อรัฐ โดยหวังจะให้สหประชาชาติเข้ามา
การขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศ นอกจากเป็นเรื่องรัฐต่อรัฐใช้กำลังทหารแล้ว รัฐกับรัฐที่ไม่ได้เป็นภาคี(ยังไม่เป็นรัฐสมบูรณ์)ด้วยหากว่ารัฐนั้นได้ยอมรับหลักกฎหมายและได้นำหลักกฎหมายนี้ไปปฏิบัติตามความเป็นจริงและมีการประกาศอย่างเปิดเผยต่อสหประชาชาติ เรื่องนี้กรณีจอร์แดนและรัฐปาเลสไตน์ชัดเจนที่สุด โดยพิธีสารเพิ่มเติม ๑๙๗๗ ฉ.๑ นิยามว่าเป็นการต่อสู้ต่อการปกครองแบบอาณานิคม การต่อสู้กับต่างชาติที่เข้ามายึดครอง และต่อสู้เพื่อการกำหนดใจตนเองตามสิทธิที่สหประชาชาติรับรอง โดยมีการต่อสู้จริงไม่ว่าจะมีฝ่ายใดไม่ยอมรับก็ตาม (หมายถึงการบอกว่าเป็นเรื่องความไม่สงบภายในประเทศเท่านั้นไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างได้) เรื่องนี้สำคัญมากจึงควรศึกษาต่อไปว่าเงื่อนไขการขัดกันด้วยอาวุธเพื่อสิทธิการกำหนดใจตนเองนี้มีอะไรบ้าง
เงื่อนไขการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศคือ มีการใช้กำลังทหารระหว่างรัฐ (กำลังทหารหมายถึงมีการแต่งเครื่องแบบ มีการติดเครื่องหมายสังกัด มีอาวุธ ดังนั้นกรณีการโจมตีค่ายนาวิกโยธินและให้มีการสูญเสียชีวิตไปพร้อมการแต่งเครื่องแบบแล้วสื่อไทยตกหลุมโฆษณาภาพทั้งหลายออกไปนั้นก็เป็นแผนการเพื่อให้เข้าเงื่อนไขนี้) ทั้งนี้กำลังทหารของฝ่ายรัฐนั้นให้ถือตามความจริง ไม่ว่าจะปกปิดแค่ไหนเช่นใช้พลเรือนติดอาวุธแบบกรณีในติมอร์ตะวันออกก็เข้าเงื่อนไขนี้โดยจะดูแต่ว่ารัฐใช้กำลังทหารเมื่อไหร่ถือว่าเข้าข่ายทันที เงื่อนไขที่สำคัญต่อไปคือ การสามารถยึดครองพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยรัฐเดิมไม่ยินยอม ในบางกรณีให้ถือว่ามีพื้นที่เพียงพอให้ใช้กำลังทหารของฝ่ายต่อต้านได้ก็ใช้ได้แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้กำลังและต่อสู้เพื่อกำหนดใจตนเองเป็นเงื่อนไขที่ไม่ยากในการได้รับอิสรภาพ
อย่างไรก็ตามข้อจำกัดในกรณีนี้คือ กรณีเป็นการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ต่างชาติเข้ายึดครองหรือการเหยียดผิวซึ่งรวมเรื่องชาติพันธุ์ด้วย เป็นการยากที่จะยกขึ้นมาอ้าง เพราะดินแดนอาณานิคมนั้นต้องมีรายชื่อในสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีเหลืออยู่ ๑๗ แห่งเช่น ชามัวของสหรัฐฯ ฟอล์คแลนด์ของอังกฤษ เป็นต้นซึ่งมักจะให้มีการลงประชามติเพื่อกำหนดใจตนเองว่าจะเป็นอาณานิคมต่อไปหรือแยกตัวเป็นอิสระเป็นระยะๆ ภาคใต้ของไทยในประวัติศาสตร์เป็นการมาร่วมกับสยามโดยความสมัครใจตามประวัติศาสตร์สมัย ร.๕ เงื่อนไขนี้จึงหมดไป กรณีต่างชาติเข้ายึดครองก็ไม่ใช่แต่แรก ปัญหาเรื่องอ่อนไหวคือเหยียดผิวและชาติพันธุ์ซึ่งไทยมีภาระต้องพิสูจน์และต้องมีข้อห้ามมิให้มีการละเมิดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้การกดขี่ในเรื่องนี้เหมือนประเทศอื่นๆในยุโรปที่ทำให้มีการแยกตัวนั้นไม่ปรากฏชัดเจน เงื่อนไขต่างๆจึงหมดไป ภาครัฐไทยจึงเหลือเพียงต้องไม่ให้มีการยึดครองพื้นที่และจัดตั้งกองกำลังทหารขึ้นมาได้และไม่ยอมรับสถานะ การเป็นรัฐ ที่มีความพยายามเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากไม่สามารถยึดพื้นที่ได้เพียงพอจะสถาปนารัฐขึ้นได้เอง
ข้อจำกัดในการจับอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราชยังมีอยู่จากการเสนอของยุโรปตะวันออกต่อสหประชาชาติ กล่าวคือ การต่อสู้นั้นต้องเกิดจากประชาชนในพื้นที่นั้นเอง มีการมอบอำนาจให้มีตัวแทนประชาชนในรูปแบบใดๆที่มีอำนาจหน้าที่ (authority) แทนประชาชน โดยต้องไม่มีภาครัฐเดิมไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจดูแลเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือมีกองกำลังทหารเดิมอยู่ในมือแล้วมาแปรพักตร์ จะไม่ถือว่าเข้าเงื่อนไขนี้ ทั้งนี้หากไม่เข้าเงื่อนไขเรื่อง อาณานิคม ต่างชาติ เหยียดผิวหรือชาติพันธุ์แล้วให้ถือว่าเป็นเรื่อง การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศประเภทสงครามแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็เพียงไม่ใช้กำลังทหารและใช้เพียงกำลังของตำรวจให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น โอกาสที่จะเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาช่วยในการประกาศอิสรภาพก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกกรณี
สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปคือเรื่องการก่อการร้าย ในขณะที่การขัดกันด้วยอาวุธจะเป็นเรื่องการพิพาทระหว่างรัฐ การเมือง การปกครอง ศาสนา การก่อการร้ายจะเป็นเรื่องการเมือง ศาสนาและความเชื่อ ส่วนเป้าหมายนั้นมีความชัดเจนว่าการขัดกันด้วยอาวุธทั้งภายในและภายนอกประเทศเป้าหมายต้องเป็นกำลังทางทหาร ส่วนการก่อการร้ายไม่เลือกเป้าหมายและมักโจมตีพลเรือนเพื่อให้เกิดความตระหนกและความกลัว ในเรื่องสถานะนั้นการขัดกันด้วยอาวุธมีองค์กรนำชัดเจนมีสถานะเป็นรัฐหรือกองกำลังติดอาวุธ ส่วนการก่อการร้ายนั้นไม่มีสถานะเป็นคู่ภาคี ประการสุดท้ายการขัดกันด้วยอาวุธผู้เข้าสู้รบไม่ว่าจะเป็นกำลังรบหรือพลเรือนจะมีฝ่ายชัดเจน ทหารจะมีเครื่องแบบ เครื่องหมาย สังกัดและมีอาวุธ ส่วนการก่อการร้ายไม่มีตัวตนชัดเจน
การก่อการร้ายภายในประเทศจะไม่มีการทำการข้ามประเทศ การก่อการร้ายข้ามประเทศก็ยังคงเป็นกิจการต่อประเทศเดียวแต่อาจมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มตนนอกประเทศ ส่วนการก่อการร้ายระหว่างประเทศหรือก่อการร้ายสากล เช่นกรณี อัลเคดาห์ หรือไอเอส เป็นการร่วมมือกับขบวนการและประเทศตั้งแต่ ๒ ฝ่าย ขึ้นไปโดยเป้าหมายอาจเป็นรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการก่อการร้ายทั้งหลายนั้น
นิยามการก่อการร้ายของสหประชาชาติ คือการทำผิดกฎหมายโดยตั้งใจให้เกิดการตาย หรือบาดเจ็บสาหัสต่อบุคคลหรือทำลายล้างอย่างรุนแรงต่อสาธารณะและทรัพย์สินของประชาชน สถานที่ที่ใช้ร่วมกัน สิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐ ระบบขนส่งมวลชน สาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม หรือการทำลายทรัพย์สิน สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก โดยเป้าหมายเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง ศาสนาและตั้งใจกระทำต่อพลเรือนเพื่อให้ตื่นตระหนก หวาดกลัว ในนามของกลุ่มเครือข่ายใดๆ
มาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่าการระเบิดหลายแห่งและการระเบิดรถไฟ คาร์บอมบ์ ทำร้ายต่อเป้าหมายประชาชนพลเรือน ควรจะเป็นเรื่องการก่อความไม่สงบหรือความเห็นต่างต่อไปอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่มีภาระต้องทำให้โปร่งใสในเรื่องสิทธิมนุษยชน ปิดเงื่อนไขการขัดกันด้วยอาวุธด้วยการให้ตำรวจมีบทบาทหลักในการปฏิบัติงานแทนทหาร มีระบบเทคโนโลยีที่ดีพอรักษาความปลอดภัยและจำกัดเสรีในการปฏิบัติของผู้ก่อเหตุ ทั้งยังสามารถยกเหตุการณ์ทั้งหลายว่าเป็นการก่อการร้ายจะเป็นการก่อการร้ายแบบใด ก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เที่ยงตรง ถ้าเข้าข่ายการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ก็สามารถใช้พันธมิตรเข้าดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการประกาศอิสรภาพหรือการแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป