สุดขอบ-ระบอบสร๊ก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

สุดขอบ-ระบอบสร๊ก

 

สมัยที่ยังไม่มีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จฯ นั้น นายฮุน เซนที่ยังหนุ่มได้พบกับนักการเมืองไทยผู้คร่ำหวอดทั้งการทูต-เศรษฐกิจอย่าง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

นั่นคือ แรงบันดาลใจครั้งแรกกับแนวคิด “เปลี่ยนสนามรบ” เป็น “สนามการค้า”

ดังนั้น ยุค ’90 ของรัฐบาลกัมพูชาโดยฮุน เซน จึงยึดแนวทางนี้เป็น mind map เวลานั้น ซึ่งเขาก็ทำได้จนสำเร็จ และไม่น้อยหน้าที่จะกล่าวว่าเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศครั้งนั้น

จนแม้แต่ชาวเขมรอพยพในต่างแดนที่เพิ่งจะมีโอกาสกลับมาเยือนบ้านเมือง ตามโครงการเข้าพบเพื่ออวยยศ พล.อ.ฮุน มาแนต ที่จะขึ้นเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ต่างพากันสรรเสริญถึงความเจริญของบ้านเมืองและการพัฒนาครั้งนั้น มาจนกลายเป็นวันนี้

สำหรับชาวเขมรต่างแดนที่กลับมาสร้างวาทกรรมความสำเร็จให้ระบอบฮุนเซนแห่งนี้ โดยเฉพาะเมืองหลวงและหัวเมืองที่ขยายตัวออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด จนลบล้างภาพจำกัมพูชาในความเป็นชาติสมัยใหม่ที่ไม่เคยเบ็ดเสร็จมาก่อน

และนี่คือภาพจำที่ต่างไปจากอดีตทุกระบอบ รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคอาเซียนเป็นครั้งแรกของประเทศ

แต่ขณะเดียวกัน

ชาวเขมรต่างแดนโดยเฉพาะสหรัฐ กลับพากันออกมาต่อต้านวัฒนธรรมใหม่ของกัมพูชาภายใต้ระบอบฮุนเซน ณ สร๊กมาตุภูมิ รวมทั้งการสยายอิทธิพลนอกภูมิภาคทั้งอาเซียนและโพ้นทะเล จนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก

และที่เพิ่งถกเถียงครั้งล่าคือกรณีปีใหม่เขมรที่เปลี่ยนเป็น “สงกรานต์” ในภูมิภาคเหล่านั้น รวมทั้งสหรัฐ

ไม่น่าเชื่อว่า ไม่กี่ปีมานี้ ความเป็นชุมชนชาวเขมรนานาประเทศที่อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลก กำลังถูกทำให้เป็นอื่นโดยระบอบฮุนเซน ณ กัมพูชา เพียงแต่นโยบายวัฒนธรรมที่ตนกำหนด มีกลยุทธ์ความสำเร็จเชิงการเมืองและการตลาดเป็นหมุดหมาย

โดยไม่สนใจว่าฐานรากของประเทศจะอยู่ตรงไหน?

ตัวอย่าง แม้แต่ประเทศที่ราบสูง ไม่เคยปรากฏวัฒนธรรมการละเล่นสาดน้ำสงกรานต์ ก็กลายเป็นจังหวัดแรกๆ ของกัมพูชาที่การละเล่นสงกรานต์สนุกสนานจนนักท่องเที่ยวถึงกับต้องปักหมุดเดินทางไปที่นั่น ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นกับเชียงใหม่ทางตอนเหนือของไทย

แต่แล้ว ในที่สุด การต่อสู้กันระหว่างชาวเขมรที่ไม่เห็นด้วยกับจารีตใหม่เข้ามาแทนวัฒนธรรม “Chol-Chnum-Tmei” (โจล-ฌนำทไม) แต่ดั้งเดิม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวเขมรนอกอาณาจักรที่ยังยึดมั่นต่อขนบรากเหง้าบรรพชนในการไม่รับเอาคำว่า “สงกรานต์” มาแทนปีใหม่เขมรของตน

ชาวเขมรต่างแดนเหล่านี้แม้จะมีเพียงหลักแสนและเป็นเหมือนชนกลุ่มน้อยที่ไม่สลักสำคัญ แต่ก็เห็นถึงความเป็นอิสรชนแห่งตนเอง ในการทวนกระแสแสดงออก จนถึงขั้นต่อต้านต่อขนบธรรมเนียมอื่นซึ่งไม่ใช่ของตนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในแต่ละยุคการปกครองตนเองของกัมพูชาร่วม 70 ปีที่ผ่านมา

แต่ขณะนี้ ปวงประชาชาวเขมรนับสิบล้านในประเทศกำลังถูกมอมเมาอย่างไม่น่าเชื่อเลยว่า เพียงความสำเร็จใหม่ในวัฒนธรรมของประเทศอื่นจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือนโยบายการเมืองของกัมพูชาได้ อย่างไม่สนใจว่า ต้นแบบจารีตของกัมพูชาในอดีตจะถูกลดเลือนคุณค่าลงไปอย่างไร

เช่นปรากฏการณ์นี้ที่กำลังฝังตัวเป็นวัฒนธรรมใหม่ร่วมไปกับสังคมเขมร ไม่ต่างจากระบอบฮุนเซนเวลานี้ จาก 1 ระบอบ 1 ชั่วการปกครอง และ 1 ชั่วชีวิตคน

โดยฮุน เซน ผู้เป็นหนึ่ง

มันจึงเป็นรหัสนัยแห่งความย้อนแย้งมากมายที่ซ่อนอยู่ในรูปแบบการปกครองบ้านเมืองของระบอบฮุนเซนแห่ง 4 ทศวรรษที่อาจจะส่งผลต่อพลเมือง ไม่ต่างจากระบอบเขมรแดงที่ปกครองประเทศเพียง 3 ปี 8 เดือน 11 วันนั่นเสียอีก!

ทำไมถึงกล่าวเช่นนี้?

เพราะว่า เมื่อเถลิงอำนาจในปีที่ 30 ระบอบฮุนเซนได้เถลิงยุทธศาสตร์อันพิสดาร ด้วยการใช้ “อำนาจอ่อน-ซอฟต์เพาเวอร์” เข้าไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความสำเร็จและมอมเมาประชาชน อย่างเห็นได้ถึงความไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย และไม่ยี่หระต่อระบอบสังคมของตนที่ผ่านมา

ซึ่งเห็นได้ว่า หลักเหลี่ยมแห่งการเมืองของผู้นำกัมพูชาตั้งแต่ยุค ’90 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เพียงเพื่อรักษาอำนาจในระบอบของตนที่ว่า แม้ระบอบนี้จะสรรค์สร้างแนวทางมากมายหลายอย่างที่ผ่านมา ทว่า ภายในระยะ 10 ปีมานี้ นโยบายดังกล่าวนับวันมีแต่จะ “พิสดาร” และมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่นโยบายความมั่นคง ไปจนถึงวัฒนธรรมจนยากที่จะรั้งไว้ได้ในกลวิธีและผลลัพธ์

ในที่นี้ แม้จะไม่ใช่นโยบายที่ “ประหัตประหารประชาชน” เยี่ยงระบอบพลพต แต่ด้านหนึ่งก็ให้ผลลัพธ์ในเชิงการบ่อนทำลายจิตวิญญาณชาวเขมรเชิงโครงสร้างทางจารีตที่ฝังรากอยู่ในแต่ละเจเนอเรชั่นของชาวกัมพูชากำลังจะถูกสั่นคลอน

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งก็เริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านในการแย่งชิงอำนาจอ่อนบนก้อนเค้กซอฟต์เพาเวอร์ก้อนเดียวกัน!

แต่ในอีกด้านหนึ่ง บนความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมใหม่นี้ ก็เท่ากับว่าระบอบฮุนเซนได้เดินมาถูกทางแล้ว และกำลังจะไปต่อ?

บนความสำเร็จนั้น ซึ่งทั้งปัญหาฮาร์ดเพาเวอร์ด้านความมั่นคงบนฐานทัพเรือเรียมที่จะเกี่ยวกับอีกหลายประเทศในทะเลจีนใต้ และอื่นๆ ซึ่งทำให้เห็นว่า นโยบายที่เหมือนดาบสองคมของกัมพูชานี้

นอกจากจะบ่อนทำลายรากเหง้าสังคมกัมพูชาเองแล้ว ยังบ่อนแซะหรือกัดกินทำลายวัฒนธรรมประเทศอื่นไปนัยที อย่างที่ไม่เคยนึกรู้ว่า แนวคิดของระบอบฮุนเซนจะเต็มไปด้วยรหัสนัยดังว่า

นั่นคือ การรกรื้อโครงสร้างทำลายระบบวรรณะ-อารยธรรมเก่าเพื่อเหลือแต่อารยะใหม่ในโครงสร้างของระบอบฮุนเซนแล้วที่ประชาชนและชาติศิโรราบเท่านั้น

นั่นเท่ากับว่า ระบอบที่ว่านี้ ไม่ต่างจากเขมรแดงที่เคยออกแบบวิธีการอันสุดโต่งในการปกครองบ้านเมืองด้วยการบังคับให้ประชาชนของตนละทิ้งวรรณะเดิมไปสู่วรรณะใหม่ที่ตนต้องการจะยกย่องคือชนชั้นชาวนา กระทั่งก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ตามมา

หากนี่คือ ความแหลมคมนโยบายฮุน เซนที่มองการณ์ไกลไปสู่เป้าหมายเดียวกันกับระบอบที่ฆ่าล้างชีวิตจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ ไปสู่การทำลายล้างเชิงวัฒนธรรมที่เป็นเหมือนอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์เช่นกัน!

โอ ช่างเป็นหลักเหลี่ยมที่เหี้ยมเกรียมและโหดร้าย

ซึ่งผู้รับชะตากรรมแห่งการถูกตราหน้า เหยียดหยามในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ตามมา ก็คือ ชาวกัมพูชานั่นเอง

มองผ่านเข้าไปในวงกตแห่งการเมืองอันซับซ้อนของกัมพูชา นับแต่ระบอบ “7 มกราฯ” สมัยที่ฮานอยช่วยล้มระบอบเขมรแดง ตลอดจนก่อตั้งแนวคิดปกครองที่กลายมาเป็นระบอบฮุนเซน โดยเฉพาะอนุสรณ์สถาน ที่ชื่อ “7 มกราฯ” ทั่วแดนกัมพูชา

นับแต่นั้น นับแต่ผ่านพ้นยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กัมพูชาเหมือนถูกแปะป้ายความเดียงสาและยากไร้มาจนถึงปัจจุบัน แลในวงกตอันลึกเร้น เดียงสาในการปกครองตน กระทั่งค้นพบทฤษฎี “เปลี่ยนสนามรบเป็นสงครามการค้า” แล้วประเทศก็ฟื้นคืนแต่นั้น

จากความสำเร็จของระบอบทุนเสรีที่หลั่งไหลความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ทำให้กัมพูชาฟื้นตัวเร็ว

ขณะเดียวกัน ระบอบฮุนเซนก็ “วิโยกทุน” หรือทำการลงทุนในระบบผูกขาดจากนอมินี พร้อมๆ ไปกับพัฒนาการเมืองของตนไปด้วย

จนทำให้ตระกูลผู้ปกครองกัมพูชามั่งคั่งและมั่นคงมาจนทุกวันนี้ วันที่ระบบวิโยกทุนของระบอบกระแสโลกใหม่ไหลไปทางวัฒนธรรม ซึ่งนั่นกลับทำให้ผู้นำกัมพูชารุดหน้าผู้นำคนใดในภูมิภาค เนื่องจากปกครองประเทศยาวนาน ที่ทำให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การเมืองอันมีลักษณะพิสดารอย่างไร้รอยต่อและขอบเขตนโยบายในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน!

นี่คือความน่ามหัศจรรย์ยิ่งต่อการแปรรูป “วิโยกทุนการเมือง” ฉบับฮุนเซน!

และฉบับที่ภาษาเขมรแปลว่ากฎหมายนี่แหละ

นับแต่ 7 มกราคม 1979 จวบจนปัจจุบัน การวิโยกทุนนั้น ดังจะเห็นว่ามีตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ สามัญไปจนถึงระดับพิสดารที่ “บำพลาญ” ทำลายตามวิธีนานา ตั้งแต่ มนุษย์ ผู้คน ทรัพยากร น้ำนาป่าไม้

ไปจนถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ อย่าง วัฒนธรรม!