มหาวิทยาลัยรังสิต ในมืออธิการบดี ‘รุ่นใหม่’ ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ มุ่ง ‘วิชาการ’-ช่วยแก้ปัญหา ‘ชีวิต’

รายงานพิเศษ | ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

 

มหาวิทยาลัยรังสิต

ในมืออธิการบดี ‘รุ่นใหม่’

ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์

มุ่ง ‘วิชาการ’-ช่วยแก้ปัญหา ‘ชีวิต’

 

อีกไม่กี่วัน ‘ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์’ ลูกชายคนรองของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ นั่งเก้าอี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ครบ 1 ปี หลังจากที่ทำหน้าที่นี้มาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 นับตั้งแต่ ดร.อาทิตย์ขอลาออกจากตำแหน่งนี้ ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ได้มีโอกาสสนทนากับอธิการบดีหนุ่มผู้นี้ ในหลากหลายประเด็น

: ในภาพของ ดร.อาทิตย์ มักมีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองด้วย

ส่วนตัว ผมไม่ได้สนใจการเมือง ผมว่าเราสามารถพัฒนาประเทศได้ โดยไม่ต้องมาเป็นนักการเมือง ซึ่งการเป็นนักการเมืองก็ไม่รู้ว่าจะพัฒนาประเทศหรือเปล่า ท่านเองก็ไม่ได้คาดหวังให้เราทำเกี่ยวกับการเมือง จริงๆ ท่านห้ามด้วยซ้ำ การเมืองมันด่ากันรุนแรง ผมแฮปปี้แล้วกับอยู่ตรงนี้ ทำให้ดี ดูแลเด็กดูแลบุคลากร สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตอนนี้บุคลากรก็เยอะ 2,500 คน นักวิจัยและอาจารย์ นักกิจกรรมก็มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเยอะ เราเปิดโอกาสให้เยอะ นายกสมาคมยูยิตสูก็อยู่ที่นี่ ทำให้กีฬานี้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย และเพิ่งถูกรับเลือกเป็นประธานกีฬายูยิตสูระดับ Southeast Asia

: คุณพ่อเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับชาติ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถมาก ในฐานะที่เป็นลูกสร้างความกดดันหรือไม่

ไม่กดดัน ผมว่าแต่ละคนก็มีของดีของแต่ละคน ถ้าเราเชื่อว่าอย่างนั้นมันก็ไปได้ ไม่ต้องมากดดัน แต่กลับเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเรา

: ตอนนี้คุณพ่อมีบทบาทในมหาวิทยาลัยมากน้อยแค่ไหน

ท่านมีอะไรก็แนะนำ ทำอย่างนั้น เราต้องเชื่อใจกัน ไม่ว่ารุ่นเก่ารุ่นใหม่ เขารุ่นเก่าเขาก็มีดีของเขา เราก็มีดีของเรา คนรุ่นใหม่กว่าเรา เขาก็มีดีของเขา ถ้าเคารพกัน เราเชื่อใจกัน ไม่มีปัญหา ถ้ามีก็ไม่ยาก ทุกคนมีดีของเขา เราต้องเคารพ ตอนนี้เรารุ่นเด็ก แต่เดี๋ยวอีกสักพักเราก็คงแก่กว่านี้

: ในยุคนี้การบริหารจัดการแตกต่างจากยุค ดร.อาทิตย์ หรือมีความท้าทายอะไรบ้าง

ผมว่าสิ่งที่ท่านได้ปูพื้นฐานมายอดเยี่ยมมาก มหาวิทยาลัยรังสิตตั้งมา 35 ปีแล้ว และเดินไปในทางทิศทางที่ดี แต่เราจะเพิ่มความเป็น Student Centric หน่อย คือ อยู่ในใจเด็ก เพราะสิ่งที่ทำคือ เด็กมาเรียนกับเราก็อยากให้เขาได้ความรู้ ได้ความเก่ง ไม่ว่าเป็นความรู้วิชาการ จิตใจที่เข้มแข็ง ทักษะทางความดี และพ่อแม่เขาฝากชีวิตเด็กไว้กับเราแล้วต้องดูแลเด็กให้ดี ไม่ว่าดูแลทางด้านจิตใจ ดูแลทางด้านร่างกาย

ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยรังสิตมีระบบรักษาความปลอดภัย ตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น ดูแลว่าเด็กมีของหายไหม เป็นอันตรายไหม และยังใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตนักศึกษา เพราะเด็กสมัยนี้สุขภาพจิตเสียง่าย ด้วยสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นสื่อที่เป็นโซเชียลก็มีคนอวดกัน ด่ากันในสื่อ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้พวกเขาจิตใจเปราะบาง ต้องช่วยเด็กไม่ให้เครียด ไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า (Depression) ซึ่งการเป็นโรคนี้อาจจะทำร้ายตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้นักศึกษา อย่างเช่น สัญญาณไวไฟ รวมทั้งปัญหาฝุ่นที่เป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่งจะต้องระดมปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อดูดฝุ่นล้างสารพิษ และดูระบบแอร์ด้วย

โดยรวมแล้วเมื่อพ่อแม่เขาฝากให้เรียนที่นี่ 4-5 ปี มหาวิทยาลัยจึงต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะในส่วนของการศึกษาจะต้องพัฒนาให้ก้าวไกล ให้เด็กมีอนาคตที่ดี มีการศึกษาในสาขาอาชีพต่างๆ ที่ชอบและได้เงินเดือนสูง

ในแนวคิดของผม ปีนี้เป็นอธิการบดียังไม่ครบปีก็ได้บอกแนวทางให้แต่ละคนทำ แล้วจะดูในรายละเอียดต่อไป ผมคิดว่าการศึกษาในอนาคตไม่จำเป็นจะต้องรู้อย่างเดียว อาจจะต้องรู้หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น อยากจะเรียนอะไรที่มหาวิทยาลัยรังสิตก็มีหมด อยากจะเป็นเภสัชกร แต่อยากทำอาหารเราก็มี เพราะสมัยใหม่ต้องมีความรู้หลากหลาย เป็นต้น และเราก็มีข้อดีหลายอย่าง

: คณะไหนที่เด็กนิยมเรียนมากที่สุด

มหาวิทยาลัยรังสิตมีกว่า 30 คณะ เยอะที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยเอกชน คิดว่าแต่ละคณะแต่ละสาขาตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์ของเด็กด้วยว่าเด็กอยากเป็นอะไร ถ้าไปมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งจะเน้นแค่ 3-4 คณะ ที่นี่มี 30 คณะ ตั้งแต่แพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค จนกระทั่ง Art Digital สร้างหนัง เพื่อเป็นอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ๆ รวมทั้งสาขาดนตรีด้วย

บางคณะก็มีลักษณะเป็นแมส (Mass) ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนทั่วๆ ไป เช่น บริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ และก็มีคณะทันตแพทย์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ สร้างหมอทำตาอะไรแบบนี้ เราก็มีด้วย ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่ากฎหมายผ่านออกมาหรือยัง ที่ว่าจะต้องมีคนที่เป็นจักษุตามร้านแว่น ต้องจบทางทัศนมาตรศาสตร์ คือ เราจะสร้างโอกาสให้กับเด็กหลายๆ ด้าน ไม่ได้มองว่าต้อง ‘Make money’ อย่างเดียว ต้องสร้างหลายๆ อย่าง และหลายๆ อย่างที่ทำไปก็ไม่ได้กำรี้กำไรเท่าไร แต่เป็นการทำเพื่อสังคม เพื่อคนจะได้มีโอกาส

: หลายปีมานี้มหาวิทยาลัยเอกชนของไทยถูกนายทุนจีนซื้อกิจการ ในส่วนมหาวิทยาลัยรังสิตเจอปัญหาอะไรไหม

ยังไม่ขาย ยังเหมือนเดิม และเด็กของเราก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว 9,500 คน ปีก่อน 5,500 คน ปีนี้ได้ประสบการณ์เป็น Break record ของ 35 ปีมหาวิทยาลัยรังสิต โดยปี 2565 ที่ผ่านมาสมัครเรียน 9,000 กว่าคน ปี 2566 แนวโน้มคาดว่าจะเท่าเดิม บวกลบกับปีที่แล้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะอะไร คิดว่าคงทำให้โดนใจเด็ก ไม่ใช่การตลาด แต่เป็นสิ่งที่เด็กเขามาเรียนแล้วภูมิใจ มหาวิทยาลัยไม่ใช่เหมือนร้านอาหาร วันนี้มากิน หากไม่ชอบเราก็ไม่ต้องพูดถึง แต่มหาวิทยาลัยจะติดไปกับเด็กคนนั้นไปตลอดชีวิต เราต้องทำให้เขาภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นเด็กปัจจุบันหรือนิสิตเก่า เวลาเขามองกลับมา เขาต้องรู้สึกภูมิใจ เพราะเป็นพาร์ตหนึ่งของชีวิต

: นักศึกษาจีนเข้ามาเรียนที่นี่กี่คน

เยอะประมาณ 400-500 คน แต่ต้องดูสัดส่วนให้เหมาะสม เพราะถ้าเยอะไปอาจมีปัญหาเรื่องเด็กเขาอาจจะไม่เก่งภาษาอังกฤษ ต้องช่วยๆ ดูแลเขา มีสมัครเรียนเองก็มี แลกเปลี่ยนกันก็มีบางหลักสูตร เนื่องจากมีการโฆษณาในประเทศจีนและก็มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเอกชน จาก Webometrics Ranks ของประเทศออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นที่ 1 เอกชนมา 7-8 ปีแล้ว รวมทั้งในการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เราก็ได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับดีมาก นั่นหมายถึง คุณภาพของมหาวิทยาลัยเรา การเรียนการสอนที่โดดเด่น และมีคุณภาพ

เราอยากจะก้าวไปสู่อะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น การดูแลการศึกษา การดูแลเด็ก ตัวเลขก็สำคัญ การจัดอันดับอะไรก็สำคัญ แต่บางทีมีอะไรที่สำคัญกว่านั้นอีก เช่น เราดูแลเขาให้ดี ให้เขาเก่ง ผมเชื่อว่ามีอะไรที่มันดี ซึ่ง KPI ก็วัดไม่ได้ เหมือนเราไปกินร้านอาหารร้านนี้แล้วอร่อย เราชอบต้องไปกิน ถ้าเกิดมีการจัดอันดับ แต่ร้านนี้ไม่ได้ติด Top 10 Top 13 เราจะยังไปกินไหม ผมว่าต้องมีอะไรที่สำคัญมากกว่านั้น

มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นที่ 1 มา 7-8 ปีแล้ว อยากจะมีอะไรที่ดีที่ลึกซึ้งกว่านั้น

: เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ ในฐานะที่ทำงานในระดับอุดมศึกษา อยากให้ ส.ส. หรือรัฐบาลมาช่วยด้านไหนเป็นพิเศษไหม

ไม่ได้คิดเลย คิดไม่ออก ผมไม่รู้ว่าใครเขาจะช่วยอะไรได้ เราต้องช่วยตัวเราเอง มีอะไรเราบอกเขา ไม่ได้คิดว่าต้องพรรคนี้พรรคนั้น พรรคนี้จะให้ตรงนู้น พรรคนี้จะให้ตรงนี้อะไรอย่างนี้ เป็นเหมือน Sale Marketing มากกว่า เรื่องพัฒนาประเทศไม่ค่อยมี

: ปัญหาอะไรในระดับอุดมศึกษาที่ควรเร่งแก้ไข

ผมอยากให้เด็กเรียนกับเรา จบปุ๊บก็มีงานทำ อันนั้นคือสิ่งที่สำคัญ ให้มีอาชีพที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ ทำไมมหาวิทยาลัยรังสิตถึงมีหลักสูตรหรือคณะที่แปลกๆ เป็น Niche Market เด็กอาจไม่ได้เรียนเยอะ แต่เราก็มี นั่นคือสิ่งที่สำคัญ อย่างคณะรังสีเทคนิค เพราะเป็นโอกาสที่เด็กสามารถเรียนแล้วไปทำเป็นอาชีพได้เลย แต่ปรากฏว่ามีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย บางคณะวิชาก็มีกฎเกณฑ์จากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) มีกฎเกณฑ์อีกจากสภาวิชาชีพ บ้านเรามีกฎเกณฑ์เยอะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นในระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในระดับประถม มัธยม ผมว่ากฎเกณฑ์มันเยอะ ถ้ากฎเกณฑ์น้อยๆ ไม่ใช่ว่าเราตัดคุณภาพ แต่ถ้ากฎเกณฑ์น้อย คนจะได้มาทำงานกันเยอะ มาทำงานอยู่กับเด็ก ช่วยเด็ก

ยกตัวอย่างประถม มัธยม ถ้ามี Paper QA เยอะ อาจจะเกี่ยวกับพวกที่เขาจบวิชาการจากต่างประเทศที่ต้องเขียน Paper เขียน QA เยอะๆ ผมว่ามันทำให้ครูไม่ได้ไปสอนเด็ก กฎเกณฑ์เยอะไป ไม่ใช่ว่าไม่ควรมี แต่หมายถึงว่าอะไรที่เยอะไป มันทำให้ไม่สามารถทำได้ดี

: ในปีการศึกษา 2566 นี้ มีโครงการอะไรใหม่ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน

ผมขอยืนยันว่ามหาวิทยาลัยรังสิตจะทำให้ดีที่สุดเพื่อน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเรียนการศึกษา โดยเฉพาะหลักสูตรที่สอดคล้องกับงาน กับอาชีพ กับสังคม การดูแล ประสบการณ์ในวัยเรียน ในวัยมหาวิทยาลัย

เพื่อให้เขาอยู่ในที่ที่มีบรรยากาศปลอดภัย โดยเริ่มมีโครงการ 2-3 โครงการ เช่น Co-Working space ที่เปิดตลอดทั้งคืน และสามารถอยู่ได้โดยปลอดภัย เน้นเรื่องความปลอดทั้งร่างกายทั้งจิตใจ มีศูนย์จิตวิทยา เพราะเด็กบางคนเรียนแล้วเครียด อยากจะเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา เราก็แก้ปัญหาไปให้ บางคนเขียนจดหมายมาหาอธิการบดี มีการคุยกันทำความเข้าใจกัน เด็กสมัยนี้ค่อนข้างเปราะบาง ด้วยโลกโซเชียลที่มากยิ่งขึ้น อย่างที่เห็นกันอยู่ในโซเชียล มีการเขียนด่ากัน เขียนอวดกันว่าฉันมี ฉันได้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ คนไม่มี มีปมก็จะเจ็บปวดกับประเด็นเหล่านี้

ส่วนตัวผมช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยแก้ปัญหาซึมเศร้าเด็ก 2 คน ได้เคลียร์ไปแล้ว พอดีเขาเขียนจดหมายมาหาโดยตรง บางทีพ่อแม่ก็มา ผมคิดว่าต้องมองการศึกษาแบบเปิด วิชาการก็มีส่วน วิชาในการแก้ปัญหาชีวิตก็สำคัญ บางคนเจออะไรนิดอะไรหน่อยก็ฆ่าตัวตายแล้ว แฟนทิ้งก็ฆ่าตัวตาย พ่อแม่ก็เสียใจ บางทีพ่อแม่ก็มีปัญหา โรคความเครียดมากมาย จึงต้องเสริมสร้างให้เด็กเก่งและเข้มแข็ง จบออกไปแล้วมีงานทำ

ผมคิดว่าคนทำการเมืองต้องเข้าใจว่าจะสร้างอุตสาหกรรมแบบไหน อย่างไร และอุตสาหกรรมนี้จะรองรับอาชีพเหล่านั้นหรือเปล่า ไม่ใช่ให้เขาเรียนเก่งเพื่อไปประกวดกัน เก่งคณิตศาสตร์แต่เขาไม่มีงานอาชีพ คือ ต้องวางแผนทั้งระบบ อุตสาหกรรมมีอะไรที่รองรับไหม เรื่องนี้สำคัญมาก