จิตต์สุภา ฉิน : โลกอนาคตมองไปแล้วเห็นอะไรบ้าง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

แม้ว่าเทคโนโลยีอุปกรณ์โมบายล์อย่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตจะช่วยเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของเราไปภายในระยะเวลาอันรวดเร็วจนแทบจะจำไม่ได้ และตอนนี้เราก็เริ่มจะนึกไม่ออกเสียแล้วว่าหากขาดสิ่งเหล่านี้ไปชีวิตของเราจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร แต่สำหรับคนที่ติดตามเทคโนโลยีบ่อยๆ ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ก็คงจะเกิดอาการเบื่อๆ และรู้สึกอิ่มตัวกับข่าวคราวการเปิดตัวโทรศัพท์สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่แตกต่างจากของเดิมสักเท่าไหร่

วันนี้ซู่ชิงก็เลยจะมาชวนทอดสายตาไกลๆ มองออกไปในอนาคตข้างหน้าแล้วดูว่ามีเทคโนโลยีอื่นๆ อะไรอีกบ้างที่มีความสำคัญและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างยิ่งใหญ่

เทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะพูดถึงวันนี้อ้างอิงมาจากประธานบริหารบริษัทอัลฟาเบ็ต (บริษัทแม่ของกูเกิล) อย่างคุณเอริก ชมิดต์ ที่มักจะออกมาคาดการณ์อยู่บ่อยๆ ว่าเทคโนโลยีจะมาเปลี่ยนโลกได้อย่างไรบ้าง ชมิดต์เดินทางไปทั่วโลกในฐานะแอมบาสซาเดอร์ของบริษัทเพื่อไปพบปะพูดคุยกับคนสำคัญๆ ระดับโลก และบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่บ่อยครั้ง เนื้อหาในครั้งนี้ก็มาจากที่เขาไปบรรยายให้นักลงทุนและผู้บริหารในลอส แองเจลีสฟังเมื่อไม่นานมานี้เองค่ะ

เอริก ชมิดต์ ทำนายว่ามีเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตทั้งหมด 6 เทรนด์ที่จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมของเราได้ ซึ่งหกเทรนด์ที่ว่านี้เขาเรียกมันว่าเป็นเทคโนโลยีประเภท “มูนช็อต” แปลตรงๆ ว่าส่งจรวดไปดวงจันทร์ แต่หากใช้คำนี้ในวงการเทคโนโลยีจะหมายถึงโปรเจ็กต์ใหม่เอี่ยมที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและยังสื่อถึงการที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงง่ายๆ หรือไม่สามารถสร้างกำไรได้ภายในเร็วๆ นี้ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 เทรนด์ตามนี้ค่ะ

1. ใช้พืชแทนเนื้อสัตว์ เอริก ชมิดต์มองว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะช่วยให้เราสามารถทำให้พืชทดแทนเนื้อสัตว์ในฐานะอาหารหลักของมนุษย์ได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารนั้นก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณมาก อีกทั้งยังใช้ทรัพยากรและพลังงานมหาศาล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาโปรตีนจากพืชมาทดแทนเนื้อสัตว์ให้ได้ ชมิดต์บอกว่าโลกเราพร้อมแล้วที่จะพัฒนาอาหารสังเคราะห์จากพืชโดยใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย นักวิทยาศาสตร์จะรู้ได้ว่าพืชชนิดไหนนำมาผสมกันแล้วจะได้รสชาติและคุณค่าทางโภชนาการที่มนุษย์ต้องการและสามารถที่จะบริโภคแทนเนื้อสัตว์ได้

2. อาคารก่อสร้างจากการปรินท์ 3 มิติ ชมิดต์บอกว่าการสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ นั้นกินเวลา พลังงาน และใช้เงินจำนวนมาก แต่หากใช้เทคโนโลยีการปรินท์ 3 มิติเข้ามาช่วยก็จะทำให้เราสามารถสร้างบ้านหรืออาคารสำนักงานได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ใช้เวลาน้อยลง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รูปแบบของการปรินท์อาคารบ้านเรือนด้วยเครื่องปรินท์ 3 มิติสามารถออกแบบปรับแต่งได้ตามชอบแล้วค่อยมาประกอบตรงหน้างานซึ่งก็ดีกว่าการต้องสร้างใหม่ทีละชิ้นๆ

3. โลกเสมือนจริง อันนี้เป็นเทรนด์ที่เราเห็นกันอย่างหนาตามากในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งหันมาแข่งขันกันในการสร้างอุปกรณ์แสดงภาพเวอร์ชวล เรียลลิตี้ หรือภาพเสมือนจริง และวงการคอนเทนต์ก็พยายามเพิ่มเนื้อหาสาระในรูปแบบวีอาร์ให้ใช้กับอุปกรณ์เหล่านั้นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วทุกคนจะเน้นไปที่การใช้ประโยชน์เวอร์ชวลเรียลลิตี้ในรูปแบบวิดีโอเกมและความบันเทิงเพราะจะทำให้ได้อรรถรสราวกับนำตัวเองเข้าไปอยู่ในฉากนั้นๆ แต่เอริก ชมิดต์ มองว่าประโยชน์อันแท้จริงของวีอาร์จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากสองวงการนี้ ซึ่งก็คือการใช้โลกเสมือนจริงมาช่วยในการทำให้เราได้รับข้อมูลรอบด้านขึ้นโดยนำไปผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างเช่น ในรถยนต์ ในที่ทำงาน หรือในสถานศึกษา เป็นต้น

4. ข้อมูลทางการแพทย์ในมือถือ โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือชิ้นเยี่ยมที่สามารถใช้ในการช่วยเก็บข้อมูลและเฝ้าระวังสุขภาพของผู้ใช้ ชมิดต์บอกว่าเราจับโทรศัพท์ของเราประมาณสัปดาห์ละตั้ง 1,500 ครั้ง ทำให้นี่เป็นดีไวซ์ที่ใกล้ชิดและถึงเนื้อถึงตัวเรามากที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งเขาบอกว่าความสามารถในการคิดคำนวณ การเชื่อมต่อระบบเน็ตเวิร์ก และการที่โทรศัพท์มีกล้องและเซ็นเซอร์ต่างๆ ทั้งหมดนั้นจะทำให้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือทรงพลังที่เชื่อมโยงหมอกับผู้ป่วยเข้าหาข้อมูลด้านสุขภาพที่สำคัญได้

5. รถยนต์ขับตัวเอง หรือ รถยนต์ไร้คนขับ เทรนด์นี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะถูกรวมเข้ามาด้วยเพราะนี่เป็นเทคโนโลยีที่มีกูเกิลเป็นผู้นำร่อง ชมิดต์บอกว่ารถยนต์ไร้คนขับไม่เพียงแต่จะเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้โลกใบนี้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเขาให้สถิติตัวเลขว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวจะมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในปีนี้มากถึง 32,800 คน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องโฟกัสไปที่การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับอย่างจริงจัง (เล่าเพิ่มเติมนิดนึงนะคะ สาเหตุที่กูเกิลเริ่มพัฒนารถยนต์ไร้คนขับก็เนื่องจากสถิติที่บอกว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบทั้งหมดเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการประมาท เลินเล่อ การตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือความไม่พร้อมของสภาพร่างกาย ดังนั้นหากใช้คอมพิวเตอร์ที่ไร้ซึ่งข้อบกพร่องแบบที่มนุษย์มีก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนได้มากขึ้น)

และ 6. ใช้เทคโนโลยีซ่อมแซมระบบการศึกษา เอริก ชมิดต์ พูดถึงการที่นักเรียนแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเทคโนโลยีจะช่วยให้ทุกคนสามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงที่สุด ซึ่งก็จะเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง ข้อนี้ซู่ชิงคิดถึงการที่กูเกิลแจกกูเกิล คาร์ดบอร์ด อุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริงต้นทุนต่ำที่ทำจากกระดาษลังให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ซึ่งเมื่อใช้ควบคู่กับสมาร์ตโฟนแล้วก็จะทำให้ครูสามารถพานักเรียนทั้งห้องท่องไปยังโลกเสมือนจริง ราวกับได้ไปยืนเหยียบพื้นผิวดาวอังคาร หรือดำดิ่งลงไปใต้มหาสมุทรจริงๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่จำกัดอยู่แค่เทคโนโลยีเสมือนจริงเท่านั้นหรอกค่ะ ยังมีอีกหลายอย่างที่รอให้ถูกหยิบมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
นี่คือ 6 ข้อที่เอริก ชมิดต์ ได้พูดเอาไว้ค่ะ แน่นอนว่านอกจาก 6 ข้อนี้ก็น่าจะยังมีอีกหลายอย่างที่เขาไม่ได้รวมเข้ามาในลิสต์ด้วย ซู่ชิงคิดว่าถึงแม้บางข้อจะดูเหมือนยังอีกห่างไกลนักกว่าที่เราจะสามารถทำได้จริงหรือทำได้อย่างแพร่หลายเหมาะสมกับการใช้คำว่ามูนช็อตมาเรียก แต่ก็มีหลายข้อที่ตอนนี้เริ่มต้นขึ้นแล้วและกำลังใกล้ความจริงขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นจึงน่าตื่นเต้นเสมอที่เราจะคอยดูการเติบโตของเทคโนโลยี ช่วยกันคัดเลือกว่ามีอะไรบ้างที่เราอยากจะรับเข้ามาในชีวิตและออกแบบมันไปพร้อมๆ กันค่ะ