มุกดา สุวรรณชาติ ยุบพรรค…ตัดสิทธิ์การเมืองคู่แข่ง เลือกตั้ง…ไทย-กัมพูชา… ใครจะจบสวยกว่ากัน

มุกดา สุวรรณชาติ

ในขณะที่ Road Map สู่การเลือกตั้งของไทยกำหนดไว้ในปลายปี 2561 แต่ของประเทศกัมพูชากำหนดไว้อย่างแน่ชัดว่าเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม 2561

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์อำนาจที่คล้ายกัน ผู้มีอำนาจสามารถชี้ถูกชี้ผิด มีกำลังทหารหนุนหลัง การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร?

ถนนที่ทอดยาวไปสู่การเลือกตั้งของทั้งสองประเทศ ทั้งคดเคี้ยวและขรุขระ สิ่งที่ทับถมบนเส้นทางจนกลายเป็นถนน ทอดยาวไปสู่การเลือกตั้งไม่ใช่หินทราย คอนกรีตหรือยางมะตอย แต่เป็นชีวิตผู้คน หยาดเหงื่อแรงงาน หยดเลือด เสรีภาพ สิทธิส่วนบุคคล ความมั่นคงของชาติ แรงปรารถนาทางการเมือง ความต้องการคุมอำนาจ เหตุการณ์การเมืองทั้งสองประเทศจนถึงช่วงปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกันบางประการ แต่การเลือกตั้งในกัมพูชาดูท่าจะมีความแน่นอนกว่าเพราะมีหมุดปักที่เส้นปลายทางแล้ว

แต่ของไทยยังไม่ได้กำหนดจุดหมายปลายทาง นักกีฬายังถูกห้ามไม่ให้ทำการฝึกซ้อม กติกาการแข่งยังไม่เสร็จ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสองประเทศที่ผ่านมาดูเหมือนมีการชิงความได้เปรียบ มีการใช้อำนาจเพื่อความได้เปรียบก่อนการแข่งขันที่จะมาถึง

เห็นลีลาชิงอำนาจแบบไทยมาเยอะแล้ว ลองดูของกัมพูชาบ้าง ว่าเล่นกันแบบไหน

 

ระบบรัฐสภากัมพูชา ต้องเลือกตั้งทั้ง ส.ส. และ ส.ว.
อยากเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องชนะเลือกตั้ง

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาแห่งชาติ (L”Assembl?e nationale) และวุฒิสภา (Le S?nat) สภาแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรกัมพูชามีสมาชิกจํานวนทั้งสิ้น 122 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับ จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศ

ส่วนวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมและลับจากคณะกรรมการ ชุมชนและแขวง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการกระจายอํานาจและหลักการแบ่งอํานาจ ซึ่งเป็นการคานอํานาจกันระหว่างสภาแห่งชาติและวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนทั้งสิ้น 61 คน ซึ่งมีจํานวนเท่ากับครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาแห่งชาติกัมพูชาชุดปัจจุบัน ที่มีจํานวนทั้งสิ้น 123 คน

วุฒิสภาจึงมีสมาชิก 61 คน โดย ส.ว. 2 คนจะได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ อีก 2 คนจะได้รับการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก ส.ว.ที่เหลือ 57 คนจะได้รับการเลือกตั้งทางอ้อม มีวาระในการดํารงตําแหน่ง 6 ปี

 

คนรักเยอะ เริ่มเป็นที่นิยม…
ให้อยู่ไม่ได้

ปี2551 ผลการเลือกตั้ง พรรคประชาชนกัมพูชา ของ ฮุน เซน ได้ 3.5 ล้านคะแนน 58% พรรคสม รังสี ได้ 1.3 ล้านคะแนน ได้ 22% ฮุน เซน เป็นนายกฯ

ปี 2555 พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของพรรคสม รังสี (Sam Rainsy Party) และพรรคสิทธิมนุษยชน (Human Rights Party) พอถึงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2556 CNRP ได้ ส.ส. 55 จาก 123 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของ นายฮุน เซน ได้ 68 ที่นั่ง แต่ถ้าดูคะแนนรวมทั้งประเทศ ไล่ตามกัน…ติดๆ 44.4 % กับ 48.8%

ปี 2558 นายสม รังสี ถูกบีบให้ต้องลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ เพราะถูกศาลกัมพูชาตัดสินให้มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ฮุน เซน และตามมาอีกหลายคดี ในปี 2559 และ 2560

21 กุมภาพันธ์ 2560 สภาผู้แทนราษฎรกัมพูชา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายที่ห้ามผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจะมีผลให้ นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งของกัมพูชาที่จะมีขึ้นในปี 2561ได้

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วนี้ ยังมีบทบัญญัติให้ยุบพรรคการเมืองที่หัวหน้าพรรคต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลอีกด้วย ทำให้เขาต้องชิงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

เพื่อปกป้องพรรคของเขาที่เป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว (คิดได้ยังไง ว่าจะรอด)

 

เปลี่ยนหัวหน้าพรรค
ประชาชนก็ยังเลือกฝ่ายค้าน

มีการเลือกตั้งสภาตำบลทั่วประเทศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 7 ล้านคน ปรากฏว่าพรรคประชาชนกัมพูชาของนายกฯ ฮุน เซน ชนะได้ทั้งสิ้น 1,156 ตำบล จากทั้งหมด 1,646 ตำบลทั่วประเทศ ขณะที่พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ชนะ 289 ตำบล เพิ่มขึ้นจากที่เคยชนะ 40 ตำบลเมื่อ 5 ปีก่อน

แต่ดูผลคะแนนรวมทั้งประเทศชี้ว่า CNRP ยังได้คะแนนในระดับเดิมใกล้เคียงกับพรรครัฐบาล โดยได้ 44% ส่วนซีพีพีได้ 51% (แสดงว่าแต่ละตำบลแพ้ไม่มาก)

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะเป็นดัชนีชี้วัดคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล ก่อนหน้าที่กัมพูชาจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561 ซึ่ง ฮุน เซน มักขู่ว่าจะเกิด “สงครามกลางเมือง” หากรัฐบาลของเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

เกิม โซคา หัวหน้าพรรคซึ่งขึ้นรับตำแหน่งแทนที่ สม รังสี ตั้งแต่เดือนมีนาคม กล่าวว่า ซีเอ็นอาร์พีจะชนะการเลือกตั้งในปีหน้า และจะไม่มีสงครามเกิดขึ้น

 

มีตุลาการภิวัฒน์
จับฝ่ายค้าน ยุบพรรค
ตัดสิทธิ์การเมือง 118 คน 5 ปี

3กันยายน 2560 เพียง 3 เดือนหลังเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สงคราม แต่เป็นการใช้อำนาจ นายเกิม โซคา หัวหน้าพรรค CNRP ถูกบุกจับกุมที่บ้านพัก จากข้อหากบฏ สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐกระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล ซึ่งหากพบว่ามีความผิดจริง เขาอาจถูกจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำแถบชายแดน

ส.ส. หลายสิบคนของ CNRP รวมถึง นางมู ซกฮัว รองหัวหน้าพรรค ต่างลี้ภัยออกนอกประเทศ เพราะเกรงการกวาดล้างจับกุม

นายดิท มุนตี ประธานศาลฎีกาของกัมพูชา ผู้เป็นสมาชิกอาวุโสของพรรค CPP และใกล้ชิดกับนายกฯ ฮุน เซน กล่าวระหว่างการตัดสินว่า การที่ CNRP ไม่ส่งทนายความเข้ามาทำหน้าที่ในระหว่างการไต่สวน ถือว่าได้รับสารภาพต่อข้อกล่าวหาวางแผนก่อการปฏิวัติแล้ว

16 พฤศจิกายน 2560 ศาลกัมพูชาตัดสินยุบพรรค CNRP และตัดสิทธิ์ทางการเมืองสมาชิกพรรค 118 คนเป็นเวลา 5 ปี จากความผิดฐานสนับสนุน นายเกิม โซคา หัวหน้าพรรค ล้มล้างอำนาจรัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน และระบุด้วยว่าเป็นความพยายามก่อการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (การลาออกจาก CNRP ของ สม รังสี ไม่มีประโยชน์)

แม้พรรคฝ่ายค้านไม่ยอมรับคำพิพากษาดังกล่าว แต่ ฮุน เซน แถลงยืนยันจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดเดิม ซึ่งอาจส่งผลใหัพรรค CPP ลงแข่งขันโดยไร้คู่แข่งที่สูสีในการเลือกตั้งปี 2561

ตอนนี้ ฮุน เซน กำลังตกปลา ส.ส. ในอ่างของ CNRP อยู่ทุกวัน

 

ชะตากรรมสื่อสารมวลชน

ถ้าไม่มีฝ่ายค้านก็ต้องหวังสื่อมวลชนค้าน

10 กรกฎาคม 2559 นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชา ผู้ที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตกลางปั๊มน้ำมันในกรุงพนมเปญ

เคม เลย เป็นนักวิเคราะห์-วิจารณ์การเมืองชื่อดังของกัมพูชา เขาก่อตั้งกลุ่ม Khmer advocacy group ในปี 2557 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่นให้เกิดขึ้นทั่วประเทศกัมพูชา

นอกจากนี้ เคม เลย ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองประชาธิปไตยรากหญ้า (The Grassroots Democracy Party) เมื่อปี 2558 แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเล่นการเมืองเต็มตัว เคม เลย เป็นนักวิเคราะห์การเมืองทางสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้ง

4 กันยายน 2560 เดอะ แคมโบเดีย เดลี หนึ่งในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอิสระที่ยังหลงเหลืออยู่ในกัมพูชา ซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ปิดตัวแล้ววันนี้ ระบุ โดนรัฐบาลเล่นงานด้วยภาษีสูงลิ่วเป็นเงิน 210 ล้านบาท เดอะ แคมโบเดีย เดลี ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1993 ประกาศปิดตัวลงหลังทำงานมา 24 ปี

นอกจาก เดอะ แคมโบเดีย เดลี แล้ว สื่ออิสระอีกหลายแห่ง เช่น Radio Free Asia และ Voice of America ก็มีรายงานว่าถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทางภาษีเช่นกัน

สื่อเหล่านี้โจมตีรัฐบาลบ่อยครั้ง

 

ท่าทีจากต่างประเทศ

แถลงการณ์ของทำเนียบขาวเตือนด้วยว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกัมพูชาตอนนี้สุ่มเสี่ยงทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมปีหน้า เป็นการเลือกตั้งที่ปราศจากความชอบธรรมและเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่โปร่งใส พร้อมทั้งเตือนว่าสหรัฐอาจใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อกัมพูชา อเมริกาอาจจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ด้านสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์เตือนกัมพูชาว่า การเลือกตั้งที่มีพรรครัฐบาลส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียว ไม่ถือเป็นการเลือกตั้งที่ชอบธรรม

ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐและอียูมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังศาลฎีกาในกรุงพนมเปญมีคำพิพากษายุบพรรค

17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐประกาศยกเลิกให้เงินสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งของกัมพูชาปีหน้า

นายกฯ ฮุน เซน สวนทันทีว่า การตัดความช่วยเหลือของสหรัฐจะไม่ทำให้รัฐบาลนี้ตาย แต่จะทำให้กลุ่มคนที่รับใช้นโยบายของพวกอเมริกาตาย… (อเมริกาไม่ช่วย จีนช่วย)

เส้นทางการเป็นนายกฯ ของผู้คุมอำนาจ
โดยมีระบบเลือกตั้งรองรับ…หลังปี 2561

กัมพูชามีโอกาสมากกว่าและง่ายกว่าไทย

1. อำนาจการตัดสินใจในปัจจุบัน กัมพูชาเป็นผู้คุมอำนาจเดี่ยวที่ไม่มีองค์กรหรือสถาบันใดมาควบคุมยับยั้ง ส่วนในไทยผู้คุมอำนาจแม้มีมาตรา 44 เป็นตัวช่วย แต่มีความจำกัดในการตัดสินใจ บางเรื่องจะต้องขอความเห็น

2. การสนับสนุนจากฝ่ายทหาร ผู้คุมอำนาจกัมพูชา ครองอำนาจมายาวนานกว่า มีรากฐานในเชิงอุปถัมภ์และมีความเด็ดขาดในการสั่งการมากกว่า ส่วนในไทยผู้คุมอำนาจสามารถสั่งการผ่านระบบการปกครองได้ แต่การแต่งตั้งบุคคลที่เปลี่ยนไปแต่ละปี ทำให้ความเหนียวแน่นของอำนาจเกิดการคลายตัวลงและอาจลอยจากฐานอำนาจที่แท้จริง

3. แรงกดดันจากเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนมีพอๆ กัน

4. แรงกดดันจากต่างประเทศมีพอๆ กัน

5. ความแตกแยกของมวลชนภายใน ประเทศไทยมีมากกว่ากัมพูชา

6. การเลือกตั้งท้องถิ่นในกัมพูชาผ่านไปแล้ว ทำให้ฝ่ายรัฐบาลมองเห็นจุดอ่อนในเขตต่างๆ และเตรียมปรับปรุงแก้ไข แต่สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทยมิได้แบ่งเป็นฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลแบบกัมพูชา มีสมาชิกพรรคเดียวกันแข่งกันเองในหลายเขตเลือกตั้ง

แต่การมีการเลือกตั้งท้องถิ่นมีข้อดีคือเป็นการกระตุ้นการตื่นตัวของประชาชนต่อการเลือกตั้ง

ส่วนข้อเสียก็คือผู้ที่ได้รับเลือกให้บริหารท้องถิ่น อาจต้องถูกบังคับให้สนับสนุนหรือคัดค้านผู้สมัครบางกลุ่มบางพรรค เพราะในอนาคตจะมีผลต่องบประมาณ และการทำงาน แต่ถ้าดูจากกระบวนการปฏิรูปท้องถิ่น ซึ่งต้องแก้กฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นคงต้องหลังเลือกตั้งใหญ่ ยกเว้นเขตพิเศษอย่างกรุงเทพฯ ทำได้เลยถ้ากล้าทำ

7. กัมพูชาเบิกเส้นทางให้ราบเรียบโดยการกำจัดคู่แข่งที่เป็นตัวบุคคลสำเร็จ ถ้าไม่ลี้ภัยก็ติดคุก สถานการณ์ล่าสุด จะทำให้การฟื้นตัวของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาไม่ง่าย แม้มีมวลชนสนับสนุน เพราะการต่อสู้ในการเลือกตั้งทั่วประเทศ จะเปลี่ยนจากแพ้มาเป็นชนะคงไม่ง่ายถ้าแกนนำฝ่ายค้านถูกตัดสิทธิ์เป็นจำนวนมาก

แต่สถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้ แม้บุคคลที่เข้ามาแข่งขันหรือขวางทาง ตัวเด่นตัวดัง ถูกกำจัดติดต่อมานานหลายปี แต่คู่แข่งก็ไม่ชนะเลือกตั้ง จำเป็นต้องใช้กฎเกณฑ์มาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นตัวช่วยเพื่อให้เส้นทางราบเรียบ ยิ่งใครที่ไม่มีฐานการเมืองคงต้องหาเครื่องทุ่นแรงสารพัดโครงการ…โดยหวังว่าจะไม่เสียของ

ปี 2561 นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชา ยังคงเป็นคนเดิม (ฮุน เซน บอกว่าจะเป็นนายกฯ อีก 10 ปี) แต่ในปี 2562 เฉพาะเวทีไทยต้องประเมินกันใหม่