อุษาวิถี (26) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (26)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

อย่างไรก็ตาม ในปี ก.ค.ศ.488 นั้นเอง ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐอู๋กับรัฐหลู่ แต่ด้วยความสามารถของศิษย์ขงจื่อสองคนที่เข้าไปช่วยเหลือรัฐหลู่ ก็ได้ทำให้รัฐนี้ปลอดภัยจากการคุกคามของรัฐอู๋ไปได้

โดยคนหนึ่งช่วยในทางการทูต และอีกคนหนึ่งช่วยในทางการทหาร

เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐหลู่เล็งเห็นความสำคัญของศิษย์ของขงจื่อยิ่งขึ้น รัฐหลู่จึงเชิญศิษย์ของขงจื่อมาเป็นขุนนางให้กับตนเพิ่มอีก

ต่อมา เมื่อรัฐอู๋กับรัฐหลู่ได้ร่วมมือกันไปบุกรัฐฉี จนทัพของรัฐฉีต้องยกทัพมาตอบโต้จนประชิดรัฐหลู่ ช่วงนี้เองที่ศิษย์คนที่สามของขงจื่อสามารถนำทัพของรัฐหลู่ต้านการบุกของรัฐฉีได้

จากความสามารถของศิษย์ของขงจื่อนี้เอง ที่ได้โน้มนำให้ผู้นำรัฐหลู่ส่งเครื่องบรรณาการให้แก่ขงจื่อเพื่อเชิญขงจื่อให้กลับสู่รัฐหลู่อย่างสมเกียรติในปี ก.ค.ศ.484 ขณะนั้นขงจื่อมีอายุ 68 ปีแล้ว การออกจากรัฐเว่ยกลับสู่รัฐหลู่ครั้งนี้ของขงจื่อถือเป็นระยะสุดท้ายของการเดินทางไกล

และถือเป็นการยุติบทบาททางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานกว่าสิบปีของขงจื่อ

 

จากทั้งแปดระยะที่กล่าวมานี้ อาจสรุปบทบาททางการเมืองของขงจื่อได้เป็นสองช่วงใหญ่ๆ คือ

ช่วงแรก เป็นช่วงที่อยู่ในระยะที่หนึ่งอันเป็นช่วงสั้นๆ เพียงสองปี นั่นคือ เป็นช่วงที่ขงจื่อมีอายุ 35-37 ปี หลังจากนั้นจึงได้ยุติบทบาทของตนไปอีกนานนับสิบปี

ช่วงที่สอง จัดอยู่ในระยะที่สองถึงระยะที่แปด ช่วงนี้ขงจื่อเริ่มบทบาทของตนระหว่างอายุ 51-55 ไปจนถึงอายุ 68 ปี รวมแล้วยาวนานกว่าสิบปี ก่อนที่จะยุติบทบาทของตนลงอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น หากรวมเวลาที่ขงจื่อมีบทบาททางการเมือง “โดยตรง” แล้วจะไม่เกิน 20 ปีจากชั่วอายุขัยของเขาทั้งสิ้น 73 ปี

โดยเวลาส่วนใหญ่ของขงจื่อได้อุทิศให้กับการค้นคว้าหาความรู้หรือ “สัจธรรม” เสียมากกว่า

 

บทบาททางการเมืองดังกล่าวพออนุมานได้ว่า ขงจื่อมีตำแหน่งทางการเมืองที่เทียบเท่าระดับรัฐมนตรี หน้าที่หลักที่สำคัญจะสะท้อนผ่านงานด้านการยุติธรรมและการต่างประเทศ

ในด้านหลังนี้หมายความว่าเวลาที่ขงจื่อมีบทบาททางด้านนี้ในรัฐใดก็ตาม รัฐอื่นที่ขงจื่อต้องไปสัมพันธ์ด้วยก็จะเป็น “ต่างประเทศ” ของรัฐที่ขงจื่อสังกัดนั้นเอง

เหตุฉะนั้น หากพิจารณาจากพื้นฐานดังกล่าวก็จะพบว่า หลักคิด แผนการ ตลอดจนนโยบายต่างๆ รวมทั้งเรื่องการศึกที่ขงจื่อได้แสดงต่อรัฐอื่นๆ จึงเป็น “การต่างประเทศ” ไปด้วยเช่นกัน

ถึงตรงนี้จึงมีประเด็นที่พึงกล่าวด้วยว่า คำว่า “ต่างประเทศ” (ว่ายกว๋อ) ในเวลานั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ รัฐต่างๆ ที่อยู่ในจีน มีภาษาและวัฒนธรรมจีนร่วมกัน แต่อาจจะมีชนชาติที่มิใช่จีนอยู่ในรัฐนั้นหรือไม่ก็ได้

หรือบางทีก็อาจจะมีบางรัฐที่มีชนชาติที่มิใช่จีนเป็นเจ้าของรัฐ หรือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐก็ได้ กรณีเช่นนี้ถือเป็นกรณีส่วนน้อย

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากระยะที่แปดแล้ว ขงจื่อได้หันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ดังเดิม เป็นบทบาทที่เป็นนักวิชาการ นักวิจัย หรือครูบาอาจารย์ในปัจจุบัน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ขงจื่อจะตัดตนเองจากปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงไปด้วยไม่

เพราะมีบางเวลาที่เขาได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้นำของรัฐหลู่

บางเวลาก็ให้คำปรึกษาแก่ศิษย์ของเขาที่ไปมีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐต่างๆ

กล่าวเฉพาะงานทางด้านวิชาการแล้ว ผลงานที่เป็นมรดกอันมีค่าแก่สังคมจีนนอกจากหลักคิดทางการเมือง จริยธรรม และคุณธรรมแล้ว

ขงจื่อยังได้ผู้รวบรวมบทกวีต่างๆ ของจีนในยุคก่อนหน้าและระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่ขึ้นมาอย่างเป็นระบบระเบียบอีกด้วย

บทกวีนี้เรียกกันในเวลาต่อมาว่า ซือจิง (กาพยปกรณ์) บทกวีในซือจิงนี้ถือเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงสภาพของสังคมจีนในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

 

ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ทรงคุณค่าไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การรวบรวมและเรียบเรียงเอกสารข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากหอจดหมายเหตุของรัฐหลู่ อันเป็นที่ขงจื่อใช้ชีวิตเมื่อครั้งปฐมวัยกับปัจฉิมวัย และกล่าวกันว่า เป็นรัฐที่เจริญด้วยศิลปศาสตร์ความรู้ต่างๆ มากมาย

ต่อมา ผลงานชิ้นดังกล่าวก็คือ วสันตสารทปกรณ์ (ชุนชิว)

จดหมายเหตุนี้เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรัฐต่างๆ รวมทั้งรัฐโจวตามลำดับเดือนและปีโดยใช้ศักราชของรัฐหลู่ ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ปีที่ 1 ของกษัตริย์หลู่อิ่นกง อันตรงกับปีที่ 49 ของรัชกาลโจวผิงหวังของราชวงศ์โจว

ด้วยเหตุนี้ วสันตสารทปกรณ์ จึงนับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคต้นๆ ของจีน ข้อดีก็คือ การระบุเวลาของบันทึกนี้ที่ช่วยให้เกิดความกระจ่างต่อการสืบค้นเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ไม่น้อย

กล่าวกันว่า ผลงานทั้งสองชิ้นดังกล่าว ขงจื่อได้ใช้ชีวิตในช่วงปัจฉิมวัยนี้เข้ารวบรวมและเรียบเรียงขึ้นมา และเมื่อพิจารณาจากวัยแล้วสันนิษฐานได้ว่า ขงจื่อได้รวบรวมสะสมข้อมูลและวางกรอบความคิดในการเรียบเรียงก่อนที่จะยุติบทบาททางการเมือง

และเมื่อยุติบทบาทดังกล่าวลง จึงได้อุทิศเวลาให้กับการเรียบเรียงผลงานทั้งสอง

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งก็คือว่า บั้นปลายชีวิตที่ดูสงบเช่นนี้มิได้หมายความว่า ขงจื่อคือผู้ประสบความสำเร็จทางด้านการเมืองจากที่เขาได้ทุ่มเทเวลาให้อย่างยาวนานไม่

เป็นความจริงที่ว่า ได้มีศิษยานุศิษย์ของขงจื่อจำนวนหนึ่งเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง และใช้ความรู้ที่ได้จากขงจื่อไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า ศิษย์เหล่านี้กลับมิได้กระจุกอยู่ในที่เดียวกัน หากแต่กระจายไปดำเนินการทางการเมืองยังรัฐต่างๆ

และไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกคนไป

ที่สำคัญก็คือ บั้นปลายชีวิตของขงจื่อนั้น สังคมการเมืองจีนยังหาได้สงบลงไม่ การศึกสงครามยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ สภาพการณ์ของสงครามที่รัฐนับร้อยรัฐกระทำต่อกันนั้น ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นเหลือรัฐใหญ่เพียงไม่กี่รัฐ

กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ สังคมการเมืองจีนได้เปลี่ยนยุควสันตสารท (ชุนชิว) มาเป็นยุครัฐศึก (จ้านกว๋อ) แล้วนั้นเอง

สภาพการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วหลักคิดของขงจื่อแม้จะเป็นที่กล่าวขานกันในขณะนั้นก็จริง แต่ก็หาได้รับความใส่ใจจากบรรดาผู้นำรัฐต่างๆ สักกี่มากน้อย

กล่าวให้ชัดก็คือว่า หลักคิดของขงจื่อยังมิได้ก้าวขึ้นมาอยู่ในกระแสหลักของสังคมจีนในเวลานั้นนั่นเอง