คณะทหารหนุ่ม (38) | เมื่อลาวต้องการภาคอีสาน ในสมัยนายธานินทร์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ลาวต้องการภาคอีสาน

สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตข้าราชการระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศ บันทึกไว้ใน “นโยบายของไทยต่อลาว” งานวิจัยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) หน้า 210 ดังนี้

“เรื่องผู้นำลาวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวา กลาง หรือซ้ายคอมมิวนิสต์ ยังมีความคิดที่จะเอา 17 จังหวัดภาคอีสานของไทยกลับคืนเป็นของลาว

ใช่ว่าความคิดดังกล่าวนี้จะยุติลงหลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวได้รับชัยชนะ (พ.ศ.2518) แล้วก็หาไม่ ผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวก็ยังคงมีความคิดเช่นนี้ไม่แตกต่างจากผู้นำฝ่ายขวาและฝ่ายกลางของลาว ดังเห็นได้จากคำบอกเล่าของนายอาร์มิน คราเมอร์ เอกอัครราชทูตสวิส ที่ได้เล่าให้เอกอัครราชทูตไทยประจำลาวฟังเกี่ยวกับการที่ตนได้มีโอกาสเข้าพบเจ้าสุภานุวงศ์ ประธานประเทศลาวเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2528

ซึ่งเจ้าสุภานุวงศ์ได้บอกกับเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ว่า ปัจจุบันลาวมีพลเมือง 2 ล้านคน แต่ยังมีคนลาวอีก 30 ล้านคนอาศัยอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทย

และว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนลาวทั้งสิ้น รับฟังวิทยุและโทรทัศน์ลาว และต้องการกลับมาอยู่กับประเทศลาว”

 

“นายคราเมอร์ได้บอกกับเอกอัครราชทูตไทยว่า ตนได้ทักท้วงเจ้าสุภานุวงศ์ว่าไทยมีพลเมือง 50 ล้านคน ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ในอีสานถึง 30 ล้านคน และว่า ผู้นำลาวในระยะนี้มักพูดกับคนต่างชาติ เช่น กับเอกอัครราชทูตสเปน เอกอัครราชทูตแคนาดาบ่อยๆ ว่า

คนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นคนลาว แสดงว่าลาวมีจุดประสงค์เร้นลับอยู่เบื้องหลัง ยิ่งขณะนี้เวียดนามประสบชัยชนะทางทหารในกัมพูชายิ่งเป็นเหตุให้เวียดนามและลาวฮึกเหิมยิ่งขึ้น ฝ่ายไทยจึงน่าจะระมัดระวังเพื่อความมั่นคงของไทยในระยะยาว”

“นอกจากผู้นำในระดับสูงสุดของประเทศที่มีความเห็นทำนองดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีผู้นำลาวระดับรองรัฐมนตรีต่างประเทศของลาว อย่างเช่น นายสุบัน สะลิดทิราด ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าสุภานุวงศ์

โดยนายสุบันได้เล่าให้อุปทูตมาเลเซียฟังในงานเลี้ยงอาหารค่ำเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 ว่าในประวัติศาสตร์ลาวเคยเป็นชาติใหญ่ เคยรบไปตีประเทศข้างเคียง ดังนั้น ดินแดนแถบนี้จึงเคยเป็นของลาวมาก่อน

และว่า ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาเขตแดนที่ทำให้ลาวเสียดินแดนเสียเปรียบ ซึ่งถ้าเป็นที่ถูกต้องแล้ว สมควรรวมดินแดนเหล่านี้เข้ามาไว้เป็นของลาวด้วย ดังนั้น เมื่อใดที่ลาวเข้มแข็งพอ ลาวอาจเรียกร้องดินแดนเหล่านั้นคืน นายสุบันไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศข้างเคียง”

“นอกจากนี้ ฝ่ายลาวยังได้ใช้หนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว กล่าวหาไทยผนวกดินแดน 17 จังหวัดภาคอีสานซึ่งตามประวัติศาสตร์เป็นของลาวหมด”

 

สหพันธรัฐอินโดจีนกับผลประโยชน์ของลาว

หลักฐานเหล่านี้ ทำให้สามารถเชื่อได้ว่า ความคิดในการจัดตั้ง “สหพันธรัฐอินโดจีน” หรือที่พยายามเรียกชื่อใหม่ว่าเป็น “ความสัมพันธ์พิเศษ” ซึ่งประกอบด้วย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของโซเวียตในยุคสงครามเย็นนั้นไม่ใช่ “ของใหม่” เพราะถอดแบบมาจากการรวมตัวของประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกภายใต้ร่มเงาของประเทศรัสเซียเข้าเป็นสหภาพโซเวียตเพื่อเผชิญหน้ากับประเทศตะวันตกในยุคสงครามเย็นยุคนั้นนั่นเอง

สหพันธรัฐอินโดจีนก็คือสหภาพโซเวียตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

น่าสนใจว่า กรณีความตั้งใจในการเข้ายึดภาคอีสานนั้นเป็นเจตนาของเวียดนามหรือลาวกันแน่

แต่หลักฐานเชิงประจักษ์คือ ข้อเสนอต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในการเข้ายึดภาคอีสานนี้มาจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์ลาวให้การสนับสนุน

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นประการใด แต่เรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธคือ เวียดนามและลาวมีแผนจะเข้ายึดภาคอีสานของไทยพร้อมๆ กับการบุกกัมพูชาในปลายปี พ.ศ.2521 อย่างแน่นอน โดยได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตให้เวียดนามเป็นผู้นำเพื่อปิดล้อมจีนทางด้านใต้ซึ่งนอกจากจะทำให้แผนปิดล้อมมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยรวมพื้นที่ภาคอีสานของไทยเข้าด้วยแล้ว

ในส่วนของลาวซึ่งภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาขาดแคลนพื้นที่ราบก็จะได้ที่ราบ 17 จังหวัดภาคอีสานของไทยอันกว้างใหญ่ไพศาลและอุดมสมบูรณ์เป็นผลประโยชน์แลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม นโยบายเพื่อปิดล้อมจีนของโซเวียตนี้ได้สร้างความไม่พอใจต่อจีนอย่างรุนแรง จีนจึงพยายามขัดขวางอย่างเต็มที่ นำมาซึ่งความร้อนแรงของสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2521 เป็นต้นมา เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชา เอกราชและอธิปไตยของไทยจึงอยู่ในสภาพล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง

การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อตุลาคม พ.ศ.2521 จึงมิใช่เรื่องของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่มาจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลและเฉียบคมของ “สถาบันผู้นำ” แห่งรัฐไทย ณ เวลานั้น

และเส้นทางของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่อีกด้านหนึ่งมีคณะนายทหารหนุ่มเป็นฐานกำลังจะไม่หยุดอยู่เพียงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเท่านั้น

ท่าทีของเวียดนามหลังยึดกัมพูชา

เมื่อ พ.ศ.2518 หลังจากความสำเร็จในการรวมชาติของเวียดนาม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองในกัมพูชาและลาว เวียดนามก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตอย่างเต็มตัวในการสร้างความกดดันต่อจีนอย่างเปิดเผย และแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อประเทศไทยอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

กระบอกเสียงของเวียดนามโหมโจมตีไทยทั้งเรื่องการส่งกำลังไปร่วมรบในเวียดนามใต้ การยินยอมให้สหรัฐใช้ไทยเป็นฐานบินโจมตีเวียดนามเหนือ รวมทั้งประเด็นชาวเวียดนามในไทยถูกข่มเหงรังแกอย่างไม่เป็นธรรม

ท่วงทำนองอันเป็นปรปักษ์ต่อไทยจะทวีความเข้มข้นมากกยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐและจีนหลังการเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสันเมื่อ พ.ศ.2516 ตามมาด้วยการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ.2518

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามยิ่งทวีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นเปิดเผย

พ.ศ.2520 ระหว่างเตรียมบุกยึดครองกัมพูชา เวียดนามเหนือก็เริ่มขั้นตอนแรกตามแนวความคิด “สหพันธรัฐอินโดจีน” ซึ่งเรียกชื่อใหม่ว่า “ความสัมพันธ์แบบพิเศษ” โดยเสนอความช่วยเหลือต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเพื่อปลดปล่อยภาคอีสาน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จากแม่ทัพภาคที่ 2 ก้าวขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และขบวนการทหารหนุ่มกำลังเติบโต