ธงทอง จันทรางศุ | พัฒนาการ ‘เลือกตั้ง’

ธงทอง จันทรางศุ

เผลอตัวไปเพียงครู่เดียว เราก็มาอยู่ที่โค้งสุดท้ายเพื่อจะวิ่งทางตรงเข้าสู่วันลงคะแนนเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้แล้ว ตัดสินใจกันแล้วหรือยังครับว่าจะลงคะแนนเสียงกันอย่างไร ใครคือคนที่รัก ใครคือพรรคที่ชอบ เรื่องอย่างนี้ตัวใครตัวท่านนะครับ เป็นดุลพินิจอิสระที่เราไม่ว่ากันอยู่แล้ว

ระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าคะแนนเสียงเลือกตั้งออกหัวออกก้อย ใครได้มากได้น้อยอย่างไร ผมในฐานะที่เป็นคนสนใจปรากฏการณ์ของสังคมในเชิงประวัติศาสตร์ ขออนุญาตชักชวนท่านทั้งหลายมานึกถึงสนามเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งในบ้านเรากันดูสักทีดีไหมครับ เราจะได้เห็นว่าการเลือกตั้งในบ้านเรามีพัฒนาการมาอย่างไร

ถ้าพูดไปถึงการเลือกตั้งยุคก่อนผมเกิดก็จะเป็นการอาจหาญเกินไป เพราะจะต้องเป็นการเขียนโดยวิธีเดาล้วนๆ

เพราะฉะนั้น เราจึงมาพูดกันแต่เฉพาะเรื่องที่ผมทันรู้ทันเห็นก็แล้วกันนะครับ

ชีวิตผมเริ่มต้นเมื่อกลางปีพุทธศักราช 2498 การเลือกตั้งเมื่อปี 2500 ในยุคสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นที่เรียกขานกันในครั้งนั้นว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย มีสภาพเป็นอย่างไร เด็กอายุสองขวบยังจำอะไรไม่ได้เลยครับ

ถัดจากนั้นมาประเทศไทยของเราก็เว้นว่างการเลือกตั้งระดับประเทศมาช้านาน เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านเข้ายึดอำนาจจากจอมพล ป. ครั้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมตอนปลายปีพุทธศักราช 2506 แล้ว จอมพลถนอม กิตติขจร มารับไม้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ช่วงเวลานี้การเลือกตั้งก็ยังไม่มีครับเพราะยังร่างรัฐธรรมนูญกันไม่เสร็จเสียที จนในที่สุดหลังจากใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ประมาณ 10 ปี ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2511 เสียที

การเลือกตั้งครั้งแรกที่ผมได้รู้เห็นเป็นประจักษ์พยานในฐานะเป็นเด็กน้อยอายุ 14 ปี

เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512

 

ที่ผมเขียนว่าวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 นี้ ผมเขียนขึ้นจากความทรงจำโดยไม่ต้องไปเปิด Google หรือเปิดหนังสืออะไรเลย เพราะเป็นความทรงจำที่ฝังใจจริงๆ ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของชีวิต

ถึงแม้ตัวเองไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง แต่เพียงแค่ได้รู้เห็นบรรยากาศของการเลือกตั้งก็ยังดีและมีค่ามากแล้ว

เท่าที่ผมจำได้ การเลือกตั้งคราวนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำต้องสังกัดพรรคการเมือง อย่างไรก็ดี มีพรรคการเมืองสำคัญที่เป็นคู่แข่งกันในสนามเลือกตั้งครั้งนั้นสองพรรค พรรคหนึ่งมีจอมพลถนอมเป็นหัวหน้า ใช้ชื่อว่าพรรคสหประชาไทย อารมณ์ประมาณว่าทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อนี่แหละครับ ส่วนพรรคการเมืองตรงกันข้ามคือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยุคนั้นมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

วิธีหาเสียงเลือกตั้งครั้งนั้น ยังไม่มีระบบออนไลน์เกิดขึ้นในโลก โทรทัศน์เมืองไทยก็มีอยู่เพียงแค่สองช่อง คือช่องสี่บางขุนพรหมกับช่องเจ็ดสนามเป้า ซึ่งเป็นของรัฐบาลเสียทั้งนั้น ฮา!

ส่วนวิทยุมีกี่ช่องก็ของรัฐบาลเหมือนกัน ฮาแล้วฮาอีก!

เพราะฉะนั้น อย่าได้ไปนึกหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคตรงข้ามรัฐบาลจากโทรทัศน์หรือวิทยุของทางราชการเสียให้ยาก

การหาเสียงยุคนั้นจึงต้องใช้วิธีการปิดป้ายโฆษณา การเดินหาเสียงเพื่อไปแนะนำตัวผู้สมัครกับประชาชนทั้งหลาย และที่เป็นเรื่องใหญ่โตหน่อยก็คือเรื่องของการตั้งเวทีปราศรัย ซึ่งมีทั้งเวทีย่อยและเวทีใหญ่

 

คําว่า เวทีใหญ่ นี้ ผมหมายถึงการตั้งเวทีปราศรัยรอบสุดท้ายใกล้ถึงวันเลือกตั้ง ชัยภูมิที่ชิงไหวชิงพริบแย่งกันเป็นทำเลทองก็มีอยู่ไม่กี่แห่งในพระนคร

ทางฝั่งธนบุรีก็มีวงเวียนใหญ่โดยรอบพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช

ส่วนทางฝั่งพระนครถ้าไม่ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงก็เป็นบริเวณท้องสนามไชยซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกัน

เวลาที่เริ่มปราศรัยก็ต้องเป็นเวลาแดดร่มลมตกแล้วเพื่อให้เหมาะกับดินฟ้าอากาศของเมืองไทย ใครเป็นแฟนของพรรคการเมืองพรรคไหนก็ไปนั่งรอฟังนักการเมืองผลัดกันขึ้นอภิปราย

ก็คล้ายๆ กับสมัยนี้นะครับ เพียงแต่ว่าไม่ได้ไลฟ์สดไปที่ไหนเท่านั้น ใครอยากฟังอภิปรายก็ต้องลากสังขารไปให้ถึงเวทีปราศรัย แปลว่าต้องใช้ความพยายามพอสมควรเลยทีเดียว

ในความทรงจำส่วนตัวของผม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับเลือกตั้งคราวนั้นคนหนึ่งคือ คุณพิชัย รัตตกุล ซึ่งลงสนามเลือกตั้งเป็นคราวแรกในจังหวัดพระนครและได้รับเลือกตั้งเสียด้วย

และในการเลือกตั้งคราวเดียวกันนั้นเอง พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยด้วย

ที่จำได้แม่นยำเป็นพิเศษอย่างนี้เพราะท่านทั้งสองเป็นคุณพ่อของเพื่อนนักเรียนชาวสาธิตปทุมวันของผม

ความรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องที่วนเวียนอยู่ใกล้ตัวของผมจึงเกิดขึ้นง่ายๆ อย่างนี้เอง

 

น่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎรที่ได้มาจากการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2512 ดังที่ว่า ได้ทำหน้าที่อยู่เพียงแค่สองปีเศษจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติก็ยึดอำนาจจากจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2511 ที่ยกร่างกันมานานสิบปีดังที่ว่ามาแล้วมีอายุใช้งานเพียงแค่สี่ปีก็ถูกฉีกทิ้งเสียแล้ว ส.ส.ทุกคนจึงตกงานโดยพร้อมเพรียงกัน

กว่าจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งก็ตกเข้าไปปี 2518 แล้ว โดยเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เวลานั้นผมเป็นนิสิตในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว

คราวนี้มีพรรคการเมืองมากมายเลยครับที่ลงสนามแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์เจ้าเก่า และพรรคเกิดใหม่อีกหลายพรรค เช่น พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคพลังใหม่ที่มีคุณหมอกระแส ชนะวงศ์ เป็นหัวหน้า และพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ที่มี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นหัวหน้า

การหาเสียงในสนามเลือกตั้งครั้งนี้มีสีสันมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 มากพอสมควร เพราะบรรยากาศการเมืองโดยทั่วไปของประเทศเอื้อให้เป็นเช่นนั้น

การรณรงค์หาเสียงจึงเป็นไปโดยกว้างขวางและได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก พรรคบางพรรค เช่น พรรคกิจสังคมได้พิมพ์หนังสือเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อเสนอแนวคิดนโยบายต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นการหารายได้เข้าพรรคด้วย

ผมยังมีหนังสือที่ว่านี้เก็บอยู่ในห้องสมุดที่บ้านผมเลยครับ

เลือกตั้งคราวนั้นผมมีสิทธิลงคะแนนเสียงแล้ว แต่เวลาที่ผ่านไปเกือบครึ่งศตวรรษทำให้จำไม่ได้เสียแล้วว่าผมเลือกพรรคอะไรไปหนอ

 

เขียนหนังสือมาถึงตรงนี้ ผมเกิดตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วการซื้อสิทธิขายเสียงในยุคนั้นมีบ้างหรือไม่

คำตอบที่ให้กับตัวเองเหมือนกันก็ตอบว่า อาจจะมีบ้างก็เป็นได้แต่เบาบางมากจนกระทั่งผมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

การแจกข้าวแจกของหรือการซื้อเสียงอย่างเป็นล่ำเป็นสันเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อการเลือกตั้งคราวเลือกตั้งซ่อมพุทธศักราช 2524 ซึ่งมีสนามเลือกตั้งซ่อมอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วอดีตนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เกิดจะไปลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตดังกล่าว เป็นการลงสมัครแบบแพ้ไม่ได้

เขาจึงว่ากันว่ามีการซื้อเสียงหนักหนาสาหัส จนเป็นที่มาของคำว่า “โรคร้อยเอ็ด” โรคร้ายที่ว่านี้มาไล่เลี่ยกันกับเรื่องราวของ ส.ส.ปลาทูเค็ม ซึ่งหมายถึงการหาเสียงโดยนำปลาทูเค็มไปแจกเป็นบรรณาการกับผู้มีสิทธิลงคะแนนนั่นเอง

ในจังหวัดที่หาปลาทูกินยาก พี่น้องของเราหลายคนก็ต้องอยากกินปลาทูเค็มเป็นธรรมดา

ตั้งแต่นั้นมาปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่กับเมืองไทยมาอีกช้านานจนทุกวันนี้

 

เห็นไหมครับว่าการหาเสียงแต่ละยุคแต่ละสมัยมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ล่าสุดสำหรับการหาเสียงในการเลือกตั้งคราวนี้ ระบบสื่อออนไลน์เข้ามามีความหมายมาก มีคำภาษาอังกฤษที่ได้ยินทุกวัน คือคำว่า โพล คำหนึ่ง และคำว่า ดีเบต อีกคำหนึ่ง ชัยภูมิที่ตั้งเวทีปราศรัยก็เปลี่ยนไปจากเดิม วงเวียนใหญ่ยังติดอันดับอยู่ แต่สนามหลวงกับสนามไชยหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ล่าสุดนี้ก็มีสามย่านมิตรทาวน์กับสนามกีฬาขนาดใหญ่ต่างๆ ติดอันดับขึ้นมาใหม่แทนที่

ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งแต่ละคราวก็เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดไปตามวันเวลา เช่น มีผู้วิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งคราวนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า New Voter เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันกับที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าเก่า (เช่นผม อิอิ) ก็มีจำนวนลดน้อยถอยลง หรือถึงแม้ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีแรงออกจากบ้านเสียแล้ว

ส่วนที่ยังมีแรงออกจากบ้าน พอไปถึงคูหาเลือกตั้งก็จำเบอร์ไม่ได้แล้วว่าจะกาบัตรให้ใครดี

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ล่ะเจ้าค่ะ ท่านผู้ชม

ผมหวังว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พฤษภาคมแล้ว ตอนที่อยู่ในคูหาเลือกตั้ง ผมจะพอนึกออกนะครับว่าจะกาให้ใคร

ต้องลงมือท่องหมายเลขเสียแต่วันนี้แล้วสิ

แถมยังต้องท่องสองเบอร์อีกต่างหาก หมายเลขผู้สมัครเขตก็เบอร์หนึ่ง หมายเลขบัญชีรายชื่อของพรรคก็อีกเบอร์หนึ่ง

นี่จะรังแกสมองที่มีแค่ 84,000 เซลล์ไปถึงไหนฮึ