ธนาธร ตัวตึง ‘ข้าง’ สภา ปลุก ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ สู้ ‘จัดตั้ง’

นักการเมืองตัวตึงที่สุดคนหนึ่งของการเมืองไทยรอบหลายปีที่ผ่านมา ต้องยกให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในทางความคิด แต่ธนาธร, บทบาททางการเมืองของเขาและเพื่อน เข้ามาเปลี่ยนแปลงผลักดันมาตรฐานการเมือง วิธีการทำงานของนักการเมืองต่อประชาชน วิธีการทำงานของพรรคการเมืองไทยในระบบรัฐสภาอยู่มากโข

เปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง วิธีการหาเสียง ทั้งการเมืองในระบบและนอกระบบ แทบทุกองคาพยพในการเมืองไทย แม้แต่แวดวงสื่อสารมวลชน

แม้จะถูกฝ่ายจารีตนิยมไล่ล่าประหารชีวิตในทางการเมือง เข้าสภาไปได้แค่ 5 นาที จะจับไมค์พูดยังถูกตะโกนโห่ฮาไล่ กลายเป็นภาพที่ติดตาคนไทย แต่ก็ไม่ยอมตายในทางการเมือง กลับเดินเส้นทางการเมืองอย่างหนักแน่นขึ้น

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ธนาธรในฐานะประธานคณะก้าวหน้า ขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองเรื่องกระจายอำนาจ ผ่านการพัฒนาท้องถิ่น ลงไปช่วยผลักดัน ปลุกปั้น ทำนโยบายที่ดีให้เห็นผลและเกิดขึ้นจริงในระดับเทศบาล จนได้เห็นน้ำประปาดื่มได้ของเทศบาลตำบลอาจสามารถ แถมไม่ใช่ดื่มได้ธรรมดา เป็นประปาดื่มได้แบบอัจฉริยะสมาร์ตซิตี้แห่งแรกในไทย ใช้นวัตกรรมในการพัฒนา สามารถบริหารจัดการน้ำประปาแบบออนไลน์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางโรงผลิต จนถึงปลายทางครัวเรือนผู้ใช้น้ำ ผ่านคอมพิวเตอร์ และแอพพลิเคชั่นมือถือ

นี่ยิ่งเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บทางความคิดของธนาธร ยิ่งทำเอง ยิ่งเห็นปัญหา ยิ่งรู้ว่าอะไรเป็นอุปสรรค ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้อยากเปลี่ยนแปลง

หลังๆ ธนาธรอธิบายหลักการต่างๆ โดยมีรูปธรรมเปรียบเทียบเสมอ เช่น คราวการนำน้ำประปาสีแดงขุ่นคลักเข้าไปประกอบการอภิปรายในสภาในการเสนอร่าง กม.กระจายอำนาจปลายปีที่ผ่านมา

การเลือกตั้งปี 2562 ต้องยอมรับว่า “กระแส” มีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันให้พรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้น ได้คะแนนท่วมท้นเป็นอันดับ 3 ของประเทศ “ธนาธร” มีส่วนอย่างสำคัญที่สุดในการปลุกปั้นกระแสนั้น

การเลือกตั้ง 2566 ธนาธรวางตัวเองเป็นผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกลเพราะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าสภาไม่ได้

ท่าทีของธนาธรในวันที่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ด้วยท่าทีขึงขัง พูดจาชัดถ้อยชัดคำ ตรงไปตรงมา วาดภาพความฝันและความหวังในทุกเวทีดีเบต นั่นคือบุคลิกและลีลาเฉพาะตัวของเขา ไม่ง่ายที่จะหาคนเปรียบ

เลือกตั้งรอบนี้ เป็นไปได้ว่า “กระแส” จะยิ่งมีความสำคัญไปไม่น้อยกว่าปี 2562 เผลอๆ อาจจะมากกว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ และติ๊กต็อก โดยเฉพาะที่มาในรูปแบบวิดีโอสั้น

การเปลี่ยนแปลงเชิงแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะวิดีโอสั้น เข้าถึงคนอย่างมากช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้

และนั่นคือทีเด็ดของธนาธร และกำลังพลของพรรคก้าวไกล

 

ธนาธรมีบทบาทอย่างสูงในการเลือกตั้งรอบนี้ กับการทำให้เกิดกระแสนิยมในพรรคก้าวไกล เริ่มตั้งแต่เข้าเดินสายขึ้นเวทีดีเบตเหนือจรดใต้ในคลื่นการดีเบตระลอกแรก

น่าสนใจว่าเลือกตั้งรอบนี้สื่อหลักซึ่งมีกำลังทรัพย์ในการจัดเวทีดีเบต แข่งกันสูงมากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการเลือกตั้งมา แต่ละสื่อกระจายเวทีกันไปทั่วประเทศ ตามภูมิภาคต่างๆ บางเวทีกำหนดวาระคำถามตามพื้นที่ และทุกเวทีล้วนจัดหนักจัดเต็มในประเด็นการเมือง

ธนาธรถูกส่งขึ้นเวทีดีเบตในนามพรรคก้าวไกล ชนกับตัวแทนพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างออกรสออกชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมืองสำคัญ วิวาทะร่วมสมัย ตั้งแต่เรื่องความรักชาติ/ชังชาติ การกระจายอำนาจ/รัฐบาลกลาง การปกป้องรัฐธรรมนูญเดิม/การร่างรัฐธรรมนูญใหม่

บางเวทีถูกยืนชี้หน้าใส่อย่างเกรี้ยวกราด แต่ธนาธรก็นั่งตอบกลับอย่างสุขุม เรียกเสียงเฮ กลายเป็นมีมดังไปทั่วโซเชียล

วิวาทะบนเวทีดีเบตของธนาธร นอกจากออกอากาศ เผยแพร่ทางสื่อหลัก ยังถูกตัดต่อออกเป็นวิดีโอสั้น เผยแผร่ทางแพลตฟอร์มต่างๆ กระจายไปไกล ต่อเนื่อง ยาวนาน อากัปกิริยาต่างๆ ถูกนำไปล้อเลียนทำเป็นมีม

เช่น การพูดโฆษณาหาเสียงผิดบ่อยๆ หลายครั้งจนถูกแซวว่าเป็นสายลับนาตาชา ว่าให้เลือก “ก้าวไกล” เป็นให้เลือก “เพื่อไทย” แม้แต่การชักชวนคนไปเลือกตั้ง ก็ยังพูดผิด จากเดือน “พฤษภาคม” ก็ไปเปลี่ยนเป็น “พฤศจิกายน” กลายเป็นมีมที่ขยายไป กระทั่งผู้สื่อข่าวต้องไปถามพิธา ว่าจะเอายังไงกับธนาธร ซึ่งพิธาก็รับมุข ขู่จะลดค่าจ้างรายวัน จาก 300 เหลือ 160 บาท

ธนาธรก็ยอมรับว่าเกิดจากบางทีพักผ่อนน้อยบ้าง ที่น่าสนใจ จะเห็นว่าทุกเวทีที่ธนาธรขึ้นจะพูดย้ำเสมอว่า ประเทศไทยต้องมีนายกฯ ชื่อพิธา และพิธาคือทางออกของประเทศ แต่ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้มันสะท้อนเบื้องหลังความนิยมทางกระแสบางอย่างที่ประมาทมิได้

 

ปฏิบัติการการเมืองของตัวตึงข้างสภาที่ชื่อ “ธนาธร” สร้างกระแสกดดันไปที่พรรคเพื่อไทยทันที

ผลโพลหลายสำนักที่ออกมาสะท้อนชัดเจนว่าขณะนี้ พรรคฝั่งต่อต้านการสืบทอดอำนาจ 2 พรรค คือ “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” มาวิน

ส่วนใหญ่ เพื่อไทยมีคะแนนนำ ตามมาด้วยก้าวไกลเป็นอันดับ 2 ชนิดตามติดบ้าง ห่างบ้าง… แต่บางโพลหากวัดที่ความนิยมต่อตัวนายกฯ พิธาขึ้นนำ บางโพลก็นำเฉพาะใน กทม.และเขตเมือง

นั่นสะท้อนว่า หากประเมินตามกระแส ขณะนี้ 2 พรรคนี้มีแววจับมือกันตั้งรัฐบาลแหงๆ

แต่ในความเป็นขั้วพรรคฝ่ายค้าน ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเหมือนกัน การแข่งขันในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือการแย่งฐานเสียงทางอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน

เพื่อไทยเลือกเดินในเกมยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง มองการเมืองแบบปฏิบัตินิยม ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่ต้องล้มรัฐบาลสืบทอดอำนาจให้ได้ ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะที่ก้าวไกลมองในเชิงอุดมคติมากกว่า เห็นว่ายุทธศาสตร์การเมืองเวลานี้คือช่วงเวลาแห่งความชัดเจนทางการเมือง ต้องเปลี่ยนโครงสร้างประเทศทั้งระบบให้มากกว่า

ก้าวไกลเชี่ยวชาญในการส่งบรรดาตัวตึงของพรรคนอกจากธนาธร ไปประจำการรบบนเวทีดีเบตต่างๆ

ขุนพลของก้าวไกล โต้ตอบ แสดงความเห็น ต่อสู้ทางความคิดบนเวทีดีเบต จนเรียกได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่เก็บคะแนนกระแสได้เป็นอย่างดีช่วงเดือนที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็น พิธา, ธนาธร, ปิยบุตร, ต๋อม ชัยธวัช, ช่อ พรรณิการ์, ไอติม พริษฐ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, นักการเมืองหน้าใหม่ของพรรคอีกจำนวนมาก กลายเป็นตัวหลักโลดแล่นในฟีดของแพลตฟอร์มต่างๆ ตามประเด็นที่แหลมคม ร่วมสมัย

นอกจากนี้ ยังเจอกับกระแส “หัวคะแนนตามธรรมชาติ” เมื่อคนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชียล การสื่อสารสองทางจึงเกิดขึ้น

ขณะนี้มีกระแสช่วยพรรคก้าวไกลหาเสียง จากบรรดาคนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นคลิปการเข้าไปช่วยซ่อมป้ายหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่ถูกทำลาย หรือถูกลมพัดล้ม ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายหน้าบ้าน ช่วยพรรคก้าวไกลหาเสียง แม้แต่ร้านอาหารที่พิมพ์ใบเสร็จโดยใส่สโลแกนพรรคก้าวไกลไปด้วย เหล่านี้คือมีม คลิปที่ถูกแชร์และดูต่อซ้ำๆ หลักล้านวิว

ก้าวไกลจึงยังยืนหนึ่งในการเก็บการเมืองเรื่อง “กระแส” ในศึกเลือกตั้งรอบนี้ แต่นั่นยังไม่ใช่ตัวชี้ขาดในชัยชนะ

อย่าลืมว่า แม้การเมืองเรื่อง “กระสุน” จะลดความสำคัญลงไปในการเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ใช่ตัวแปรในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่าลืมว่า “กระสุน” ยิงตรงเป้า ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายที่ในการเลือกตั้งปี 2562

และยิ่งรอบนี้ เป็นการเลือกตั้งที่จะมีการใช้กระสุนมากที่สุดนับแต่ประเทศไทยเคยมีการเลือกตั้งมา ดังนั้น ประมาทไม่ได้เช่นกัน

 

ด้านเพื่อไทย ซึ่งชำนาญการเดินเกมการเมืองในรูปแบบเดิมมาตั้งแต่อดีต และพยายามปรับตัวเข้ากับการเมืองรูปแบบใหม่ต่อเนื่อง

เลือกตั้งรอบนี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยังคงเป็นตัวตึงหลัก เน้นเดินสายขึ้นเวทีปราศรัยต่างจังหวัด ตามทิศทางที่พรรคเพื่อไทยถนัด นั่นคือการทำการเมืองกับคนส่วนใหญ่ หลากหลาย ทั่วถึงทุกพื้นที่ นั่นคือฐานของเพื่อไทยที่มีมาแต่เดิม จนถึงปัจจุบัน

คลิปปราศรัยของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ไม่เบา ลีลาสนุกสนาน เข้มข้นเช่นเดิม แต่ละคลิปในยูทูบและเฟซบุ๊กพบยอดชมหลักล้าน

นั่นล้วนเป็นกระแสที่สูงขึ้นของการเข้าถึงข้อมูลฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเดิม

การเดินเกมของก้าวไกล ท้าชนโดยตรงกับพรรคเพื่อไทย จนเกิดวิวาทะระดับแกนนำและผู้สนับสนุนของพรรคต่อเนื่อง และดูทีท่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ช่วงใกล้เลือกตั้ง

โดยเฉพาะที่ผ่านมา ความไม่ชัดเจนของระดับนำเพื่อไทยในประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล ท่าทีว่าเพื่อไทยจะเอายังไงกับ “บรรดาลุง” ที่มีอำนาจจากการรัฐบาล เรื่องนี้คะแนนความชัดเจนตกไปอยู่กับก้าวไกล ที่ประกาศยุทธศาสตร์ “มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา”

ยิ่งภาพการรวมตัว วิ่งไปแย่งที่นั่งฟังการปราศรัยที่สามย่านมิตรทาวน์ของพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ยิ่งสร้างผลสะเทือน ทั้งฝ่ายอำนาจนิยมเดิมและพรรคเพื่อไทย

จนเพื่อไทยต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ยอมประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่จับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ นี่คือการปรับตัวล่าสุด เป็นการชิงไหวชิงพริบ ชิงความชอบธรรมทางการเมืองของ 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม แม้จะแข่งกันด้วยจุดหมายทางการเมืองที่เดินมาด้วยเส้นทางเดียวกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าทั้งสองค่ายมีวิธีการทางการเมืองไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด แต่ละพรรคมีความถนัดทางการเมืองของตัวเอง หลายอย่างไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้

รอบนี้ ก้าวไกลอาจจะถนัดเกม “กระแส” เพื่อไทยอาจจะเป็นรอง เช่นเดียวกัน เกม “ปฏิบัติการการเมืองเชิงพื้นที่” ที่ก้าวไกลก็อาจเป็นรอง “เพื่อไทย”

แต่ไม่ว่าอย่างไรความนิยมของ 2 พรรคในต่างมุมมอง ล้วนเป็นฐานทางการเมืองอันมั่นคงในการผนึกพลังเพื่อปิดสวิตช์การเมือง 3 ป. และตัดวงจรอุบาทว์สืบทอดมาจากการรัฐประหาร

สิ่งสำคัญคือต้องมองให้เห็นว่าการมีความต่างเป็นเรื่องปกติ ภายใต้การคำนึงถึงเป้าหมายทางการเมืองหลักๆ ที่เคยต่อสู้และยึดถือร่วมกันมา ก็ต้องไม่ลืม