ศึกชิงอำนาจผู้นำทหาร ลากซูดานสู่ปากเหวสงครามกลางเมือง

(Photo by AFP)

หลายชาติรวมถึงทางการไทยต่างกำลังเร่งอพยพพลเมืองและนักการทูตของตนเองออกจากซูดาน ประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งให้ได้โดยปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด ขณะการสู้รบของกองกำลังคู่ขัดแย้งระหว่างกองทัพซูดาน กับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (อาร์เอสเอฟ) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่เคยจับมือทำงานกับกองทัพซูดานมาก่อน ยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือดต่อเนื่อง

ทั้งการยิงต่อสู้และการทิ้งระเบิดถล่มโจมตีในกรุงคาร์ทูม อันเป็นเมืองหลวงและพื้นที่ยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา สุ่มเสี่ยงที่จะลากประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในกาฬทวีปแห่งนี้ สู่ปากเหวของสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อได้

องค์การอนามัยโลกระบุว่า จนถึงตอนนี้เหตุสู้รบนองเลือดในซูดาน ได้ทำให้มีผู้คนถูกสังหารเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 400 ราย รวมถึงชาวต่างชาติด้วย

และยังทำให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บอีกมากมายหลายพันคน รวมถึงเด็กและผู้หญิง

 

เหตุสู้รบในซูดานครั้งนี้ปะทุขึ้นจากปมความขัดแย้งในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจควบคุมสูงสุดในประเทศซูดานระหว่างผู้นำทหาร 2 นาย คือ นายพลอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน ที่คุมขุมกำลังทหารในกองทัพซูดานที่มีอยู่ราว 300,000 นาย

กับนายพลโมฮาเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล หรือที่เรียกขานกันติดปากว่า “เฮเมดติ” ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังอาร์เอสเอฟ ที่มีบทบาทสำคัญด้านความมั่นคงในซูดาน ที่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีกำลังพลอยู่ในมือราว 100,000 นายหรือมากกว่านั้น

แต่ก่อนที่นายพลทั้งสองนายนี้จะมีปัญหาขัดแย้งถึงขั้นแตกคอจนจับอาวุธสู้รบกัน ทั้งคู่มีเส้นทางความสัมพันธ์โยงใยเกี่ยวข้องกันมานาน และต่างมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านปราบปรามกลุ่มกบฏดาร์ฟูร์ในสงครามดาร์ฟูร์ ทางภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองร้ายแรงครั้งหนึ่งของซูดาน

โดยในขณะนั้นนายพลอัล-บูร์ฮานได้ก้าวขึ้นมาควบคุมกองทัพซูดานในภูมิภาคดาร์ฟูร์ ส่วนนายพลเฮเมดติ เป็นผู้บัญชาการหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธอาหรับที่เรียกตนเองว่า จันจาวีด ซึ่งรัฐบาลซูดานในขณะนั้นว่าจ้างให้มาปราบปรามกลุ่มกบฏดาร์ฟูร์

ก่อนที่อัล-บูร์ฮานและเฮเมดติ ที่แยกตัวออกมาจัดตั้งกองกำลังอาร์เอสเอฟ จะมาจับมือร่วมกันก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนซูดานในเดือนตุลาคมปี 2021 หลังจากกองทัพซูดานได้ขับไล่ประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ผู้นำเผด็จการซูดานที่ครองอำนาจมานานเกือบ 30 ปีออกไปได้ในปี 2019

นับจากนั้น นายพลอัล-บูร์ฮาน ถือเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพและเป็นผู้นำสภาปกครองของซูดาน

ส่วนเฮเมดตินั้นรั้งตำแหน่งเป็นเบอร์ 2 โดยเป็นรองผู้นำสภาปกครอง ที่ในระหว่างนั้นได้มีการเจรจาวางแนวทางในการถ่ายโอนอำนาจสู่รัฐบาลพลเรือนของซูดานต่อไป

 

ความไม่ลงรอยกันสู่จุดเดือดที่นำไปสู่การจับอาวุธสู้รบกันของกองทัพซูดานและกองกำลังอาร์เอสเอฟ ปะทุขึ้นเมื่อข้อตกลงขั้นสุดท้ายที่กำหนดจะมีการลงนามกันในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการถ่ายโอนอำนาจสู่รัฐบาลพลเรือน ไม่สามารถตกลงกันได้ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ การบูรณาการกองกำลังอาร์เอสเอฟเข้ากับกองทัพซูดาน

และประเด็นสำคัญที่ว่าใครจะเป็นผู้นำกุมอำนาจสูงสุด

ในความเห็นของนักวิเคราะห์อย่างโคลูด คาอีร์ ชี้ว่ากรอบความตกลงดังกล่าว ได้ทำให้การเผชิญหน้าระหว่างอัล-บูร์ฮานกับเฮเมดติ ยิ่งทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีความพยายามจะยกสถานะของเฮเมดติขึ้นให้เทียมเท่ากับอัล-บูร์ฮาน มากกว่าที่จะนั่งเป็นเบอร์ 2 รองจากอัล-บูร์ฮาน

การพยายามเปลี่ยนแปลงทางอำนาจนี้ จึงเป็นเหตุให้การถกเถียงเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านความมั่นคงและการบูรณาการของอาร์เอสเอฟในกองทัพซูดาน

จบลงด้วยความขัดแย้งที่นำไปสู่การสู้รบมากกว่าการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนบนโต๊ะเจรจา

ขณะที่อลัน บอสเวลล์ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป มองว่า ในเกมชิงอำนาจนี้ จะมีเพียงผู้ชนะ หรือผู้แพ้เท่านั้น

ซึ่งจะผลักให้ซูดานกลับมาอยู่ในวังวนสงครามที่ยืดเยื้ออีกครั้ง!