ศัลยา ประชาชาติ : แบงก์เปิดศึกรอบใหม่ ชิงลูกค้ายุค “สังคมไร้เงินสด” ส่ง “คิวอาร์โค้ด” ยึดตลาดสด-วัด

เรื่องยอดฮิตที่มีการพูดถึงกันมากเวลานี้จากการเข้ามาของยุคดิจิตอลคงหนีไม่พ้นเรื่อง “สังคมไร้เงินสด” หรือ Cashless Society และที่กำลังเป็นกระแสแรงขณะนี้คือ “QR Code Payment” คือการสแกนผ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระเงินในการซื้อสินค้าผ่านบัญชีพร้อมเพย์

เพราะหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. อนุญาตให้สถาบันการเงิน 5 แห่ง ให้นำบริการ QR Code Payment ออกจากสนามทดสอบ (regulatory sandbox) เพื่อนำเสนอบริการให้ประชาชนเป็นการทั่วไป จากเดิมที่จำกัดการบริการอยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักร สยามสแควร์และแพลตตินั่ม

เวลานี้จึงได้เห็น 5 แบงก์ใหญ่ที่ได้รับอนุญาตแล้วอย่างธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน เดินเครื่องปูพรมขยายบริการ “QR Code Payment” เต็มสูบ

 

ถือเป็นการเปิดศึกรอบใหม่ของธนาคารในยุคสังคมไร้เงินสด นอกจากการกระตุ้นให้ลูกค้ารายย่อยเลือกใช้บริการของธนาคารแล้ว ตอนนี้แบงก์เปิดศึกแย่งฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ เพื่อให้เปิดบัญชีใช้คิวอาร์โค้ดในการรับชำระเงิน ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มที่รับ-จ่ายด้วยเงินสด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในตลาดสด ร้านกาแฟ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

เรียกว่าทุกแบงก์ออกมาเร่งเครื่องหวังกวาดลูกค้าใหม่เข้าพอร์ตในสมรภูมิรบใหม่ แต่ที่ดูจะออกตัวแรงมากสุดตอนนี้ต้องเป็นธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ปูพรมกันอย่างหนักหน่วง

สำหรับกสิกรไทยหรือเคแบงก์ ถือเป็นแบงก์ที่มีฐานลูกค้า “โมบายแบงกิ้ง” มากสุดเวลานี้ เร่งสปีดทันทีที่ออกจากห้องทดลองของ ธปท. ทั้งการเดินสายออกไล่ล่าร้านค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อโปรโมตแอพพ์ K PLUS SHOP ขยายฐานร้านค้าที่เข้าร่วมใช้คิวอาร์โค้ดของธนาคาร

พร้อมอัดโปรโมชั่นพิเศษ สำหรับร้านค้าที่เปิดใช้แอพพลิเคชั่น K PLUS SHOP จะได้รับเงินคืน 300 บาท เมื่อมียอดรับชำระอย่างน้อย 200 บาท 1 รายการ ภายใน 60 วันนับจากวันที่สมัคร

ส่วนลูกค้าที่ใช้แอพพ์ K PLUS เมื่อจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด 300 บาท/รายการ จะได้รับเงินคืน 50 บาท เริ่มวันนี้-31 ธันวาคม 2560

ทั้งยังมีแคมเปญช่วยกระตุ้นการใช้งานคิวอาร์โค้ด เช่น การร่วมมือกับร้านกาแฟดัง 17 ร้าน ในย่านถนนนิมมานเหมินท์ โดยผู้ถือบัตรเครดิตหรือเดบิตของเคแบงก์รับกาแฟได้ฟรีทันที 1 แก้ว ส่วนผู้ที่ใช้จ่ายผ่านแอพพ์ K PLUS จ่ายในราคาแก้วละ 1 บาท

“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การซื้อขายสินค้าและบริการโดยใช้ QR Code Payment นอกจากความสะดวกแล้วยังไม่มีค่าธรรมเนียม

และที่เป็นจุดเด่นของเคแบงก์คือ แอพพลิเคชั่น K PLUS SHOP สำหรับร้านค้ายังรองรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของ Alipay และ WeChat Pay ซึ่งจะสามารถรองรับการใช้จ่ายของลูกค้าชาวจีนได้ด้วย

โดยเคแบงก์ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีจะมีร้านค้าเปิดใช้คิวอาร์โค้ดของธนาคารราว 200,000 ร้านค้า และจะขยายให้ถึง 1,000,000 ร้านค้าในปีหน้า

 

ส่วนแบงก์ไทยพาณิชย์ หรือ SCB ก็แรงไม่แพ้กัน “อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ผู้บริหารสูงสุดผลิตภัณฑ์รายย่อย และระบบชำระเงินรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารได้ทำแคมเปญ “SCB EASY Pay-แม่มณี Money Solution” พร้อมให้ตุ๊กตานางกวักแม่มณี เป็นป้ายอะครีลิกกับร้านค้าที่เปิดบัญชีคิวอาร์โค้ดกับธนาคาร โดยมุ่งเจาะกลุ่มร้านค้ารายย่อย ตั้งแต่ตลาดขายส่ง ตลาดนัด ตลาดสด ยันห้างสรรพสินค้า

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยเอสเอ็มอีทำธุรกิจง่ายขึ้น เช่น Merchant App เพื่อช่วยลูกค้าทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย หรือแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide ที่จะเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ให้ลูกค้าด้วย

“สิ่งที่ไทยพาณิชย์ทำต้องมากกว่าการให้โปรโมชั่น คือการทำให้ร้านค้าที่เป็นลูกค้าธนาคารมีทางเลือกและโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น แพลตฟอร์มนี้จะช่วยร้านค้าได้มาก นอกจากการขยายพื้นที่ในกรุงเทพฯ แล้วก็ได้ขยายหาดใหญ่เป็นที่แรก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงของภาคใต้ และเตรียมที่จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป โดยแบงก์จะเน้นให้สาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,000 สาขา ทำหน้าที่หาร้านค้าในทุกจุด ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด” นางอภิพันธ์กล่าว

โดยตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีร้านค้าเข้ามาใช้คิวอาร์โค้ดของธนาคาร 200,000 ร้านค้า และคาดว่าปี 2561 จะขยายได้อีกกว่า 500,000 ร้านค้า

 

ขณะที่ยักษ์ใหญ่ “ธนาคารกรุงเทพ” อาจเห็นความเคลื่อนไหวไม่มากเท่า 2 แบงก์แรก แต่ก็กำลังเร่งรุกหนักไม่แพ้กัน “ปรัศนี อุยยามะพันธุ์” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารเตรียมบุกทั่วประเทศเช่นกัน และคาดว่าภายในไตรมาสแรกปีหน้าจะมีร้านค้ากว่า 100,000 แห่งที่เปิดบัญชีรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดกับธนาคารกรุงเทพ จากปัจจุบันที่มีประมาณ 17,000 ร้านค้า

นโยบายหลักของธนาคารจะเน้นให้พนักงาน สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดลงพื้นที่เจาะกลุ่มร้านค้ารายย่อยในตลาดนัด ตลาดสด รถรับจ้างสาธารณะ ธุรกิจขายตรง บริษัทขนส่งสินค้า ร้านค้า โรงอาหาร รวมถึงมูลนิธิ วัด เพื่อเสนอบริการการใช้คิวอาร์โค้ดในการรับชำระเงิน

“มูลนิธิ วัด เป็นอีกกลุ่มที่เรามีฐานลูกค้าพอสมควร ในอนาคตจะเห็นคิวอาร์โค้ดติดหน้าตู้บริจาค เวลาคนจะบริจาคสามารถสแกนได้เลย โดยในต่างจังหวัดจะเน้นการเจาะเข้าไปในร้านค้าชุมชนต่างๆ รวมทั้งร้านค้าในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เชียงใหม่ เป็นต้น” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพกล่าว

ใช่ว่าจะมีแค่ 5 แบงก์ใหญ่เท่านั้นที่เปิดศึกสมรภูมิตลาดไร้เงินสด เพราะ “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรมของ BAY กล่าวว่า แม้วันนี้ธนาคารยังไม่ได้ออกจากแซนด์บ็อกซ์ของ ธปท. เพราะกรุงศรี ถือเป็นเฟส 2 ที่ ธปท. กำลังอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะออกได้ราวปลายปีนี้

แต่ตอนนี้ “กรุงศรี” ก็ไม่ได้อยู่เฉย ได้ส่งพนักงานและทีมเอาต์ซอร์ซเข้าไปเจาะพันธมิตรร้านค้าที่อยู่ใน “กระเป๋า” แล้วเช่นกัน เช่น การลงพื้นที่คุยกับร้านค้าพันธมิตรตามเซ็กเมนต์ต่างๆ ที่มีอยู่ราว 200 บริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีเชน สาขา หรือแฟรนไชส์จำนวนมาก ทั้งประเภทร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า ฯลฯ

เป้าหมายของ “กรุงศรี” คือดึงดูดร้านค้าให้มาลงทะเบียนก่อน เพราะหัวใจสำคัญของการแข่งขันครั้งนี้ขึ้นอยู่กับร้านค้าว่าจะเลือกใช้บริการของธนาคารไหน

“สนามแข่งขันนี้ยังกว้างมาก ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ดังนั้น กลยุทธ์คือการกระจายออกหาลูกค้าของตัวเองให้ได้มากที่สุด ทั้งเพิ่มทีมเอาต์ซอร์ซในการหาลูกค้าเพื่อให้เข้าช่วยเปิดบัญชีให้กับร้านค้า ขอความร่วมมือสาขาเพื่อหาลูกค้า หรือการเตรียมระบบหลังบ้านให้เสถียร เพื่อให้การใช้คิวอาร์โค้ดมีประสิทธิภาพ เป้าหมายแรกของกรุงศรีคือ ตั้งเป้ากวาด 5 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศให้ได้”

 

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสนามรบใหม่ในยุค “สังคมไร้เงินสด” ที่บรรดาแบงก์พาณิชย์ทั้งหลายลงไปไล่ล่าฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งเป็นร้านค้ารายย่อยต่างๆ ที่เดิมใช้เงินสด

ถือเป็นเกมใหม่ของแบงก์ในการสร้างฐานข้อมูลการเดินบัญชีของร้านค้าต่างๆ เพื่อมาใช้ต่อยอดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อต่อไป

น่าจับตาว่าเกมนี้ แต่ละแบงก์ใครจะแย่งชิงบทบาทผู้นำได้ในท้ายที่สุด