ผู้ว่าการ ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย เผชิญวิกฤตแบงก์โลก-ดอกเบี้ยสูง ห่วงนโยบายหาเสียงเพิ่มภาระงบประมาณ

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

ผู้ว่าการ ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย

เผชิญวิกฤตแบงก์โลก-ดอกเบี้ยสูง

ห่วงนโยบายหาเสียงเพิ่มภาระงบประมาณ

 

ประเทศไทยอยู่ในโหมดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ โหมโรงนโยบายหาเสียงกันคึกคัก ทำให้เกิดความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากขึ้น หลังจากหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญศึกหลายด้าน ทั้งวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ จนถึงความปั่นป่วนจากการดำเนินนโยบายการเงินของเหล่าประเทศมหาอำนาจที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเผชิญกับ 4 ช็อก ได้แก่

1. การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 หดตัว -6.1%

2. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานและอาหารพุ่งขึ้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยปรับเพิ่มขึ้นสูง

3. เงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงโดยพร้อมเพรียงกัน ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี และเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 16 ปี ที่ระดับ 38.40 บาทต่อดอลลาร์

“ทั้งหมดนี้นำมาสู่ช็อกที่ 4.น้ำลด ตอผุด เมื่อบริบทโลกที่เคยอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมานาน มาเจอการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจบนสมมุติฐานดอกเบี้ยต่ำจึงเกิดปัญหา เหมือนเช่นธนาคารในอังกฤษและสหรัฐ อย่างกรณี Silicon Valley Bank (SVB) เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยจำกัด”

อย่างไรก็ดี ปัญหาแบงก์ล้มในอังกฤษและสหรัฐนั้น คงไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ปัญหาจบหรือยัง แต่หากดูดัชนีชี้วัด ความเสี่ยงเริ่มต่ำลงและคลี่คลายลง แต่มองว่าปัญหายังไม่น่าจบ เพราะคาดว่าอาการ “น้ำลด ตอผุด” คงจะต้องมีเกิดขึ้นกับที่อื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายภายใต้สมมุติฐานดอกเบี้ยต่ำมานาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายคนวิเคราะห์ว่าจะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) แต่ปัจจุบันปัญหามาโผล่ที่ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินท้องถิ่น

“เราจับตามองและมีความกังวลภายใต้บริบทการขึ้นดอกเบี้ยแรง มองว่าความผันผวนของตลาดการเงินโลกยังคงมีอยู่ แม้ว่าสถานการณ์จะดูคลี่คลายลง แต่หากสังเกตจะเห็นว่าสหรัฐออกมาตรการจัดเต็ม หรือออกยาแรง แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง เราจึงต้องจับตาดูความเสี่ยงต่างๆ โดยรวมของโลกที่มีนัยสำคัญต่อไทย เช่น ทิศทางของจีน และอาการน้ำลด ตอผุด จากดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด”

 

ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยนั้น เป็นเรื่องที่ ธปท.ให้ความสำคัญ จึงเป็นที่มาของการปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นเร็วและแรงเหมือนต่างประเทศ เนื่องจากจุดเปราะบางที่ ธปท.ห่วงที่สุด คือหนี้ครัวเรือน เพราะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ลำบาก

“ธปท.อยากเห็นหนี้ครัวเรือนไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะปรับลงจากเดิม 90% มาอยู่ที่ 87% แต่จะเห็นว่าลงช้า ซึ่งหากปล่อยให้ลดลงเองจะกระทบต่อการฟื้นตัว จึงต้องมีมาตรการดูแล โดย ธปท.พยายามแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาต้องดูให้ครบวงจร ทั้งการก่อหนี้ การชำระหนี้ ไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีก ซึ่งภายในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการฉายภาพในเรื่องของมาตรการให้ชัดเจนขึ้น”

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2566 นี้ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า นักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดี กลับมาที่ 28 ล้านคน ล่าสุดตัวเลขอยู่ที่ 66,000 คนต่อวัน ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่ตัวเลขเสมือนการว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง) ปัจจุบันกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ 2.6 ล้านคนแล้ว จากช่วงโควิดที่สูงถึง 6.2 ล้านคน โดยมองไปข้างหน้าเทรนด์การฟื้นตัวชัดขึ้น โดยช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะโตกว่า 4% จากครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะขยายตัว 2.9-3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่กรอบที่วางไว้ 2.5% ในช่วงครึ่งปีหลัง

“เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.4% สูงกว่าที่เคยเห็น โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานภาคบริการที่กังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวสูง ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างหนืด และเป็นตัวที่จับตามอง แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้ากรอบเร็วกว่าคาด แต่เข้ากรอบเพียงเดือนเดียว ดังนั้น ธปท.ต้องมั่นใจว่าในระยะข้างหน้าเครื่องยนต์เงินเฟ้อจะไม่ติด จึงต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป”

ด้านค่าเงินบาทยอมรับว่า ผันผวนกว่าค่าเงินสกุลอื่นภูมิภาค และผันผวนมากขึ้นหากเทียบกับอดีต แต่ถ้าเทียบกับค่าเงินสกุลหลักๆ ก็ถือว่าผันผวนน้อยกว่า และความผันผวนของค่าเงินบาทหลักๆ มาจากปัจจัยโลกถึง 83% ทั้งนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดความผันผวนค่าเงินบาท ทั้งการเดินหน้าแนวนโยบาย FX ecosystem เพื่อให้เงินไหลเข้าไหลออกสมดุลมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะใน 4 สกุลเงิน ริงกิต-มาเลเซีย รูเปียห์-อินโดนีเซีย เยน-ญี่ปุ่น และหยวน-จีน

“ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทผันผวนมากขึ้น หลักๆ มาจากไทยมีการผูกกับจีนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค และมีธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินหยวนมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ดังนั้นเวลามีกระแสข่าวจากจีน จะเห็นว่าค่าเงินบาทถูกกระทบมากกว่าสกุลอื่นๆ”

“ถัดมาคือ ทองคำ เนื่องจากคนไทยนิยมซื้อทองคำค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเข้าไปลงทุนผ่านกองทุน FIF (Foreign Investment Fund) ที่ต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (hedging)”

 

สําหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น ทำให้พรรคการเมืองสู้กันด้วยนโยบายที่ออกแนวประชานิยมนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า บริบทเศรษฐกิจไทยตอนนี้เรื่อง “เสถียรภาพ” สำคัญมากกว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น”

ดังนั้น นโยบายอะไรที่มากระทบเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี โดยนโยบายที่สำคัญกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นควรจะเป็นสร้างศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาว ทำอะไรที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เศรษฐกิจไปได้ในอนาคต หรือการมุ่งไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืน

“ที่ผ่านมานโยบายที่มุ่งกระตุ้นตรงนั้นตรงนี้ ได้ผลชั่วคราวในแง่ตัวเลข แต่มีผลข้างเคียง เช่น หนี้ตามมา ดังนั้น เวลาทำนโยบายจะต้องดูให้ครบ ว่าผลของการกระตุ้นที่จะเกิดขึ้นตามมา และค่าเสียโอกาสของงบประมาณที่มีจำกัด นโยบายที่สร้างพฤติกรรมการเงินที่มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ อาจต้องระมัดระวังมากขึ้น และต้องคำนึงถึงเสถียรภาพเป็นสำคัญ การกระตุ้นด้วยนโยบายประชานิยม คือการดูแลในระดับที่มากเกินไป”

“นโยบายอันหนึ่งที่บ้านเราไม่ควรเห็นคือ นโยบายทอดแห ลดค่านั่นค่านี่ เป็นอะไรที่ไม่เฉพาะเจาะจง ทำให้เงินไม่ไปในจุดที่ควรไป เช่น นโยบายบางอัน คนรวยอาจจะได้ ดังนั้น นโยบายควรเป็นนโยบายแบบพุ่งเป้า หรือ Targeted เช่น บัตรคนจน ลงไปที่คนจน ดีกว่าทอดแห” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวในที่สุด