‘อาเซียน’ กับภารกิจ ‘คนกลาง’ ในความขัดแย้งจีน-สหรัฐ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ไมเคิล วาติคิโอติส อดีตผู้สื่อข่าวที่คร่ำหวอดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน และในปัจจุบันผันตัวไปรับหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์เพื่อการศึกษาการสานสนทนาเชิงมนุษยธรรม เขียนบทความแสดงความคิดเห็นล่าสุดไว้ในนิเกอิ เอเชีย เมื่อ 23 เมษายนที่ผ่านมา

เรียกร้องว่า แทนที่จะ “เลือกข้าง” ข้างใดข้างหนึ่ง อาเซียนควรพิจารณารับบทบาท “คนกลาง” ผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่นับวันจะทวีขึ้นทุกทีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา นับวันจะกลายเป็นความวิตกกังวลในระดับนานาชาติมากขึ้นทุกที เพราะในขณะที่ความสัมพันธ์ทางการทูตและในทุกรูปแบบระหว่างประเทศทั้งสอง แทบจะยุติลงโดยสิ้นเชิง

วาทกรรมที่สาดใส่กันยิ่งแข็งกร้าวแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ในเวลาเดียวกันทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนก็ทุ่มเททั้งเวลาและพลังงานไม่น้อยในการสร้างแรงกดดันต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเพื่อดึงมาอยู่ข้างเดียวกันกับตนเอง

ก่อให้เกิดผลกระทบ สร้างความอึดอัด คับข้องใจและอกสั่นขวัญแขวนขึ้นทั่วกันโดยเฉพาะในประเด็นของ “ไต้หวัน”

 

ประเด็นของวาติคิโอติสก็คือ เป็นไปได้ไหมที่จะโน้มน้าวชักจูงให้ทั้งสองประเทศ แทนที่จะแข่งกันเป็น “ที่หนึ่ง” ให้ต่างฝ่ายต่างหันมา “ร่วมมือกัน” ทุ่มเทกับความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาคาราคาซังในภูมิภาคที่จะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแทน

เขายกตัวอย่างเช่นกรณีของ “เมียนมา” ซึ่งโดยลำพังอาเซียนเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่กำลังจะก่อให้เกิดวิกฤตผู้อพยพครั้งใหม่ขึ้นในภูมิภาค วาติคิโอติสเชื่อว่า การดำเนินโครงการเพื่อมนุษยธรรม โดยสหรัฐอเมริกาจากชายแดนไทย บวกกับจีนจากพื้นที่พรมแดนติดต่อกับเมียนมา จะช่วยให้ชะตากรรมของชาวเมียนมาพลัดถิ่นที่ในเวลานี้มีอยู่ถึงกว่า 2 ล้านคนทั้งในและนอกประเทศให้บรรเทาเบาบางลงได้

สหรัฐและจีน สามารถร่วมมือกันช่วยยุติความตึงเครียดทางนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีก็ได้ โดยแทนที่จะยืนดูอยู่เฉยๆ รอให้เกาหลีใต้ตัดสินใจพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้น จีนสามารถกดดันให้เกาหลีเหนือให้ยุติการนำอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์เข้าประจำการ ในขณะที่สหรัฐสามารถยับยั้งการพัฒนาในเกาหลีใต้ได้

เขาชี้ให้เห็นด้วยว่า แทนที่จะแข่งกันให้เงินทุนสนับสนุนความคิดริเริ่มต่างๆ แข่งกันในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งสหรัฐและจีนสามารถร่วมมือกัน ประสานงานการให้ทุนสนับสนุนและการศึกษาวิจัย เพื่อให้อนุภูมิภาคแห่งนี้มีความพร้อมในการรับมือกับภาวะโลกร้อนและวิกฤตด้านอาหารที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แล้งมากขึ้นและน้ำท่วมรุนแรงขึ้นได้

ทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันสร้างสรรค์ประโยชน์ได้แม้แต่ในพื้นที่ขัดแย้งสูงอย่างทะเลจีนใต้

คำถามคือ ทำอย่างไร?

 

ไมเคิล วาติคิโอติส เสนอวิธีเอาไว้ดังนี้ครับ

แรกสุด อาเซียนจำเป็นต้องหารือกับสหรัฐอเมริกา, จีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ตั้งแต่ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นการ “เร่งด่วน” ในแง่ของ “ความเสี่ยงด้านความมั่นคง” ในภูมิภาค

เขาชี้ว่า กลไกเดิมที่มีอยู่ อย่างเช่น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรืออีสต์เอเชีย ซัมมิต, หรือเวทีการประชุมความมั่นคงในภูมิภาค (เออาร์เอฟ) ไม่เพียงแยกขั้วมากเกินไป ยังไร้เรี่ยวแรง ไร้ประสิทธิภาพมากเกินไปอีกด้วย

รูปแบบที่จะทำให้อาเซียนสามารถแสดงบทบาท “ตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ย” ดึงมหาอำนาจทั้งสองให้มาทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่ก็คือ รูปแบบดั้งเดิม อย่าง “อาเซียนพลัส” ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในทศวรรษ 1990

เป้าหมายก็คือ เพื่อวางกรอบสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาคเสียใหม่ แต่งตั้งคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนด “พิมพ์เขียวความมั่นคงในภูมิภาค” ขึ้นมาใหม่ ที่รวมเอาการเป็น “เขตปลอดนิวเคลียร์” เข้าไว้ร่วมกับประเด็นที่มีนัยสำคัญสูงสุดอื่นๆ อาทิ เสถียรภาพทางการเงิน, ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เป็นต้น โดยอยู่บนพื้นฐานของ “ความมั่นคงร่วมของมนุษย์” ไม่ใช่การแบ่งกลุ่มเชิงภูมิรัฐศาสตร์อีกต่อไป

ในเวลาเดียวกัน อาเซียนเองก็จำเป็นต้องมี “วาระริเริ่มระดับภูมิภาค” ที่เป็นของตนเองอย่างชัดเจนอยู่ด้วย อาทิ เรื่องโลกร้อน ซึ่งต้องสอดคล้องและหนุนเสริมกับกระบวนการที่สหประชาชาติดำเนินการอยู่ในเวลานี้

วติคิโอติสยอมรับเอาไว้เองในข้อเขียนนี้ว่า ความพยายามดึงให้มหาอำนาจเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของภูมิภาคร่วมกันนี้เป็น “อุดมคติ” และ “อาจถึงกับไร้เดียงสา” แต่ไม่ถึงกับ “เป็นไปไม่ได้” เสียเลยทีเดียวแน่นอน

เพียงต้องอาศัยความมุ่งมั่น แน่วแน่และเจตนารมณ์ทางการเมืองขั้นสูงเท่านั้นเอง