จรัญ พงษ์จีน : ส่องสถานะเลือกตั้งท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ

จรัญ พงษ์จีน

กลับมาเป็นประเด็นร้อนๆ ในทันทีที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะให้เลือกตั้งท้องถิ่นชิมลางไปพลางๆ ก่อนมีเลือกตั้งใหญ่

บรรดาคอการเมืองออกมาซี้ดซ้าดวิพากษ์วิจารณ์กันให้แซ่ด

แต่เอาเข้าจริงการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันอย่างที่นักการเมืองอยากเห็น อยากให้เป็น เพราะ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แจกแจงรายละเอียดว่าต้องปลดล็อกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นถึง 6 ฉบับ

1. พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545

2. พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.)

3. พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.)

4. พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496

5. พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2528

6. พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542

ถึงแม้ว่ากฎหมายทั้ง 6 ฉบับนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเรียบร้อยแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็น กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งยังมีขั้นตอนยื่นคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนเสนอต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบ

ประเมินแล้วกว่าจะเข้าสู่กระบวนการชงให้ “สนช.” ยกมือไฟเขียวร่างกฎหมายทั้งหมด คงยาวข้ามปี เผลอๆ อาจเลยทะลุถึงกลางปี 2561 ดีไม่ดีไปชนกับห้วงเวลาเตรียมเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็เป็นได้

 

นอกจากรอกฎหมาย 6 ฉบับคลอดแล้ว ถ้าจะจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ยังมีอีกล็อกที่ต้องปลด นั่นคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง

อย่างที่รู้ๆ กัน รัฐบาลเซ็ตซีโร่ “5 เสือ กกต.” ชุด นายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธานไปเรียบร้อย ระหว่างนี้ทำหน้าที่แค่รักษาการ รอสรรหา กกต.ชุดใหม่เพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งหน้า

ตามมาตรา 222 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดจำนวน กกต. ทั้งหมด 7 คน มาจาก 2 ส่วน

ส่วนแรก คณะกรรมการสรรหา เป็นผู้คัดเลือก 5 คน

ส่วนที่สอง ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเป็นผู้คัดเลือก 2 คน

ต้นเดือนธันวาคมนี้ คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมี นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน จะเลือก 5 คนจากผู้สมัครจำนวน 41 คน แว่วๆ มีผู้สมัครไม่ผ่านคุณสมบัติเป็น “กกต.” เกินกว่าครึ่ง

ฝ่ายที่ประชุมศาลฎีกาคัดเลือกมาอีก 2 ก่อนส่งให้ สนช. เห็นชอบ

 

กระแสการเมืองห้วงนี้ ถือว่าเข้าสู่โหมดโหมโรง เลยถือโอกาสไปนั่งคุยกับหนึ่งในตัวเก็งผู้สมัคร กกต. อยากฟังความเห็นและมุมมองการเลือกตั้งครั้งหน้า (ถ้ามี) จะช่วยตัดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองได้หรือเปล่า หรือจะเป็นชนวนให้เกิดศึกเสื้อสีตีกันอีกรอบ?

ผู้สมัคร กกต. ตอบสวนทันควันว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ได้ทำให้การเมืองกลับมาสงบราบรื่นและใสสะอาด ตราบใดที่ยังเปิดโอกาสให้นักเลือกตั้งเข้าไปละเลงงบประมาณของประเทศ

ต้องยอมรับความจริงว่าการเมืองไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ปลายทางคือการมุ่งสู่อำนาจ

ทั้งก่อนและหลังการได้มาซึ่งอำนาจนั้น “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

เงินใช้ซื้อเสียงขายสิทธิ์ เมื่อชนะเลือกตั้งแล้วก็เอาเงินไปซื้อตำแหน่ง ได้ตำแหน่งมาก็จ้องถอนทุนคืน ทั้งเจาะงบประมาณ นั่งกินเปอร์เซ็นต์

เงินเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำให้คนดีๆ แต่ไม่มีทุน พากันแหยงไม่เข้ามาเกลือกกลั้วกับวงจรอุบาทว์ เวทีการเมืองจึงเป็นที่สุมหัวของโจรเสื้อสูท มาเฟีย พ่อค้าเจ้าเล่ห์ อดีตข้าราชการขี้ฉ้อ

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะได้ยินข่าวการซื้อเสียงโหมกระพือในทุกระดับ

ใครอยากเป็น ส.ส. ต้องจ่ายให้พรรคการเมืองเป็นหลักสิบล้าน

อยากเป็นรัฐมนตรีต้องมีเงื่อนไขแลกหาผลประโยชน์ตอบแทนให้กับพรรค

บางพรรคตีราคาเก้าอี้รัฐมนตรี มูลค่าหลายร้อยล้าน

ในระดับท้องถิ่น ขบวนการซื้อเสียงไม่น้อยหน้าเลือกตั้งระดับประเทศ บางแห่งฉาวโฉ่ยิ่งกว่า

เลือกตั้ง อบต. ซื้อเสียงกันหัวละเป็นพัน ระดับนายกเทศมนตรี นายก อบจ. บางแห่งทุ่มเงินซื้อเสียง 50-80 ล้านบาท

ถามว่า นักเลือกตั้งเหล่านี้อยากได้เงินเดือนตอบแทนในตำแหน่งแค่นั้นหรือ ตอบสั้นๆ ว่า ดราม่า เพราะความจริงคือต้องการเข้าไปสวาปามงบประมาณแผ่นดิน ควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการใหญ่เล็กทั้งหลาย

กระทรวงใหญ่ระดับเกรดเอ อย่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงกลาโหม มีเงินงบประมาณปีละเฉียดๆ สองแสนล้านบาท

ใครคว้าตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอได้ก็ยิ้มหน้าบาน กระเป๋าตุง ไม่เฉพาะคุมงบฯ หากยังมีอำนาจโยกย้ายข้าราชการระดับสูงซึ่งมีราคาเก้าอี้เป็นเดิมพัน

ในระดับท้องถิ่น งบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด บางจังหวัดสูงถึง 3 พันล้านบาท

งบประมาณของเทศบาลนคร บางแห่งมากกว่า 1,500 ล้านบาท

การทุ่มเงินซื้อเสียงแค่ 50 ล้าน แลกกับการเข้ามาคุมงบฯ พันๆ หมื่นๆ ล้าน รองาบค่าหัวคิว 20-30 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจถึง 50% ภาษาชาวบ้านบอกว่าวัดครึ่งกรรมการครึ่ง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มเกินคุ้ม

การทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการจึงกลายเป็นเหตุผลหลักในการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง กระทั่งครั้งล่าสุด คสช. นำมาเป็น 1 ใน 10 เหตุผลล้มรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

 

ผู้สมัคร กกต. คนดังกล่าวเสนอแนวทางตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการตั้งกระทรวงจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกับยุบทิ้งหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างในทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงองค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญให้โอนย้ายทำงานกับกระทรวงจัดซื้อจัดจ้างซึ่งมีหน้าที่ชัดเจนคือจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยงานราชการทุกระดับ

ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุขต้องการซื้อเครื่องมือแพทย์ ให้ส่งสเป๊กไปยังกระทรวงจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อสรรหาแหล่งผลิตอุปกรณ์ ตรวจสอบราคา คุณสมบัติบริษัทที่เข้าประมูล จนกระทั่งได้ราคาที่คุ้มค่าสมประโยชน์กับทางราชการ

กรมทางหลวง ต้องการก่อสร้างถนน ให้อธิบดีรวบรวมข้อมูลโครงสร้างถนนสายนั้นๆ ตั้งแต่ความกว้างยาว ขนาดของหิน ชนิดของยางมะตอย ฯลฯ ทำเป็นทีโออาร์ส่งให้กระทรวงจัดซื้อจัดจ้างตรวจสอบราคาและจัดประมูล

องค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบจ. ต้องการซื้อเครื่องจักรกล จัดทำสเป๊กส่งให้กระทรวงจัดซื้อฯ

ผลดีของกระทรวงจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากจะตัดตอนขบวนการทุจริตเงินงบประมาณแล้ว ยังช่วยให้การบริหารราชการเกิดประสิทธิภาพโปร่งใส

การแบ่งเกรดกระทรวงจะหมดไปโดยปริยาย เพราะทุกกระทรวงกำหนดได้แค่นโยบาย และมีหน้าที่เพียงเสนองบประมาณ ไม่มีสิทธิเข้าไปล้วงลูกในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

เมื่อไม่มีผลประโยชน์มาล่อใจ นักเลือกตั้งไม่รู้จะทุ่มเงินไปซื้อเสียงทำไมอีก

วิธีการนี้จะทำให้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงแห้งตายซาก ผลตามมาจะเกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่มุ่งหวังเข้ามาบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า คนดีๆ มีความรู้ความสามารถพร้อมกระโจนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

ว่าแต่ว่า คสช. และรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จะเห็นดีด้วยกับการตั้งกระทรวงจัดซื้อจัดจ้างหรือเปล่า?