ปัญหาของญี่ปุ่นอันเนื่องด้วย ยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่

(Photo by Kiyoshi Ota / POOL / AFP)

ความเคลื่อนไหวของนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่นนับตั้งแต่เริ่มต้นปีมานี้น่าสนใจจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

เพราะไม่เพียงแค่ริเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายด้านกลาโหมของประเทศครั้งใหญ่เท่านั้น

ยังเปิดฉากปฏิบัติการรุกทางการทูตอย่างต่อเนื่อง นำญี่ปุ่นกลับมาแสดงบทบาทบนเวทีโลกอีกครั้ง ในท่ามกลางความกังวลอันเนื่องมาจากสงครามยูเครน, การเป็นพันธมิตร “ไร้ขีดจำกัด” ระหว่างรัสเซียกับจีน และท่าทีที่ “เอาแน่เอานอนไม่ได้” ของเกาหลีเหนือ

ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดและใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการของคิชิดะ ก็คือการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขเอกสารสำคัญ 3 ฉบับที่เป็นตัวกำหนดนโยบายด้านกลาโหมของญี่ปุ่น

ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ, แนวปฏิบัติของโครงการด้านกลาโหมแห่งชาติ และโครงการด้านกลาโหมระยะกลาง

การปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญสำหรับ “กองกำลังป้องกันตนเอง” ของญี่ปุ่นซึ่งถูกห้าม “ก่อสงคราม” ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ทำให้กองกำลังของญี่ปุ่นสามารถ “โจมตีเพื่อตอบโต้การโจมตี” ต่อฐานทัพของข้าศึกถึงที่ตั้งในประเทศนั้นๆ ได้

 

เพื่อให้สามารถบรรลุผลลัพธ์ดังกล่าวได้ ญี่ปุ่นไม่เพียงต้องพัฒนาขีดความสามารถของ “ไทป์ 12” มิสไซล์ ที่ผลิตเองในประเทศให้สูงขึ้นเท่านั้น

ยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดซื้อ “โทมาฮอว์ก” มิสไซล์ จากสหรัฐอเมริกา ที่มีพิสัยทำการครอบคลุมรัศมี 1,600 กิโลเมตรมาประจำการอีกด้วย

แต่การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุด อยู่ตรงที่แผนการจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหม ซึ่งกำหนดจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในระยะ 5 ปี ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ หากทุกอย่างเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะกลายเป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านการทหารสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น

เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้านการทหารในอนาคต รัฐบาลคิชิดะจัดสรรงบฯ ทหารสำหรับปีงบประมาณนี้เพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยสำหรับประเทศที่ไม่เคยเรียกขานกองทัพว่า “กองทัพ”

และเรียกขานเรือบรรทุกเครื่องบินของตนอย่างถ่อมตัวว่า “เรือปฏิบัติการอเนกประสงค์” เท่านั้น

 

นอกจากนั้น รัฐบาลคิชิดะยังปรับเปลี่ยนแนวทางการให้ความช่วยเหลือต่อต่างประเทศเสียใหม่ แหวกข้อกำหนดเดิมที่จำกัดเพียงแค่การให้ความช่วยเหลือเพื่อวัตถุประสงค์ทางพลเรือนเท่านั้น ด้วยการเพิ่มโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อประเทศอื่นๆ เป็นครั้งแรก เรียกว่า “โครงการช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ”

ประเดิมก้อนแรกด้วยงบประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สำหรับปีงบประมาณนี้ ซึ่งคาดกันว่า ชาติที่จะได้รับความช่วยเหลือจะมีฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และบังกลาเทศรวมอยู่ด้วย

ทั้งหมดนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีทิศทางสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐอเมริกา พันธมิตรสำคัญของญี่ปุนอย่างชัดเจน สหรัฐอเมริกาต้องการให้ญี่ปุ่นเข้ามาแบกรับภาระด้านกลาโหมให้มากขึ้นกว่าเดิม และยินดีกับการสั่งสมสรรพกำลังและอาวุธเพิ่มมากขึ้น ตราบเท่าที่ญี่ปุ่นยังคงเป็นลูกค้ารายใหญ่ของระบบอาวุธอเมริกันอยู่ต่อไป

นอกจากนั้น ในการพบหารือกันระหว่างคิชิดะ กับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายยังบรรลุข้อตกลงในการ “ขยาย” ขอบเขตการประจำการของกองทัพอเมริกันในจังหวัดโอกินาวา ซึ่งแต่เดิมก็ใหญ่โตอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

โอกินาวาเป็นจังหวัดใต้สุดของญี่ปุ่น ที่สามารถเฝ้าระวังไต้หวันได้อย่างใกล้ชิด

ว่ากันว่า เปรียบได้เสมือนกับได้นั่งชมอยู่ในที่นั่ง “ริงไซด์” ในกรณีที่จีนปฏิบัติการทางทหารต่อไต้หวันนั่นเอง

 

การรุกทางการทูตของคิชิดะยิ่งน่าทึ่ง เขาไม่เพียงใช้ประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นประธานกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือจี 7 เท่านั้น

ยังดึงเอาผู้นำระดับสูงของโลกเข้ามาพบหารือได้ทั้งในและนอกประเทศ บรรลุข้อตกลงเพื่อความร่วมมือทางด้านการทหารในหลากหลายด้าน

ไม่เพียงไปเยือนชาติสมาชิกจี 7 อย่างแคนาดา, ฝรั่งเศส, อิตาลี และสหราชอาณาจักร

แต่ยังเดินทางไปพบหารือกับนเรนทรา โมดี้ แห่งอินเดีย ให้การต้อนรับโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมัน และที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งทางด้านพาณิชย์และด้านกลาโหมก็คือการพบหารือกับยุน ซ็อก ยอล แห่งเกาหลีใต้อีกด้วย

นารุชิเกะ มิจิชิตะ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตแห่งชาติเพื่อการศึกษานโยบายในกรุงโตเกียว ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า น่าแปลกใจไม่น้อยที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกที่จะขยายขีดความสามารถทางด้านการทหารขึ้นมหาศาล และรวดเร็วรวบรัดเช่นนี้

เขาเชื่อว่าต้องมี “บางสิ่งบางอย่าง” บ่งชี้ว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเช่นนี้

เหตุผลที่เป็นไปได้มากที่สุดน่าจะเป็น “จีน” นั่นเอง

 

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำให้สาธารณชนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเพียงแค่วิวัฒนาการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางด้านความมั่นคงในเวลานี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางยุทธศาสตร์ที่อาจกลายเป็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญ ในเอกสารชี้แจงยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีการปรับเปลี่ยนแล้ว แต่การโจมตีก่อนเพื่อ “ป้องปราม” โดยที่ยังไม่มีการโจมตีด้วยอาวุธต่อญี่ปุ่นปรากฏขึ้นนั้น “ยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม” อยู่ต่อไป

แต่ ยาซูคาสุ ฮามาดะ รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวในเดือนเดียวกันระบุว่า แม้แต่ “การเตรียมการ” อันแสดงให้เห็นว่าจะโจมตีต่อญี่ปุ่น “แน่ๆ” ก็เพียงพอแล้วต่อการที่ญี่ปุ่นจะ “โจมตีด้วยอาวุธ”

ความคลุมเครือสับสนในประเด็นนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ รัฐบาลคิชิดะจะใช้เงินจากไหนมารองรับ

เพราะหากเป็นไปตามที่กำหนดไว้ งบฯ ทหารที่สูงขึ้นอย่างพรวดพราดจะทำให้การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัวภายในปี 2025 นี้

แนวความคิดเดิมที่ว่าจะขึ้นภาษีเพื่อรองรับต้องพับฐานลงอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่คัดค้าน

โพลของสำนักข่าวเกียวโดระบุว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของคนญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีเพื่อการนี้

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีหนี้ภาครัฐสูงที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 220 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2021

และแม้กระทั่งก่อนที่จะมีการเพิ่มงบฯ ทางทหาร 34 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณของรัฐก็มีที่มาโดยตรงจากการก่อหนี้ใหม่เพื่อให้ได้เม็ดเงินมารองรับ

ปัญหาท้าทายประการสุดท้ายที่นักวิเคราะห์บางคนพูดถึงก็คือ ศักยภาพของทหารญี่ปุ่นมีเพียงพอต่อการสู้รบในสงครามจริงหรือไม่

อย่าลืมว่า ทหารญี่ปุ่นไม่เคยลั่นกระสุนในสมรภูมิใดๆ มาตั้งแต่ปี 1945 หรือเมื่อเกือบ 80 ปีมาแล้ว!