ยูเครนคือสมรภูมิ ประลองอาวุธ AI

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ยูเครนคือสมรภูมิ

ประลองอาวุธ AI

 

สมรภูมิรบในยูเครนได้กลายเป็น “โชว์รูม” แห่งอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีก้าวล้ำกว่าสงครามโลกครั้งที่สองหลายมิติ

เป็นสนามประลองที่เราได้เห็นการใช้ “โดรนกามิกาเซ่” ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสงครามครั้งก่อนๆ

เราเห็นการใช้ AI เพื่อประเมินข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์การสู้รบ

เราเห็นเครือข่ายดาวเทียม StarLink ของ SpaceX ของอีลอน มัสก์ ที่มีดาวเทียมจิ๋วๆ จำนวนมากลอยอยู่เหนือยูเครนเพื่อให้ทหารได้ใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อกับสัญญาณจากสถานีภาคพื้นดินแม้ในแนวรบที่ห่างไกล

การที่กองทัพยูเครนไม่ถูกทหารรัสเซียถล่มโจมตีจนต้องยกธงขาวในสองสามสัปดาห์แรกก็เพราะหน่วยงานด้านเทคโนโลยีของยูเครนโดยการสนับสนุนจากตะวันตกส่งข้อมูลสำคัญๆ บนคลาวด์เพื่อจะปกป้องข้อมูลหลักๆ ไม่ให้ถูกทำลายด้วยขีปนาวุธรัสเซียที่ถล่ม “โครงสร้างพื้นฐาน” ด้านทหารและความมั่นคงของยูเครน

กระทรวงดิจิทัลของยูเครนที่เพิ่งตั้งขึ้นก่อนสงครามเกิดประมาณสองปีปรับตัวทันทีที่ทหารรัสเซียบุก…ด้วยการใช้ Apps ที่ชื่อ Diia เพื่อเก็บข้อมูลจาก open source intelligence หรือข้อมูลข่าวกรองที่ได้จากแหล่งข่าวที่เปิดเผย

เมื่อมี apps นี้แล้วประชาชนยูเครนทั้งหลายสามารถที่จะส่งรูปและคลิปวิดีโอขึ้นไปเพื่อรายงานที่ตั้งของฝ่ายศัตรูให้หน่วยงานทางการได้รับรู้

เหมือนประชาชนเป็นสายข่าวทหารให้กับทั้งกองทัพผ่านมือถือของตน

พอรัสเซียส่งโดรนที่ทำจากอิหร่านมาโจมตีเป้าหมายในสนามรบ ยูเครนก็โต้ตอบด้วยการส่งโดรนของตนที่ออกแบบมาเพื่อการสกัดโครนคู่ต่อสู้โดยเฉพาะ

และทหารยูเครนก็ได้รับการฝึกฝนให้ใช้อาวุธจากตะวันตกที่ตนไม่คุ้นเคยมาก่อน

เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการแข่งขันใช้นวัตกรรมแบบ “แมวกับหนู” ระหว่างรัสเซียกับยูเครนในสนามรบ

เมื่อยูเครนตัวเล็กกว่า กองกำลังน้อยกว่า แต่พร้อมจะปรับตัวด้วยการใช้เทคโนโลยีที่คล่องตัวมากกว่าก็เกิดการได้เปรียบเมื่อหลบเลี่ยงอาวุธร้ายแรงจากฝั่งรัสเซียที่ใหญ่แต่เทอะทะกว่า

ทำให้มองย้อนกลับไปถึงสมัยที่สหรัฐส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ใหญ่ยักษ์มาถล่มเวียดนามเหนือ

แต่ท้ายสุดมะกันก็แพ้สงครามทั้งๆ ที่เวียดนามเหนือและเวียดกงใช้ไม้ไผ่และอาวุธท้องถิ่นต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวกรองที่ชาวบ้านส่งถึงกันและกันเพื่อช่วยกองทัพของตนเอง

กล่าวได้ว่ายุคนั้นเทคโนโลยีสงครามของอเมริกาสู้การจัดวางยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองและการใช้อาวุธพื้นบ้านไม่ได้

แต่สงครามยุคนี้ใครใช้เทคโนโลยีให้เคลื่อนไหวคล่องตัวกว่า หลบซ่อนตัวได้ว่องไวกว่าก็สามารถเอาชนะขีปนาวุธและปืนใหญ่รุ่นเก่าได้

Apps ในมือถืออาจจะทรงพลังกว่าขีปนาวุธยักษ์

โดรนตัวเล็กๆ อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดใหญ่แห่งยุค

 

สงครามยูเครนตอกย้ำสัจธรรมยุคนี้ว่าชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะอยู่ที่ใครสามารถทำให้มนุษย์กับ AI ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นวัตกรรมด้านการผลิตโดรนเป็นตัวอย่างที่ชัดแจ้งที่สุดในกรณีนี้

ในปี 2020 อาเซอร์ไบจานใช้โดรนที่ผลิตโดยตุรกีและอิสราเอลสร้างความได้เปรียบอย่างเด็ดขาดในการทำสงครามกับอาร์เมเนียในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคที่เป็นข้อพิพาท

เป็นการพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นชัยชนะในสนามรบหลังจากความขัดแย้งทางทหารมากว่าสองทศวรรษ

ในทำนองเดียวกัน ฝูงบินโดรนของยูเครนซึ่งหลายลำเป็นโมเดลเชิงพาณิชย์ต้นทุนต่ำที่เปลี่ยนวัตถุประสงค์เพื่อการสอดแนมหลังแนวข้าศึก มีบทบาทสำคัญในการตีพ่ายฝ่ายศัตรูจากหลายแนวรบ

โดรนมีข้อได้เปรียบที่แตกต่างเหนืออาวุธแบบดั้งเดิม

เหตุผลสำคัญคือโดรนมีขนาดเล็กกว่าและต้นทุนการผลิตและใช้งานถูกกว่า

อีกทั้งยังมีมีความสามารถในการสอดแนมและตรวจตราข้อมูลของฝ่ายตรงกันข้ามในระดับที่อุปกรณ์สงครามอื่นๆ ในราคาใกล้เคียงกันเทียบเคียงไม่ได้เลย

ที่สำคัญคือการใช้โดรนทำสงครามลดความเสี่ยงของชีวิตทหาร ตัวอย่างเช่น นาวิกโยธินในสงครามในเมืองอาจใช้ “ไมโครโดรน” หรือ “โดรนจิ๋ว” เป็นหูเป็นตาติดตามไปเพื่อคอยสอดส่องดูแลและประกบหน่วยทหารในปฏิบัติการไปด้วย

 

สงครามยูเครนเป็นเครื่องเตือนใจทั่วโลกว่าประเทศต่างๆ จะเร่งปรับปรุงและพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนโดรนเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างชนิดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในสงครามใดๆ ในอดีต

ในที่สุด โดรนติดอาวุธอัตโนมัติจะไม่หมายความเพียงแค่ยานบินไร้คนขับแต่รวมถึงภาคพื้นดินด้วย

และมันก็จะมาแทนที่ทหารและปืนใหญ่ที่มีคนขับพร้อมกัน

ลองจินตนาการภาพเรือดำน้ำอัตโนมัติที่สามารถเคลื่อนย้ายเสบียงไปยังน่านน้ำที่มีการเผชิญหน้ากันได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว

หรือรถบรรทุกอัตโนมัติที่สามารถหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการบรรทุกเครื่องยิงขีปนาวุธขนาดเล็กข้ามภูมิประเทศที่ขรุขระ

ยิ่งไปกว่านั้น ฝูงโดรนซึ่งสร้างเครือข่ายและประสานงานโดย AI สามารถเอาชนะรถถังและกองทหารราบในสนามได้

และในสมรภูมิทางน้ำในทะเลดำ ยูเครนอาจใช้โดรนโจมตีเรือและเรือเสบียงของรัสเซีย

เราอาจจะเห็นภาพของประเทศที่มีกองทัพเรือขนาดเล็กกดดันกองเรือทะเลดำอันเกรียงไกรของรัสเซียได้อย่างเกินความคาดหมาย

 

ยูเครนเป็นตัวอย่างที่เราจะเห็นบ่อยขึ้นในความขัดแย้งในอนาคต

นั่นคือสงครามจะตัดสินว่าใครแพ้ใครชนะตรงที่ฝ่ายไหนจะสร้างระบบที่มนุษย์และ AI สามารถทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยตะเข็บ

แต่อย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนก่อนๆ ว่ามนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะกำกับและควบคุมพฤติกรรมของ AI ให้ได้

ไม่ปล่อยให้ “ปัญญาประดิษฐ์” ก้าวถึงจุดที่ “ฉลาดกว่าคน” และสามารถตัดสินใจกระทำการในสิ่งที่เกินเลยความถูกต้องเหมาะสมและมาตรฐานแห่งจริยธรรมของสังคมโลกให้ได้

เมื่อปี 2015 สถาบัน Future of Life (อนาคตแห่งชีวิต) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับอาวุธ AI ด้วยคำเตือนว่า

“การแข่งขันด้านอาวุธทั่วโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ทำให้เราต้องคิดต่อว่าการแข่งขันด้านสร้างอาวุธนั้นคือการเผชิญหน้าของใครบ้าง

มีการสรุปว่า “อาวุธอัจฉริยะเทียม” AI weapons อาจจะเป็นคำตอบสุดท้าย

และเป็นคำตอบที่น่ากลัวหากมนุษย์คุมมันไม่อยู่

เพราะหากพิจารณาเพียงด้านการทำสงครามเพื่อจะเอาชนะกันอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมจรรยาและความอยู่รอดของมนุษยชาติ คำตอบก็คือประเทศที่จะชนะเด็ดขาดคือชาติที่สร้างอาวุธ AI ได้

โดยมีคุณสมบัติคือ เล็กที่สุด เร็วที่สุด มีความสามารถซ่อนเร้นดีที่สุดและทำลายกับสังหารได้หนักหน่วงและร้ายแรงที่สุด

โดยไม่สนใจเรื่องความถูกต้องหรือความชอบมาพากลแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ประเทศเล็กๆ ที่มีเทคโนโลยีอันทรงพลัง เช่น อิสราเอล ได้เข้าร่วมการแข่งขันด้วยหุ่นยนต์ทางทหารที่ทันสมัยที่สุดบางตัวแล้ว

และโครนบางตัวมีขนาดเล็กเท่าแมลงวันเท่านั้นที่ทำงานให้หลากหลายมิติกว่าเครื่องบินยักษ์ที่แพง, เทอะทะและเป็นเป้าของการถูกโจมตีได้ง่ายกว่า

เมื่อฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามจะเดินหน้าพัฒนาอาวุธอัตโนมัติ ประเทศอื่นๆ ก็จะถูกแรงกดดันต้องเข้าแข่งขันสร้างอาวุธ AI ด้วยเช่นกัน

การแข่งขันทางอาวุธนี้จะพาสังคมโลกไปที่ไหน?

 

วันนี้แม้อาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริง แต่ประเทศยักษ์ๆ ที่มีนิวเคลียร์ก็ยังมีข้อตกลงที่สามารถตรวจสอบซึ่งกันและกัน

และยังมีการช่วยกันถ่วงดุลด้วย “ทฤษฎีการป้องปราม” หรือที่เรียกว่า deterrent

เพราะสงครามนิวเคลียร์นำไปสู่การทำลายล้างมหาศาล ประเทศใดก็ตามที่เริ่มการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ก่อนก็ตระหนักว่าจะโดนตอบโต้ทันควันด้วยพลังทำลายพอๆ กัน

ท้ายที่สุดก็ตายกันหมด

แต่การใช้อาวุธ AI ไม่อาจจะใช้ “ทฤษฎีการป้องปราม” ได้เพราะการโจมตีครั้งแรกอย่างฉับพลันอาจไปติดตามร่องรอยไม่ได้

คำว่า surprise first attack อย่างที่ใช้กับสงครามนิวเคลียร์ไม่อาจจะนำมาใช้กับการโจมตีด้วยโดรนที่อาจจะถูกปิดบังซ่อนเร้นได้

แต่การโจมตีด้วยอาวุธอัตโนมัติสามารถกระตุ้นการตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว และการลุกลามหนักหน่วงจนอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้

เพราะเอาเข้าจริงๆ “การโจมตีครั้งแรก” อาจไม่ได้เกิดจากประเทศใดประเทศหนึ่งด้วยซ้ำ

แต่เกิดจากผู้ก่อการร้ายหรือผู้กระทำการของกลุ่มคนที่ไม่ใช่รัฐ

นั่นทำให้ระดับอันตรายของอาวุธอัตโนมัติรุนแรงขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว