เรื่องสั้น : บุญก้นที่ได้นั่ง

เช้านี้ ต้องพาพ่อไปทำธุระในตัวอำเภอ คิดทบทวนหลายตลบแล้ว มีแต่ทางนี้เท่านั้นที่ครอบครัวเราจะมีรถขับเหมือนใครเขา

ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ – ถ้าแม่ไม่ป่วย เข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ ครอบครัวเราก็คงจะอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินเรื่องรถให้ปวดหัว

ทุลักทุเลเกินไป คิดแล้วเวทนาตัวเอง อยากให้ทั้งหมดเป็นเพียงความฝัน สภาพที่ต้องพาแม่นั่งรถเข็นพ่วงมอเตอร์ไซค์ วิ่งฝ่าแดด-ฝนไปบนทางหลวงที่รถราวิ่งเร็วจี๋ บางทีสิ้นเปลืองค่าจ้างรถราเพื่อนบ้าน ไหว้วานให้ช่วยไปส่งตอนที่แม่ทรุดหนักกะทันหัน

ทุกครั้งที่คิดถึงเหตุการณ์เหล่านี้ เผลอทำน้ำตาหล่นจนต้องกัดฟันพร้อมกลืนก้อนสะอื้น

พ่อคงคิดมาดีแล้ว จึงเสนอเรื่องกู้เงิน ธ.ก.ส. ซื้อรถกระบะสักคัน ให้ผมไว้คอยรับส่งแม่ไปโรงพยาบาล

แต่งตัวดีกว่าปกติ เสื้อเชิ้ตลายสก๊อต กางเกงยีนส์ที่นานๆ จะใส่ออกงานสักครั้ง รองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ หวีผมเรียบแปล้ ก่อนจะได้มาพบว่าต้องขับมอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อก

มอเตอร์ไซค์ที่มีพ่อซ้อนท้ายวิ่งขึ้นเหนือมาตามทางหลวงหมายเลข 42 ผ่านกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ทหารตั้งด่านรักษาความมั่นคง ตรวจตราเข้มงวด รถติดสะสมยาวเหยียด คนขับรถยนต์หลายคันลดกระจกชะโงกหน้าออกมาดู

แม้จะคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ เจอะเจอกันบ่อยแค่ไหน แต่ไม่ได้แปลว่าเขายอมโอนอ่อนผ่อนปรนให้ผ่านไปโดยง่าย

“นายสั่งมา… วันนี้พิเศษหน่อย” ทหารหนุ่มบอกพ่อ พยักหน้าทักทายผม

เหลือบไปเห็นทางประตูหน้าค่าย คนกลุ่มหนึ่งยืนอออยู่บริเวณป้อมยาม “มีอะไรหรือเปล่า” ผมถาม

“อ้อ นักข่าว…” ทหารหนุ่มบอก

“เกิดอะไรขึ้น”

“เขามาดูเรือเหาะ” พูดพร้อมคืนสมุดคู่มือรถ ใบขับขี่ ยกมือทำท่าตะเบ๊ะเป็นสัญญาณให้ผ่านไปได้

จากด่านตรวจหน้าค่าย ผ่านสนามบินปัตตานี โรงพยาบาลหนองจิกริมคลองกาแลกูโบ สักพักจะมองเห็น ธ.ก.ส. ตั้งอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ

ธนาคารยังไม่เปิด ผมชวนพ่อไปนั่งดื่มกาแฟที่ร้านอีกฟากถนน

แม่ไม่เห็นด้วยเรื่องการกู้เงิน ธ.ก.ส. ซื้อรถ พ่อพยายามอธิบายถึงความจำเป็น ชี้ช่องให้เห็นว่านี่เป็นทางเดียวที่เราจะมีรถขับ

คนทำสวนทำไร่ ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีเครดิต ธนาคารไหนจะให้ไฟแนนซ์ ช่องทางที่เพื่อนบ้านชาวสวนด้วยกันเคยใช้ ในฐานะสมาชิก ธ.ก.ส. เตรียมเอกสารค้ำประกันคือโฉนดที่ดินทำกิน นำไปจำนอง ขอให้ธนาคาปล่อยกู้ แจ้งความประสงค์ว่าจะซื้อรถ ซึ่งได้แต่รถกระบะเท่านั้น เพราะธนาคารตีค่าว่าเป็นอุปกรณ์การเกษตร ยื่นเอกสาร รออนุมัติประมาณ 1 อาทิตย์ถึง 1 เดือน

หลังฟังพ่ออธิบายยาวเหยียด แม่มีอาการไออย่างรุนแรง แต่มือไม้บอกปัดว่าไม่เป็นอะไร หน้านิ่วคิ้วขมวดของแม่ถามว่า “แล้วจะเอาเงินจากไหนไปผ่อน เดือนละเท่าไหร่กันล่ะ”

“จ่ายรายปี ทำสวน ทำไร่ ขายโน่นขายนี่ เก็บเงินพอได้อยู่หรอก” พ่อว่า

แม่ถอนหายใจ “ได้แต่รถกระบะเหรอ”

พ่อคราง “อือ”

“บุญก้นฉันคงไม่มีโอกาสได้นั่งรถเก๋งสินะ”

พ่อแสร้งหัวเราะ หันมามองเหมือนจะพยายามเค้นถามความมั่นใจว่า ลูกชายคนนี้จะมุ่งมั่นทำงานหนัก เก็บหอมรอมริบเพื่อแต่ละปีจะมีเงินไปจ่ายให้กับธนาคาร

แดด 8 โมงเริ่มแรงขึ้น ที่ร้านกาแฟมีลูกค้าอยู่ประมาณ 4-5 คน

3 คนนั่งคุยกันเสียงดังเรื่องการขึ้นภาษีเหล้า บุหรี่ คนหนึ่งพ่นประโยคใส่อีก 3 คนว่า เศรษฐกิจแย่ มีเงินไม่กล้าใช้ หาเงินลำบาก ต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุน นักท่องเที่ยวหดหาย สุดท้ายรัฐก็ต้องมารีดเอาจากข้าวของอบายมุข ซึ่งคงไม่มีคนดีที่ไหนจะกล้าลุกขึ้นมาประท้วงต่อว่า ยิ่งสถานการณ์ทหารปกครองประเทศแบบนี้ ยิ่งยากจะเกิดขึ้นได้

ใครคนหนึ่งซึ่งยังไม่เห็นหน้าถนัดชัด นั่งอ่านหนังสือพิมพ์เงียบๆ ตรงโต๊ะมาหินอ่อนใกล้ๆ ควันบุหรี่ลอยโขมง ขาวโพลนราวกับตั้งใจจะจมตัวเองหายไปตรงนั้น

กาแฟร้อน 2 แก้วมาเสิร์ฟ พ่อ 1 ผม 1

ยกดื่ม สายตาเหลือบไปเห็นหน้าหนังสือพิมพ์ที่ชายหลังม่านควันกำลังอ่าน ข่าวคราวเกี่ยวกับเรือเหาะ กองทัพบกซื้อมาใช้ตรวจการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คำว่า “ปลดประจำการ” ตัวหนาขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ

ข้าพเจ้าชี้ให้พ่อดู “นี่ไง ที่ทำให้ทหารตรวจเข้ม รถติดยาวเมื่อตะกี้”

“ข้าไม่เข้าใจ” พ่อส่ายหัว

“อ้าวพ่อ ก็ไอ้เรือเหาะนี่ มันจอดอยู่ในค่ายบ้านเราเอง เกือบ 10 ปีแล้วมั้ง ตอนเขาทดสอบ ผมกับเพื่อนก็ไปด้อมๆ มองๆ เห็นมันลอยได้สักพักก็ลงจอด ต่อมา มีข่าวว่าขัดข้องทางเทคนิค ต้องซ่อมอะไรสักอย่าง แล้วจากนั้น ก็ไม่เคยเห็นมันขึ้นบินอีกเลย”

“อ้อ ข้าจำได้แล้ว… เรือเหาะที่ไม่เคยเหาะ มันซื้อมากี่ตังค์นะตอนนั้น”

“350 ล้าน” เสียงชายคนนั้น เขาพับหนังสือพิมพ์วางข้างตัว ปรากฏใบหน้าชัดเป็นครั้งแรก หันมาพูดกับเราพ่อลูก “ข่าวบอกว่า ซื้อมา 350 ล้าน เก็บไว้ 8 ปีแล้ว มีค่าบำรุงรักษาอีกปีละ 50 ล้าน”

“หูย…เยอะมั้ย” พ่อเกาหัวถาม แล้วว่า “อย่างเราคงไม่มีโอกาสได้นั่งเป็นบุญก้นหรอก”

ผมยิ้มแห้งๆ พยายามใช้สมองอันน้อยนิดคิดคำนวณตัวเลข 50 ล้านคูณกับ 8

ชายแปลกหน้าพูดต่อ “เรื่องเยอะมันเยอะแน่ แต่ถามว่าคุ้มค่ามั้ย ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ นี่รู้มั้ย พวกทหารในค่ายเล่ากันว่า ตอนทดสอบ บินแล้วก็ตก บินแล้วก็ตกอยู่นั่นแหละ บ่อยมากๆ เป็นเรือเหาะที่ไม่เคยเหาะอย่างว่านั่นแหละ แซวกันเล่นในค่ายทหารนะว่า ถ้านายเกลียดใคร จะให้ไอ้ลูกน้องคนนั้นเป็นคนขึ้นบิน เป็นบุญก้นมั้ยล่ะอย่างนี้”

“เอ่อ…งั้นข้าไม่อยากนั่งแล้ว” พ่อหัวเราะเสียงดังจนแทบหงายหลัง

3สัปดาห์กว่าๆ นับจากวันมายื่นเอกสารที่ ธ.ก.ส. ผมขับมอเตอร์ไซค์ พ่อซ้อนท้าย เข้าเมืองอีกครั้งหลังธนาคารอนุมัติเงินกู้

วิ่งขึ้นเหนือมาตามทางหลวงหมายเลข 42 ผ่านกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ทหารตั้งด่านรักษาความมั่นคง ตรวจตราเข้มงวด รถติดสะสมยาวเหยียดจนคนขับรถยนต์หลายคันลดกระจกชะโงกหน้าออกมาดู

ทหารนายหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกับเราขอตรวจสมุดคู่มือรถและใบขับขี่

“พิเศษหน่อยนะวันนี้…” เขายิ้มให้พ่อ

พ่อไม่ตอบ ก้มหน้ามองพื้นแล้วถอนหายใจ

มองไปทางค่ายทหาร คนจำนวนมากอยู่ตรงป้อมยามทางเข้า เดาว่าน่าจะเป็นกองทัพนักข่าว

“ทำธุระในเมืองเหรอ” ทหารถาม

ผมพยักหน้าแทนคำพูด รับเอกสารกลับคืน แล้วรีบบึ่งมอเตอร์ไซค์ออกมา

ธนาคารยังไม่เปิด ข้ามถนนมานั่งร้านกาแฟแห่งเดิม แม่ค้าคนเดิมรับรู้โดยไม่ต้องสั่ง สักพักจึงยกกาแฟร้อน 2 แก้วมาเสิร์ฟ

ที่ร้านไม่มีลูกค้า แม่ค้าชวนคุยเสียงดัง “เมื่อตะกี้คนเยอะเลย พวกนักข่าวจากไหนไม่รู้เต็มไปหมด เห็นว่าจะไปทำข่าว เรื่องขนย้ายรถลากเรือเหาะ เขาจะเอาออกจากค่ายวันนี้ เข้ากรุงเทพฯ ได้ยินคุยกันว่าตัวบอลลูนมันใช้การไม่ได้แล้ว แต่รถลากยังพอได้อยู่ จะเอาไปประมูล…”

เงียบไปชั่วครู่ ไม่มีใครพูดอะไร

แกว่าต่อ “แล้วนี่รู้มั้ย… พวกนักข่าวกลุ่มหนึ่งที่มาจากกรุงเทพฯ เขาพูดกันว่า ตอนนี้มีบริษัทเกี่ยวกับการอนุรักษ์ท้องทะเล ชื่ออะไรสักอย่าง มีทหารเป็นบอร์ดเป็นเบิร์ดอะไรนี่แหละ คือตัวเต็งที่จะชนะการประมูล… แล้วรู้มั้ย เขาจะเอาไอ้รถลากนี่ไปทำอะไร”

แม่ค้ารอให้ผมหรือพ่อเค้นเอาคำตอบ แต่ปรากฏว่าเงียบ

“ปะการัง… จะประมูลเอาไปโยนทะเล ทำปะการังเทียม”

คิดว่าพ่อคงไม่ได้ยินที่แม่ค้าพูด เหมือนว่าแกจะไม่สนใจเสียงเจื้อยแจ้วนั้นตั้งแต่แรกแล้ว ความเศร้าจากการสูญเสีย กัดกินวิญญาณพ่อจนตอนนี้แทบไม่เหลือความมีชีวิต

ใบหน้าซูบผอม ตาลึกโบ๋ พูดน้อย ไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน

พ่อหันมาถาม คล้ายเป็นการขอความมั่นใจเป็นครั้งสุดท้าย “เราไม่เอารถกระบะแล้ว จะเอาเงินกู้ไปใช้หนี้ ค่างานศพแม่เอ็ง เขาจะให้มั้ยวะ”