พรรคการเมือง หรือบริษัท ความผาสุกของปวงชน หรือกำไร-ขาดทุน | พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ประเทศไทยของเรามีอะไรที่แปลกหลายอย่างหลายเรื่อง สมัยที่ผมทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล ปี พ.ศ.2523 ได้ไปร่วมในพิธีประกาศผลรางวัลของสหกรณ์ดีเด่นประจำปี

ได้ความว่ามีสหกรณ์แห่งหนึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ในฐานะที่เป็นผู้ใฝ่รู้สนใจเรื่องสหกรณ์ จึงได้สอบถามรายละเอียดถึงตัวชี้วัดว่า ได้รับรางวัลชนะเลิศเพราะอะไร

หนึ่งในตัวชี้วัดคือมีกำไรติดต่อกันหลายปี

ยิ่งทำให้ผมสงสัยมากขึ้นว่า สหกรณ์มีกำไรได้อย่างไร จึงถือโอกาสไปเยือนสหกรณ์นั้นด้วยตนเอง

ได้ความว่า ได้ผู้จัดการมีฝีมือมาบริหาร เป็นอดีตผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่ง ทำให้ถึงบางอ้อว่าเขาได้กำไรเพราะเขาคงบริหารสหกรณ์เช่นเดียวกับการบริหารธนาคารซึ่งเป็นบริษัทและหวังผลกำไร

ในความเป็นจริงที่ถูกต้องแล้ว สหกรณ์จะมีผลกำไรไม่ได้ เพราะต้องคืนให้ก้บเจ้าของผลผลิตที่เป็นสมาชิกสหกรณ์

อดีตท่านผู้ตรวจการสหกรณ์ท่านหนึ่ง ได้เปรียบเปรยไว้น่าสนใจยิ่ง ท่านบอกว่า เรื่องนี้คล้ายกับการเอาป้ายคำว่า “คน” แขวนคอลิง จริงๆ แล้วมันคือ “ลิง” ไม่ใช่คน เช่นเดียวกัน บริษัทก็คือบริษัท แม้ว่าจะแขวนป้ายว่า “พรรคการเมือง” ก็ตาม

เฉพาะเรื่องดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่เราสงสัยกัน เช่น การเมืองบางพรรคในอดีต ให้ชื่อพรรคในทำนองประชาธิปไตย แต่ผู้บริหารล้วนแต่เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยศรัทธาประชาธิปไตยมากนัก เลยเข้าทำนองเพลงลูกทุ่งที่บอกว่า “มันบ่แน่ดอกนาย” คนชื่อรวยแต่จนมีถมไป บ้านนาดีแต่แห้งแล้งแทบไม่ได้ข้าวเลยก็มี

อย่าไปเอานิยายกับบ้านนี้เมืองนี้เลย มีทั้งลับ ลวงและพราง ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย ไม่ต่างกับมายากลในงานวัดภูเขาทองเอาเสียเลย

 

หันมาสู่พรรคการเมืองไทย ตามหลักการแล้ว พรรคการเมือง คือที่รวมอุดมการณ์ เส้นอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นเส้นตรง มีซ้ายสุด/ขวาสุด และตรงกลาง แต่ละพรรคจะมีจุดยืนอยู่คนละจุด

ส่วนมากจะเข้าใจผิดว่าพรรคการเมืองคือที่รวมคนและเงิน ถ้าเอาคนเป็นตัวตั้ง จะได้พรรคการเมืองถึง 70 กว่าล้านพรรค เพราะคนแต่ละคนล้วนมีอุดมการณ์แนวคิดต่างกัน แม้แต่ผัวกับเมียก็ยังต่างแนวคิด เขาจึงเอาอุดมการณ์เป็นตัวตั้ง ใครมีอุดมการณ์ตรงกัน หรือแนวคิดสอดคล้องกันที่จะสร้างสรรค์บ้านเมืองจะมาอยู่ด้วยกัน จึงมีพรรคการเมืองในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนน้อยพรรค เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จริงๆ แล้วเหลือแค่ 2 แนวคิด หรือ 2 พรรค

การที่เข้าใจว่าพรรคคือที่รวมคนและเงิน ไม่มีจุดยืนทางอุดมการณ์ จึงทำให้มีการเปลี่ยนพรรค ย้ายพรรคกันอย่างง่ายๆ

แต่ประเทศด้อยพัฒนาตรงกันข้าม ด้วยความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในความหมาย หรือด้วยการจงใจ ตะแบงไปอีกแนวทางหนึ่งก็ไม่อาจทราบได้ จึงทำให้พรรคการเมืองขึ้นป้ายว่าพรรคการเมือง พอเข้าไปดูการบริหารจัดการลึกๆ แล้ว กลับเป็นบริษัท เพื่อกำไร/ขาดทุน กันเสียส่วนมาก จะให้ใครเป็นตำแหน่งอะไร อยู่กับอำนาจของเจ้าของเงินเจ้าของบริษัทกันแทบทั้งนั้น

มากไปกว่านั้นการรณรงค์หาเสียงก็ยังใช้นโยบายที่ไม่ใช่นโยบายเพื่อบ้านเพื่อเมือง

แต่เป็นนโยบาย จูงใจ ให้ไปเลือกตน ด้วยวิธีการ ลด แลก แจก แถม เสียมากกว่า ทั้งนี้ เพื่อแค่ชัยชนะในการเลือกตั้งเท่านั้น หลังเลือกตั้งตัวใครตัวมัน เอาตัวรอดไปวันๆ ขาดวิสัยทัศน์ในการสร้างชาติ สร้างความผาสุกให้กับปวงชนที่แท้จริง จึงเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตการทางการเมืองที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตามมา ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เป็นข้ออ้าง

ก่อให้เกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่พึงปรารถนา

 

ตัวละครอีกตัวที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาถือว่าผู้ที่จะมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งหรือเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยนั้น จะต้องเป็นอิสระชน (Freeman) ไม่อยู่ในอาณัติของใคร ไม่อยู่ในอาณัติของพ่อแม่รวมทั้งนายจ้างหรือผู้มีอิทธิพลอื่นใด จึงจะเป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงที่แท้จริงของคนคนนั้นผ่านบัตรเลือกตั้ง

ประเทศไทยแปลหลักการเลือกตั้ง คำว่า Free and Fair ผิดไป โดยแปลว่าหลักการเลือกตั้งต้องสุจริตและเที่ยงธรรม ได้แค่เฉพาะตัวหลังคือ Fair แต่ไม่ได้ตัวหน้า คือ Free ที่ถูกต้องคือ การเลือกตั้งที่ เสรีและเที่ยงธรรม

ผมเคยไปจัดการเลือกตั้งในจังหวัดภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด เคยชี้แจงการเลือกตั้งให้ชาวบ้านได้เข้าใจกันว่า การเลือกตั้งแท้จริงแล้วคือ การไปมอบอำนาจอธิปไตย ต่างหาก

อํานาจอธิปไตย เป็นอำนาจของปวงชน จะซื้อจะขายกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความเป็นคนและเป็นเจ้าของประเทศ

ถ้าขายจะขายสักเท่าไร ผมไม่สามารถบอกจำนวนที่สาสมกับการได้มาซึ่งอำนาจนี้ อย่าลืมว่าทหารที่ไปตายในสงคราม และกรณีเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีคนตายมากมายที่ผ่านมา ก็ล้วนแต่บุคคลดังกล่าวได้สละอุทิศชีวิตเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ให้ท่าน แล้วท่านยังจะไปซื้อไปขายกันอยู่หรือ

เมื่อคราวที่ผมไปดูการเลือกตั้ง ปี 2547 ถึง 2548 ในภาคอีสาน คนลาวคนเขมรเขาอยากจะไปเลือกตั้ง ก็ทำไม่ได้ แต่เราคนไทยซึ่งมีอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มเปี่ยม ยังไม่รักษาอำนาจอธิปไตยของตนเอง หากจะเปรียบเทียบกับนิทาน “ไก่ได้พลอย” “ลิงได้แก้ว” ได้หรือไม่

การที่มีคนเขาเอาสินค้าหรือนโยบายพรรคการเมือง ที่เป็นลักษณะยาหอม ยาดม ยาลม ยาหม่อง ขอให้ท่านพินิจพิเคราะห์ให้ดีว่า อํานาจอธิปไตยราคาสูงเหลือเกินจะแลกกับสิ่งเหล่านี้แค่นี้ได้หรือ

 

ตัวละครอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่พูดไม่ได้คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง

การเมืองจะล้มลุกคลุกคลานไปไม่ถึงที่หมาย ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง มีส่วนไม่มากก็น้อย ท่านจงเป็นผู้สร้างคุณธรรมทางการเมือง เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลาน อย่าคิดแต่ได้ถ่ายเดียว “ท่านได้แต่บ้านเมืองพัง” ท่านจะเอาอย่างนั้นหรือ

ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองบางพรรค ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า หน้าที่ของผู้แทนฯ คืออะไร ในหลายประเทศ เขาจัดให้มีการสอบความรู้เบื้องต้นทางการเมือง และหน้าที่ของผู้แทนราษฎรว่าไปทำอะไรในสภา หากสอบผ่านได้รับประกาศนียบัตร สามารถนำไปเป็นเอกสารประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้งของเราบางยุคบางสมัย กำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ อาทิ สำเร็จปริญญาตรีหรือเทียบเท่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และบทบาทหน้าที่ของผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งการเป็นผู้แทนราษฎรที่ดี

สุดท้ายนี้ วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ขอเชิญชวนท่านผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จงพร้อมใจกันเดินทางไปคูหาเลือกตั้ง มอบอำนาจอธิปไตยให้กับคนและพรรคการเมืองที่ท่านพอจะฝากผีฝากไข้ ฝากบ้านฝากเมืองไว้ได้ อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้างใดๆ ทั้งสิ้นเลยครับ ถ้ามิเช่นนั้นแล้วจะถือว่าท่านทำผิดอย่างมหันต์โดยไม่รู้ตัว ลูกหลานของท่าน บ้านเมืองของท่านกำลังรอคอยท่าน อย่าลืมว่าความผาสุกของปวงชนอันเป็นสุดยอดปรารถนาของชาติอยู่ที่บัตรเลือกตั้ง

การตัดสินใจของท่าน 4 ปีมีหนครับ

ด้วยรักและห่วงใย