สาดน้ำนางแมว-ขอฝน ต้นตอสาดน้ำสงกรานต์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

สงกรานต์มีสาดน้ำ แท้จริงแล้วได้ต้นตอจากสาดน้ำแห่นางแมวขอฝนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ก่อนติดต่ออินเดีย

สาดน้ำสงกรานต์ไม่ได้มาจาก “โหลี”-พิธีสาดสีของอินเดีย ตามที่มีผู้พยายามชี้ที่มา เพราะ “โหลี” น่าจะตรงกับกฎมณเฑียรบาลเรียก “เผาข้าว” ซึ่งเกี่ยวข้องกับกำเนิดแม่โพสพ

 

แมวถูกสาดน้ำเพื่อขอฝน

แห่นางแมวเป็นพิธีกรรมขอฝน ด้วยการร่วมกันจับแมวใส่ข้อง (ภาชนะจักสานใส่ปลา) แล้วแห่แหนนางแมวเร่ไปตามหมู่บ้านพร้อมร้องรำทำเพลงขอฝน และชวนชาวบ้านสาดน้ำใส่แมวที่หามแห่เร่ไป

ชาวบ้านสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีมาแล้วพร้อมใจกันเล่นสาดน้ำนางแมวตั้งแต่เดือน 5 (จันทรคติ) หน้าแล้ง (ตรงกับเมษายน) ไม่มีฝน ไม่มีน้ำ ไปจนกว่าฝนจะตก แล้วเข้าฤดูฝน (ราวมิถุนายน-กรกฎาคม)

ทั้งนี้ มีต้นเหตุจากความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์เฮี้ยน (หมายถึงศักดิ์สิทธิ์) มีอานุภาพบันดาลให้มีปลาและน้ำอุดมสมบูรณ์

เพราะจากประสบการณ์ตรงของคนในชุมชนแรกเริ่มพบว่าแมวชอบกินปลา ส่วนปลาต้องมากับน้ำหลังฝนตก การสาดน้ำนางแมวเสมือนมีฝนห่าใหญ่และมีน้ำนองทั่วไปให้ความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

สาดน้ำนางแมวย่อมมีน้ำกระเด็นเปียกถึงกลุ่มคนแห่นางแมว, คนสาดน้ำและคนร่วมขบวน ครั้นนานไปการสาดน้ำนางแมวก็ขยายเพิ่มความสนุกสนานด้วยการสาดน้ำคนพวกเดียวกันเอง จนแผ่กว้างเป็นสาดน้ำนางแมวรวมสาดน้ำคนเล่นแห่นางแมวและคนอื่นๆ ในชุมชน

หลังรับสงกรานต์-เมษายนจากอินเดีย ตรงกับเดือน 5 (จันทรคติ) ในอุษาคเนย์ ซึ่งมีเลี้ยงผีหน้าแล้ง มีสาดน้ำนางแมวขอฝน จึงขยายเป็นสาดน้ำสงกรานต์สืบเนื่องทุกวันนี้

ส่วนความรุนแรงเล่นสาดน้ำสงกรานต์ ต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งจากการสั่งสมทางการเมืองเผด็จการอำนาจรวมศูนย์ยาวนานที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน

แห่นางแมวขอฝนในหน้าแล้ง (ภาพจาก จ.ชัยภูมิ กรกฎาคม 2562 จาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2722311)

รดน้ำดำหัวเพื่อขอฝน

เดือน 5 หน้าแล้ง มีรดน้ำดำหัวเป็นพิธีกรรมทางศาสนาผีของอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว (ก่อนมีศาสนาในอินเดีย) หมายถึงพิธีอาบน้ำให้บรรพชนที่ตายแล้ว และที่ยังมีชีวิต เป็นสัญลักษณ์ของการขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

บรรพชนตายแล้ว ถูกรดน้ำดำหัวด้วยพิธีเลี้ยงผีที่ “เฮือนแฮ้ว” คือเรือนจำลองที่ปลูกคร่อมหลุมฝังกระดูกบรรพชนในภาชนะ (ไม่เผาศพ)

กระดูกบรรพชนที่ฝังไว้ได้มาจากพิธีกรรมหลังความตายตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี แล้วเก็บกระดูกใส่ภาชนะฝังไว้ใต้ “เฮือนแฮ้ว” เพื่อให้ผีขวัญคุ้มครองคนยังมีชีวิตในชุมชน

บรรพชนมีชีวิต คือ ปู่ย่า, ตายาย, พ่อแม่ ถูกรดน้ำดำหัวด้วยการราดน้ำรดหัวให้เปียกทั้งตัวตั้งแต่หัวถึงตีน

(ซ้าย) รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ (ภาพเก่า 2548)

หลังรับสงกรานต์จากอินเดีย

รดน้ำดำหัวเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ส่วนชักบังสุกุลมีต้นตอจากพิธีกรรมหลังความตายสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว

สงกรานต์ในไทยมีรดน้ำดำหัวและชักบังสุกุล แต่อินเดียไม่มีรดน้ำดำหัวกับไม่มีชักบังสุกุลในสงกรานต์ เพราะรดน้ำดำหัวและชักบังสุกุลมีต้นตอเป็นพิธีกรรมในศาสนาผีดั้งเดิมในไทยและอุษาคเนย์ แต่ต่อมาถูกผนวกเข้าสงกรานต์ เพราะมีในช่วงเวลาเดียวกันคือหน้าแล้ง

หลังรับศาสนาจากอินเดีย ราว 1,500 ปีมาแล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.1000 ในไทยและอุษาคเนย์รับวัฒนธรรมจากอินเดียอีกอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ เผาศพและสงกรานต์

เผาศพ ในอินเดียเผาแล้วโยนเถ้าถ่านทิ้งน้ำ ไม่เก็บกระดูก

แต่ในไทยและอุษาคเนย์เผาศพแล้วเก็บอัฐิ (กระดูกคนตายที่ถูกไฟเผาไม่หมด) สืบทอดการเก็บกระดูกคนตายตามความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผีที่มีแต่ดั้งเดิม

เก็บอัฐิ ต่างกัน 2 ระดับ คือ ระดับชนชั้นนำ กับ ระดับชาวบ้าน

ชนชั้นนำ อัฐิถูกบรรจุในภาชนะเรียกสมัยต่อมาว่าโกศ เก็บไว้ในที่รโหฐาน เช่น หอพระในวัง หรือฐานพระประธานวัดหลวง เป็นต้น

ชาวบ้าน อัฐิถูกบรรจุในหม้อดินเผาที่ปิดปากหม้อด้วยผ้า แล้วฝากไว้ในวัดตามศาลาที่สมภารวัดกำหนด (บางวัดสมัยก่อนมีหม้อกระดูกวางกองเต็มด้านใดด้านหนึ่งของศาลาใหญ่)

สงกรานต์สมัยแรกรับจากอินเดียถึงไทย เป็นพิธีกรรมในเทวสถานประจำราชสำนัก ราวกลางเดือนเมษายน (ทางสุริยคติ) ตรงกับเดือน 5 หน้าแล้ง (ทางจันทรคติ) ส่วนชาวบ้านทั่วไปไม่รู้จักและไม่มีสงกรานต์ (แต่มีพิธีเลี้ยงผีบรรพชน)

ต่อมาสงกรานต์ถูกดัดแปลงเป็นพุทธ มีทำบุญเลี้ยงพระเฉพาะในวัดหลวง หลังจากนั้นอีกนานถึงแพร่หลายสู่ราษฎร มีทำบุญเลี้ยงพระในวัดราษฎร์

รดน้ำดำหัวอัฐิบรรพชน ถูกแปลงเป็นพิธีทางศาสนาพุทธ ด้วยการทำบุญเลี้ยงพระ แล้วเชิญภาชนะใส่อัฐิบรรพชนมาทำพิธีด้วยการกรวดน้ำและประพรมน้ำหอมน้ำปรุงทั่วอัฐิในภาชนะ หมายถึงรดน้ำดำหัวผีบรรพชนเพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล แล้วถูกเรียกชื่อพิธีเป็นภาษาบาลีว่า “ชักบังสุกุล” จากนั้นสร้างนิยามคำอธิบายใหม่ตามคติพุทธสืบมาจนทุกวันนี้

พระพุทธรูป ถูกเชื่อว่าเป็น “ร่างเสมือน” มีผีหรือขวัญสิง จึงถูกทำพิธีรดน้ำดำหัว เรียก “สรงน้ำพระ”

รดน้ำดำหัวบรรพชนมีชีวิต ยังถือปฏิบัติสืบต่อไม่ขาดสาย แต่ขยายถึงอาบน้ำพระสงฆ์ในวัดประจำหมู่บ้านจนทุกวันนี้

ชักบังสุกุลอัฐิบรรพชน [ภาพที่วัดเทพราช ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 15 เมษายน 2558 (ภาพจาก https://pantip.com/topic/33514626)]

สงกรานต์ “ผี-พราหมณ์-พุทธ” ในไทย

สงกรานต์มีเดือนเมษายน เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในอินเดีย (ไม่ใช่ของไทย)

1. ไทยและอุษาคเนย์รับมาสมัยแรกๆ เป็นพิธีพราหมณ์ในราชสำนัก เรียกสงกรานต์ มีเดือนเมษายน

2. ต่อมาสงกรานต์เมษายนถูกปรับแปลงเป็นพุทธ มีเฉพาะในราชสำนัก (ไม่มีนอกราชสำนัก)

ช่วงเวลานั้น (เมษายน) หน้าแล้ง ตรงกับเดือน 5 ทางจันทรคติ ชาวบ้านทั่วไปทำพิธีเลี้ยงผีประจำปีเพื่อขอฝน มีแห่นางแมวสาดน้ำ, มีรดน้ำดำหัวผีบรรพชนและพ่อแก่แม่เฒ่าในชุมชน ฯลฯ (ไม่รู้จักสงกรานต์)

3. สงกรานต์ทางพราหมณ์-พุทธของราชสำนักรัตนโกสินทร์ แผ่ไปถึงชาวบ้าน ถูกผนวกเข้ากับศาสนาผี ทำให้สงกรานต์เป็นพิธีกรรม “ผี-พราหมณ์-พุทธ” มีสรงน้ำพระ, ชักบังสุกุล ฯลฯ สืบจนทุกวันนี้ •