‘สืบจากเสียง’ ด้วย AI ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงโรค | จักรกฤษณ์ สิริริน

ปัญหาสุดคลาสสิคทุกค่ำคืนของหลายคนก็คือ “การนอนกรน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลายครัวเรือน “การนอนกรน” กลายเป็นปัญหาครอบครัวที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ที่ฝ่ายหญิงบางท่านไม่อาจทน “เสียงกรน” ของฝ่ายชายได้

นอกจาก “เสียงกรน” จะสร้างความรำคาญแสนสาหัสกับคู่นอนแล้ว ยังมีภยันตรายอื่นๆ แอบแฝงอยู่ด้วย นั่นก็คือ “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”

ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อคอหย่อน จนลงไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้นขณะหลับ

เมื่อถูกปิดกั้น ทางเดินหายใจจึงตีบลง ทำให้หายใจลำบาก ร่างกายจึงพยายามอัดลมเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้อากาศผ่านเข้าทางเดินหายใจ

อากาศที่ถูกดันผ่านลำคอก็คือ “เสียงกรน” ที่ดังลั่นสนั่นเมือง ท่ามกลางสภาพทางเดินหายใจที่แคบจนกระทั่งเกือบปิดสนิท

จึงพบการสลับระหว่าง “กรน” กับอาการ “หยุดหายใจขณะหลับ” เกิดขึ้นหลายครั้ง ส่งผลให้เรานอนหลับไม่เพียงพอ สมองก็ได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่

นำไปสู่อาการอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน และส่งผลเสียอื่นๆ ตามมาอย่างมากมาย

“การนอนกรน” จึงเป็น “ภัยเงียบที่เสียงดัง” อันอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้จากอาการ “หยุดหายใจขณะหลับ” โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น “คนนอนกรน” ไม่ควรชะล่าใจ ควรรีบเข้ารักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้ารับการประเมินคุณภาพการหลับ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจในโรงพยาบาล หรือโรงแรมหรู 5 ดาวบางแห่งก็มีบริการ

ซึ่งการตรวจจะมีความละเอียดครอบคลุมระบบหายใจทั้งหมดระหว่างการนอนหลับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนโสดที่นอนคนเดียว น้อยคนจะรู้อาการกรนของตนเอง หากไม่ได้ตั้งกล้องบันทึกไว้

 

ทุกวันนี้ มีนวัตกรรมจำนวนมากที่ช่วยตรวจสอบสภาพการนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะการกรนขณะหลับ เช่น Application ต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Application บนโทรศัพท์มือถือ หรือ Smart Phone รุ่นต่างๆ ที่การใช้งานไม่ยาก เพียงเปิด Application ทิ้งไว้ขณะนอน

จากนั้นวางโทรศัพท์มือถือไว้บนหัวเตียง ชาร์ตแบตไปด้วย หรือชาร์ตแบตให้เต็มก่อนเปิด Application โดยระหว่างหลับก็อย่าไปยุ่งกับมัน

ตื่นเช้ามา Application ก็จะทำการประมวลผล และให้คะแนนการนอนกรนเสร็จพอดี ทำให้เราทราบว่า เราเริ่มกรนช่วงไหนของคืน เสียงดังแค่ไหน กรนเบา กรนหนัก และหยุดกรนตอนไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถย้อนกลับไปฟัง “ไฮไลต์เสียงกรน” ได้ทุกช่วงเวลา

ซึ่ง Application จะช่วยวัดระดับความดัง และบันทึกเสียงกรนขณะหลับ ว่ามีการ “กรนหนัก” หรือ “กรนเบา” และ “เริ่มกรน” จนกระทั่ง “หยุดกรน” ช่วงไหนบ้าง

เพื่อวัดผลออกมาเป็นคะแนน และทำการเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน รวมถึงการให้คำแนะนำดีๆ สำหรับแก้ไขอาการดังกล่าวอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดตามปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการกรน เช่น รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมต่างๆ ของเรา ที่มาพร้อมกับการบันทึกสถิติการนอน

เพื่อนำไปประมวลผล ว่าปัจจัยรอบตัวอะไรบ้าง ที่จะส่งผลกระทบทำให้เรานอนกรน

 

นอกจากเทคโนโลยีติดตามการกรนแล้ว หากยังจำกันได้ ในช่วง COVID-19 ก็มีการคิดค้น AI (Artificial Intelligence) วิเคราะห์ “เสียงไอ” สำหรับคัดกรองผู้ป่วย COVID-19

เพราะในช่วงต้นๆ ของการติดเชื้อ COVID-19 ระยะแรก มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย

ดังนั้น การวิเคราะห์ “เสียงไอเพียงเล็กน้อย” นั้นๆ อย่างรวดเร็ว จะทำให้การคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากผู้ป่วย COVID-19 จำนวนมากมักมีอาการเพียงเล็กน้อย จนแทบจะบอกไม่ได้เลยว่าคนไหนใครกำลังติดเชื้อ COVID-19 อยู่

AI ช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ COVID-19 จาก “เสียงไอ” จึงตอบโจทย์เป็นอย่างมากในตอนนั้น

นั่นคือ AI ตรวจจับ “เสียงไอ” จากโทรศัพท์มือถือ โดยระบบจะทำการบันทึกเสียงระหว่างการสนทนา แล้วนำมาวิเคราะห์ “รูปแบบการไอ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำเสียงขณะพูด”

ก่อนที่จะรายงานผลลัพธ์ความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ COVID-19 ผ่านโทรศัพท์มือถือ

ซึ่งเป็น AI ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Application วิเคราะห์ “รูปแบบการพูด” ของ “ผู้ป่วยอัลไซเมอร์” ซึ่งได้รับคำชมเป็นอย่างมาก

ที่พัฒนาโดย MIT (Massachusetts Institute of Technology) หรือ “สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์”

ที่ได้เปิดเผยว่า เนื่องจาก COVID-19 เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของเส้นเสียง และการอักเสบของหลอดลม ในระบบทางเดินหายใจเมื่อเกิดการติดเชื้อ จะทำให้เกิดเสียงแหบ และอาการไอตามมา

โดยหากสามารถรวบรวม “รูปแบบการไอ” และ “โทนเสียง” ของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้มากพอ AI ก็จะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ ว่าใครติด COVID-19 หรือไม่ติด

ซึ่ง MIT มีการรวบรวมข้อมูล “รูปแบบเสียงไอ” ได้เกือบ 100,000 เสียง

และจากการใช้งานในช่วงที่ผ่านมา พบว่า AI สามารถแยก “เสียงไอ” ของผู้ป่วย COVID-19 ได้แม่นยำถึง 98.5% เลยทีเดียว

 

ไม่เพียง “เสียงกรน” สุดอันตรายที่นำไปสู่ความตายได้ และ “เสียงไอ” ที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ใครเป็น หรือไม่เป็น COVID-19

ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่อาศัย AI เป็นตัวช่วยในการ “วิเคราะห์เสียง” เพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้าน “เสียง” ที่ต่างรับรู้กันมานานแล้วว่า “เสียง” ของแต่ละบุคคล สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาพได้

ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย หรืออารมณ์ และจิตใจของแต่ละคน

โดยโครงการดังกล่าว ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ

ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้มีการรวบรวม และวิเคราะห์ “เสียง” นับร้อยนับพันเสียง และใช้ AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ในการวินิจฉัยอาการเจ็บไข้ได้ป่วย

การศึกษา ค้นคว้า และวิจัยในครั้งนี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ระบบ “ปัญญาประดิษฐ์” ในการจัดการกับปัญหาที่ท้าทายด้านชีวการแพทย์อันซับซ้อน

ซึ่งผู้ได้รับทุนวิจัยดังกล่าวก็คือ ศูนย์การแพทย์แห่ง University of South Florida Health Voice Center นำโดยแพทย์หญิง Yael Bensoussan ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจ “เส้นเสียง” ของผู้ป่วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความชำนาญในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเสียง ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของเสียงทางเดินหายใจส่วนบน หรือเสียงขณะกลืนอาหาร เป็นต้น

นำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อบันทึก และจัดเก็บ “เสียง” มากถึง 30,000 รูปแบบ และฝึกให้ AI ตรวจหาโรค ผ่านรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของเสียง

ซึ่งโครงการนี้มิได้แค่บันทึก และจัดเก็บข้อมูล “เสียง” เท่านั้น แต่ยังสร้างรูปแบบการแบ่งปันข้อมูล

ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูล หรือวิธีการใช้ข้อมูลสำหรับการวิจัยด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์

โดยนักวิจัยจะศึกษา “ตัวอย่างเสียง” เพื่อช่วยในการตรวจหาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ อาทิ พาร์กินสัน มะเร็ง หรือความผิดปกติของเสียงรูปแบบอื่นๆ เช่น เส้นเสียงเป็นอัมพาต เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวลอีกด้วย

เพราะเมื่อใครสักคนรู้สึกหดหู่ โศกเศร้า หรือวิตกกังวล แน่นอนว่า คำพูดบางอย่างของคนเหล่านั้นจะมีการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ ว่ามีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างเทคโนโลยีในปัจจุบัน ความรู้ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี การศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ในเรื่องของเสียง ต้องมาพร้อมความใส่ใจความเป็นส่วนตัวของอาสาสมัครผู้เข้าร่วมอยู่เสมอ

เพราะการเก็บตัวอย่างเสียงของอาสาสมัคร จะต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรม และจะต้องรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างเข้มงวดนั่นเอง