‘สร้าง’ ข้าราชการพันธุ์ใหม่ในยามสงคราม (1) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“เดิน เดิน เดิน อย่ายอมแพ้ใคร ชาติไทยต้องเดิน

เดิน เดิน เดิน ถ้าหวังก้าวหน้า เราต้องพากันเดิน

เดิน เดิน เดิน อย่าท้อทางไกล ขอให้ไทยเจริญ”

(หลวงวิจิตรวาทการ, 2482)

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรต้องการสร้างชาติขึ้นใหม่โดยยึดแบบอย่างการสร้างชาติแบบญี่ปุ่นในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสุขภาพอนามัย (ณัฐพล ใจจริง, 2563, 246)

เมื่อจอมพล ป.ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่า เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้นแล้ว สมควรมีการปรับปรุงชาติขึ้นใหม่ด้วย แม้ชาติจะมีมานานแล้วก็ตาม แต่สภาวะของชาติบางประการยังไม่อยู่ในระดับความเป็นประชาชาติได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องสร้างชาติให้ดีขึ้นกว่าเดิม (กรมโฆษณาการ, 2485, 38)

ข้าราชการเป็นกลไกรัฐที่รัฐบาลแห่งระบอบประชาธิปไตยต้องการปรับปรุง ด้วยการพยายามสร้างข้าราชการพันธุ์ใหม่ให้แต่งกายภูมิฐานน่าเชื่อถือ มีสำนึกใหม่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง ทำงานหน้าที่ และให้ความช่วยเหลือแนะนำประชาชน พร้อมมีสุขภาพแข็งแรงด้วย

ขบวนข้าราชการเดินทางไกล (2485) สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ความภูมิฐาน คล่องแคล่ว ประหยัด

ภายหลังการปฏิวัติมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบทหารใหม่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำที่มีสืบมา ให้เหมาะสมกับภูมิอากาศ และมีความสง่างาม จึงเปลี่ยนมาใช้เสื้อคอตั้งสีกากีแกมเขียว จากหมวกทรงหม้อตาลที่มีต้นทุนสูงมาใช้หมวกกะโล่ผลิตจากวัตถุดิบจากในไทย กระดุมทองเปลี่ยนเป็นกระดุมทำจากวัสดุสีน้ำตาลเป็นกระดุมกะลามะพร้าวหรือเบคะไลต์ที่หน้าอก 7 เม็ด

หน้าหมวกเป็นตราปทุมอุณาโลม มีข้อความสละชีพเพื่อชาติ (sarakadee.com/โคตรทหาร)

ส่วนกิจการตำรวจ มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบ และนำเสนอให้ตำรวจปรับปรุงหลักสูตรด้วยการเพิ่มการเรียนยูโด เพื่อให้ตำรวจมีทักษะการต่อสู้ป้องกันตัว จับโจรผู้ร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนครื่องแบบข้าราชการพลเรือนจากเดิมที่ต้องใส่เสื้อราชปะเตน นุ่งผ้าม่วง เปลี่ยนมาเป็นการสวมกางเกงเพื่อความคล่องแคล่วและเป็นสากลแทน

ในวารสารตำรวจ (2479) ภายหลังการปฏิวัติได้นำเสนอภาพการ์ตูนแสดงความสง่าผ่าเผยตำรวจจาก 2 ระบอบ ให้ผู้อ่านซึ่งน่าจะเป็นตำรวจเป็นส่วนใหญ่พิจารณาว่า ตนเองอยากมีเรือนกายและบุคลิกลักษณะแบบใด ระหว่างตำรวจแห่งระบอบใหม่ที่มีเรือนกายกำยำล่ำสัน แต่งตัวด้วยเครื่องแบบที่สง่างาม กับตำรวจระบอบเก่าที่ผอมแห้งแรงน้อย เดินหย็องกรอดไร้สง่าราศรี

จอมพล ป. ผู้นำตีเทนนิสที่โคราช 2486

พฤติกรรมข้าราชการที่ต้องเปลี่ยน

สําหรับการทำงานของข้าราชการในระบอบเก่าเป็นเช่นไรนั้น เราอาจเข้าใจผ่านงานเขียนของ ป.บูรณปกรณ์ เขียนเรื่องสั้นเรื่อง “คนขี้เกียจแห่งจุฬา ซอย 2” (2489) เล่าถึงครอบครัวคุณหลวงคนหนึ่ง พักอาศัยที่สามย่าน ริมทางรถไฟสายปากน้ำ เขารับราชการมาแต่ระบอบเก่า แต่มีพฤติกรรมที่ขี้เกียจมาก ทว่า ยังก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นถึงคุณหลวง เป็นระดับหัวหน้ากอง อันสะท้อนถึงค่านิยมในการทำงานราชการในครั้งนั้น

คุณหลวงผู้นี้ ภายหลังการปฏิวัติ เขาลาออกจากราชการมารับบำนาญพร้อมเผยเคล็ดลับถึงความก้าวหน้าครั้งระบอบเก่าว่า การไม่ทำอะไรเลยก็จะไม่ขัดแข้งขัดขาใคร หรือเด่นจนเป็นที่เขม่นแก่เจ้านาย

และเมื่อถึงเวลาการเลื่อนขั้น ด้วยอายุราชการของเขาที่มีมาก ดังนั้น เมื่อเจ้านายจะเลื่อนขั้นคนโปรด เขาจะก้าวหน้าแบบ “ติดหลังแห” ไปด้วย

คุณหลวงกล่าวถึงสำนึกในการทำงานของข้าราชการในระบอบเก่าว่า “คนเรามีชีวิตอยู่ได้เพราะทำงาน ผมไม่เห็นแปลก ความแปลกมันอยู่ที่งานไม่ต้องทำ แต่อยู่ดีกินดีต่างหาก และเมื่อมนุษย์รู้ว่า การทำงานมากๆ มันเป็นเรื่องของวัวควายแล้ว ก็ควรอยู่อย่างขี้เกียจ ไม่ควรจะรนหาที่กันเลย” (ป.บูรณปกรณ์, 2531, 191)

เครื่องแบบข้าราชการกรมอัศวราช เต็มยศ และเครื่องแบบทหารแบบใหม่หลังการปฏิวัติ

ปรับค่านิยมข้าราชการใหม่

ภายใต้นโยบายสร้างชาติ รัฐบาลจอมพล ป. พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของระบบราชการใหม่ ดังข้าราชการมหาดไทยคนหนึ่งบันทึกว่า สำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ข้าราชการทุกคนปฏิบัติตาม ดังนี้

“หนังสือ ที่ นว ๔๘/ ๒๔๘๕ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ ๑.เมื่อถึงเวลาทำงานแล้ว ต้องลงมือทำงานโดยทันที ห้ามมิให้พักร้อน หรือคุยกันเป็นอันขาด ๒.ระหว่างทำงาน ห้ามมิให้ลุกไปจากโต๊ะทำงานหรือสถานที่ตนประจำทำงาน เว้นแต่มีข้อราชการไปติดต่อกับผู้อื่น หรือมีกิจจำเป็นที่จะต้องกระทำ ๓.ข้าราชการทุกคนต้องประจำทำงาน ตลอดทุกวินาทีในเมื่ออยู่ในเวลาทำงาน นอกจากเวลาพัก ตามที่กำหนดไว้ การที่สั่งการมานี้ มิใช่เป็นการเข้มงวดโดยไม่มีหลักการ เพราะตามห้องทำงานของประเทศอารยะ มีแต่คนทำงานกันจริงๆ ทั้งนั้น แม้ในภาพยนตร์ก็จะเห็นได้ว่า ทุกคนในห้องทำงาน เขาทำงานกันจริงๆ คุยกันไม่ได้เลย (ลงชื่อ) จอมพล ป.พิบูลสงคราม”

(จำนง เทพหัสดิน, 35-36)

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2485 จอมพล ป.ย้ำค่านิยมข้าราชการใหม่ ยึดถือประชาชน ปรารถนาดี ความว่า ขอให้ข้าราชการตั้งใจทำงาน ทำตามหน้าที่ และที่สำคัญนั้น

“ท่านข้าราชการต้องเหนราสดรที่มาพบท่านคือญาติของท่านที่ท่านต้องช่วยเสมอ หย่ารังเกลียดว่าแต่งกายไม่สะอาด หย่ารังเกลียดว่าพูดไม่ดีไม่ถูกต้อง คิดว่าที่พูดไม่ถูกใจท่านนั้น ไม่ได้ตั้งใจ เปนเพราะไม่ซาบจะทำถูกหย่างไรเท่านั้น ถ้าท่านพบราสดรที่ประพรึตชั่วยั่วโทสะ รวมต่างๆ นั้น จงเชื่อว่า เขาไม่ได้ตั้งใจ ที่ทำไปเช่นนั้น เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรถึงดีต่างหาก ถ้าให้คำแนะนำ ดุว่า โดยหวังดีที่สุด ลงโทสเปนการสั่งสอนถานญาติแล้วจะทำให้เขาดีขึ้นเปนแน่…”

(สามัคคีไทย, 135-136)

ความองอาจผึ่งผายของตำรวจ 2 ระบอบ และเครื่องแบบตำรวจใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475

การส่งเสริมสุขภาพพลานามัย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมให้ข้าราชการออกกำลังกายด้วยโครงการเดินทางไกล ดังเมื่อ 14 มีนาคม 2485 มีข้าราชการเข้าร่วม 800 คน จาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไกลเริ่มจากกรุงเทพฯ ไปนนทบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมทางกาย ระเบียบวินัย การจัดการชีวิตประจำวันให้กับข้าราชการมีความกระตือรือร้น เพราะประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม (ก้องสกล, 98)

ต่อมา หัวหน้าคณะทูตญี่ปุ่นที่มาเยือนไทยในกลางปี 2485 กล่าวถึงโครงการออกกายบริหารของไทยว่า สุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งกำหนดความเจริญของชาติ การช่วยชาติคือ คนไทยรักษาสุขภาพให้ดีเหมือนกับคนในญี่ปุ่นที่มีความแข็งแรงและอายุยืนยาว (ก้องสกล, 103-104; นิกร, 17 มีนาคม 2485)

รัฐบาลจอมพล ป.ส่งเสริมอนามัยของข้าราชการ ด้วยการส่งหน่วยสาธารณสุขให้คำแนะนำความสะอาด การปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะอนามัย บริการตรวจสุขภาพให้ข้าราชการ (สุวิมล, 128)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมกายบริหารผ่านทางสถานีวิทยุเพื่อแนะนำท่าออกกำลังกายให้กับประชาชนทั่วไป จัดทำคู่มือกายบริหาร การจัดแสดงสาธิตกายบริหารในงานสำคัญต่างๆ อาทิ งานวันแม่ งานวันชาติ ตลาดนัด และการชุมนุมต่างๆ กระตุ้นให้ประชาชนสนใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงสงคราม รัฐบาลมีคำสั่งให้ข้าราชการหยุดงานเพื่อ “เล่นกีฬาทุกวันพุธ” โดยกำหนดไว้ 3 ประเภท ก็คือ กีฬาประเภทรวมหมู่ เช่น การหัดท่ามือเปล่า ระเบียบแถว การดัดตนท่ามือเปล่า และกรีฑา

ส่วนกีฬาประเภทบุคคล เช่น มวย ฟันดาบ กระบี่กระบอง และกีฬาประเภทชุด เช่น ฟุตบอล เทนนิส (ก้องสกล, 106-107) กีฬาเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพและพร้อมที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่

จากความทรงจำของลาวัณย์ โชตามระ เล่าถึงกิจกรรมเดินทางไกลของข้าราชการครั้งนั้นไว้ว่า “ในสมัยนั้น ได้ให้มีการเดินทางไกล ไปโน่นไปนี่อยู่ทุกวันเสาร์และได้มีการแข่งกีฬาในหน่วยราชการหน่วยต่างๆ” (ลาวัณย์, 2536)

กล่าวโดยสรุป ภายหลังการปฏิวัติแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบข้าราชการให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เน้นความประหยัด เรียบง่าย คล่องแคล่ว และปรับพฤติกรรมข้าราชการทำงานบริการประชาชนเป็นสำคัญ

เครื่องแบบรัฐมนตรีภายหลังการปฏิวัติที่เรียบง่าย ในภาพคณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาลพระยาพหลฯ
นิตยสารสร้างตนเอง กรมประชาสงเคราะห์ สมัยรัฐบาลจอมพล ป.