ลิงหลอกเจ้า | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมชอบช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นพิเศษก็ตรงตัวแสดงการเมืองสำคัญๆ มักหลุดปากเผยความในใจที่ปกติเก็บงำไว้ ออกมาต่อหน้าธารกำนัล

มันจุดประกายชวนให้คิดต่อได้อย่างดีถึงเนื้อแท้บางด้านของการเมืองไทยที่เราอาจมองข้ามไปหรือไม่ได้ใส่ใจเพียงพอ

ดังตัวอย่างคำพูดของนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้างต้น ซึ่งกระตุ้นให้ผมปรารภในโพสต์เฟซบุ๊กว่า :

“9 ปีที่ลุงประกาศจะคืนความสุขให้คนไทย แล้วตัวลุงเองมีความสุขหรือไม่ ถึงได้หน้านิ่วคิ้วขมวดฉุนเฉียวเสมอ และถ้าไม่ จะทุกข์อีก 2 ปีไปทำไม…

“สำหรับกับผู้ปกครองแล้ว บุคลิกภาพของประชาชนเหมือนกันหมดเพราะพวกเขาถูกบีบคั้นเข้าไปในเบ้าหลอมเดียวกัน ผู้ปกครองไม่ได้เห็นประชาชนอย่างที่พวกเขาเป็นจริงๆ แต่ได้เห็นอย่างที่พวกเขาถูกบังคับให้เป็นเท่านั้น…

“การคงสัมพันธภาพทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันไว้ทำให้ทุกฝ่ายเล่นละครตบตาจอมปลอมในบทนายกับบ่าว ทว่า ที่จริงต่างฝ่ายต่างก็เป็นทาสของระบบ…

“เสรีภาพที่จะเป็นตัวของตัวเองอย่างที่เป็นจริงคือสิ่งที่คนไทยไม่มี เพราะสัมพันธภาพทางอำนาจไม่เท่าเทียมกัน”

ภาพข่าว Thai PBS, 3 เมษายน 2566

ข้อความย่อหน้าท้ายคงโดนใจอาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านจึงคอมเมนต์เสริมไว้ในโพสต์เฟซบุ๊กว่า :

“นี่คือรากเหง้าของปัญหาหมักหมมในสังคมไทยเกือบทั้งหมด เรียกแบบภาษานักวิชาการว่า ‘จิตสำนึกของความเป็นปัจเจกชน’

“แต่ตราบใดที่สังคมยังถูกปกครองด้วย ‘เครือข่ายอุปถัมภ์ – patron-client relationship’ ตราบนั้น จิตสำนึกที่ว่าก็ไม่เกิด มันเป็นคู่ตรงข้ามกัน”

 

ผมคิดว่าเราอาจเรียกสภาพการณ์ของสังคมการเมืองไทยอันแวดล้อมกำกับพฤติกรรมที่ทำให้นายกฯ ประยุทธ์ฉุนกึ้กนี้ได้ว่า “สัมพันธภาพทางอำนาจแบบลิงหลอกเจ้า”

ดังที่ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์, 2440-2523) ปราชญ์สัพพัญญูพหูสูตเรื่องวัฒนธรรม วรรณคดีและภาษาไทย นักประพันธ์และนักสร้าง-ผู้กำกับ ทั้งสารคดีและนิยาย ทั้งเพลง ละครและภาพยนตร์ ได้อธิบายไว้ในสำนวนไทย (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), 2538) ว่าสำนวน “ลิงหลอกเจ้า” หมายถึง “แสดงกิริยาล้อหลอกผู้ใหญ่ต่อหน้า เวลาผู้ใหญ่มองทำเรียบร้อย แต่พอผู้ใหญ่เผลอหรือหันไปก็ทำหลุกหลิก ไม่เรียบร้อยเสมอต้นเสมอปลาย” (น.507)

ขุนวิจิตรฯ ยังเท้าความที่มาของสำนวนนี้ว่าอาจมาจากเรื่องรามเกียรติ์ที่หนุมานล่อหลอกทศกัณฐ์ในตอนเผาลงกาและเอากล่องดวงใจ โดยอ้างโคลงสุภาษิตของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (2398-2453, พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สี่) มาประกอบว่า :

“เสียใจเสียเช่นนั้น เชิงหญิง แล้วฮา

คิดว่าเจรจาจริง จึ่งเอื้อ

มิรู้เล่นรายลิง หลอกราพณ์

สูบรสหมดสิ้นเนื้อ จึ่งสิ้นอาลัย”

 

กล่าวในทางรัฐศาสตร์ สัมพันธภาพทางอำนาจแบบลิงหลอกยักษ์ สะท้อนว่าผู้คนในสังคมการเมืองนั้น ขาดด้อยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง ได้แก่ สิทธิของคนทุกคนที่จะเป็นตัวของตัวเองอย่างที่เป็นจริง (“the right of every man to be himself” ใน Marshall Berman, The Politics of Authenticity : Radical Individualism and the Emergence of Modern Society, 1970, p. 16)

เมื่อลิงปราศไร้สิทธิที่จะแสดงออกด้วยน้ำใสใจจริงว่าชอบหรือชังยักษ์ต่อหน้าตรงๆ ลิงย่อมได้แต่หน้าไหว้หลังหลอก, ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก ฯลฯ ไปวันๆ

เอาเข้าจริง การเคารพนับถือยกย่องสรรเสริญของลิงจะสมใจยักษ์ได้ก็ต่อเมื่อลิงทำอย่างเสรีเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ย่อมหมายความว่าลิงอาจเลิกเคารพนับถือยักษ์ได้ด้วย

และเนื่องจากลิงทั้งหลายเสรี และฉะนั้น จึงย่อมเปลี่ยนใจกลับไปมาได้ ความปลื้มปีติอิ่มอกอิ่มใจที่ลิงอาจให้แก่ยักษ์จึงย่อมเป็นการณ์จร ไม่ใช่ของแน่นอนตายตัว

ฉะนั้น หากแม้นยักษ์ได้ครอบครองความเคารพนับถือของลิงอย่างแน่นอนตายตัว มิอาจยกเลิกเพิกถอนได้แล้ว นั่นก็กลับจะบิดเบนบิดเบือน ไม่สมตามความมุ่งหมายไป เพราะเสรีภาพของลิงเป็นส่วนประกอบอันจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ในความปลื้มปีติใดๆ ที่ยักษ์จะพึงได้จากความเคารพนับถือของลิงนั้น

จากนี้จะเห็นว่าเป็นเวรกรรมของยักษ์เองที่ทำอย่างไรก็มิอาจบรรลุหลักการข้างต้น เพราะหากแม้นยักษ์ยอมให้ลิงคิดและรู้สึกเองเป็น มีเจตจำนงของลิงเองได้ กล่าวคือ ยอมรับว่าความยินยอมพร้อมใจของลิงเป็นเรื่องสำคัญในการเคารพนับถือยักษ์แล้ว ยักษ์ก็จำต้องเลิกเป็นยักษ์และสละละทิ้งฐานะครอบงำเป็นยักษ์ใหญ่เหนือลิงของตน

อันเป็นพื้นฐานรองรับสัมพันธภาพทางอำนาจแบบลิงหลอกยักษ์และสถานภาพความเป็นยักษ์ของตนดังกล่าว

 

พูดอีกนัยหนึ่งคือสถานการณ์ของยักษ์นั้นเป็นปฏิทรรศน์ (paradox) ที่ย้อนแย้งกันในตัวเอง เอกลักษณ์เดียวที่เป็นจริงของยักษ์ (ซึ่งก็คือ “ความเป็นยักษ์”) ได้ถูกถอดหัวโขนออกให้เห็นว่าเป็นแค่เอกลักษณ์ปลอม (คนเขาไม่ได้นับถือยกย่องคุณอย่างที่ตัวตนคุณเป็นจริง เขาแค่นับถือยกย่องหัวโขนเท่านั้นเอง) ตั้งอยู่บนโกหกคำโต ผงาดลำพองอยู่ต่อไปได้ก็ด้วยความจอมปลอมเท่านั้น ทำให้ตัวยักษ์เองขาดชีวิตธรรมชาติธรรมดาที่เป็นจริง

ท้ายที่สุดแล้วก็ได้แต่หลอกตัวเองและแพ้ภัยตนเองไปวันๆ

แต่กระนั้น เนื่องจากชีวิตทั้งชีวิตของยักษ์ถูกปิดครอบอยู่ในกะลาแห่งความจอมปลอมดังกล่าว เอกลักษณ์ปลอม (หัวโขน) ที่ยักษ์มอบหมายสวมครอบให้แก่ตัวเองจึงเป็นทั้งหมดที่ยักษ์มีอยู่ แม้ในยามที่พื้นฐานทางการเมืองของเอกลักษณ์นี้สั่นคลอนอยู่เบื้องล่างตีนยักษ์

ยักษ์ก็ยังคงได้แต่เกาะยึดคำหลอกตัวเองเอาไว้เหนียวแน่น (…ขอลุงทำต่ออีกสองปีนะ…) จนกว่าตนเองจะแตกสลายลงไปพร้อมกับมันในท้ายที่สุด

 

ชะตากรรมของยักษ์สะทกสะท้อนให้เห็นว่าในระบบเหลื่อมล้ำของนายกับบ่าวนั้น ไม่มีใครเป็นนายได้จริง ยิ่งเขาดูคล้ายเจ้านายมากเท่าใด เขาก็ยิ่งตกเป็นทาสของระบบดังกล่าวจนสิ้นเนื้อประดาตัวมากเท่านั้น

เสรีภาพกับความสุขที่ฐานะแห่งความเป็นเจ้านายให้สัญญาว่าจะได้มานั้นเป็นแค่มายาการ มันจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อคนทั้งหลายเลิกเป็นบ่าวกับนาย เลิกเป็นลิงกับยักษ์ แต่หันกลับมาเป็นคนเท่ากันตามธรรมชาติธรรมดา

มีแต่เมื่อบุคคลสละละทิ้งฐานะหัวโขนที่เป็นเจ้าคนนายคนเท่านั้น ที่เขาจะได้เอกลักษณ์ความเป็นผู้คนตามธรรมชาติกลับมา และเริ่มกระบวนการแสวงหาและสร้างตัวตนที่ตอนนี้มีอยู่แค่ในศักยภาพ ให้กลายเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาขึ้นมาได้ในเบื้องหน้า

เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่แห่งสัมพันธภาพทางอำนาจปกติวิสัยที่ไม่มีใครเป็นลิงหรือเป็นยักษ์ ไม่มีใครต้องหน้าไหว้หลังหลอกหรือโกรธเกรี้ยวฉุนเฉียวเป็นนิจศีล แต่เป็นคนเท่ากันที่ออกแสวงหาความสุขทั้งที่ร่วมกันและต่างหากจากกันได้อย่างเสรี