ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล
อุษาวิถี (25)
อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)
กล่าวคือ ภายหลังออกจากรัฐหลู่แล้ว ขงจื่อได้เดินทางไปยังรัฐเว่ย แต่พำนักอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องออกจากรัฐนี้ เพราะผู้นำรัฐเว่ยเห็นว่าขงจื่อไม่ใช่คนของรัฐเว่ย จึงเกิดความไม่ไว้วางใจขึ้นมา
ส่วนขงจื่อเมื่อออกจากรัฐเว่ยแล้วก็เดินทางไปยังรัฐควง (ปัจจุบันคือ อำเภอฉางหยวน มณฑลเหอหนาน) ในระหว่างทางไปรัฐควงนี้เองที่ขงจื่อเกิดพลัดหลงกับคณะศิษย์และผู้ติดตาม
สภาพของขงจื่อในช่วงนี้ถูกเปรียบให้ไม่ต่างกับ “สุนัขพลัดบ้าน” ซึ่งเมื่อเขารู้ในชั้นหลังก็ยอมรับสภาพในขณะนั้นว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาเดียวกันนั้นได้เกิดกบฏที่รัฐเว่ย ฝ่ายกบฏถูกกองกำลังรัฐเว่ยตีร่นมาถึงรัฐควง กบฏจึงใช้รัฐควงเป็นที่มั่นของตน
ฉะนั้น เมื่อขงจื่อเดินทางไปถึงรัฐควงนั้น สภาพที่ขงจื่อพบเห็นจากรัฐควงก็คือ เศษซากของสงคราม และการสู้รบที่ยังดำเนินอยู่ ทำให้ขงจื่อจึงตกอยู่ภายใต้วงล้อมของสถานการณ์ที่ว่านานห้าวัน จึงจะหลุดรอดออกมาได้อย่างปลอดภัย
ระยะที่สี่ เนื่องจากรัฐควงอยู่ระหว่างกลางรัฐเว่ยกับรัฐจิ้น (ปัจจุบันคือ อาณาบริเวณมณฑลซานซี เหอเป่ย และเหอหนาน) ขงจื่อจึงตัดสินใจเดินทางไปยังรัฐจิ้น
ขณะที่กำลังจะข้ามแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) เพื่อไปยังรัฐจิ้นก็มีข่าวว่า กษัตริย์รัฐจิ้นได้ฆ่านักปราชญ์สองคนที่เคยเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองจนทำให้กษัตริย์รัฐจิ้นได้เป็นกษัตริย์เสียแล้ว
ขงจื่อสลดใจต่อพฤติกรรมของผู้นำรัฐจิ้น จึงยุติการเดินทางไว้ ณ บริเวณนั้น
ในช่วงนี้เองที่ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นที่รัฐจิ้น ขุนศึกผู้หนึ่งที่ยึดพื้นที่บางส่วนได้นั้น เห็นเป็นโอกาสดีที่ขงจื่อกำลังมีความไม่พอใจพฤติกรรมของผู้นำรัฐจิ้น จึงเชิญขงจื่อมาเป็นที่ปรึกษา ขงจื่อตกลงรับโดยไม่ฟังคำทัดทานของศิษย์
แต่ด้วยเหตุที่สงครามกลางเมืองกำลังเป็นวิกฤตที่รุนแรง ขงจื่อจึงปฏิเสธบทบาทดังกล่าวไปในที่สุด
ระยะที่ห้า เมื่อขงจื่อไม่ได้เป็นที่ปรึกษาตามคำเชิญแล้ว จึงตัดสินใจกลับไปยังรัฐเว่ยอีกครั้งหนึ่ง และใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐนี้เป็นเวลาสามปีในขณะที่มีอายุได้ 59 ปี แม้มหาเสนาบดีของรัฐนี้จะต้อนรับขงจื่อเป็นอย่างดี แต่ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับท่านผู้หญิง (Lady) และเหล่าขุนนางที่โปรดปรานเสียมากกว่า
ระหว่างนี้ขงจื่อต้องเข้าไปสัมพันธ์กับท่านผู้หญิงในลักษณะสองต่อสองด้วยความไม่สบายใจ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อิทธิพลของท่านผู้หญิงของรัฐเว่ยที่มีอยู่สูงเช่นนี้ต่อมาได้นำมาซึ่งความไม่พอใจของบุตรชายมหาเสนาบดี และได้วางแผนที่จะสังหารท่านผู้หญิงเสีย
แต่แผนกลับล้มเหลว ทำให้บุตรชายต้องหนีไปพึ่งการคุ้มครองของรัฐจิ้น มหาเสนาบดีจึงคิดที่จะยกทัพไปบุกรัฐจิ้น แต่ขงจื่อไม่เห็นด้วย ซึ่งยังความไม่พอใจแก่มหาเสนาบดีอย่างมาก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ขงจื่อก็ถึงคราวที่จะต้องออกจากรัฐเว่ยไปในที่สุด
ส่วนเหตุการณ์ภายในรัฐเว่ยภายหลังจากนั้น โดยเฉพาะภายหลังการจากไปของมหาเสนาบดีแล้ว สถานการณ์ก็ตกอยู่ในสงครามกลางเมือง อันเป็นการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างบุตรชายกับหลานของมหาเสนาบดี
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างพ่อกับลูก สงครามกลางเมืองระหว่างพ่อลูกนี้ดำเนินยืดเยื้อต่อไปยังพ่อลูกในชั่วรุ่นที่สองจึงได้ยุติลง
ระยะที่หก ขงจื่อออกจากรัฐเว่ยเมื่อ ก.ค.ศ.492 ขณะนั้นมีอายุได้ 60 ปี ขงจื่อมุ่งตรงไปยังรัฐซ่ง แต่ถูกขับไล่โดยขุนศึกคนหนึ่งที่แค้นใจขงจื่อ เนื่องจากเคยถูกขงจื่อวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรม ขงจื่อจึงออกจากรัฐซ่งไปยังรัฐเฉิน (แหล่งอ้างอิงระบุว่า ปัจจุบันคือ อำเภอฝายหยาง มณฑลเหอหนาน แต่จากการค้นหาไม่พบชื่ออำเภอนี้ เป็นไปได้ว่า แหล่งอ้างอิงอาจจะพิมพ์ผิด)
เนื่องจากรัฐเฉินเป็นรัฐที่ถูกขนาบไปด้วยรัฐอู๋และรัฐฉู่ กษัตริย์ของรัฐเฉินจึงต้องการได้ขงจื่อมาเป็นที่ปรึกษา แต่เมื่อขงจื่อได้ให้คำปรึกษาไปจริงๆ คำปรึกษานั้นๆ กลับไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ
ในช่วงนี้ที่รัฐหลู่ได้เกิดเพลิงไหม้วิหารบรรพชนสองหลังในฤดูใบไม้ผลิ หลังหนึ่งรักษาสืบทอดมาได้แปดชั่วรุ่น อีกหลังหนึ่งหกชั่วรุ่น ครั้นถึงฤดูใบไม้ร่วงก็ได้มีการเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ในรัฐนี้
มหาเสนาบดีคนใหม่คิดที่จะเชิญขงจื่อมาเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง ตามคำแนะนำก่อนเสียชีวิตของมหาเสนาบดีคนเดิม แต่ถูกขุนนางทัดทานเอาไว้จึงเลิกล้มความคิดไป
อย่างไรก็ตาม ขงจื่อได้พำนักอยู่ที่รัฐเฉินเป็นเวลานานสามปี
ระยะที่เจ็ด ก.ค.ศ.489 ปรากฏว่า รัฐอู๋ได้ยกทัพมาตีรัฐเฉิน แต่ได้รัฐฉู่มาช่วยเอาไว้ทัน ขงจื่อจึงได้เดินทางต่อไปยังรัฐฉู่ ในช่วงนี้ได้เกิดสงครามระหว่างรัฐฉู่กับรัฐอู๋ มีหลายรัฐได้รับผลกระทบจากสงครามของสองรัฐนี้ และรัฐไช่เป็นรัฐหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ครัวเรือนส่วนหนึ่งของรัฐไช่ถูกทหารของรัฐฉู่ควบคุมตัวมาอยู่นั้น เป็นช่วงที่ขงจื่อได้เดินทางมาประสบเหตุเข้าพอดี ขงจื่อและคณะจึงถูกควบคุมตัวเอาไว้กลางทาง
การควบคุมยาวนานอยู่หลายวัน ในที่สุดเสบียงของขงจื่อก็หมดลง แต่ต่อมารัฐฉู่ก็ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยได้คุ้มครองขงจื่อให้รอดพ้นจากเขตพื้นที่สงคราม ขงจื่อพำนักอยู่ตรงบริเวณชายแดนของรัฐฉู่
ระหว่างนี้กษัตริย์ของรัฐฉู่มีดำริที่จะเชิญขงจื่อมาเป็นที่ปรึกษา แต่บรรดาขุนนางกลับไม่เห็นด้วย ซึ่งยังความเจ็บปวดแก่ขงจื่อไม่น้อย แต่กระนั้น ขงจื่อก็ยังหาได้ท้อใจไม่ ในที่สุดขงจื่อก็ตัดสินใจเดินทางไปยังรัฐเว่ยอีกครั้งหนึ่ง
เวลานั้นขงจื่อมีอายุได้ 63 ปีแล้ว
ระยะที่แปด เหตุผลหนึ่งที่ขงจื่อเดินทางไปยังรัฐเว่ยก็เพราะในขณะนั้นรัฐเว่ยเริ่มมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ศิษย์ของขงจื่อจำนวนหนึ่งยังได้รับเชิญให้ไปเป็นขุนนางตำแหน่งต่างๆ ของรัฐนี้อีกด้วย
ในขณะที่ผู้นำรัฐเว่ยก็มีความคิดที่จะเชิญขงจื่อมาเป็นที่ปรึกษาด้วยเช่นกัน
ในเวลานี้เองที่ขงจื่อได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติภารกิจทางการเมืองของตนผ่านแนวคิด “เจิ้งหมิง” อีกครั้งหนึ่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022