What happened? พรรคลุงป้อม เข็นไม่ขึ้น พรรคลุงตู่ แพ้ห่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’

What happened? พรรคลุงป้อม เข็นไม่ขึ้น พรรคลุงตู่ แพ้ห่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เลือกตั้ง ’66 จุดเปลี่ยนการเมือง คนไทยไม่เอา สืบทอดอำนาจ

 

ก่อนการเลือกตั้งเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า พรรคการเมืองปีกอนุรักษนิยม หรือพรรคทหาร 2 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระแสไม่เปรี้ยงปร้าง ทั้งๆ ที่กองเชียร์ กำลังสนับสนุน และเงินทุนทุ่มให้อย่างมหาศาล อัดฉีดแบบไม่อั้น แต่ผลตอบรับ แป้ก และแผ่ว อย่างไม่น่าเชื่อ

ดังเห็นได้จากสำนักโพลที่น่าเชื่อถือ อย่างนิด้าโพล เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน และเผยแพร่ อาทิตย์ 16 เมษายน บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 35.70 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 20.25 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 13.60 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ แพ้ทิ้งห่างพิธา อย่างมีนัยสำคัญ

และน่าตกใจกว่านั้น ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) หลุดหายไปจาก 10 อันดับแรก

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.20 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.20 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 10.80 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ อันดับ 8 ร้อยละ 2.10 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.00 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.85 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 11.40 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ และอันดับ 9 ร้อยละ 1.80 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ

ภาพรวมของนิด้าโพล “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2” คะแนนนิยมของพรรคปีกอนุรักษนิยม หรือ 2 พรรคทหาร พรรคลุงตู่ ดีกว่า พรรคลุงป้อม อย่างชัดเจน เพราะลุงตู่ และพรรครวมไทยสร้างชาติ จ่ออันดับสาม แต่เมื่อพิจารณาจากคะแนน แพ้ห่างอุ๊งอิ๊ง และพรรคเพื่อไทย และแพ้พิธา พรรคก้าวไกล แบบหลายช่วงตัว แพ้แบบห่างๆ

ขณะที่ลุงป้อม และพรรคพลังประชารัฐ แพ้แบบหลุดลุ่ย ไม่เห็นฝุ่น

 

เช่นเดียวกับโพลขององค์กรสื่อชั้นนำ “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” รอบแรก คำถาม ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566 พบว่าในกลุ่ม 5 อันดับแรก ผู้ได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ร้อยละ 29.42, อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 23.23, อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 16.69, อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 13.72, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ร้อยละ 2.97 ฯลฯ ควานหาชื่อของ พล.อ.ประวิตร หล่นไปอันดับ 10 ท้ายกระดาน ด้วยคะแนนเพียงร้อยละ 1.24

ส่วนคำถาม ท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 5 อันดับแรกนั้น พรรคการเมืองได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 38.89, อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 32.37, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 12.84, อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.30, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด ร้อยละ 2.21 ฯลฯ พรรคพลังประชารัฐ หล่นไปอันดับ 9 ได้คะแนนเพียงร้อยละ 1.55

จุดน่าสนใจของโพลมติชน x เดลินิวส์ คือ กลุ่มคนที่เทคะแนนให้ลุงตู่ คือกลุ่มวัย 77 ปีขึ้นไปเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอันดับ 1

ส่วนกลุ่มข้าราชการที่เข้ามาร่วมตอบแบบสอบถามมากที่สุดจำนวนถึง 24.27% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยข้าราชการโหวตให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นอันดับ 1 ที่ 24.78% ตามมาด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อันดับ 2 ที่ 20.74% และอันดับ 3 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ 17.87%

สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มข้าราชการที่ทำงานภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นเวลามากกว่า 8 ปี ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำโดยเฉพาะผู้นำรุ่นใหม่

 

อะไรทำให้พรรคปีกอนุรักษนิยมคะแนนหาย ไม่ได้รับความนิยมเหมือนการเลือกตั้งปี 2562

อาจารย์ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ไม่มีพื้นที่จริงๆ ในสนามเลือกตั้ง

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มปรับเกมสู้ จะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เริ่มปรับตัวลงพื้นที่สงกรานต์ และลงพื้นที่รัวๆ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ตลาดบองมาร์เช่ ต่อด้วยตลาด อ.ต.ก. ตลาดนัดสวนจตุจักร ชุมชนเยาวราช

ข้อสังเกตคือ พื้นที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกไปนั้น ค่อนข้างจะเป็นตลาดของคนมีเงินมาจับจ่าย สะท้อนว่า รทสช.ขยายพื้นที่หาเสียงลำบาก เจาะย่านคนรวยเท่านั้น

สิ่งที่ รทสช.ทำอยู่นั้น สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะนิ่งเฉยอยู่แต่ในทำเนียบรัฐบาลต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะถ้ายังอยู่เหมือนเดิม มีแต่จะยิ่งถดถอยไปมากกว่านี้

 

ขณะที่ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต วิเคราะห์ความถดถอยของพรรคการเมืองปีกอนุรักษนิยมว่า ทิศทางการเมืองของพรรคทหาร กำลังถูกประชาชนทิ้ง เหมือนเรือกำลังจะจม

และเป็นการตอกย้ำว่า พรรคทหารเป็นเพียงพรรคชั่วคราว วันนี้สถานะและวันเวลาของผู้นำพรรคทหารไม่อาจย้อนคืนมาได้ การเลือกตั้งครั้งนี้ การเป็นผู้นำพรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่สามารถไปช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคได้เลย

กล่าวสำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะมีจุดเด่นที่ระดมคนจากพรรคประชาธิปัตย์มาได้ แต่คนที่เข้ามาในพรรค พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนมากไม่ใช่ ส.ส.จากการเลือกตั้งปี 2562 หลายคนเป็นนักการเมืองสูงวัย และไม่ใช่นักการเมืองเจ้าของพื้นที่ตัวจริง ฉะนั้นการเลือกตั้ง 2566 อาจเป็นฉากสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะมีจุดจบแบบเดียวกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่ต้องประกาศยุติบทบาทการเมืองในปี 2523

“จากการสำรวจคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ร้อยละ 70 ของคะแนนนิยมเป็นของปีกประชาธิปไตย ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคปีกอนุรักษนิยมเหลือแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น เป็นจุดเปลี่ยนการเมือง เป็นการส่งสัญญาณว่า คนไทยไม่ต้องการการสืบทอดอำนาจ” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

 

ขณะที่มุมมองของนักวิเคราะห์การเมือง อย่าง “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์ โฟกัสไปที่ พล.อ.ประวิตรว่า เป็นผู้นำพรรคการเมืองที่ไม่มีแคแร็กเตอร์ และไม่มีคาริสม่า ไม่มีสีสันใดๆ เลยในสนามเลือกตั้ง การนำเสนอก้าวข้ามความขัดแย้ง คนส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อมั่น ส่วนการขายนโยบายเศรษฐกิจก็ยาก เพราะนโยบายพลังประชารัฐรอบที่แล้วก็ไม่ได้ทำตามสัญญา

ศิโรตม์เชื่อว่า จุดแข็งที่กลายเป็นจุดอ่อนของ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร คือการแยกออกเป็นสองพรรค ทำให้ความแข็งแกร่งในการเลือกตั้งปี 2562 หายไป กลายเป็น 2 พรรคที่มีจุดอ่อนมากมาย เป็นจุดพลาดของพรรคทหาร เมื่อแยกเป็นสองพรรค จุดแข็งก็กลายเป็นจุดอ่อน จุดอ่อนก็อ่อนยิ่งกว่าเดิม

นี่คือบทวิเคราะห์ที่อธิบาย 2 พรรคปีกอนุรักษนิยม เจอปรากฏการณ์แป้ก และไม่ปังเท่าที่ควร