กระแสเลิกเกณฑ์ทหาร-ช่วงขาลงกองทัพ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ประเด็นร้อนแรงเรื่องหนึ่ง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง คือ นโยบายของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ผลักดันยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ ขณะที่พรรคการเมืองและนักการเมืองแนวอนุรักษนิยม โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมายืนยันว่า การเกณฑ์ทหารยกเลิกไม่ได้ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีทหาร

ตอบโต้กันไปมา กลายเป็นว่า การเกณฑ์ทหาร คือ ความรักชาติ เสียสละเพื่อชาติ อะไรไปโน่น

แต่ยิ่งมีการตอบโต้ ยิ่งทำให้กระแสเรื่องนี้ขยายวงไปมากขึ้น ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และน่าจะส่งผลให้บรรดาผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นตัดสินใจพิจารณาว่าจะเลือกใครพรรคไหน เพิ่มขึ้นมาอีกประเด็น

เห็นได้ชัดว่า การสนับสนุนยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เป็นนโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย

ขณะที่ฝ่ายปกป้องระบบการเกณฑ์ทหาร ด้วยข้ออ้าง ต้องรักชาติ เป็นพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมขวาจัด

เป็นการตอกย้ำให้คนในสังคมมองเห็นได้ว่า ระบบเกณฑ์ทหาร จะอยู่หรือจะเลิก เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจในวันเดินเข้าคูหากาบัตรไปด้วย

ทั้งนี้ แนวคิดการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เริ่มต้นจากพรรคอนาคตใหม่ ส่งต่อมายังพรรคก้าวไกล

ต่อมา พรรคเสรีประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทย โดยนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ กล่าวปราศรัยชูนโยบายนี้เป็นอีกเรื่องสำคัญ ว่าพรรคเพื่อไทยจะผลักดันให้ยกเลิกเกณฑ์ทหารด้วย

แน่นอนว่า ประเด็นการเกณฑ์ทหาร พุ่งตรงไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่

หนุ่มฉกรรจ์ชาวไทย ทุกคนต้องมีช่วงระทึกคือเข้าสู่ระบบการคัดเลือกทหาร ระบบการฝึกทหาร

ถ้าสามารถเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารรักษาดินแดน หรือนักศึกษา รด.ได้ ทุกคนพร้อมจะเรียน เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร ไม่ต้องไปเสี่ยงจับใบดำใบแดง

ส่วนคนที่ไม่ได้เรียนหลักสูตรนักศึกษา รด. ถึงเวลาก็ต้องไปเสี่ยงคัดเลือกทหาร

บรรยากาศภาพข่าวการเกณฑ์ทหาร ที่เราเห็นกันเป็นประจำสม่ำเสมอ บอกได้ชัดอยู่แล้วว่า ชายไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ไม่มีใครอยากไปเป็นทหารเกณฑ์!!

 

ใครที่รอดพ้นการเกณฑ์ หรือจับใบดำได้ จะดีใจกันสุดขีด และมักจะตามมาด้วยการแก้บน เช่น วิ่งกลับบ้านหลายกิโลเมตร หรือเดินกลับบ้านหลายกิโลเมตร ไม่นั่งรถกลับ เพราะบนบานเอาไว้ว่าถ้ารอดทหาร จะวิ่งหรือเดินกลับบ้าน ไปจนถึงการแก้บนด้วยหลากหลายวิธี เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

ส่วนใครจับได้ใบแดง หมายถึงต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ ก็เป็นอันล้มทรุด ขาอ่อน กระทั่งร้องไห้ก็มี

เพราะหมายถึงจะสูญเสียช่วงเวลาสำคัญของชีวิต อาจจะเป็นช่วงที่กำลังทำงานดีๆ มีอนาคตในอาชีพ แต่ก็ต้องสะดุดลง หรือบางรายก็เป็นหลักในครอบครัว ต้องดูแลพ่อแม่วัยชรา

ภาพข่าวที่เราได้เห็นเหล่านี้ บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกของชายไทยในประเทศนี้โดยส่วนใหญ่ว่า รู้สึกเช่นไรกับการเกณฑ์ทหาร

นี่คือความจริง ที่นำมาสู่แนวคิด การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนไปเป็นรับสมัครแทน

เพราะความจริง ยังมีชายไทยอีกส่วนหนึ่ง ที่ใจรักในเครื่องแบบนักรบ ชอบจับปืน ยืนปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ หรืออีกส่วนเห็นว่า อาชีพทหารทำให้มีรายได้ มีสวัสดิการ มีบำเหน็จบำนาญในระยะยาว ดีกว่าอยู่กับการทำมาหากินที่ยากลำบาก

ทำให้มีชายไทยที่พร้อมจะเข้าสมัครเป็นทหารก็มี และกำลังพลเหล่านี้จะมีคุณภาพ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการฝึกฝน และในการทำหน้าที่ทหาร

กล่าวได้ว่า กำลังพลทหาร ไม่น่าจะมีปัญหาขาดแคลน ถ้าหากต้องยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารจริงๆ เพราะมีคนพร้อมสมัครเข้ารับราชการทหารจริงๆ จำนวนไม่น้อย

อีกทั้งโลกสมัยใหม่ การสู้รบก็ลดบทบาทของกำลังพลทหารราบไปแล้ว

เป็นสงครามเทคโนโลยี ใช้ดาวเทียม ใช้ขีปนาวุธ และใช้โดรนติดอาวุธ แทนทหารจริงๆ

*ระบบการคัดเลือกกำลังพลทหารไว้มากๆ ไม่น่าจะสอดคล้องกับโลกในยุคดิจิทัลแล้ว*

ดังนั้น นโยบายหาเสียงของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่ให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ จึงสอดรับกับความเป็นจริงในสังคม ที่ชายฉกรรจ์จำนวนมากดีใจกันหลุดโลก ถ้าหากรอดพ้นการจับทหาร

ขณะเดียวกับช่วงชีวิตวัยหนุ่ม ที่ทำการงานในอาชีพที่ดี มีประโยชน์สร้างสรรค์สังคม ก็จะเป็นพลเมืองคุณภาพ ก่อประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากมาย

การรักชาติ การทำเพื่อชาติสำหรับชายไทย ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารเท่านั้น!?!

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อว่านโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร จะได้รับเสียงสนับสนุนจากเด็กรุ่นใหม่อย่างล้นหลาม เพราะสอดรับกับช่วงชีวิตของคนเหล่านี้อย่างมาก และพร้อมๆ กัน สอดรับกับกระแสทางการเมือง ที่กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการยุ่งเกี่ยวการเมือง และเป็นช่วงขาลงของเครือข่ายขุนศึกในทางการเมืองอีกด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ตัวแทนสำคัญของกองทัพและของเครือข่ายกองทัพที่เข้ามาแทรกแซงการเมือง

เริ่มจากเป็นผู้นำการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ล้มล้างประชาธิปไตย แม้จะอ้างว่าเพื่อเข้ามารักษาความสงบ เพราะความขัดแย้งที่กำลังจะส่อเค้าเกิดสงครามกลางเมือง ดังนั้น กองทัพจึงจำเป็นต้องเข้ามาหยุดยั้งเรื่องเหล่านี้

แต่เมื่อรัฐประหารเสร็จ แล้วผู้นำรัฐประหารเป็นนายกฯ เสียเอง อยู่เป็นผู้นำรัฐบาลทหารยาวนานถึง 5 ปี

จากนั้นเขียนรัฐธรรมนูญ ที่เอื้อประโยชน์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเป็นนายกฯ ต่อ หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ด้วยการให้ 250 ส.ว.ร่วมโหวตแต่งตั้งนายกฯ

พอถึงการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ก็ยังลงชิงเก้าอี้นายกฯ ต่อ แม้ว่าคำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่า เป็นนายกฯ ต่อไปได้ถึงปี 2568 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าเท่านั้น ก็ยังจะลงต่อ

นั่นเพราะถือว่ามีกลไก 250 ส.ว. เอามาใช้โหวตนายกฯ ได้ต่อ อีก 1 รอบ ก็ต้องใช้ไม่ให้เสียของ

ทั้งหมดนี้อธิบายได้ว่า การรัฐประหาร 2557 ไม่เป็นไปตามข้ออ้างเพื่อเข้ามารักษาความสงบของบ้านเมือง แต่ชัดเจนว่าเพื่อช่วงชิงอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง แล้วก็ยังครองอำนาจต่อมาอีก 8-9 ปี และตั้งใจจะครองอำนาจต่อไปอีก 2 ปี

การรัฐประหารของกองทัพ และการส่ง พล.อ.ประยุทธ์ มาอยู่ในเก้าอี้นายกฯ ยาวนาน นำมาซึ่งกระแสต่อต้าน 2 ประการ โดยอย่างแรก ถือเป็นคู่กรณีกับฝ่ายประชาธิปไตย ประการต่อมา เพราะอยู่ในอำนาจยาวนานถึง 8-9 ปี เศรษฐกิจตกต่ำ นำมาซึ่งความเบื่อหน่าย เห็นว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ด้วยการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้

จึงกล่าวได้ว่า เป็นช่วงขาลงของเครือข่ายกองทัพในทางการเมืองอย่างแท้จริง

ดังนั้น นอกจากประเด็นเศรษฐกิจที่ประชาชนคาดหวังจากพรรคการเมืองอื่น และปรารถนาจะให้การเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงอำนาจ ไม่เอาแล้วผู้นำจากทหาร

ประเด็นการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ก็เป็นอีกกระแสที่แสดงออกถึงการปฏิเสธอำนาจอันใหญ่โตของกองทัพ

ทั้งเป็นอำนาจที่ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของชายหนุ่มชาวไทยทั้งหลายอีกด้วย!