ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
กรณีที่เอกสารของเพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกากว่า 100 หน้าถูกนำมาเผยแพร่เปิดเผยไว้บนอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นกรณีอื้อฉาวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ถือเป็นกรณี “รั่วไหล” ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในแวดวงข่าวกรองอเมริกัน
เลวร้ายถึงขนาดที่ว่า ไม่เพียงเพนตากอนต้องลงมือสอบสวนกรณีดังกล่าวเท่านั้น ยังออกมาเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีควบคู่กันไปอีกด้วย
เอกสารที่ถูกลอบนำมาเปิดโปงจนกลายเป็นเหตุอื้อฉาวที่สื่อทั่วโลกขนานนามว่า “เพนตากอนลีกส์” ครั้งนี้เป็นผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ประเมินข่าวกรองของศูนย์ปฏิบัติการสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) และคณะเสนาธิการทหารร่วม (เจซีเอส) อันเป็นหน่วยงานทางทหารระดับสูงสุดของประเทศ ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านการทหารแก่รัฐมนตรีกลาโหมและประธานาธิบดี
เอกสารที่ถูกนำมาเปิดเผยครั้งนี้ถูกจัดอยู่ในชั้นความลับระดับสูงเอามากๆ เพราะส่วนหนึ่งกำหนดทำขึ้นสำหรับ “แบ่งปันข้อมูล” ข่าวกรองระหว่างชาติพันธมิตรด้านการข่าว 5 ชาติ ที่เรียกกันว่า เครือข่าย “ไฟว์ อายส์” เท่านั้น อีกหลายส่วนที่เหลือ ไม่สามารถเผยแพร่แบ่งปันให้ใครได้ แม้จะเป็นชาติพันธมิตรด้วยกันก็ตาม
บางส่วนของข้อมูลข่าวกรองดังกล่าวนี้ได้มาจาก “แหล่งข่าวที่เป็นตัวบุคคล” ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง อีกหลายส่วนเป็นการเปิดเผยให้ “เป้าหมาย” ในการทำจารกรรมของสหรัฐอเมริกาได้รู้ตัว จนหาทางปิดรอยอุดรูรั่วไหล ทำให้ “ข่าวกรอง” ที่เคยได้รับมาอาจสิ้นสุดลง
แฟ้มข้อมูลดิจิทัลของเอกสารลับดังกล่าวนี้ ดูเหมือนถูกทิ้งไว้ในเซิร์ฟเวอร์สาธารณะบนอินเตอร์เน็ตเป็นเวลานานหลายเดือน ก่อนที่รัฐบาลอเมริกันจะรู้ตัวว่าเกิดการรั่วไหลขึ้น ดังนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดแน่ใจว่า “ความลับ” เหล่านี้หลุดเผยแพร่ออกไปมากน้อยเพียงใด
และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เสียหายมากน้อยเพียงใด
องค์กรสื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบลลิงแคต อันเป็นกลุ่มผู้สื่อข่าวแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ลงมือสืบสาวเรื่องราวสายสนกลในทั้งหมด และสามารถเปิดโปงได้ในไม่ช้าไม่นานว่า ต้นตอที่มาของการรั่วไหลครั้งนี้ คือ ทหารอากาศระดับล่างในสังกัดหน่วยข่าวกรองการบินประจำกองกำลังรักษาดินแดน นำไปสู่การจับกุมเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา
ซีไอเอและเจซีเอส มีโชคอยู่ไม่น้อยที่บางส่วนของเอกสารลับเหล่านี้ถูกปรับแก้ไข ตัดทอน จนสามารถเปิดทางให้สามารถออกมาด้อยค่าเนื้อหาของเอกสารหรือสามารถปฏิเสธความถูกต้องแม่นยำได้ เหมือนอย่างที่เกาหลีใต้และสหราชอาณาจักรแถลงอย่างเป็นทางการออกมา
ในอีกทางหนึ่งการสนองตอบต่อการปรากฏเป็นข่าวของเอกสารลับเจ้าปัญหาของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เรื่องการแจ้งเรื่องให้ชาติพันธมิตรรับทราบ, การขออภัยและการบรรเทาความร้ายแรงในจุดที่สามารถทำได้ ก็เป็นไปอย่างฉับไว
เช่นเดียวกันกับการล่าตัวหาแหล่งที่มาของการรั่วไหลซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว แม่นยำ
อย่างไรก็ตาม เพนตากอนลีกส์ ก็สร้างความฉุนเฉียว “เงียบๆ” ให้กับหลายชาติพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น การเปิดโปงครั้งนี้ส่งผลสะเทือนตั้งแต่การสร้างปัญหาทางการเมืองครั้งใหญ่ให้กับรัฐบาลเกาหลีใต้ (ที่เอกสารระบุว่ากำลังพิจารณาว่าจะส่งอาวุธช่วยเหลือยูเครนทำศึกกับรัสเซียหรือไม่)
และทำให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกาอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือทางทหารให้กับอียิปต์ ได้ยากมากขึ้น จากเดิมที่ยากเย็นอยู่แล้ว (มีการเปิดโปงว่า อียิปต์มีแผนลับจะจัดส่งจรวดให้กับรัสเซีย)
ไปจนถึงการสร้างความเสียหายโดยตรงที่สามารถเห็นได้กระจะๆ นั่นคือ กระทบต่อแผนการทำสงครามกับรัสเซียของกองทัพยูเครน, ทำให้กองทัพยูเครนอาจจำกัดการเข้าถึงแผนยุทธการของตน จนชาติที่เป็นหุ้นส่วนในนาโตหรือพันธมิตรตะวันตกยากมากขึ้นในอันที่จะประเมินทิศทางของสงครามและผลลัพธ์จากการให้ความช่วยเหลือแก่ หรือการทำให้เป้าหมายในการจารกรรมข้อมูลที่เป็นข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา “รู้ตัว” เป็นต้น
ในแง่ของแวดวงข่าวกรอง กรณีที่เกิดขึ้นเช่นนี้สามารถก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้ ถ้าหากเพนตากอนลีกส์นำไปสู่การ “ยุติ” หรือ “ลดระดับ” การแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองระหว่างชาติพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม บรรดาชาติพันธมิตรเหล่านี้ตระหนักดีถึง “คุณค่า” ของข่าวกรองจากสหรัฐอเมริกาในแง่ของความถูกต้อง ชัดเจน และผ่านการวิเคราะห์ประเมินเพื่อยืนยันที่ยอดเยี่ยม ส่วนสหรัฐอเมริกาก็จำเป็นต้องอาศัย “การข่าว” จากชาติพันธมิตรเหล่านี้ สำหรับเป็นเสมือน “วัตถุดิบ” หรือ “สารตั้งต้น” ในการวิเคราะห์ ประเมิน และยืนยัน หากทุกอย่างยุติลง หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ก็อาจตกอยู่ในสภาพ “มืดบอด” ได้เช่นเดียวกัน
แน่นอน ชาติที่เป็นปฏิปักษ์ของสหรัฐอเมริกา อย่างรัสเซียหรืออื่นๆ ถือว่า รายละเอียดในเอกสารลับที่รั่วไหลออกมาครั้งนี้ “ทรงคุณค่า” อย่างยิ่ง แต่โดยรวมแล้วสามารถกล่าวได้ว่าเอกสารลับที่ถูกนำมาเปิดเผย ไม่ได้มีความสำคัญหรือเป็นข้อมูลชนิดสร้างความตกตะลึงพรึงเพริดขึ้นแต่อย่างใด
หลายๆ ส่วนของข้อมูลลับ เป็นข้อมูลที่รู้และถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อทั้งหลายไปแล้วก่อนหน้านี้ อาทิ การขาดแคลนกระสุนของยูเครน, การที่การเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน ไม่เคยเข้าใกล้ความเป็นจริงแม้แต่น้อย เป็นต้น
ในส่วนที่เป็นการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาดักฟังแม้แต่ชาติพันธมิตรด้วยกัน ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับรู้กันอยู่ในทีก่อนหน้านี้มานานแล้ว หรือกรณีที่ข้อมูลจากเอกสารลับเหล่านี้ว่าด้วยแผนการ “รุกกลับ” ของยูเครน ก็อาจทำให้มีการปรับเปลี่ยน จนกลายเป็น “ไม่แม่นยำ” ไปในที่สุด
“เพนตากอนลีกส์” ครั้งนี้จึงยังสร้างความเสียหายให้กับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้ไม่มากเท่าการรั่วไหล “ครั้งประวัติศาสตร์” ที่เกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้ อย่างกรณี อัลดริช แอเมส ในปี 1994, เชลซี (เพย์ตัน) แมนนิ่ง ในปี 2010 หรือกรณี เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เมื่อปี 2013
จะมีก็แต่ผลกระทบอันจะเกิดขึ้นกับสงครามในยูเครนเท่านั้นเองว่า เพนตากอนลีกส์ครั้งนี้จะถึงกับทำให้แผนยุทธการของกองทัพยูเครนต้องพังพาบลงและทำให้โฉมหน้าสงครามพลิกผันอีกครั้งได้หรือไม่ เท่านั้นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022