[X]CLUSIVE เสน่ห์ ‘จุรินทร์’ ผ่านการ์ตูน ‘อู๊ดด้า’ แย้มความเป็นไปได้ จับขั้ว ‘พท.’ – ให้ประชาชนตอบ

รายงานพิเศษ | พิชญเดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

[X]CLUSIVE

เสน่ห์ ‘จุรินทร์’ ผ่านการ์ตูน ‘อู๊ดด้า’

แย้มความเป็นไปได้

จับขั้ว ‘พท.’ – ให้ประชาชนตอบ

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์รายการ [X]CLUSIVE โดยสรกล อดุลยานนท์ ในแคมเปญ “มติชนเลือกตั้ง ’66 บทใหม่ประเทศไทย”

โดยกล่าวถึงจุดขายในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึง “อุดมการณ์” และ “นโยบาย” ของพรรคประชาธิปัตย์

รวมถึงเรื่องเบาๆ ที่เป็นเสน่ห์ส่วนตัวของ “จุรินทร์” นั่นคือ การเป็นการ์ตูนนิสต์ ในนามอู๊ดด้า ที่หลายคนอาจลืมเลือนไป

ทั้งนี้ จุรินทร์ประเดิมด้วยเรื่องหนักๆ ก่อน โดยย้ำถึง “ยุทธศาสตร์” ของประชาธิปัตย์ ที่จะพาประเทศไปข้างหน้า ด้วยการสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ คือทิศทางที่ชัดเจนเป็นระบบ รวมถึงผลงานที่ร่วมรัฐบาลในรอบนี้มีให้เห็นหลายเรื่อง ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน

ไม่ว่าเงื่อนไข 3 ข้อที่ขอให้แกนนำตั้งรัฐบาลยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันรายได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลักการความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับทั้ง 3 ข้อ

เราเข้าไปร่วมรัฐบาล เราทำได้จริงแม้บางเรื่องจะไม่ครบ 100% แต่ก็ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาประชาธิปัตย์ยุคอุดมการณ์ทันสมัยทำได้ไว ทำได้จริง

: กรุงเทพฯ นี้ครั้งนี้มีสิทธิได้ ส.ส.ไหม?

มีครับ คราวที่แล้ว 0 แต่เที่ยวนี้ยังไงก็ต้องได้มากกว่าเดิม เชื่อว่าเที่ยวนี้คงได้หลายคน ไม่ใช่เรามโนหรือฝันเอา

แต่เราดูจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ แม้รอบนี้เราไม่ชนะ แต่เราได้ที่ 2 นะ ส.ก.เราได้ตั้ง 9 คนแล้ว อยู่อันดับที่สอง ถึง 7 คน

เพราะฉะนั้น สัญญาณมันบอก

เลือกตั้งคราวที่แล้วเราได้บทเรียนมา ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่ในสถานการณ์นั้น การตัดสินใจอย่างนั้นอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด คือการที่เราประกาศเป็นขั้วที่ 3 ในขณะที่ประชาชนคิดว่ามีแค่ 2 ขั้วคือฝั่งทักษิณ (ชินวัตร) กับลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แข่งกันอยู่สองคน

พอเราประกาศเป็นขั้วที่ 3 ประชาชนบอกว่าอย่าเพิ่งเลย ขอเวลาไปเลือกขั้วใดขั้วหนึ่งก่อน เพราะมันสู้กันจริงๆ

เมื่อเราประกาศเช่นนั้น ประชาชนเลยบอกว่าขอเว้นวรรคเราสักครั้งหนึ่ง ทำให้เราเสียงลดลงมา

แต่เที่ยวนี้เราก็เอาสิ่งนี้มาเป็นบทเรียน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งนี้จะทำให้เราเปลี่ยนอุดมการณ์ เปลี่ยนจุดยืน

จุดยืนของเราก็เหมือนเดิมคือประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

เลือกตั้งมาเสร็จใครรวมเสียงข้างมากได้คนนั้นก็เป็นรัฐบาล ใครเป็นเสียงข้างน้อยก็เป็นฝ่ายค้าน

เรายึดในอุดมการณ์ของเราคือ

1. เราซื่อสัตย์สุจริตไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไร

2. เรายึดระบบรัฐสภา ใครรวมเสียงข้างมากได้หลังการเลือกตั้ง ประชาชนต้องเป็นคนที่ให้คำตอบ

เราไปตอบก่อนประชาชน ถ้างั้นจะเลือกตั้งทำไม?

คุณวิ่งจับขั้วกันแล้วก็แบ่งฝ่ายตั้งรัฐบาลแบบนั้นไม่ต้องเลือกตั้ง

มีเลือกตั้งก็เพื่อให้ประชาชนตอบก่อน

: ส.ว. 250 เสียง จำเป็นต้องยกมือให้คนที่รวมเสียงได้ก่อนหรือไม่

คำว่าเสียงข้างมากที่ผมพูด หมายถึงเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยมันไปไม่รอด

เสียง ส.ว เป็นส่วนของการโหวตเลือกนายกฯ

แต่การตั้งรัฐบาลมันต้องอาศัยเสียงในสภา เพราะคนจะเป็นรัฐบาลได้ต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ

: กลัวกระแส พล.อ.ประยุทธ์ในภาคใต้ไหม?

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาธิปัตย์โดนเจาะ เราโดนมาทุกยุค

คราวที่แล้วประชาธิปัตย์ได้ที่ 1 ในภาคใต้ได้ 22 เสียง ก่อนหน้านั้นไม่ได้ที่ 1 ก็มี

แต่คราวที่แล้วกับคราวนี้ผมคิดว่าสถานการณ์การเมืองต่างกัน

การเมืองคราวที่แล้วการแบ่งขั้วสองขั้วมันรุนแรงมาก ทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจว่าถ้าไม่เลือกซ้ายก็ต้องเลือกขวา

แต่เที่ยวนี้มันคลายตัวลงมา แม้จะมีการพยายามปลุกผีขึ้นมาสร้างกระแสให้มันเป็นสองขั้วอีกเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของตัวเอง แต่ผมมองว่ามันคลายตัว

มันกำลังเดินหน้ามาสู่ระบบรัฐสภาแบบปกติ คือการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง พรรคไหนมีนโยบายดี พรรคไหนมีคุณภาพ พรรคไหนตอบสนองความต้องการของประชาชน

ยังเชื่อว่าเที่ยวนี้ประชาธิปัตย์มาที่ 1 ในภาคใต้ จากการลงพื้นที่ผมมั่นใจ

: หลังเลือกตั้งประชาธิปัตย์มีการดีลใครล่วงหน้าไหม

ไม่มี รอให้ประชาชนช่วยตอบ และเมื่อถึงเวลาก็จะมาประชุมพรรคกันว่าจะตัดสินใจไปทางไหนอย่างไร

โดยเรามีจุดยืนคือยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเราไม่เกี่ยง แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 และเราก็ชัดเจนว่าไม่แก้มาตรา 112 ด้วย เราก็จะไม่ยกเลิก ไม่แก้ เพราะเป็นบทที่ว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศที่ทุกประเทศต้องมี ถ้าพรรคไหนเขาจะแก้เราไม่สนับสนุน อันนี้ก็จะเป็นจุดยืนอันหนึ่ง ยาเสพติดเราไม่เอา กัญชาเสรี ประชาธิปัตย์เราไม่เอามันชัดเจน

: ประชาธิปัตย์สามารถร่วมกับเพื่อไทยได้ไหม

ผมไม่ตอบ

ไม่ตอบไม่ใช่ตอบไม่ได้ หรือคิดอะไรไม่เป็น

แต่ผมเรียนแล้วว่า ให้ประชาชนตอบก่อน

เมื่อถึงเวลานั้นมันจะมีคำตอบเองว่าสุดท้ายประชาธิปัตย์เป็นยังไง

ประชาชนอาจมองว่าแทงกั๊ก บอกประชาธิปัตย์ไม่ชัดก็ได้ ก็ประชาธิปัตย์เคยชัดมาแล้วแต่ประชาชนไม่เอา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเห็นใจประชาธิปัตย์เหมือนกัน

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีจุดยืนของเรา อุดมการณ์เรามี หลักการเรามีบทเรียน

การร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ ผมคิดว่าเราตัดสินใจบนพื้นฐานของวิถีประชาธิปไตยในพรรค

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมติของพรรค ซึ่งอันนี้คือหลักการที่ถูกต้อง

และนี้คือจุดแข็งที่ทำให้ประชาธิปัตย์อยู่มาได้นานถึง 77 ปี ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ใครมาสั่งซ้ายหันขวาหัน ที่บอกว่าพรรคเราเป็นประชาธิปไตย พรรคคุณเผด็จการ พรรคที่ชี้นิ้วเผด็จการให้คนอื่นสามนิ้วชี้เข้าตัวเองนะ เพราะใครสั่งก็รู้อยู่แล้วมีคนเดียว อย่างดีก็ไม่เกินสองคน ในพรรคก็โหวตกันเองไม่ได้ ต้องรอฟังว่าจะโทรศัพท์มาสั่งว่ายังไง

ประชาธิปัตย์ไม่ใช่เราคือประชาธิปไตยตัวจริงทั้งวิถีในพรรค และนอกพรรคอันนี้คือสิ่งที่เราพิสูจน์ ส่วนที่คุณไตรรงค์พูดเรื่องมีการซื้อเสียงกรรมการบริหารพรรค ไม่จริง หลายคนออกมาปฏิเสธได้พูดไปแล้ว ไม่อยากจะไปต่อล้อต่อเถียงโดยไม่จำเป็น ไม่จริงก็คือไม่จริง

: หลายคนไม่เคยรู้ว่าคุณจุรินทร์มีอีกมุมหนึ่ง คือเคยวาดการ์ตูนมาก่อน

เริ่มหัดเขียนเอง ไม่ได้เรียนอะไรมาเลย ตั้งแต่ผมจบสวนกุหลาบฯ สิ่งที่อยากเรียนที่สุดคืออีกโรงเรียนที่อยู่ติดกัน นั่นคือเพาะช่าง เดินไปกินข้าวเที่ยงก็แวะดูเขาวาดรูป สุดท้ายก็เรียนจบสวนกุหลาบฯ ก็มาต่อรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อยากวาดอะไรก็ฝึกเอาเอง

เด็กๆ ก็ชอบอ่านหนังสือการ์ตูน แม่ให้เงินกินขนมเท่าไหร่ก็เอาไปเช่าหนังสือการ์ตูนมาตั้งแต่ ป.2 ที่ร้านมีกี่เล่มผมก็เช่ามาอ่านหมด เพราะฉะนั้น ก็สนใจแล้วก็เอามาฝึกเขียนเอง

ผมชอบการ์ตูนเส้นน้อยๆ สะอาดๆ ตัวหนังสือน้อยๆ

ผมเขียนการ์ตูนการเมืองเป็นการ์ตูน 4 ช่อง เพราะฉะนั้น มันต้องตัวหนังสือน้อยแต่มีแง่มุม มีข้อสรุป มีแก๊ก ต้องมีความขำด้วย ก็มาฝึกวาดเองตอนเรียนธรรมศาสตร์

การ์ตูนก็ต้องคิดเป็นระบบตั้งแต่ต้นว่า เราจะเขียนประเด็นอะไร แล้วเราจะเริ่มต้นยังไง จบยังไง จบเสร็จคนอ่านจะคิดยังไง จะเข้าใจสิ่งที่เราสื่อหรือไม่ ถ้าเข้าใจไขว้เขวอย่าเขียน

ผมทำมา 10 ปีเต็มๆ เริ่มที่ธรรมศาสตร์ตอนเรียนปี 3 ไปที่เดลินิวส์เขียนได้ 3 เดือน พอถึงช่วง 6 ตุลาคม 2519 เขาก็ห้ามวิจารณ์การเมืองก็ต้องเลิก หลังจากนั้นมีการปฏิวัติคณะปฏิรูป พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาก็เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ผมก็เลยเดินจากธรรมศาสตร์ข้ามสนามหลวงมาสยามรัฐ ก็มาเขียนการ์ตูน ผมก็ได้เขียนมาปีกว่าๆ

จากนั้นพอเรียนจบก็เลยไปเขียนที่มติชน 10 ปีเต็มจนเป็น ส.ส.

: ชื่ออู๊ดด้าเริ่มมาจากไหน

เริ่มตั้งแต่เรียนอยู่ ตอนนั้นเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ อยู่ชมรมปาฐกถาโต้วาที มีชื่ออู๊ดสองคน พอเรียกก็หันทั้งสองคน สุดท้ายคนหนึ่งเลยเป็นอู๊ดด้า อีกคนก็เป็นอู๊ดดี้

ผมก็เลยตั้งนามปากตัวเองว่าอู๊ดด้า

สุดท้ายก็กลายเป็นชื่อตัวการ์ตูนที่ผมวาดออกมา

การ์ตูนการเมืองนี้ผมเขียนทุกวัน 3,000 กว่าวัน ต้นฉบับผมเก็บไว้เกือบหมด

เป็นสมบัติล้ำค้าที่สุดในชีวิตที่เก็บไว้

ถือเป็นเสน่ห์ส่วนตัว ที่หลายคนนึกไม่ถึง หรืออาจมองไม่เห็น โดยเฉพาะเมื่อสวมหมวกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องเครียดกับประเด็นการเมืองตลอดเวลา

ชมคลิป

https://www.youtube.com/@MatichonWeekly/videos