‘เรื่องเล่าข้างกองไฟ’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ปลายเดือนตุลาคม

ผมกับทอน คนงานจากหน่วยพิทักษ์ป่า อยู่ที่แคมป์ริมลำห้วยสาบเล็กๆ แห่งนี้มาแล้วร่วมสองสัปดาห์

เรียกได้ว่าเป็นกว่าสิบวันแห่งความชุ่มฉ่ำ ฝนตกหนักสลับเบาตั้งแต่วันแรกที่เรามาถึง ต้นไม้ที่ใช้ผูกเปล มีรอยโคลนสูงท่วมหัว โคลนเกิดจากช้างที่มายืนพิงและถูลำตัวเล่นแก้คัน ลำห้วยสายนี้จะแห้งผากในช่วงหน้าแล้ง ตอนนี้มีระดับน้ำท่วมหัวเข่า

กว่าสิบวันที่ผมทำเป็นกิจวัตร คือ เช้ามืดเดินไปเข้าซุ้มบังไพร กลับแคมป์ตอนพลบค่ำ

ไม่พบเจอสัตว์ป่ามากนัก นอกจากสองวันแรก มีกระทิงฝูงแวะเข้ามา พวกมันอยู่ไม่นาน เหมือนแค่ผ่านมาขณะกำลังเดินทางไปจุดหมายอื่น แอ่งน้ำมีรอยช้างย่ำไว้

เมื่อวาน หมาไน ที่มีสมาชิกในฝูง 15 ตัว แวะเข้ามาพักผ่อน นอนเกลือกกลิ้งบนพื้นหญ้าเขียวๆ หยอกล้อ

การพักผ่อนของพวกมันต้องยุติ เมื่อสายลมเปลี่ยนทิศทาง ผมเป็นฝ่ายอยู่เหนือลม เจ้าตัวคุมฝูงสงสัย มันเดินเข้ามาใกล้ซุ้มบังไพร จากช่องเล็กๆ ของซุ้ม สายตาเราสบกัน มันถอย หันหลัง และส่งเสียงเตือนสมาชิกตัวอื่นทั้งหมด จึงทยอยวิ่งเหยาะๆ จากไป

ไม่มีซุ้มบังไพรอันไหนที่จะปิดกั้นกลิ่นกายคนจากประสาทสัมผัสอันดีเลิศของสัตว์ป่าได้

การได้พบเจอสัตว์ป่า และไม่ตื่นหนี ไม่ใช่เพราะพวกมันไม่รู้ว่ามีคนที่นั่น แต่เพราะพวกมันอนุญาต

ผมยกมือไหว้ขอโทษหมาไนฝูงนั้นอยู่ในใจ

 

เฝ้ารอในซุ้มบังไพร เหตุการณ์ที่พบเจอ มักจะคล้ายๆ กันทุกวัน เช้าๆ เป็นเวลาของนก ทั้งนกหกเล็กปากแดง นกเขาเปล้า นกมูม บางวันมีนกเปล้าขาเหลืองร่วมมาในฝูง

บ่ายๆ หมูป่าเดินเข้ามา บรรยากาศซ้ำๆ กันจนแทบคาดได้ว่า คิวต่อไปจะเป็นตัวไหน

บรรยากาศในแคมป์ก็เช่นกัน ตั้งแต่เช้า ผมเดินไปซุ้มบังไพร ทอนเดินเลาะไปตามลำห้วย หาผัก, ฟืน เขาหุงข้าว จัดการบริหารเสบียง

ค่ำๆ เราทำอะไรไม่ได้มาก ท่ามกลางสายฝน นั่งข้างกองไฟ ใต้ผ้ายางที่กันละอองฝนไม่ได้ พูดคุยเรื่องซ้ำๆ

“ข้าวสารจะหมดแล้วนะครับ ได้อีกไม่กี่มื้อ” ทอนบอก หลังเรากินข้าวเสร็จ นั่นเป็นการบอกให้รู้ว่า เราควรจะกลับได้แล้ว

 

สองสัปดาห์ก่อนหน้า ตอนผมกับทอนเดินมาที่แคมป์นี้

หลังจากผ่านป่าเต็งรัง ด่านลาดลงหุบ ถึงลำห้วย ที่ปกติระดับน้ำจะลึกราวๆ เอว วันนั้น ระดับน้ำเพิ่มและไหลแรง

ผมมองลำห้วยรู้สึกกังวล

การข้ามไป หากพลาด เสบียง รวมทั้งอุปกรณ์อาจเสียหาย จากจุดนี้ เราจะต้องใช้เวลาเดินอีกราวหนึ่งชั่วโมงจึงจะถึงจุดหมาย

“รอดีไหม ถ้าวันนี้ฝนไม่ตก น้ำน่าจะลด พรุ่งนี้ค่อยข้ามไป”

ผมมองสายน้ำ คิดทบทวน ก่อนพยักหน้ารับฟัง ความเห็นของทอนไม่มีเหตุผล เราพักแรมรอรุ่งขึ้น บ่ายๆ ระดับน้ำลด เราข้ามมาได้

นั่งริมห้วยหลังข้ามมาได้แล้ว ผมเข้าใจบทเรียนของการรอ

ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่จะฝืนเอาชนะ ผมรู้สึกเช่นนี้ ขณะนั่งเคาะรองเท้าเพื่อเอาทรายออก

หมีควาย – หมีควายว่ายน้ำได้ แต่ไม่ค่อยมีคนพบเจอมันในน้ำ หมีไม่อยู่เป็นที่นัก พวกมันเดินทางไปตามแหล่งอาหารตามฤดูกาล

กินข้าวเสร็จแล้ว สายฝนโปรยไม่หยุด ผมขึ้นเปล กลางคืนคล้ายจะยาวนานเหลือเกิน สายฝนกระทบผ้ายางเปาะแปะ ห่วงดักน้ำช่วยไม่ให้น้ำไหลเข้าถึงเปล

เกือบสามทุ่ม ทอนลุกจากเปล เขามาที่กองไฟ ขยับท่อนฟืน สูบยาเส้นไฟแดงวาบๆ ท้องฟ้ามืด ผมไม่เห็นแสงดาวระยิบมาแล้วหลายวัน ไฟติดเปลวไฟวูบวาบ แคมป์ดูอบอุ่นขึ้น

“นอนไม่หลับครับ” ทอนพูด ผมนั่งลงตรงข้าม

เรานั่งเงียบๆ อยู่พักใหญ่

“ปู่ผมเคยเล่าให้ฟังเรื่องเสือสมิง” ทอนเริ่มต้นเรื่องซึ่งถือได้ว่าคลาสสิคที่สุด ทอนเกิดชายป่า เติบโตมากับความเป็นไปในป่า

“พวกที่ไปนั่งห้าง โดยเฉพาะคนที่เมียท้อง โดนเสือสมิงเรียกลงมาฆ่ากินอยู่เรื่อย” เขาเล่าต่อ

“มันจะเรียกชื่อ และบอกชื่อเมียถูกด้วย วันหนึ่ง ปู่โดนเรียกชื่อตอนไปนั่งห้างกลางคืน ไอ้คนที่มาเรียกบอก ย่าที่กำลังท้องพ่ออยู่ กำลังจะคลอดให้รีบไปดู”

“ปู่ลงมาไหม” ผมถาม “ก็ขยับจะลงมาแต่ฉุกใจเลยโยนไฟแช็กลงมาและบอกให้คนนั้นจุดไฟให้ดู เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นคนจริงจะจุดได้” ทอนพ่นควันยาเส้นโขมง

“ไอ้นั่นไม่ยอมจุดหรอก เอาแต่บอกให้ปู่ลงไป ปู่ตัดสินใจยิงลงมา เสียงร้องดังโฮก ที่แท้มันเป็นเสือสมิง ตอนเช้าปู่ลงมาเห็นรอยเลือด และรอยตีนเสือเต็มไปหมด ปู่กลับมาเล่าให้คนในหมู่บ้านฟัง ทีนี้เลยถือเป็นธรรมเนียมว่า ถ้ามีคนมาเรียกใต้ห้างต้องโยนไฟแช็กมาให้จุดดู จะได้รู้ว่าเป็นเสือสมิงหรือเปล่า”

 

ผมนั่งอีกสักพักก็กลับขึ้นเปล เรื่องที่ทอนเล่าเมื่อสักครู่ เป็นเรื่องเล่าที่เคยได้ยินบ่อย

ในครั้งแรกๆ ที่ได้ฟัง ผมมักถามคนเล่าเสมอว่า ทำไมเป็นอย่างโน้น ทำไมเป็นอย่างนี้

วันนี้ผมฟังเรื่องด้วยอาการปกติ ไม่ถาม เพราะไม่สงสัย ในป่ามีเรื่องเล่ามากมาย

อีกทั้งความ “ดุร้าย” รวมทั้งความ “ลี้ลับ” ของป่าและสัตว์ป่า คล้ายจะมีมากขึ้น เมื่อถือปืนอยู่ในมือ

 

ทํางานในป่ามานานพอสมควร พบเจอคำถามเรื่องราวในป่า ความลี้ลับในป่าเสมอๆ เคยพบเจอ “อะไรๆ” หรือไม่

คำตอบหนึ่ง ที่ผมใช้คือ มันเป็น “เรื่องเล่าข้างกองไฟ” •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ