ตลาดนัดการเลือกตั้ง ยาหอม ยาดม ยาลม ยาหม่อง?

บทความพิเศษ | พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ

 

ตลาดนัดการเลือกตั้ง

ยาหอม ยาดม ยาลม ยาหม่อง?

 

เมื่อสมัยเด็กๆ ประมาณปี พ.ศ.2500 ได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาดูหนังดูลิเก ก็ต่อเมื่อมีรถขายยากับรถหาเสียงผู้แทนเข้ามาในหมู่บ้านเท่านั้น

รถขายยาใช้หนังเป็นเครื่องมือเรียกผู้เรียกคนมาดูหนัง แล้วทำการโฆษณาขายยา บางครั้งโฆษณาขายยาจนแทบไม่ได้ดูหนัง อีกทั้งไม่มีศิลปะในการโฆษณาทำให้คนไปดูหนังเบื่อหน่าย ขายยาทั้งคืนได้ไม่ถึงสองขวดก็มี

รถผู้แทนก็ใช้ประโยชน์จากหนังเช่นเดียวกัน ถ้าการโชว์ตัว โชว์บุคลิกภาพและชี้แจงแถลงนโยบายหรือสินค้าของตนไม่เป็นที่ประทับใจ ผลการเลือกตั้งในหมู่บ้านนั้นอาจไม่ได้ถึง 10 คะแนนด้วยซ้ำ การโฆษณาให้มาดูหนังผู้แทน จึงเป็นเวทีให้ผู้สมัครผู้แทนได้แสดงวิสัยทัศน์อีกวิธีหนึ่ง

หลายประเทศที่เจริญแล้วจะไม่ยอมให้การเลือกตั้งเป็นวันแห่งความแห้งแล้ง (dry day) โดยจะให้มีการเดินพาเหรด ดนตรีนำหน้ากันอย่างสนุกสนานครื้นเครง ให้ว่าที่ผู้แทนได้มาโชว์ตัวโชว์กึ๋นกัน โชว์ความรู้ว่ารู้เรื่องจริงไหมว่าเค้าเอาผู้แทนไปทำอะไรกันในสภา

เมื่อผู้เขียนกฎหมายไม่รู้เรื่องการเลือกตั้ง ว่าเขามีเหตุและผลในกิจกรรมที่แท้จริงกันอย่างไร “เข้าทำนองที่ว่า ผู้รู้ไม่ได้เขียน และผู้เขียนกฎหมายก็ไม่รู้

“เราจึงเห็นว่าผู้สมัครกบดานกันอยู่ที่บ้านวางแผนที่จะปฏิบัติการกันใต้โต๊ะมากกว่าบนโต๊ะ”

 

เมื่อสมัยผมเป็นเด็ก เคยติดรถตามพี่ชายไปหาเสียงเลือกตั้งแทบทุกอำเภอในจังหวัดขอนแก่น

มีครั้งหนึ่งเข้าไปในหมู่บ้านห่างจากอำเภอราว 20 กิโลเมตร ถนนไม่มี มีแค่ทางเกวียน พบชาวบ้าน 2-3 คนเอาไม้มาขวางทางรถและโบกรถให้จอด เราก็จอดรถ ชาวบ้านสามคนวิ่งขึ้นบนรถและค้นทุกซอกทุกมุมเพื่อหาเหล้าผู้แทน

เมื่อค้นแล้วไม่พบเหล้า จึงร้องตะโกนว่า “มึงไม่มีเหล้าให้กู จ้างมึงก็ไม่ได้”

พี่ชายผมก็ตอบสอนไปทันทีว่าเหล้าขวดละ 30-40 บาทจะแลกกับอำนาจอธิปไตยที่ทุกคนมีอยู่ในฐานะเจ้าของประเทศหรือ อย่าลืมว่าค่าตัวของโสเภณีที่เมืองขอนแก่นขณะนี้เกิน 30-40 บาทไปแล้ว

ผลปรากฏว่าคะแนนในหมู่บ้านนั้นพี่ผมได้ไม่ถึง 10 คะแนน นี่เรียกว่า “เหล้าเป็นพิษ”

แต่ผมก็ประหลาดใจ เมื่อ 66 ปีให้หลัง วัฒนธรรมการเลือกตั้งของเราไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าเอาเสียเลย

เป็นเพราะเหตุใดวัฒนธรรมการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนยังหยุดนิ่งอยู่กับที่ ทั้งๆ ที่โลกหมุนไปแล้วไม่รู้กี่ตลบ

 

เมื่อผมมีโอกาสเป็น กกต. ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาการเลือกตั้งให้ก้าวไปข้างหน้า มีครั้งหนึ่งในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งภาคอีสานทั้งภาค ได้ออกรายการ กกต.พบประชาชนทางสถานีโทรทัศน์และชี้แจงแถลงเหตุและผลให้พี่น้องประชาชนได้ทราบว่าทำไมจึงเลือกตั้ง เลือกผู้แทนไปทำอะไร

ผมได้เปรียบเปรยให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าการเลือกตั้งเปรียบดังการจัดให้มี “ตลาดนัดขายสินค้า”

กกต. คือผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการตลาดนัดและผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพนโยบายหรือสินค้าของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดุจดังเจ้าหน้าที่อาหารและยา (อย.)

พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต่างก็ผลิตสินค้าของตนเองให้เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ อีกทั้งถูกต้องตามกฏหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณีตลอดจนหลักความชอบธรรมของบ้านเมือง

ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป (ที่ 18 ปีเพราะเอาตามฝรั่ง โดยฝรั่งเขาถือว่าคนอายุ 18 เป็นเสรีชนออกจากครอบครัวไปหาอยู่หากิน ไม่อยู่ใต้อาณัติใครแล้ว) ฝรั่งถือว่า การเลือกตั้งจะดีได้ต้องมีทั้ง “free and fair” หรือ “เสรีและเป็นธรรม” ไม่ใช่สุจริตและเที่ยงธรรมดังที่บ้านเมืองของเราแปลมา

เสรีคือผู้มีสิทธิ์ออกเสียงต้องเป็นเสรีชน สามารถแสดงเจตจำนงที่แท้จริงของตนเองได้โดยไม่มีใครบงการหรือบังคับขู่เข็ญ

ส่วนเป็นธรรมหรือเที่ยงธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของคนกลางคือ กกต. ต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

เคยมีพรรคการเมืองบางพรรคมาขอให้ผมเข้าพรรคหลังจากผมลาออกมาแล้ว ผมตอบปฏิเสธไปว่าผมเคยเป็นกรรมการห้ามมวยเวทีราชดำเนินมาแล้วจะให้ผมไปสังกัดค่ายมวย ผมทำไม่ได้ แม้ว่าจะลาออกไปแล้วเกิน 10 ปีก็ตาม

ประชาชนในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะต้องไป “ช้อปปิ้ง” ไปซื้อผู้แทน (ซื้อนโยบาย) ไม่ใช่ให้ผู้แทนมาซื้อเรา

เราเอาบัตรเลือกตั้งที่มีคุณค่ามากมายไปซื้อนโยบายพรรคที่เราเห็นว่านโยบายนั้นจะทำให้สถานะของเราครอบครัวเราชาติบ้านเมืองของเราดีขึ้น

หีบเลือกตั้งจึงจะถือได้ว่าเป็นหีบอำนาจอธิปไตยโดยแท้

 

ผมขับรถไปตามถนนหนทางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ถือโอกาสดูสินค้าที่พรรคการเมืองเสนอขายเมื่อดูแล้วประเมินว่าบ้านเมืองเราจะก้าวไปข้างหน้าหรือถอยหลัง

ผมไม่มั่นใจครับ

ที่ไม่มั่นใจเพราะสินค้าที่ขาย หากเปรียบดังยารักษาโรคคือ ยาหอม ยาดม ยาลม ยาหม่องแทบทั้งนั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายบริหารธุรกิจไม่ใช่นโยบายบริหารเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น

บางพรรคยังไม่เข้าใจเลยว่าเข้าไปในสภาไปทำอะไร สภาคือฝ่ายนิติบัญญัติ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “parliament” รากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า การพูด ไม่ใช่ไปทำ เขาให้ไปพูดชี้แจงแถลงเหตุผลกันในสภา ไม่ได้มีหน้าที่ไปบริหารจัดการ ซึ่งงานบริหารเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารต่างหาก

ผมบ่นมามากแล้วคิดว่าผู้อ่านผู้ฟังคงให้อภัยผมที่เอาเรื่องที่ท่านไม่อยากฟังมาบ่น

หากว่าการบ่นของผมเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ขอมอบกุศลความดีนั้นให้กับพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกท่าน แต่หากการบ่นทำให้ท่านเสียเวลาอ่าน ผมขออภัยและขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียวครับ

ด้วยความห่วงใยจากผม