ผ่า 3 เผือกร้อนวังวนพลังงาน ‘ไฟพีก-ไฟล้น-ไฟแพง’ รอเสิร์ฟรัฐบาลใหม่

ประเด็นค่าไฟยังคงเป็นเผือกร้อนอันดับต้นๆ ของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องตามแก้ ชี้แจง ในทุกยุคสมัย

ยุคนี้ก็เช่นกัน ล่าสุดถือเป็นโจทย์แรกๆ ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาสะสาง

รวบรวมได้ 3 ประเด็นสำคัญ ทั้งไฟพีก ไฟแพง และไฟล้น ทั้งหมดต่างเชื่อมโยงกัน

เพราะทุกครั้งที่เกิด “ไฟพีก” สังคมจะเริ่มกังวลไฟดับ ขณะเดียวกันประชาชนผู้ใช้ไฟจะเริ่มกังวลกับค่าไฟที่แพงเพราะใช้ไฟเยอะขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา เกิดความต้องใช้สูงสุด (พีก) ในปีนี้ 32,963 เมกะวัตต์ เวลา 20:52 น. ซึ่งการใช้ไฟฟ้าที่พีกเกิดจากอากาศร้อนจัด คนไทยเปิดแอร์ พัดลมคลายร้อน ประกอบกับเป็นวันหยุดจึงอยู่บ้านใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทำลายสถิติพีกในระบบของประเทศที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 14.30 น. ที่เกิดขึ้น 33,177.3 เมกะวัตต์

โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประเมินว่าช่วงหน้าร้อนปีนี้น่าจะเกิดพีกไฟฟ้าทำลายสถิติของปี 2565 ในระบบ 3 การไฟฟ้าได้ โดยคาดว่าจะทะลุ 34,000 เมกะวัตต์ จากปี 2565 อยู่ที่ 33,177 เมกะวัตต์

ส่วนจะเกิดช่วงใดต้องติดตามตัวเลขอีกครั้ง

 

ตัวเลขการใช้ไฟปีนี้แนวโน้มจะโตพรวดพราด หลังทรุดตัวช่วงโควิดระบาดตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

สาเหตุมาจากเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว อานิสงส์หลักมาจากภาคการท่องเที่ยว ล่าสุดคาดการณ์ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 จะพุ่งถึง 27-30 ล้านคน เพราะแค่ตัวเลขไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) ก็ปาไปถึง 6.5 ล้านคนแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนเล็กๆ จากเทศกาลเลือกตั้ง ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนในจังหวัดต่างๆ

ขณะที่การลงทุนจากภาครัฐและเอกชนก็ยังเป็นความหวัง เพียงแต่ความเร็วและความแรงอาจแผ่วลงตามบรรยากาศที่ต่างลุ้นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่

ที่ต้องทำใจและลุ้นยาก คือภาคส่งออก ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว คาดว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาฟื้นตัว ตัวเลขเป็นบวกก็ช่วงไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) หรือไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) เลย

ทั้งนี้ ภาครัฐ โดน สนพ.ยืนยันว่าไฟไม่ดับเพราะสำรองไทยมีถึง 30% สะสมจากช่วงโควิด-19 เป็นการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของสำรองไฟฟ้าที่สูงดังกล่าว หลังจากก่อนนี้โดนถล่มว่าสูงเกินไป จนทำให้ค่าไฟแพง

 

ต่อที่ประเด็น “ไฟล้น” สำรองพุ่ง 30% ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2566-2580 หรือพีดีพี 2023 ฉบับใหม่ จะยกเลิกการพิจารณาปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ เปลี่ยนเป็นการใช้เกณฑ์ดัชนีความเชื่อถือได้ หรือแอลโอแอลอีแทน

วัดจากการยอมรับให้ไฟฟ้าดับได้กี่วันใน 1 ปี เหมาะกับไทยที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น เพราะการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีข้อเสียตรงผลิตไฟฟ้าได้ไม่ต่อเนื่องขึ้นกับธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น ระบบนี้จะตรวจวัดปริมาณไฟฟ้าเหมาะสมต่อความมั่นคงไฟฟ้าประเทศได้ดีกว่า

คาด 2023 ว่าจะเสร็จกลางปี 2566 เปริมาณการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 77,211 เมกะวัตต์ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะสูงขึ้นอยู่ระดับ 50% ค่าไฟฟ้าจะพยายามให้เท่าแผนพีดีพีเดิมเฉลี่ย 3.60 บาทต่อหน่วย

รอรัฐบาลใหม่พิจารณา หากปรับแก้ไขจะต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี เริ่มใช้ได้ในปี 2567 จะกลายเป็นแผนพีดีพี 2024 แทน

 

สุดท้ายประเด็น “ไฟแพง” สนพ.คาดแนวโน้มค่าไฟงวดที่เหลือของปี 2566 (กันยายน-ธันวาคม 2566) จะปรับลดลงอีก เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณ (จี 1)

โดยข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในเดือนกรกฎาคม 2566 จะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเดือนธันวาคม 2566 จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากนั้นในเดือนเมษายน 2567 จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี)

นอกจากนี้ ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจ) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดหาเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวแล้ว อีกทั้งสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกดีขึ้น โดยเฉพาะแอลเอ็นจีสปอต ที่ปรับตัวลงเหลือ 12-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

รวมทั้งคลังรับ-จ่ายแอลเอ็นจี (เทอร์มินอล) แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็สร้างเสร็จแล้ว พร้อมรองรับแอลเอ็นจี เพิ่มขึ้นอีก 7.5 ล้านตันต่อปี

แม้ราคาค่าไฟแนวโน้มขาลงแล้ว แต่กระแสเรียกร้องค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ให้ถูกกว่า 4.77 บาทต่อหน่วยยังกระหึ่มต่อเนื่อง

ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารออกมาเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ทบทวนราคาดังกล่าว

ขณะนี้ กกร.จึงรอลุ้นการตัดสินของนายกรัฐมนตรี

 

จะเห็นว่า 3 ประเด็นร้อน ไฟพีก ไฟล้น ไฟแพง เชื่อมโยงกัน

หากไฟพีกมากๆ แต่สำรองน้อยก็มีความเสี่ยง

และหากไฟแพงแต่มั่นคงจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่ต้นทุนยังสูง ย่อมดีกว่าถูกแต่ไม่มั่นคง

หรือหากไฟไม่พีกอาจสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังแผ่ว

เรื่องร้อนเหล่านี้จึงต้องรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริการให้สมดุลที่สุด!!