ฉัตรสุมาลย์ : พุทธศาสนาแบบเนวาร์ในเนปาล

ในพุทธประวัติที่เราคุ้นเคยกันนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่ศากยะถูกรุกรานโดยพระเจ้าวิฑูฑภะ เราทราบว่า ศากยะที่อยู่ที่กบิลพัสดุ์ ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก

หลักฐานที่ปรากฏในเอกสารของทิเบตว่า พวกศากยะถูกฆ่าตายถึง 70,000 คน เรียกว่า เลือดนองท้องช้างทีเดียว

แม้ในปัจจุบัน ในเนปาลที่ติดกับพรมแดนอินเดียนั้น มีสถานที่ที่ชาวเมืองเรียกว่า ลอมบ้าสาคร แปลว่าแอ่งน้ำยาว เล่ากันว่าศพของศากยะถูกฝังที่นี่

มีพวกศากยะที่หนีออกไปได้ อย่างน้อยที่สุด ทางตะวันตกนั้น ที่เมืองบามิยัน ในอัฟกานิสถานที่มีพระพุทธรูปแกะสลักขนาดใหญ่ที่ถูกพวกทาลีบันระเบิดทิ้งไปนั้น หลวงจีนพระถังซำจั๋งเคยบันทึกไว้ว่า เจ้าผู้ครองเมืองบามิยัน เป็นเจ้าชายศากยะ

แสดงว่าพวกศากยะที่หลบหนีภัยจากวิฑูฑภะในครั้งนั้น ออกมาทางตะวันตกไกลถึงอัฟกานิสถาน

ในอินเดียปัจจุบัน ก็มีชาวอินเดียที่ใช้นามสกุลศากยะ กระจุกตัวอยู่ที่เมืองสังกิสสะ เมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา

ชาวอินเดียสกุลศากยะมีปัญหาเรื่องถ้าใช้สกุลศากยะ รัฐบาลจะจัดว่าเป็นฮินดู จึงมีความพยายามที่จะเปลี่ยนนามสกุลเป็น เบาดะ (Bauddha) คือพุทธะ เพื่อจะได้แยกตัวเองออกมาใช้สิทธิของชาวพุทธที่เป็นชนกลุ่มน้อย ดีกว่าที่จะถูกจำกัดอยู่ในวรรณะต่ำของฮินดู

ชาวพุทธกลุ่มนี้ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 แสนคน เป็นคนละพวกกับชาวพุทธใหม่ที่โอนมานับถือศาสนาพุทธโดยการนำของ ดร.อัมเบดก้าร์ เมื่อ ค.ศ.1956

นอกจากนั้นแล้ว เราก็ยังทราบว่า ในเนปาลก็มีชาวพุทธเชื้อสายพระพุทธเจ้า ใช้นามสกุลศากยะในเนปาล โดยเฉพาะในเมืองปาตาน ลลิตปุร์ และภัคตาปูร์ ในนครหลวงกาฐมาณฑุ ของเนปาล

 

ผู้เขียนเข้าใจผิดมาตลอดว่า ชาวพุทธเนปาลกลุ่มนี้คือเชื้อสายของพระพุทธเจ้าที่มาจากกบิลพัสดุ์

แต่แท้ที่จริง ในคราวที่มุสลิมกวาดล้างชาวพุทธในช่วงศตวรรษที่ 11-12 บรรดาพระภิกษุในพุทธศาสนาส่วนหนึ่งลี้ภัยไปในเนปาล และกระจุกตัวอยู่ในดินแดนที่กล่าวนามมาแล้วทั้งสามแห่ง

พระภิกษุเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นศากยะ ไม่ใช่โดยสายเลือดศากยะ แต่โดยการบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อเป็นพระภิกษุ ก็เป็นพระภิกษุของศากยะ

พระภิกษุเหล่านี้พยายามรักษาความเป็นพระภิกษุ แต่ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ แม้จะยังคงทำหน้าที่รักษาพิธีกรรมของชาวพุทธอยู่ แต่มีครอบครัว ลูกที่สืบทอดตระกูลของพระภิกษุเหล่านี้ใช้นามสกุลว่าศากยะ

เราจึงเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น

ขณะที่ภิกษุไม่สามารถรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ ขณะเดียวกันคำสอนของตันตระที่เน้นการประกอบพิธีกรรมที่มีการร่วมเพศเป็นเงื่อนไขหนึ่ง จึงสนับสนุนการที่พระภิกษุต้องกลับคืนสู่ชีวิตของฆราวาส

แม้กระนั้น ศากยะภิกษุเหล่านี้มีการสืบทอดโดยมีพิธีที่เด็กชายในช่วง 7-13 ปี (เลือกเฉพาะปีเลขคี่) จะต้องทำพิธีบวชสามเณรทุกคน เป็นเวลา 4 วัน

ในช่วงเวลาดังกล่าวจะรักษาศีล ถือพรต และพรหมจรรย์ เช่นเดียวกับการบวชสามเณรที่เรารู้จักกันในบริบทของเถรวาท

ผู้ที่ผ่านพิธีนี้ จะถือว่าเป็นสงฆ์ของวัดนั้นๆ และมีหน้าที่ในการทำพิธีของวัดที่ตนสังกัด แต่ละคนจะสังกัดวัดเดียว และจะมีหน้าที่ทำงานรับใช้วัดในฐานะของสงฆ์

 

เพราะฉะนั้น ทุกวัดที่สังฆะ ให้เราทำความเข้าใจใหม่ว่า สังฆะของเขา คือฆราวาสที่ทำพิธีกรรมในวัด

เช่น ตอนเช้าทุกเช้า ชาวบ้านจะมาไหว้ที่วัดที่ตนสังกัดก่อนไปทำงาน คนที่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสังฆะ ก็แต่งตัวอย่างคนธรรมดา แต่อยู่ภายในวิหาร ขอรับของถวายที่ชาวบ้านมาถวาย และคอยส่งเครื่องบูชา ไม่ว่าจะเป็นผงฝุ่นสีแดงที่ได้ถวายพระพุทธเจ้าแล้ว ทางศาสนาฮินดูเรียกว่า ประสาท

เมื่อชาวพุทธมาไหว้พระแล้ว ผู้ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสังฆะก็จะเอาสีฝุ่นที่ว่านี้เจิมให้ที่หน้าผาก เป็นต้น

คนที่มาไหว้ จะยืนอยู่ด้านนอกตรงประตู สมาชิกสังฆะจะยืนอยู่ภายใน พอสายหน่อย สมาชิกสังฆะก็จะกลับบ้านซึ่งอยู่ในละแวกนั้น แต่งตัวไปทำงานตามปกติ

ตอนเย็นกลับจากงาน ก็จะมีหน้าที่มาประจำอยู่ที่ห้องพระเช่นเดิม

ในแต่ละวัดจะมีเด็กชายที่มารับพิธีบวชเณรเมื่อวัยเด็ก ครั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ก็ถือว่ายังสังกัดวัดนั้นๆ และจะเข้ามาเปลี่ยนเวรกันทำหน้าที่สังฆะประจำวัด

พวกนี้จะเป็นศากยะทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ตอนที่ราเชศพาเราเดินไปดูวัดต่างๆ ในลลิตปุร์ คนที่เดินสวนทางกันมาก็มีการทักทายกันทุกคน ล้วนแล้วเป็นญาติโดยตรง คือ นับโดยสายเลือด หรือญาติดอง

นับเป็นญาติกันเพราะการแต่งงาน

 

ที่ชาวเนปาลีถือว่าสูงกว่าศากยะภิกษุ คือพวกที่ใช้นามสกุลว่า วัชราจารย์ พวกนี้เป็นสายของวัชรยาน

และที่ถือว่าสูงกว่า เพราะจะเข้าพิธีอภิเษกตามแบบวัชรยานที่ทางเถรวาทไม่มี

วัชราจารย์จะมีฐานะทางศาสนาเป็นผู้ประกอบพิธีทางศาสนาของพุทธวัชรยาน แต่ก็เช่นเดียวกันกับศากยะภิกษุ ที่มีครอบครัวเหมือนกัน

เมื่อคราวที่ท่านธัมมนันทาเดินทางไปประชุมที่พม่า ก็ได้พบกับวัชราจารย์ท่านหนึ่ง นั่งประชุมด้วยกัน แต่งกายเป็นฆราวาสตามปกติ แต่พอตอนที่ท่านลุกไปถวายของที่ระลึกให้ท่านอาจารย์ใหญ่ที่เป็นเจ้าภาพ ท่านก็เอาผ้าสไบสีแดงปนม่วง สีเดียวกับจีวรขององค์ทะไลลามะออกมาพาดบ่า แสดงฐานะของท่านในทางศาสนา ซึ่งชาวพุทธอื่นที่ไม่รู้เรื่องของศาสนาพุทธแบบเนวาร์ก็จะไม่เห็นความแตกต่าง

ท่านพักชกริมโปเชที่มาแสดงธรรมในเมืองไทยบ่อยๆ ก็มีชาวไทยที่ตื่นเต้นออกบวชเณรกับท่านโดยไม่เข้าใจลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนาในเนปาล เมื่อไปถึงท่านก็บอกว่าท่านบวชสามเณรีให้ไม่ได้ เพราะท่านก็มีครอบครัว ท่านก็ให้ศีล 5 แต่โกนศีรษะได้ และใส่ชุดเณรแบบทิเบต แต่ในความเป็นจริงก็เป็นอุบาสิกานั่นเอง

เพราะฉะนั้น กล่าวได้ว่า ที่นึกว่าเป็นพระในเนปาลนั้น ล้วนมีครอบครัวทั้งนั้น และไม่ได้ถือพรหมจรรย์ตามที่เราเข้าใจ

 

ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เป็นนิกายใหม่สุด เพิ่งได้รับการแนะนำเข้ามาในเนปาลในช่วง 50 ปีที่แล้วมานี้เอง ทั้งประเทศน่าจะมีพระภิกษุเถรวาทไม่เกิน 300 รูป ยังเป็นคณะสงฆ์ที่รากยังไม่แข็ง ลำต้นยังไม่แกร่งนัก

ในสมัยรานา ผู้ปกครองเป็นฮินดู และเข้าใจว่า พุทธศาสนาสายเถรวาทมาจากต่างชาติ ก็ถูกกวาดล้างในสมัยแรก เพิ่งมาได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้เอง

ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงที่เป็นชาวพุทธในเนปาลฝักใฝ่อยู่กับนิกายเถรวาท ท่านธัมมาวดีก็เป็นชาวพุทธในสกุลศากยะที่ปรารถนาที่จะได้ออกบวชในสายเถรวาท ท่านมีความตั้งใจมั่นมาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ 13 ท่านเดินทางด้วยเท้า ข้ามเข้าไปในประเทศพม่า ท่านอยู่ที่นั่นกว่า 10 ปี เพื่อศึกษาพุทธศาสนาจนได้ปริญญาบัตรตามแบบฉบับของพระภิกษุในพม่า แต่ที่พม่ามีการบวชชีที่เรียกว่า ถิลาชิ่น ใส่เสื้อสีชมพู มีผ้าพาดบ่าสีน้ำตาล ท่านธัมมาวดีก็บวชในรูปแบบนี้ และเดินทางกลับไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศเนปาล

ด้วยความรู้ทางธรรมที่ท่านบวชเรียนมาจากพม่า ท่านสามารถนำคำสอนพุทธศาสนามาเผยแผ่ในเนปาลอย่างประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

เพราะตามที่เราทราบนั้น ในช่วงนั้นความเชื่อและการปฏิบัติของชาวพุทธเนวาร์ยังผสมผสานกับฮินดูย่างแยกไม่ออก ชาวพุทธก็ไหว้กราบเทพเจ้าฮินดูต่างๆ ฉลองวันสำคัญของเทพเจ้าเหล่านั้น ร่วมกับชาวฮินดู ในทางกลับกันชาวฮินดูก็ไม่ได้รังเกียจพุทธ วันสำคัญในทางศาสนาของพุทธ ชาวฮินดูก็มาร่วมทำบุญด้วย

แม้ปีนี้ (2560) ที่ท่านธัมมนันทาไปร่วมจัดงานในเนปาล คนที่เสนอตัวพิมพ์หนังสือของท่านธัมมนันทาที่แปลออกเป็นภาษาเนปาลี ก็เป็นชาวฮินดู

 

การแนะนำศาสนาพุทธแบบเถรวาท เป็นความพยายามที่จะแยกแยะหลักคำสอนและความเชื่อแบบพุทธให้เป็นอิสระจากพราหมณ์

แน่นอน คงทำได้ไม่หมด แต่อย่างน้อย ชาวพุทธเถรวาทที่มีการศึกษาก็จะเริ่มปฏิบัติได้ตรงมากขึ้น งานนี้จึงเป็นงานที่ท่านธัมมาวดีเผยแผ่งานอย่างกว้างขวาง และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพพอๆ กับพระภิกษุหากไม่มากกว่า

นอกจากงานสอนธรรมะ ให้การฝึกฝนอบรมชาวพุทธแล้ว ท่านยังเน้นงานด้านสังคมสงเคราะห์ด้วย มีการจัดแคมป์รักษาพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร แม้แม่ชีผู้นำที่เห็นอีก 2-3 ท่านก็ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เหมือนกัน

ใน ค.ศ.1988 เมื่อโฝวกวางซันจัดการอุปสมบทนานาชาติครั้งแรกที่วัดซีไหล ลอสแองเจลิส มีสตรีที่ไปร่วมในการอุปสมบทครั้งนั้นเป็นร้อยรูป รวมทั้งท่านธัมมาวดีด้วย ท่านไปกับแม่ชีชาวเนปาลอีก 3 รูป เข้าพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุณีในพระวินัยสายธรรมคุปต์ ซึ่งเป็นสายที่คณะสงฆ์จีนถือปฏิบัติ

ในการอุปสมบทครั้งนั้น ขาดการศึกษาและการเตรียมความพร้อมในฝ่ายของผู้ขอบวช เรียกว่า ได้มาแต่การบวช ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมให้เป็นภิกษุณี

ปัญหาสำคัญคือ ผู้ขอบวช ไม่ว่าจะเป็นเนปาลี ไทย หรือศรีลังกา ที่ผู้เขียนได้เห็นเอง ท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยสักรูปเดียว

แม่ชีไทยสองรูป คือ คุณวราภรณ์ กับคุณลออ เมื่อกลับมาก็ใส่ชุดสีเทาตามแบบภิกษุณีจีนที่เราเห็นในหนังจีน ภิกษุณีลออกลับมาอยู่ที่โรงเจที่จังหวัดกาญจนบุรี และสังคมไทยไม่ได้รับทราบการบวชของท่านเลย

ทางฝ่ายลังกาก็ไม่ประสบความสำเร็จในการบวชภิกษุณีครั้งนี้ กลับไปก็กลับสู่สภาพความเป็นอยู่แบบที่เคยเป็น คือเป็นแม่ชีศีล 10

 

ทางเนปาลเอง ท่านธัมมาวดีก็กลับมาครองชุดสีชมพูของแม่ชีถิลาชิ่นตามเดิม แม้ว่าผู้บวชให้คือ โฝวกวางซัน จะเตรียมปาฏิโมกข์ให้ แต่เป็นภาษาอังกฤษ และเป็นของนิกายธรรมคุปต์ ไม่ใช่เถรวาท ภิกษุณีที่บวชกลับมาก็ไม่ได้สวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน และไม่มีสีมาที่จะรองรับ กับทั้งภิกษุเถรวาทเองที่มีเพียงจำนวนน้อยในเนปาลก็ไม่ให้การยอมรับ ภิกษุณีที่บวชกลับมาไม่ได้ครองจีวร ภาพลักษณ์ที่ออกมาจึงยังคงเป็นแม่ชีอย่างเดิม

ท่านธัมมาวดีนั้นเป็นแม่ชีที่มีความสามารถในงานเผยแผ่พระศาสนามาก และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชาวพุทธ ท่านสามารถสร้างวัดภิกษุณีที่ลุมพินีได้ อยู่ใกล้ๆ กับวัดพม่า เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านไม่สามารถรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ให้สำเร็จในเนปาล แม้จะมีความตั้งใจ แต่ปัจจัยอื่นไม่เอื้ออำนวย และไม่รองรับ

ที่น่าสนใจคือ เนปาลเป็นประเทศที่เคยมีภิกษุณี ในจารึกของพวกลิจฉวีกล่าวถึงนิกายมหาสังฆิกะในหุบเขากาฐมาณฑุ และกล่าวถึงภิกษุณีสงฆ์ด้วย ในจารึกของอังศุวรมา ก็มีกล่าวถึงภิกษุณีสงฆ์ในมหาสังฆิกะที่มีการขุดพบที่ภักตาปุร์อีกด้วย

ที่น่าเสียดายคือ พุทธศาสนาในรูปแบบของเนวาร์ที่เหลืออยู่นี้ ไม่ให้ความสนใจในแง่ของความลุ่มลึกในเชิงปรัชญา ที่รักษาไว้ได้ก็เป็นเพียงรูปแบบของพิธีเท่านั้น

การเกิดขึ้นของเถรวาทในเนปาลไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีสงฆ์ น่าจะเป็นช่องทางที่จะพาให้ชาวพุทธเนปาลได้ย้อนกลับไปสู่คำสอนของพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่