200 ปีวัดรังษีสุทธาวาส ที่ (แทบ) ไม่มีใครรู้จัก (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

200 ปีวัดรังษีสุทธาวาส

ที่ (แทบ) ไม่มีใครรู้จัก (จบ)

 

การผนวกรวมวัดรังษีสุทธาวาส ในอีกแง่หนึ่งได้เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ในพื้นที่วัด หรือพูดอีกอย่างก็คือ “โรงเรียนวัด”

บันทึกของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (อ้างถึงใน สจช., มร. 6ศ/5 โรงเรียนวัดบวรนิเวศฯ 3 มิถุนายน 2456-11 ธันวาคม 2467 เรื่องบันทึกพระดำริห์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในการจัดการศึกษาของวัดและการฝึกหัดครู, หน้า 12.) ได้กล่าวอ้างถึงพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ไว้อีกตอนหนึ่งว่า

“…เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยุบวัดรังษีสุทธาวาสแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อกุฏิเก่ามาปฏิสังขรณ์ขึ้นสำหรับเป็นที่อยู่ของพระผู้เป็นอาจารย์และศิษย์เป็นหมู่ๆ…กันที่ไว้ตอนหนึ่งสำหรับเป็นสถานที่เรียน และได้ปลูกสถานที่เรียนแล้วเสร็จ 2 หลัง หลังหนึ่งด้วยทุนของพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรพินธุ์เพญภาคย์ ประทานชื่อว่า ตึกอรพินธุ์…หลังหนึ่งด้วยทุนของพระศรีบัญชาบริจาคอุทิศให้หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) ผู้บิดา ประทานชื่อว่า ตึกดำรงธรรมี…”

ในบันทึกยังได้อธิบายต่อไปว่า

“…โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระอุโบสถเป็นที่สำหรับนักเรียนสวดมนต์ไหว้พระ พระวิหารเป็นที่ไว้พระพุทธรูปและของโบราณ ศาลาการเปรียญใช้เป็นห้องสมุดและที่สำหรับนักเรียนทำงานโดยลำพังในเวลากลางคืน เรือนอรพินธุ์เก่า…จะโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นเรือนพยาบาล…ลานทรายปลูกหญ้าทำเป็นสนาม…ตึกหน้าวัด…บางตอนจะโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นโรงงานการอาชีพ…นอกจากนี้ จะโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่อีก คือเรือนนอนปลูกใหม่ให้เป็นระเบียบ…โรงพละศึกษา…โรงอาหารสำหรับนักเรียนกลางวัน…”

พระดำริดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นชัดในระยะเวลาต่อมาว่า พื้นที่ในส่วนที่เป็นวัดรังษีฯ เดิมนั้นได้ถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ทางด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกลายมาเป็น “โรงเรียนวัดบวรนิเวศ” ในที่สุด

ภาพแผนผังวัดรังษีสุทธาวาสจาก “แผนที่กรุงเทพฯ ปลายทศวรรษ 2490” จะแลเห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ พื้นที่โดยส่วนใหญ่ได้กลายมาเป็นพื้นที่ของโรงเรียนวัดบวรนิเวศ

หากลองไล่เรียงประวัติการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ เราจะมองเห็นภาพดังกล่าวชัดเจนขึ้น

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2459 ภายหลังการยุบรวมวัดรังษีฯ เพียง 1 ปี ได้มีการเปิดอาคารเรียนขึ้นใหม่ชื่อ ตึกอรพินธุ์ ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ริมถนนดินสอ เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ซึ่งพื้นที่ธรณีสงฆ์ในส่วนนี้จะพัฒนากลายมาเป็นโรงเรียนวัดบวรนิเวศในที่สุด

ต่อมาใน พ.ศ.2461 เปิดตึกใหม่อีกหลังชื่อ ตึกดำรงธรรมี โดยปลูกต่อมาจากตึกอรพินธุ์ด้านทิศใต้ แต่ใน พ.ศ.2498 ตึกทั้งสองได้ถูกรื้อลงเพื่อสร้างตึกเรียนหลังใหม่

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่แสดงตำแหน่งและขนาดของตึกทั้งสองยังคงเหลือให้เห็นได้จากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475

เมื่อ พ.ศ.2467 หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์ไปราว 3 ปี ได้มีพิธีเปิดอาคารเรียนใหม่ขึ้นอีกหนึ่งหลังในพื้นที่คณะรังษี โดยอาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า “ตึกมนุษยนาควิทยาทาน” ทำพิธีเปิดในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2467

ตึกมนุษยนาควิทยาทาน เป็นตึกขนาดใหญ่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบโกธิก (Gothic) ออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ กว้าง 11 เมตร ยาว 26 เมตร สูง 2 ชั้น ตึกหลังนี้สร้างขึ้นทับตึกอรพินธุ์หลังแรกที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2447 (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร)

ต่อมาใน พ.ศ.2477 ได้มีการก่อสร้างตึกโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น เป็นอาคาร 2 ชั้นที่คณะเขียวรังษี ชื่อว่า “ตึกสามัคคีธรรมทาน”

ตึกมานุษยนาควิทยาทาน
ที่มาภาพ : เพจ พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

นอกจากการพัฒนาการศึกษาในส่วนของฆราวาสแล้ว การศึกษาของพระภิกษุในนามของ มหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ได้มีพัฒนาการสืบเนื่องมาโดยลำดับ

เมื่อ พ.ศ.2498 มีโครงการก่อสร้างอาคารเรียนสำหรับมหามกุฏราชวิทยาลัยเริ่มดำเนินการในพื้นที่เดิมของวัดรังษีฯ โดยในการก่อสร้างนี้ได้เลือกทำเลด้านหลังพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญของวัดรังษีฯ

อาคารหลังนี้มีชื่อว่า “ตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2501 ตัวอาคารเป็นตึกสูง 3 ชั้น ยาว 60.50 เมตร รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์

ต่อมาใน พ.ศ.2505 ทางวัดบวรนิเวศวิหารได้ทำการรื้อศาลาการเปรียญของวัดรังษีฯ ลง และทำการก่อสร้าง “อาคารกวีบรรณาลัย” ขึ้นแทนในตำแหน่งเดิม เพื่อใช้เป็นห้องสมุดของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย โดยออกแบบด้วยงานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์อันเป็นรูปแบบที่นิยมในยุคสมัยดังกล่าว

เมื่อการศึกษาของโรงเรียนวัดบวรนิเวศเจริญขึ้นโดยลำดับ ความต้องการในการใช้พื้นที่และอาคารเรียนก็เพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ ใน พ.ศ.2506 จึงได้มีการรื้อตึกอรพินธุ์ และตึกดำรงธรรมี ลง และทำการก่อสร้างอาคารเรียนขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2507 ให้ชื่อว่า “ตึกวชิรญาณวงศ์”

พร้อมกันนี้ก็ได้ทำการถมคูน้ำที่เคยทำหน้าที่แบ่งเขตสังฆาวาสกับพุทธาวาสของวัดรังษีฯ เปลี่ยนมาเป็นถนนแทน

และใน พ.ศ.2519 ทางวัดบวรนิเวศวิหารก็ได้ทำพิธีเปิดตึกเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่มีชื่อว่า “ตึก สว.ธรรมนิเวศ” โดยรื้อ “ตึกสามัคคีธรรมทาน” ซึ่งเป็นตึกเรียนพระปริยัติธรรมหลังเดิมลง

 

จากพัฒนาการของพื้นที่และการสร้างอาคารต่างๆ ยืนยันชัดเจนเป็นอย่างดีถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้งานของวัดรังษีฯ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2458 เป็นต้นมา ว่าเป็นทิศทางของการพัฒนาสู่พื้นที่การศึกษาทั้งของพระและฆราวาส

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การพัฒนาพื้นที่วัดให้กลายเป็นโรงเรียนนั้นเป็นหนึ่งในพระดำริที่สำคัญของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่ได้ทรงมองเห็นว่า การปรับตัวของวัดในอนาคตที่สำคัญประการหนึ่งนั้นควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างพื้นที่การศึกษาแบบสมัยใหม่ ดังข้อความในบันทึกของพระองค์ตอนหนึ่งว่า

“…จำนวนภิกษุสามเณรต่อไปจะต้องน้อยลงโดยเหตุเนื่องด้วยอิคอนอมิกส วัดที่ไม่มีพระอยู่หรือมีพระน้อย ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องร่วงโรย จำต้องคิดแก้ไขให้เป็นที่ชุมนุมคนมากๆ จึงจะครึกครื้น และนำมาซึ่งความสัทธาของมหาชนที่จะช่วยกันทนุบำรุง ผู้ที่จะมาชุมนุมกันอยู่ได้มากๆ ก็คือเด็กนี้เอง…จึงทรงเห็นว่าวัดทุกวัดควรจัดเป็นโรงเรียน…นี้เป็นอนาคตของวัด…”

(ดูใน สจช., มร. 6ศ/5 โรงเรียนวัดบวรนิเวศฯ 3 มิถุนายน 2456-11 ธันวาคม 2467 เรื่องบันทึกพระดำริห์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในการจัดการศึกษาของวัดและการฝึกหัดครู, หน้า 10.)

พระดำริดังกล่าวได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดัน (ไม่มากก็น้อย) ที่ส่งผลทำให้พื้นที่วัดต่างๆ ในประเทศไทยในเวลาต่อมาต่างทยอยปรับพื้นที่บางส่วนของตนเอง (ส่วนใหญ่คือการปล่อยให้หน่วยงานราชการมาเช่าใช้พื้นที่) เปลี่ยนกลายมาเป็นโรงเรียนวัด

ในอีกแง่มุมหนึ่ง พระดำรินี้ยังสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการยกเลิกไพร่ ข้าพระ และเลกวัด ลงจนหมดสิ้น ทำให้วัดสูญเสียแรงงานมหาศาลในการดูแลวัดลง และจำเป็นต้องหารายได้ทางอื่นจากการบริหารจัดการที่ดินของตนเอง

ดังนั้น การปล่อยพื้นที่วัดให้หน่วยงานจากภายนอกมาเช่าเพื่อหารายได้เข้าวัดจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการปล่อยเช่าพื้นที่เพื่อปรับใช้เป็นโรงเรียน ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของวัดหลายแห่งในยุคสมัยดังกล่าว (นอกจากโรงเรียน วัดหลายแห่งก็ยังมีการปล่อยพื้นที่ให้หน่วยงานต่างๆ เช่าสร้างตึกแถว สร้างอาคารต่างๆ เพื่อหารายได้อีกด้วย)

 

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ประวัติโดยสังเขปของวัดรังษีสุทธาวาสที่ (แทบ) ไม่มีใครรู้จัก

ที่แม้ทุกคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ คณะรังษี แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่จะทราบว่าครั้งหนึ่งพื้นที่บริเวณนี้คือวัดมหานิกายที่สำคัญแห่งหนึ่งในยุคต้นรัตนโกสินทร์

ยิ่งไปกว่านั้น น้อยคนคงจะทราบว่า พื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่แห่งแรกๆ (แม้จะไม่ใช้พื้นที่แรกสุดก็ตาม) ที่เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญต่อประวัติศาสตร์พัฒนาการของโรงเรียนวัดในสังคมไทย