การข้ามขั้น

ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพโดย Vientiane Times

การข้ามขั้น

 

มองบ้านมองเมืองคราวนี้ ได้ความมาจากลูกศิษย์ที่ชื่อ วิกรม เหล่าวิสุทธิชัย ที่ได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกที่เมืองจีน เขาเคยเล่าให้ฟังถึงแนวคิด การข้ามขั้น ที่น่าสนใจ

เพียงแต่ว่า คนที่ไปเรียนเมืองนอกที่ยุโรปหรืออเมริกา หรือคนที่เรียนเมืองไทย อ่านแต่ตำราฝรั่ง ยังไม่รู้ ด้วยเป็นความคิดแนวใหม่จากจีน

คว่าเยว่ซื่อฟาจ่าน หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ปัญหา ที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือแบบแผนเดิม หากข้ามขั้นตอน คล้ายกับการขึ้นบันได ที่ไม่ก้าวขึ้นทีละขั้น หากก้าวข้ามบางขั้น ทำให้ใช้เวลาน้อยลง หรือเป็นการกระโดดข้ามปัญหา แทนที่จะวุ่นวายอยู่กับการแก้ปัญหา หรือแก้ปัญหาทีละเรื่อง ทีละขั้นตอนแบบเดิมที่คุ้นเคย

แนวคิดนี้ เริ่มขึ้นในเมืองจีน เมื่อสิบกว่าปีก่อน ในเวลานั้น เกิดปัญหาธนบัตรปลอมระบาด ด้วยจีนเป็นประเทศใหญ่ ประชากรกระจายไปทั่วแผ่นดินที่กว้างขวาง การปลอมแปลง การผลิต และการใช้ธนบัตรปลอม จึงเป็นปัญหาวุ่นวายมาก

ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาด้วยการปราบปรามหรือการควบคุม เป็นเรื่องยากลำบากยิ่ง อีกทั้งการไล่จับกุม ลงโทษผู้กระทำความผิด และการประชาสัมพันธ์ให้รู้วิธีตรวจสอบธนบัตรปลอม เหมือนที่บ้านเราและประเทศอื่นทำ ล้วนเป็นวิธีเดิมๆ สิ้นเปลืองงบประมาณ และเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่มีวันสิ้นสุด

จึงเป็นที่มาของแนวคิดแบบข้ามขั้น

โดยผลักดันการชำระค่าใช้จ่าย ผ่านระบบสารสนเทศ ที่รู้จักกันดีในเวลานี้ คือการสแกนจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ แม้จะเป็นวิธีทันสมัยล้ำยุค เมื่อไม่มีการใช้ธนบัตร ย่อมไม่มีปัญหาธนบัตรปลอม แต่มาจากแนวคิดโบราณแบบคนตะวันออก คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

แนวคิดนี้ ยังขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ประเทศจีนก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในปัจจุบัน

แนวคิดนี้ คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จากเดิมที่ไม่มีแม้แต่ระบบโทรศัพท์ แต่ทุกวันนี้ลาวข้ามขั้นมีระบบสื่อสารทันสมัย เทคโนโลยีเซลลูลาร์ไร้สาย 5G ที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่กว้างขวาง ภูมิประเทศเป็นเขาสูง ในขณะที่ประชากรเบาบาง

ซึ่งทำให้ลาวมีความพร้อมรองรับระบบเอไอได้เต็มที่ก่อนไทย

หรือในขณะที่ไทยเลือกการสร้างถนนยางมะตอยให้ทั่วพระราชอาณาจักรเมื่อสิบปีที่แล้วนั้น

ทำให้ลาวเป็นประเทศแรกของอาเซียน ที่เดินรถไฟไฮสปีด เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบข้ามขั้น หรือก้าวกระโดด จากที่ไม่เคยมีทางรถไฟเลย ถนนและทางหลวงก็มีไม่มาก และไม่ต้องพูดถึงทางหลวงพิเศษ ทางด่วน หรือทางยกระดับ

การเลือกการคมนาคมขนส่งระบบราง ใช้พลังงานไฟฟ้า ยังสอดคล้องกับสถานการณ์โลกร้อน และปัญหามลภาวะ ที่สำคัญเป็นการควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่สองข้างทาง ทำให้ไม่มีปัญหาการบุกรุกป่า การพัฒนาไร้แบบแผน และการก่อสร้างอาคารริมทางหลวงแบบที่เห็นในบ้านเรา

ในขณะที่การพัฒนาพื้นที่ทำได้ง่ายและชัดเจน เพราะระบบรางทำให้การพัฒนาเกิดขึ้น เฉพาะพื้นที่โดยรอบสถานีเท่านั้น

เหมือนอย่างที่หลวงพระบาง สถานีรถไฟไฮสปีดที่เปิดใช้แล้วในปัจจุบัน และการพัฒนาที่อยู่อาศัย การพาณิชย์ และการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต จะอยู่ห่างไกล เมืองมรดกโลกถึงยี่สิบกิโลเมตร

 

ในขณะที่บ้านเรา ยังใช้แนวคิดเดิมๆ แค่การยกระดับรางรถไฟ รองรับขบวนรถมือสองจากญี่ปุ่น ก็สร้างปัญหามากมาย กลายเป็นข้อขัดแย้งในหลายพื้นที่

คงมีเรื่องราวอื่นๆ ให้มองอีกมาก ถ้านักวิชาการไทยหันมาสนใจแนวคิดทฤษฎีใหม่ ที่ไม่อยู่ในตำราเอ็มบีเอ จากสหรัฐ ยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่น •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส